คิด เบญจรงคกุล : ภาพผ่านเลนส์ความคิด

คิด เบญจรงคกุล : ภาพผ่านเลนส์ความคิด

คิด เบญจรงคกุล : ภาพผ่านเลนส์ความคิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถานภาพความเป็นทายาทหมื่นล้านของ ‘เจ้าสัว’ บุญชัย เบญจรงคกุล นั้น ทำให้สังคมมักจะจับจ้องไปที่ความเป็นเซเลบริตี้หนุ่มสุดฮอตผู้รักปาร์ตี้ของเขามากกว่าจะมองว่าโดยเนื้อแท้แล้ว เขาเป็นคนหนุ่มผู้รักศิลปะ แฟชั่น และการถ่ายภาพ เขากำลังเติบโตด้วยประสบการณ์และความคิด และเขากำลังบอกเล่าสิ่งที่เขาเรียนรู้ให้กับเรา

First • Camera,First • Step
อย่างที่รู้กันว่าเจ้าสัวบุญชัยนั้น เป็นคนรักศิลปะ และเป็นผู้สนับสนุนวงการศิลปะไทย จนถึงขนาดก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ MOCA ขึ้นมา คิดเองก็ซึมซับและได้รับการปลูกฝังให้เป็นคนรักศิลปะมาตั้งแต่เด็ก
เขาเคยเรียนวาดรูป และวาดได้ไม่เลวด้วย แต่จุดที่ทำให้เขาเริ่มชอบการถ่ายภาพ ก็คือตอนที่พ่อของเขาซื้อกล้องตัวแรกให้ตอนอายุ 17

“ตอนนั้นพกกล้องไปทริปที่ญี่ปุ่นด้วย เป็นทริปครอบครัวใหญ่ มีญาติพี่น้อง มีลูกพี่ลูกน้องเต็มไปหมด เราก็ดึงแต่ละคนมาถ่ายสแน็ป แล้วก็ขนเสื้อผ้าขนพร็อพไปถ่ายเล่นในโรงแรม ทำเหมือนแฟชั่นเซต อารมณ์แบบเด็กๆ ทุกคนก็ชอบกัน”

ต่อมาระหว่างกำลังเรียนด้านสถาปัตย์อยู่ที่ลอนดอน คิดได้กลับมาทำโปรเจ็กต์หนังสือภาพการกุศลช่วยเหลือคนตาบอด ชื่อ ‘Eye to Eye’ รวมภาพพอร์เทรตของคนมีชื่อเสียงหลากวงการกว่า 100 คน ซึ่งคิดถ่ายเองทั้งหมด ตอนนั้นเองที่เขารู้สึกน่าจะเจอสิ่งที่ใช่แล้ว

“เราชอบถ่ายภาพ ก็อยากจะโชว์ฝีมือ ทำออกมาแล้วค่อนข้างสำเร็จ เลยรู้สึกว่าหรือจะลองช่างภาพเป็นอาชีพไปเลย รู้ตัวแล้วด้วยว่าไม่ได้ชอบงานสถาปัตย์ พอเรียนใกล้จบ ได้งานถ่ายแมกกาซีนบ้าง ฟีดแบ็กดี ก็เลยเริ่มหางานถ่ายภาพมาเรื่อยๆ คุณพ่อก็ถามว่าสรุปเอาดีทางนี้ใช่มั้ย เราบอกใช่ อยากจะขอลองดู ตอนแรกเขาบอกแน่ใจเหรอ เรียนจบลองไปฝึกงานอาร์คิเทคก่อนมั้ย เราบอกไม่ดีกว่า ในเมื่อรู้ตัวเองแล้ว เราไม่อยากจะเสียเวลาอีกปีสองปีไปฝึกงาน แล้วก็ต้องกลับมาทำงานถ่ายภาพที่เราชอบอยู่ดี ซึ่งเขาก็โอเคและสนับสนุน”

จากนั้นคิดได้ไปเข้าคอร์สเรียนถ่ายภาพเพิ่มเติมที่ลอนดอน ก่อนจะไปลงรายละเอียดด้านเทคนิคซ้ำอีกครั้งที่นิวยอร์ก จนถึงตอนนี้เขาก็ถ่ายภาพเป็นอาชีพหลักในนามช่างภาพอิสระมาได้ประมาณ 2 ปีแล้ว

Fashion • is • My • Life
คิดชอบอารมณ์ของคนในงานศิลปะ ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับคน ที่จริงเขาเริ่มมาจากพอร์เทรตก่อน แล้วรู้สึกว่าแฟชั่นสนุกกว่า เวลาเปิดแมกกาซีนต่างประเทศเห็นภาพแฟชั่นของช่างภาพระดับโลก ทั้งเซตติ้ง เสื้อผ้า โลเกชั่น เขารู้สึกว่ามันเจ๋ง และน่าตื่นตาตื่นใจ เวลาไปท่องเที่ยวตามที่ต่างๆ เขาก็จะมองว่ามันเป็นโลเกชั่นสำหรับแฟชั่นเซตแบบใดได้บ้าง

“แฟชั่นเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง ดีไซน์แขนงหนึ่ง ซึ่งเปิดกว้างพอสมควร มีอะไรให้เล่นเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องประดับ หรือว่าสิ่งที่มาอยู่กับร่างกายของคนแล้วเพิ่มความสวยงามให้กับคนคนนั้น หรือเพิ่มความสวยงามให้กับภาพ เติมเต็มภาพ อย่างสมมุติผมมีภาพไว้ในหัวว่าเป็นคนคนหนึ่งยืนอยู่กลางทุ่งกว้าง ถ้าคนนั้นใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์ กับใส่ชุดเดรสสีแดง กระโปรงบานเลย ภาพออกมาก็ไม่เหมือนกันแล้ว อารมณ์ของภาพถึงแม้จะเป็นคนเดียวกัน แสงเหมือนกัน แต่ชุดต่างกัน ภาพที่ออกมาก็ต่างกัน เพราะฉะนั้นแฟชั่นมีส่วนสำคัญมากในการเติมเต็มภาพให้ออกมาอย่างที่เราจินตนาการหรือวาดภาพไว้ในหัว”

แน่นอนว่าในโลกของแฟชั่น สิ่งที่สวยงามคือหุ่นดี ผิวดี ทุกอย่างเพอร์เฟ็กต์ แต่ถ้าหากว่าเป็นภาพพอร์เทรตที่จะสื่อถึงอารมณ์ บางทีทุกอย่างก็ไม่จำเป็นต้องเพอร์เฟ็กต์เสมอไป คิดเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความงดงามในตัวเอง

“ในขณะที่เวลาเราดูภาพขาว-ดำพอร์เทรตของช่างภาพเก่งๆ มันก็ไม่ได้มีแต่คนที่สวยหล่อ แต่มีทั้งคนแก่หน้าเหี่ยวย่น คนที่พิการจมูกหัก แต่ภาพนั้นทำไมดูสวยหรือเป็นที่จดจำ เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ว่าความสวยก็คือความสมบูรณ์แบบ แต่ว่าแต่ละคนเขาก็เกิดมาต่างกัน ช่างภาพสามารถจะถ่ายทอดออกมาให้สวยได้อย่างไร จากมุมมองของการถ่ายภาพ ดังนั้นสำหรับผม คนที่ถ่ายยากคือคนที่ไม่ค่อยพอใจกับสิ่งที่ตัวเองเป็น”

หลักการภาพถ่ายของคิด ให้ความสำคัญกับเรื่องแสงและการใช้สี ถ้าแบ็คกราวนด์ไม่เป็นสี ก็อาจจะเป็นสีอย่างอื่นเข้ามา ไม่เสื้อผ้าก็ไฟ แต่บางทีเขาก็ชอบภาพดาร์คๆ เหมือนกัน แสงเวลาฝนจะตก ท้องฟ้าและเมฆมืดๆ พอยิงแฟลชเข้าไป ภาพก็จะออกมาดูดรามาติกทุกวันนี้ส่วนใหญ่คิดรับงานถ่ายภาพให้กับนิตยสารหัวต่างๆ แต่เขาก็ไม่ได้พอใจที่จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

“จริงๆ มีแพลนว่าอยากจะกลับไปที่นิวยอร์ก อาจจะอีกสักระยะหนึ่ง ขอไปอยู่ที่นั่นอีกแป๊บหนึ่ง เก็บเกี่ยวประสบการณ์และก็อยากจะไปใช้ชีวิต เวลาอยู่ที่เมืองนอกเรารู้สึกว่าเราได้ใช้ชีวิตคนเดียวโดยที่ไม่ต้องสนใจสิ่งรอบข้าง อย่างปีที่แล้วที่ไปอยู่นิวยอร์กมา ผมว่าผมได้อะไรเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นอินสไปเรชั่น ความรู้ด้านถ่ายภาพ หรือว่าการใช้ชีวิตของตัวเอง”

แต่พูดเรื่องนิวยอร์กแล้ว คิดก็นึกถึงเรื่องหนึ่งที่ตัวเองควรปรับปรุง

“อยากจะทำให้ตัวเองมีโมติเวชั่นกว่านี้ ผมรู้สึกว่าตัวเองเกิดมาในครอบครัวที่ค่อนข้างจะมีพร้อม มันทำให้เราขาดความกระตือรือร้นบางอย่างที่จะดันตัวเองให้ไปอีกจุดหนึ่ง บางทีบางวันตื่นมาแล้ว วันนี้ขี้เกียจจังเลย ขอชิลล์ๆ ได้มั้ย คือเรารู้สึกว่าทุกวันเราควรจะมีจุดมุ่งหมาย เราควรจะทำให้ได้มากที่สุด เช่น ถ้าอยากกลับไปนิวยอร์ก ป่านนี้ก็ควรที่จะเริ่มหางานที่โน่นได้แล้ว ว่าจะกลับไปทำอะไร”

ที่พูดอย่างนี้ก็เป็นเพราะคิดรู้ว่าเป้าหมายของเขาคือการเป็นช่างภาพที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับนั่นเอง

Don,t Call Me Cele-brity
แน่นอนว่าการใช้ชีวิตโดยที่มีชื่อว่าเป็นลูกของใคร นามสกุลอะไร เป็นสิ่งที่สร้างความกดดันให้คิดมาตลอด ไม่ว่าจะจากภายในครอบครัวเอง หรือคนข้างรอก

"ทางบ้านก็กดดัน เรามีคุณพ่อคุณแม่ซึ่งเป็นที่รู้จักของสังคม ถ้าเราทำอะไรไม่ดีไปมันเสียไปถึงคุณพ่อแม่ด้วย เขาก็จะย้อนกลับมาที่ตระกูล คือเราเหมือนเป็นหน้า-เป็นตาของตระกูล เพราะฉะนั้นจะถูกปลูกฝังมาว่าต้องเป็นเด็กดี ต้องอยู่ในกรอบระเบียบพอสมควร"

นอกเหนือจากนั้น คิดบอกว่าเขามีความกดดันจากคนข้างนอก พอรู้ว่าเป็นลูกของใคร เขาก็จะมีความคาดหวังว่าเราต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่ง หรือพอโตขึ้นมาก็มากระทบถึงเรื่องการทำงาน

"จนทุกวันนี้ผมก็ยังจะต้องพิสูจน์ตัวเองอยู่ในฐานะช่างภาพหรือว่าเวลาจะทำงานอะไรก็ตาม พอเรามีชื่อตระกูลมาด้วย คนเขาก็มองเป็นเซเลบ กลายเป็นลุกคนรวยมาทำงาน กว่าผลงานจะโชว์ออกมา ผมคิดว่ามันต้องใช้เวลากว่าคนอื่น"

คิดบอกว่าที่จริงมันก็เป็นความกดดันของชีวิตในระดับหนึ่ง แต่เขาเป็นคนที่สามารถคิดบวก แล้วก็ทำให้ตัวเองมีความสุขได้โดยที่พยายามจะไม่แคร์มากว่าคนอื่นจะคิดยังไง

ณ ตอนนี้โฟกัสของเขามีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น นั่นคือการเป็นช่างภาพ

“ถือว่าเราก็หาความสุขให้กับตัวเอง แล้วก็แคร์คนที่เรารัก คือถ้าเก็บทุกอย่างมาคิดว่าคนจะคิดอะไรกับเรา ป่านนี้คงหัวสมองแตกไปแล้ว”เขาบอกว่าเกิดมาอยู่ในจุดนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ที่สำคัญคือเราต้องใช้มันถูก

“เรามีข้อเหนือกว่า โชคดีว่าอยากทำช่างภาพ ผมก็มุ่งไปช่างภาพได้ ถึงแม้ว่าตอนนี้มันยังไม่พอที่จะซัพพอร์ตเราเต็มตัว เราก็ยังโฟกัสกับงานช่างภาพได้โดยที่เราไม่ต้องกังวลว่ามันจะพอหาให้เรามีกินมั้ยเดือนนี้ เรามีคอนเนคชั่น ได้รู้จักคนที่สามารถช่วยเหลืองานเรา ก็เป็นข้อดีอีกอย่างหนึ่ง แต่ข้อเสียก็อย่างที่บอก จะมีภาพอย่างที่คนอื่นเขามองเข้ามา แล้วก็อาจจะไม่มองเราจริงจัง ไม่ว่าจะจับต้องชิ้นงานไหนก็ตาม เราก็จะต้องใช้ฝีมือพิสูจน์มากกว่าคนที่ไม่มีอะไร”

คิดบอกว่า ทางออกของเขาที่จะทำให้คนยอมรับเขาในฐานะช่างภาพที่ถ่ายภาพเก่งถ่ายภาพสวย ไม่ใช่ ‘ช่างภาพเซเลบ’ ก็คือคงต้องผลิตงานชั้นยอดออกมาเรื่อยๆ

 

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ คิด เบญจรงคกุล : ภาพผ่านเลนส์ความคิด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook