เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ชีวิตอิ่มสุขบนเส้นทางงานกวี

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ชีวิตอิ่มสุขบนเส้นทางงานกวี

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ชีวิตอิ่มสุขบนเส้นทางงานกวี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากถามว่ารู้สึกชื่นชอบหรือชื่นชมกวีนิพนธ์คนใดเป็นพิเศษ เชื่อว่าหลายๆ คนคงนึกถึง "เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์" ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เป็นลำดับแรก ด้วยผลงานการรังสรรค์ที่หลากหลายรูปแบบ ล้วนสะท้อนความล้ำลึกของวรรณศิลป์ไทย โดยการใช้ฉันทลักษณ์ที่งดงามและเพราะพริ้ง ความสำเร็จบนเส้นทางงานกวีที่ก่อเกิดขึ้นได้ด้วยหัวใจรัก

ปัจจุบันอาจารย์ทำงานอะไรอยู่บ้าง
ตอนนี้เป็นที่ปรึกษาของศูนย์สังคีตศิลป์ ฝ่ายการประชาสัมพันธ์ ธนาคารกรุงเทพ และเป็นกรรมการอยู่หลายแห่ง เช่น เป็นประธานเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฎิรูปประเทศ ในคณะกรรมการสมัชชาปฎิรูปประเทศ ที่คุณหมอประเวศ วะสี เป็นประธานคณะกรรมการ และเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของกระทรวงวัฒนธรรม

มีวิธีเลือกรับงานอย่างไร
สังเกตุได้ว่างานส่วนใหญ่ที่ทำจะเป็นงานเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมทั้งนั้น ผมคิดว่างานด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นงานที่ผมรัก ชอบ และมีประสบการณ์ มีความมั่นใจว่าทำได้ในระดับที่เรามีความสามารถ

เสน่ห์ของการทำงานด้านนี้คืออะไร
บังเอิญผมเกิดในครอบครัวที่รักและชอบกาพย์ กลอน และดนตรี พ่อผมเป็นคนชอบหนังสือกาพย์ กลอน และดนตรี ผมได้จากพ่อโดยตรง พ่อสอนให้อ่าน สอนให้เขียนจนอ่านออกเขียนได้ก่อนเข้าโรงเรียน และสอนเป่าขลุ่ยด้วย ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผมชอบงานด้านนี้ เพราะว่ามีประสบการณ์กับเรื่องนี้มาตั้งแต่จำความได้ คือรัก ชอบ กาพย์ กลอน ภาษาไทย ดนตรีไทย และความเป็นพื้นบ้านพื้นเมือง สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมทำให้เรารู้สึกคุ้นชินและรู้สึกว่ามันเป็นชีวิตเราไปแล้ว

ชอบศิลปวัฒนธรรมแต่ทำไมเลือกเรียนกฏหมาย
สมัยนั้นอยากเข้าอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เข้าไม่ได้ พอดีว่าปีนั้นเป็นปีสุดท้ายที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดให้เข้าเรียนได้โดยไม่ต้องสอบ ก็คิดว่าจะเรียนสักปีหนึ่งแล้วค่อยมาสอบที่จุฬาฯใหม่  ปรากฏว่าเรียนธรรมศาสตร์แล้วสนุก ทุกตารางนิ้วมีเสรีภาพ คือไม่ต้องเรียน ทำแต่กิจกรรม ตั้งชุมนุมวรรณศิลป์ ตั้งชุมนุมดนตรีไทย ได้ทำกิจกรรมที่เราชอบ เต็มที่เลย การเรียนเป็นเรื่องรองไป


การจะสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาสักชิ้นต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง
หนึ่ง ต้องมีเรื่องที่เป็นสาระ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครพูดถึง หรือหากเป็นเรื่องที่มีคนพูดถึงมากๆ ก็ต้องหาแง่มุมที่คนยังไม่พูดถึง และสอง เรื่องนั้นต้องเด่น อารมณ์ความรู้สึกของเราจะต้องไปกับเรื่องนั้นด้วยจริงๆ เช่น ถ้าไม่เคยอกหักคุณจะไปดัดจริตเขียนกลอนอกหัก ไม่ได้
คุณไม่เคยหิวจะเขียนกลอนหิว ไม่ได้ คุณไม่เคยมีความทุกข์ยากอย่างนั้นจริงๆ คุณจะมารำพันความทุกข์ยากนั้น มันไม่ใช่ หมายความว่าเรื่องต้องถึง อารมณ์ความรู้สึกเราต้องถึงเรื่องนั้นด้วย สาม ความสามารถหรือศิลปะในการถ่ายทอดความรู้สึกของเรื่องนั้นออกมาต้องถึงด้วย และต้องมีวิธีการหรือศิลปะในการนำเสนอเรื่องนั้น ถ้ามีรูปแบบ มีพื้นฐานที่ลงตัวมันก็ไม่เป็นอุปสรรคในการที่จะเอารูปแบบมาใช้เนื้อหา แต่งานศิลปะทุกอย่าง เนื้อหาเป็นหัวใจหลัก เรื่องรูปแบบ เรื่องฉันลักษณ์เป็นส่วนประกอบ เหมือนกับเนื้อหาเป็นเพชร รูปแบบเป็นเรือนแหวนอะไรอย่างนี้ประการสุดท้าย สี่ ผู้อ่านหรือผู้เสพ ต้องรับได้ด้วย ต้องถึงด้วย ถ้าถึงพร้อมทั้ง 4 ประการงานชิ้นนั้นก็ได้รับความสำเร็จ

ผลงานล่าสุดของอาจารย์
ตอนนี้กำลังเขียนหนังสือ "เขียนแผ่นดินสุวรรณภูมิ" เขียนจบไปแล้วเกี่ยวกับแผ่นดินไทย ใช้เวลา 3 ปีเขียนเกี่ยวกับทุกจังหวัดทั่วประเทศ และแผ่นดินลาวใช้เวลา 1-2 ปี 17 แขวง กำลังจะเขียนเวียดนาม เป็นงานเขียนเกี่ยวกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ทิวทัศน์ งานศิลปะ หัตถกรรม และโบราณสถาน เขียนจากความรู้สึก เหมือนเขียนรูป ดูแล้วเกิดความรู้สึกอะไร เขียนออกมาเป็นคำ ถ่ายทอดเป็นบทกวี

เป้าหมายที่อยากจะนำเสนอเรื่องราวของประเทศเพื่อนบ้าน
ผมเขียนเรื่องประเทศลาว ชาวลาวชอบมาก ชาวลาวพงสาลียังไม่เคยเห็นอัดตะปือ หรือไชยบุรีก็ยังไม่คเคยเห็นเชียงขวาง เขาก็ได้ดู ได้เห็นแผ่นดินลาว และเป็นประโยชน์กับคนไทยที่จะได้รู้จักลาวในอีกแง่มุมหนึ่ง คนไทยจะได้รู้จักประเทศต่างๆ ในแบบของผม
และถ้าเป็นไปได้ ขณะเดียวกันก็มีการแลกเปลี่ยน เช่น กวีอินโดนีเซียมาเขียนเรื่องประเทศไทยทั้งหมดแล้วนำไปเผยแพร่ในอินโดนีเซีย ชาวอินโดนีเซียก็จะได้รับรู้เรื่องราวประเทศไทยในแง่มุมของกวีอินโดนีเซีย เป็นการแลกเปลี่ยนในแง่มุมของศิลปวัฒนธรรม
ได้รู้จักชีวิตความเป็นอยู่และบรรยากาศของประชาชนผ่านวัฒนธรรม อารยธรรมต่าง ๆ ไม่ใช่เฉพาะด้านบทกวี งานศิลปะทุกด้านน่าจะทำกันเป็นทีม ไม่ใช่ผมไปคนเดียว ผมเขียนกวี คนเขียนรูปไป คนทำดนตรีไป แล้วเอามาบูรณาการให้เป็นงานศิลปะ

เคยรู้สึกท้อแท้กับการทำงานบ้างมั้ย
ไม่ท้อ ผมก็ทำของผม เพราะผมมีความสุข เวลานั่งเขียนงานมันได้ดื่มด่ำ เหมือนศิลปินมีความสุขกับงานที่ทำ เวลาเขียนรูปก็ได้จับฉวยบรรยากาศ ได้เห็นแสงแดดที่ส่องทะลุใบไม้ลงมาปาดป้ายแผ่นดิน มันงดงามอย่างไร เขียนเสร็จมีความสุขแล้ว

อะไรคือกำลังใจในการทำงาน
ความสุขที่เราได้ทำ ตรงนี้แหละผมว่าเป็นเคล็ดของการทำงาน คนเราทำงานไม่มีความสุขเพราะหวังจะได้อะไรจากการทำงานนั้น เช่น หวังเป็นเงินเป็นทอง โดยไม่มีความสุขกับการงาน หรือทำงานเพื่อเป็นเครื่องมือให้ได้สิ่งที่ต้องการ ทุกคนตะเกียกตะกายเพื่อให้ได้เงิน ให้ได้ตำแหน่ง ไม่มีเวลาว่างกับชีวิต ไม่รู้ว่าชีวิตนี้จริงๆ แล้วต้องการความสุขหรืออะไร เงินไม่ใช่สิ่งที่ซื้อความสุข ความสุขจริงๆ อยู่ที่ว่า เรารู้จักตัวเองและสามารถที่จะถ่ายทอดความสุขจากตัวเอง จากสิ่งที่ทำให้เป็นอันเดียวกันได้อย่างไร อย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสว่า ทำงานให้สนุกเป็นสุขเมื่อทำงาน ทำงานด้วยความสุขให้สนุกด้วยการทำงาน ผลจะเป็นอย่างไรไม่เป็นไร ความสุขนั่นหล่ะคือ ผล

บางคนอยากเก่งแบบอาจารย์ควรเริ่มต้นอย่างไร
ควรจะหาตัวเองให้เจอก่อน หาตัวเองให้เจอในสิ่งที่เราชอบ ถ้าชอบอะไรจับมันให้มั่น รู้ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราชอบ เป็นสิ่งที่ดี มั่นใจกับมันแล้วอย่าให้อะไรเป็นอุปสรรคแม้กระทั่งการศึกษา ชื่อเสียง เกียรติยศ เพราะสิ่งที่เราชอบนั่นแหละ คือตัวเรา แล้วเราก็จะอยู่กับมัน ใช้มัน เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตัวเองและแก่ผู้อื่นไปด้วยในขณะเดียวกัน ผมอยู่กับสิ่งนี้มาตั้งแต่เด็ก เป็นสิ่งที่ผมชอบ เขียนหนังสือ อ่านหนังสือ เรื่องง่าย ๆ แต่ไม่ใช่อยู่ๆ จะมาฉวยเอาอย่างนี้ ไม่ได้ ต้องชอบจริง ๆ ชอบจนเป็นสันดาน จนเป็นเราไปแล้ว ทีแรกาคิดว่าเราทำเล่นๆ มาตั้งแต่เด็ก หันไปดูอ้าวมันเป็นวีถีชีวิตของเรา และเราไม่เคยทิ้งมันเลย

หนังสือที่คนไทยควรอ่าน
ส่วนตัวผมนะ สรุปได้ว่าคนไทยอายุ 30 ปีขึ้นไป หรือเรียนระดับอุดมศึกษาขึ้นไป ควรจะอ่านหนังสือ 5 เล่มดังนี้
1.ขุนช้างขุนแผน อ่านให้จบ อย่าอ่านฉาบฉวย แล้วจะได้อะไรเยอะเลย
2.นิยายของไม้เมืองเดิม เช่น ขุนศึกและเรื่องอื่นๆ อยากให้อ่านเพราะเป็นโครงเรื่องของสังคมไทย ที่พระเอกจะต้องเป็นโจร เป็นผู้ร้าย เป็นเสือ เป็นพวกขบถต่อระบบที่ไม่ถูกต้อง จริง ๆ ผู้มีอำนาจ ผู้ปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือลูกชายกำนัน ลูกผู้ใหญ่บ้าน นั่นแหละเป็นตัวร้าย เป็นตัวโกง ซึ่งเห็นได้อยู่ทุกวันนี้ นิยายไม้เมืองเดิมจะสะท้อนแนวนี้ นอกนั้นจะได้สำนวน กวีร้อยแก้ว ซึ่งเป็นสำนวนไม้เมืองเดิม
3.ข้างหลังภาพ ของ "ศรีบูรพา" เรื่องนี้จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ตั้งแต่ปี 2475 มีบางอย่างไม่เปลี่ยนเลยและมีบางอย่างเปลี่ยนไป เช่น ขนบธรรมเนียบที่ผู้ชายยังครอบงำผู้หญิง ความเป็นกุลสตรี การคลุมถุงชน สะท้อนความเป็นจริงของยุคสมัย
4.ความเป็นมาของคำสยาม ของ "จิตร ภูมิศักดิ์" เล่มนี้คุณจะได้รู้รากเหง้าของผู้คนที่อยู่บนแผ่นดินถิ่นนี้ ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมดด้วย และเล่มสุดท้ายคือ
5.งานของท่านอาจารย์พุทธทาส ภิขุก สามารถเลือกอ่านได้ตามความชอบ เพราะทุกเล่มที่ว่ามาข้างต้นทั้งหมดเป็นเรื่องที่ออกไปจากตัวเอง แต่งานของอาจารย์พุทธทาส จะทำให้เข้าใจ คือรู้เข้าไปในตัวของคุณเอง


มุมมองเด็กรุ่นใหม่กับงานวรรณกรรม
อ่านหนังสือกันน้อย เสพสื่อที่มาจากหนังสือกันมาก เช่น ดูหนัง ดูละคร แชทกัน เอาแต่ความรู้สึกเป็นหลัก สังคมไทยตอนนี้เป็นการปะทะกันระหว่างสองวัฒนธรรม คือวัฒนธรรมความเชื่อกับวัฒนธรรมความคิด พื้นฐานสังคมไทยนับเป็นพันปีมาแล้ว คือฟังแล้วก็เชื่อ ฟังผู้มีอำนาจ ฟังพระเทศน์ เชื่อลูกเดียว อีกวัฒนธรรมคือ ความคิดคู่กับการอ่าน ซึ่งเริ่มมีจริงจังเป็นทางการเมื่อมีระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการสมัยรัชกาลที่ 5 นี่เอง ฉะนั้นพื้นฐานความคิดของคนไทยถึงอ่อนด้อย พอกระแสโลกสมัยใหม่ท่วมทับเข้ามา เราก็ไปโหนห้อยต้อยตามกระแส โดยที่พื้นฐานยังไม่แน่น ก็เกิดความสับสน ความคิดไม่ลงตัว ก็เกิดการแตกแยกทางความคิด

ฉะนั้น เวลานี้มันปะทะกันระหว่างสองวัฒนธรรม ความเชื่อกับความคิด ถ้าฉุกใจได้คิดจะเห็นว่า "คำว่า ฟัง คิด ถาม เขียน เป็นหัวใจของการศึกษา" คือฟังแล้วอย่าเพิ่งเชื่อ ต้องคิด ถ้าคิดแล้วยังไม่เข้าใจก็ต้องศึกษาโดยการอ่าน การค้นคว้า พอเข้าใจแล้วจึงจะนำมาจดจารึกเป็นองค์ความรู้ได้ แต่ทุกวันนี้คนเราฟังแล้วก็เชื่อเลย ไม่ได้คิด หรือคิดแต่ก็ไม่ได้ศึกษา คิดไปตามพื้นฐานที่ตัวรู้แค่นั้น ฉะนั้นความเชื่อกับความคิดจึงปะทะกันอยู่

อาจารย์วัดความสำเร็จของตัวเองจากอะไร
ความสำเร็จคือ ได้ทำอย่างที่เราคิด พอใจในสิ่งที่ทำ และได้รู้ว่ามีคนพอใจร่วมด้วย พอมีสื่อให้เผยแพร่ก็เป็นความสำเร็จอีก มีคนได้อ่าน ได้ฟัง ได้วิจารณ์ นี่คือความสุขแล้ว วันๆ ได้ทำอะไรที่สมใจ สาใจเรา และได้เผยแพร่ก็มีความสุขแล้ว


ทำงานอย่างไรให้มีความสุข
ต้องเอาแบบคำท่านพุทธทาส การงาน คือการปฏิบัติธรรม คุณไม่อยากกวาดบ้าน แต่คุณต้องกวาด ขณะที่กวาดคุณจะมีความรู้สึกเป็นสุขได้อย่างไร ต้องคิดว่า นี่เรากำลังกวาดความขี้เกียจของเราออกไป ขณะเดียวกันก็ต้องมีสมาธิ มีสติอยู่กับมัน แล้วมันก็จะผ่านไปและมีความสุข


แง่คิดคนทำงานสำหรับเด็กจบใหม่
การทำงานเป็นการศึกษาอย่างหนึ่ง สิ่งที่คุณศึกษามานั้นบางทีล้มเหลว ไม่สามารถนำมาใช้กับการทำงานได้ เพราะการทำงานต้องมีความรับผิดชอบสูงมาก คุณต้องมีวินัยสูง มีเรื่องของเวลาเข้ามากำกับ เช่น เขาบอกให้คุณไปให้ทัน 8.30 น.คุณไปได้มั้ย ทุกวันๆ
บางทีสิ่งเหล่านี้เราไม่ได้จากการเรียนเท่าไหร่ ถ้าหากเราไม่ได้ทำกิจกรรม เว้นแต่คุณเป็นนักศึกษาที่ทำกิจกรรม ๆ จะสอนเรื่องเหล่านี้แก่คุณ แต่ถ้าคุณไม่เคยทำกิจกรรมเลย ตั้งหน้าตั้งตาแต่เรียน พอเรียนจบออกมาคุณจะเหมือนกับเข้าโรงเรียนใหม่ โรงเรียนของการทำงาน คุณเป็นสายพาน เป็นสกรูหนึ่งที่ดีของเครื่องยนต์ หรือเครื่องจักรนั้น แต่คุณไม่สนใจว่าใครขับ ถ้าคนขับเป็นโจรคุณก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อให้โจรขับไปปล้น ให้ดีที่สุดใช่มั้ย ฉะนั้น คุณต้องฉุกคิดแล้วว่าสิ่งที่คุณศึกษามา คุณขยัน คุณมีปัญญา คุณจะไปรับใช้อะไร ตรงนี้สำคัญ ปริญญากับความสำเร็จในการทำงาน บางทีมันคนละอย่างกัน ผมเคยเขียนกลอนไว้ว่า...


ไม่รู้จักนำความรู้สู่ประโยชน์
ปริญญาเป็นโยชน์ก็อยากไย่
ประโยชน์จากเป็นอยู่ไม่รู้ใช้
ก็จะหาค่าอะไรในชีวิต...

 

ผู้เขียน : ณัฐกานต์
ช่างภาพ : กันสกล

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook