คณาธิป สุนทรรักษ์ LIVING WITH PASSION

คณาธิป สุนทรรักษ์ LIVING WITH PASSION

คณาธิป สุนทรรักษ์ LIVING WITH PASSION
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ยินดีด้วย หากคุณเป็นคนที่พูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว เพราะหากเปรียบสังคมโลกของเราเป็นสนามรบแห่งชีวิตที่ทุกคนจะต้องดิ้นรนเอาตัวรอด คุณคือคนที่จะมีชีวิตอยู่รอดด้วยศาสตราวุธที่มีอยู่ติดตัว นั่นคือ ภาษาอังกฤษ

เราไม่อาจต้านพลังอำนาจของภาษาสากลนี้ได้ โดยเฉพาะในยุคที่พรมแดนถูกทำละลายไปด้วยเทคโนโลยีรวมถึงพันธะสัญญาต่างๆ ความสามารถในการใช้ภาษาจึงถูกยกเป็นสะพานเชื่อมให้เราไปสู่สิ่งที่ต้องการตรงตามเป้าหมาย เกือบทุกประเทศบนโลกเห็นความจำเป็นสำคัญของภาษาอังกฤษ มีการวางโครงสร้างหลักสูตรวิชาภาษาอังกฤษเพื่อปูพื้นฐานให้ประชาชนตั้งแต่ยังเด็ก ประเทศไทยก็เช่นกัน เรามีหนังสือเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล ท่องศัพท์เป็นกันตั้งแต่ประถม รู้หลักไวยากรณ์หรือแกรมม่าเชิงลึกตั้งแต่ตอนมัธยม ทั้งตอนนี้ยังมีหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษล้วน หรือภาคอินเตอร์ฯ ผุดเพิ่มขึ้นในหลายๆ โรงเรียน เรามีหลายสิ่งหลายอย่างมากมายที่แสดงให้เห็นว่าประเทศที่แสนจะศิวิไลซ์ของเราเห็นความสำคัญของภาษาจากฟากยุโรปนี้ แต่คำถามคือ แล้วเหตุใดคนไทยส่วนใหญ่จึงยังพูดภาษาอังกฤษไม่เก่งขึ้นสักที? ความสงสัยเหล่านั้นนำพาให้เราได้มานั่งพูดคุยกับ ‘คณาธิป สุนทรรักษ์’ หรือ ลูกกอล์ฟ, ครูลูกกอล์ฟ,

พี่ลูกกอล์ฟ ของเด็กๆ ติวเตอร์ภาษาอังกฤษตัวท็อปของวงการ ณ ขณะนี้ ถึงปัญหาที่เปรียบเหมือนขอนไม้ใหญ่ขัดขวางการไปต่อในการเรียนภาษาอังกฤษของคนไทย ในฐานะที่เขาเปรยว่าหากเป็นไปได้ก็อยากเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนแปลงทัศนคติด้านภาษาอังกฤษในสังคมไทย อีกทั้งเขายังลุกขึ้นมาจับมือกับภาคเอกชนสร้างสรรค์ทอล์คโชว์ภาษาอังกฤษออนทัวร์ 4 ภูมิภาคให้เข้าชมฟรี ในชื่อโปรเจกต์ว่า The Amazing English Talk Show ซึ่งทำให้เรามองเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษในมิติที่มากกว่าแค่แลกคะแนนการสอบ IELTS, TOEIC, TOEFL เพื่อการเรียนหรือทำงาน แต่นี่คือทางรอดของชีวิตผู้คนในยุคนี้

โดยเฉพาะกับคนที่อยากพาตัวเองไปสู่โลกกว้างที่ไกลกว่าจุดที่คุณยืนอยู่ในปัจจุบัน

ดาว่าตอนเด็กๆ คุณต้องไม่ชอบภาษาอังกฤษแน่ๆ ใช่ไหม แล้วอาจจะต้องเกิดจุดเปลี่ยนอะไรบางอย่างในชีวิต

คณาธิป : ใช่ (หัวเราะ) ตอนเด็กๆ เป็นคนไม่ชอบเรียนภาษาอังกฤษ แต่ไม่ได้แอนตี้ แค่รู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่เด็กเก่ง เป็นเด็กหลังห้อง สอบได้ที่ 2 รองจากสุดท้าย ตอนนั้นลูกกอล์ฟไม่ได้ตั้งใจเรียนเลย จนกระทั่ง ม.2 ได้ไปเที่ยวภูเก็ต ไปเจอเด็กฝรั่ง แล้วอยากคุยกับเขา (นัยน์ตาเป็นประกาย) ถ้าให้พูดตามตรง จุดเปลี่ยนที่ทำให้เราหันมาสนใจภาษา ก็คือ เรื่องเพศ เราเป็นตุ๊ด มาจากหมู่บ้านที่เล็กมาก ชื่อว่า ทุ่งลุง อยู่ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา คนในหมู่บ้านค่อนข้างหัวโบราณ แล้วเราโดนตีตรามาตั้งแต่เด็กว่าคำว่า ตุ๊ด = Unsuccessful มันไม่มีที่ยืนสำหรับเพศนี้ที่นั่น ตอนที่เป็นเด็กนี่โคตรอึดอัดเลย คิดตลอดว่าจะทำยังไงให้สามารถไปในโลกที่กว้างขึ้น ในความคิดของเรามองว่า ถ้าเป็นตุ๊ดแล้วยังจะโง่อีก ติดยาอีก ตามผู้ชายอีก พ่อแม่คงรู้สึกแย่ นั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้หันมาสนใจภาษาอังกฤษ เพราะอาจารย์บอกเราว่ามันคือภาษาสากล เราก็คิดเอาเองว่าถ้าได้ภาษาก็คงดีมั้ง วันหนึ่งอาจจะได้ไปเจอคนเยอะขึ้น ได้ไปเมืองนอกเมืองนา เพราะโลกนี้มีมากกว่าแค่ที่เราเห็นอยู่

พอเริ่มตั้งใจเรียนก็ไม่ค่อยเข้าใจ เพราะเราทิ้งภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก ให้ท่องก็ไม่ท่อง ให้เขียนก็ไม่เอา ให้ออกเสียงก็ไม่ออก ตามสไตล์เด็กขี้เกียจ จนกระทั่งเราได้ดูสื่อฝรั่ง เริ่มดูข่าวเมืองนอก เปิดดูมันไปเรื่อยๆ แรกๆ ฟังไม่ออกเลยนะ แต่นั่งอยู่หน้าจอทุกวันมันก็ซึมเข้ามาเอง เราเริ่มพูดตาม นั่นทำให้ค้นพบความจริงว่านี่แหละคือวิธีที่มนุษย์เรียนภาษา เราเริ่มกล้าออกเสียง จากคำก็รวมเป็นประโยค แล้วก็เริ่มรู้ว่า อ๋อ! คำๆ นี้ที่เราเรียนในโรงเรียนมาตลอด ที่จริงแล้วเจ้าของภาษาออกเสียงแบบนี้ว่ะ แต่ฉันเรียนมาแบบนี้ เลยทำให้ฟังเจ้าของภาษาไม่ออก พอลองออกเสียงแบบเจ้าของภาษาในห้องเรียน ก็จะโดนเพื่อนล้อว่า “อุ๊ย! ดัดจริต” โดนแซวตลอด แต่เราเรียนรู้เรื่องขึ้นนะ แล้วก็เริ่มมั่นใจมากขึ้นเรื่อยๆ ลูกกอล์ฟเริ่มกลายเป็นคนที่อาจารย์มอบหน้าที่ให้อ่านในห้อง เกรดดีขึ้น จำได้ว่าได้เกรด 4 ภาษาอังกฤษตอน ม.3 เวลาเพียงแค่ปีเดียวที่เราอินกับภาษาอังกฤษมากๆ ทำให้เกรดเราดีขึ้นขนาดนี้ แล้วมันลามไปสู่วิชาอื่น จากเด็กที่เรียนไม่เก่ง เราก็เรียนได้เกรดเฉลี่ย 3 กว่าเว้ย

ตอนนั้นมีประสบการณ์การเรียนภาษาอังกฤษจากการฟังเพลงฝรั่งบ้างไหม เพราะดูเหมือนมันจะเป็นสื่อภาษาอังกฤษที่เข้าถึงง่ายที่สุด

คณาธิป : ฟังเยอะมาก คือเราอยู่ในยุคที่การฟังเพลงสากลไม่ใช่หาง่ายๆ มันเป็นยุคเทปคาสเซ็ท ต้องซื้อเทป ซื้อซีดี ม.6 มือถือยังเป็น 3310 อยู่เลย แต่ยุคนั้นมี MTV มี Channel V แล้ว เวลาเราอยากฟังเพลงเพลงหนึ่งก็ต้องกลับบ้านให้ทันเพื่อมารอชม จากที่ดูไททานิคแล้วไม่เคยเข้าใจว่า My Heart Will Go On คืออะไร ก็เริ่มเข้าใจ แต่จะบอกว่าไม่ใช่แค่เพลงฝรั่งที่ทำให้พูดภาษาอังกฤษได้ ต้องดูเยอะ และอ่านเยอะด้วย อย่างหนึ่งที่ลูกกอล์ฟคิดว่าเราแตกต่าง คือ เรากล้าอ่าน ลูกกอล์ฟ มองว่าการหยิบหนังสือเล่มหนึ่งมาเพื่ออ่านให้จบให้ได้มันต้องใช้ความมุ่งมั่นมากจริงๆ จำได้ว่าตอน ม.ปลายท้าทายตัวเองด้วยการอ่าน The Lord of the Rings ภาคภาษาอังกฤษ... เกือบตาย ไม่ได้รู้เรื่องหมดนะ แต่มันทำให้เราโอเคขึ้นมาก

แล้วในที่สุดภาษาอังกฤษก็เปลี่ยนชีวิตคุณ

คณาธิป : ภาษาอังกฤษเปลี่ยนชีวิตเรามากๆ ลูกกอล์ฟโชคดีที่พ่อแม่ส่งไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศเยอรมนี เป็นนักเรียน AFS ซึ่งเปลี่ยนโลกให้เรามาก ที่โน่นเขาใช้ภาษาเยอรมันกัน คาบเรียนภาษาอังกฤษของเขาต่างจากเมืองไทยมาก ทุกคนจะพยายามพูด แม่งไม่ล้อกันเลย คือเขามองว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 นี่แหละคือบรรยากาศที่ดี ในเมื่อมันไม่ใช่ภาษาของเรา เราแค่พยายามเรียนรู้มัน สิ่งหนึ่งที่ลูกกอล์ฟพยายามปฏิรูปเวลาที่ไปบรรยาย คือ เด็กไทยต้องหยุดล้อกันเว้ย แล้วหันมาสร้างสภาวะการเรียนรู้ที่สนุก ทุกคนเรียนไปด้วยกัน แล้วการเรียนภาษาจะสนุก

จากที่สังเกตการณ์มา คุณคิดว่าปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษของคนไทยคืออะไร

คณาธิป : ด้วยความที่การเรียนภาษาอังกฤษของลูกกอล์ฟส่วนใหญ่เกิดจากการค้นคว้าด้วยตัวเอง จึงพบว่ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นเยอะมาก เพราะเราเรียนมาผิดๆ แล้วมันก็ติดตัวเรามา เราไม่รู้หรอกว่าวิธีที่ถูกคืออะไร ตรงนี้เป็นจุดเด่นของเรา เราเข้าใจว่าคนไทยมีปัญหาอะไร ปัญหาของคนไทยมีหลายด้านมาก สมมุติว่าการเรียนภาษาเป็นพีระมิด ฐานของพีระมิด คือ Listening ค่อยขึ้นมาเป็น Speaking แล้วจึงมาเป็น Reading บนสุดก็คือ Writing ถ้าเรียงแล้วก็คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน ทุกภาษาของมนุษย์เรียนรู้ด้วยวิธีนี้หมด จากฐานข้างล่างขึ้นไปบนแบบนี้ ฟังแล้วได้ยินยังไงก็พูดออกมา แล้วมันค่อยต่อยอดไปสู่การอ่านและการเขียน พวกแกรมม่าต่างๆ จะเรียนรู้ได้จากก้อนบน

แต่คนไทยมักจะเริ่มจากข้างบนก่อน สังเกตเวลาไปโรงเรียน คุณครูจะให้เริ่มจากการเขียน เขียนเสร็จแล้วอ่าน หรือท่องศัพท์นั่นแหละ แล้วก็อ่านกันผิดๆ จากนั้นพอไปฟังเจ้าของภาษา ก็ฟังไม่ออก นี่แหละคือปัญหา เราเริ่มในสิ่งที่สูงมาก เริ่มจากพวกแกรมม่า แล้วค่อยไล่ลงมาหาสิ่งง่ายๆ ลูกกอล์ฟมักบอกนักเรียนเสมอว่า การฟังสำคัญที่สุด การฟังไม่ได้ช่วยแค่ในเรื่องภาษา การฟังจะทำให้เกิดความเข้าใจในหลายๆ เรื่อง การฟังเป็นกุญแจต่อหลายๆ สิ่งในชีวิต ปัญหาที่เกิดขึ้น

ในสังคมไทยคือมนุษย์ไม่ฟังกันไงชอบมีคนบอกว่า อยากเก่งภาษา ต้องเลิกเรียนแกรมม่า ต้องเลิกท่องศัพท์ ให้ฟังมากๆ ตรงนี้คุยกันให้เข้าใจว่า เมืองไทยเราไม่ได้

พูดภาษาอังกฤษกันในชีวิตประจำวัน ดังนั้นอย่าเพิ่งแอนตี้แกรมม่า แล้วก็อย่าเพิ่งแอนตี้การเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ เพราะว่าเราเรียนรู้ภาษาอังกฤษในฐานะที่เป็นภาษาที่ 2 วิธีแก้มันไม่ใช่การไปตั้งแง่ว่าเลิกเรียนแกรมม่า แต่เราต้อง ฟัง+พูด ให้ได้ก่อน แล้วอีก 2 ฟังก์ชันคือ อ่าน+เขียน จึงจะเป็นส่วนเสริมที่ทำให้ภาษาของเราแข็งแรงขึ้น ถ้าในโรงเรียนให้เรื่องฟัง+พูดไม่ได้ คุณก็ไปเปิดคลิปดู YouTube สิ ดูที่ฝรั่งสอน แล้วหัดฟังหัดพูดให้ได้ แล้วเรียนควบคู่กันไปกับที่เรียนในห้อง มันจะดีขึ้นแน่ๆ

หลายคนบอกว่าจะชอบหรือไม่ชอบภาษาอังกฤษ มาจากเรื่องราวฝังใจในตอนเด็กๆ กับครูสอนภาษาอังกฤษ

คณาธิป : มันเป็นกันทุกวิชา First Impression เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ลูกกอล์ฟเองก็เจอ First Impression ที่ไม่ดีมาเหมือนคนส่วนใหญ่ เคยเจอถึงขั้นที่โดนตำหนิว่า “นายคณาธิป ทำไมต้องเยอะขนาดนี้ เราเป็นคนไทยนะ” ทั้งๆ ที่เราพยายามพูดให้เหมือนเจ้าของภาษา

กูพยายามพูด กูเยอะตรงไหน เราไม่เข้าใจและรู้สึกว่าเป็นระบบความคิดที่ประหลาด ค่านิยมตรงนี้สั่งสมมานานมาก แล้วไม่ใช่เป็นแค่กับคน Gen.เดียว แต่เป็นกันทั้งประเทศ มันน่ากลัวนะ เพราะมันคือค่านิยมที่เราสร้างร่วมกัน บางทีก็ตลกกับคนไทยที่มองว่าฝรั่งที่พูดไทยชัดเป็นคนเก่ง ฝรั่งคนไหนพูดไทยกระท่อนกระแท่น ผิดแกรมม่า ชมเขาว่าน่ารัก ในขณะที่มันกลับกันหมดกับภาษาอังกฤษ คนที่พูดชัด โดนหาว่าดัดจริต แต่ถ้าพูดผิดก็โดนตำหนิ สังเกตง่ายๆ คือเวลาที่ดาราพูดภาษาอังกฤษออกสื่อแล้วพูดผิด จะมีคนเข้ามาโจมตีทันทีเลยว่าแกดูดิ เขาเรียนภาษาอังกฤษมาจริงป่ะเนี่ย คือรู้สึกว่าเราลืมไปหรือเปล่าว่านี่มันคือภาษาที่ 2 ของเรา มันไม่ใช่ภาษาแม่ แล้วสังเกตได้เลยว่าประเด็นหลายๆ อย่างในเรื่องภาษาอังกฤษเกิดจากคนที่ฉลาดๆ ทั้งนั้น

เมื่อคุณยกประเด็นนี้ขึ้นมา งั้นเราขอถามต่อเลยว่าประเด็นเรื่องการพูดภาษาอังกฤษก่อนหน้านี้ที่มี นักวิชาการออกมาวิจารณ์การพูดภาษาอังกฤษของโค้ชฟุตบอล คุณคิดเห็นยังไง

คณาธิป : ฉันโกรธมาก (ลากเสียงยาว) ฉันแชร์สุดฤทธิ์ ต้องมีแฮชแท็กไหมว่า ก็เพราะคนอย่างนี้ไง โดยส่วนตัวเราคิดว่า สำเนียงไทย

เป็นสำเนียงหนึ่งที่ไม่ผิด แล้วการตีตราสำเนียงเมียเช่าเอย สำเนียงอะไรเอยก็ตาม ต้องแยกแยะก่อนว่าคนเหล่านั้นเขาเรียนภาษาผ่านการเอาตัวรอด เขาอาจไม่ได้ถูกสอนหรือถูกขัดเกลาให้ออกเสียงอย่างถูกต้อง แต่การไปตีตราคนไทยด้วยกันว่าสำเนียงพวกนี้เป็นสำเนียงแบบเมียเช่า เป็นทัศนคติที่แย่มาก เข้าใจไหมว่าการสร้างทัศนคติที่ดี หรือการสร้างค่านิยมที่ดีนั้นมันสร้างโคตรยาก แต่คำพูดจากนักวิชาการแบบนี้มันทำลายล้างได้แค่ในพริบตาเดียว ถ้ามีคนมาถามว่าในเมื่อลูกกอล์ฟบอกว่าสำเนียงไทยมันรู้เรื่อง แล้วทำไมถึงไม่พูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงไทยล่ะ เราก็จะบอกว่า เพราะเวลาสื่อสารอยากให้มันง่าย นี่คือเหตุผล ไม่ได้อยากพูดเพื่อให้ดูเยอะ มีจริตอะไร เพราะการสื่อสารมันควรจะต้องง่าย จุดมุ่งหมายของการสื่อสารคือต้องเข้าใจกันไม่ใช่เหรอ

“คนในประเทศนี้แบ่งเป็น 3 จำพวก คือ โอกาสโคตรดี เก่งเพราะโอกาส,

โอกาสดี แต่ไม่ใช้โอกาส และ โอกาสไม่มี แล้วจะให้ใช้ยังไง”

ถ้ามีเด็กที่ฝังหัวว่าตัวเองเกลียดภาษาอังกฤษ คุณจะเปลี่ยนทัศนคติเขายังไง

คณาธิป : ตรงนี้ช่วยไม่ได้ เราไม่สามารถบังคับให้ใครรักอะไรได้ ต้องเริ่มจากตัวเอง การไปเปลี่ยนความคิดคนอื่น มันทำยาก แต่การเปลี่ยนความคิดตัวเองมันง่ายมาก คุณอาจไม่ต้องรัก แต่ต้องเปิดใจใหม่

ทำความเข้าใจว่า Need กับ Want ไม่เหมือนกัน ถ้าต้องการเรียนภาษาอังกฤษในแบบ Want จะเป็นแค่ความรู้สึกอยากเรียน แต่ถ้าอยากเรียนภาษาอังกฤษแบบ Need เมื่อไหร่ จะมีความพยายามเข้ามาเจือในความรู้สึก แล้วก็ต้องถามตัวเองด้วยว่า ภาษาอังกฤษสำคัญกับตัวคุณจริงไหม Is it important? ถ้าบอกว่าสำคัญมาก ก็จะเกิดความพยายามขึ้นมาเอง เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องการหรือจำเป็นที่จะต้องใช้ภาษาอังกฤษ บางคนอาจบอกว่า ก็ฉันทำงานในประเทศไทย อยู่ในองค์กรคนไทยตลอด ฉันไม่อยากไปต่างประเทศ ไม่ได้อยากอ่านงานเขียนที่เป็นภาษาอังกฤษ ก็ไม่ต้องเรียน เพราะการเรียนภาษาอังกฤษเป็นเรื่องของการทุ่มเท เราต้องใช้เวลานอกเหนือจากการใช้เงินเสียค่าคอร์สราคาแพงๆ มีหลายคนมากเสียทั้งเงินเสียทั้งเวลาเพราะเขาไม่ได้ Need ไม่ได้รู้สึกว่าภาษาอังกฤษสำคัญ คำถามต่อไปคือ How far you wanna go? อยากไปไกลแค่ไหน แล้วจะได้คำตอบกับตัวเองว่าต้องพยายามแค่ไหน

จำเป็นไหมว่า ถ้าอยากพูดภาษาอังกฤษได้ดี ต้องไปเรียนเมืองนอก

คณาธิป : ช่วยได้ประมาณหนึ่ง แต่ไม่จำเป็น ครั้งหนึ่งลูกกอล์ฟไปเที่ยวกัมพูชาแล้วได้คุยกับพนักงานในโรงแรม รู้สึกว่าคนที่นี่เก่งภาษาอังกฤษจัง แล้วเขาพูดมาประโยคหนึ่งที่ทำให้เราร้องอ๋อ! เขาต้องพูดให้ได้สิ เพราะ “We need to survive. เราต้องเอาตัวรอด ถ้าไม่พูด

ก็ไม่รอด” ดังนั้นการไปเรียนเมืองนอกจึงช่วยประมาณหนึ่ง เพราะอยู่เมืองนอก คุณจะถูกบังคับให้อยู่ในสภาวะที่ ‘ต้องรอด’ ต้องพูดให้ชัดเพื่อให้ฝรั่งฟังออก แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน ถ้าคุณอยู่เมืองไทยแล้วฝึกเองทุกวันก็พูดได้ เด็กดอยบางคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ เขาอยู่แค่เมืองไทย

เขาพูดได้ยังไง ก็เพราะ Practice makes perfect. ไง ทุกวันนี้ลูกกอล์ฟก็ยังต้องฝึกอยู่เลย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นมาถึงจุดนี้ ยังไม่เคยหยุดฝึก สิ่งเหล่านี้เป็นพรแสวง เราไม่ได้เกิดมาพร้อมพรสวรรค์ ไม่ได้เป็นอัจฉริยะ หลายๆ ครั้งในชีวิตเกิดจากพรแสวงล้วนๆ

ตอนนี้ครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนรัฐบาลก็มีน้อย คุณภาพก็อาจไม่เทียบเท่ากับโรงเรียนเอกชน ทำไมคุณถึงไม่สนใจไปเป็นครูโรงเรียนรัฐ แต่เลือกที่จะเปิดสถาบันสอนภาษา Angkriz ขึ้นมาแทน

คณาธิป : นี่คือทางเลือกของเรา เพราะการเข้าไปเป็นครูในโรงเรียนรัฐ

ซึ่งต้องสอบบรรจุ จะมีเรื่องของความยาก จะมีเงื่อนไข การไปอยู่ในโรงเรียนรัฐคนอย่างเราจะมีเงื่อนไขเยอะ อยู่ยาก ลำบาก เราเป็นเพศที่ 3 แต่งตัวจัด ดูขัดจากจารีตของความเป็นครู ก็เลยเลือกเปิดโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษโดยไม่คิดว่าโรงเรียนจะมาไกลขนาดนี้ และไม่เคยคิดว่าโรงเรียนนี้จะทำให้เราขึ้นมาสู่จุดๆ นี้ได้ ซึ่งลูกกอล์ฟรู้สึกว่าการที่เราทำตรงนี้ เราสามารถแชร์สิ่งที่เรามีได้มากกว่าการไปเป็นครูประจำที่โรงเรียนไหน การที่เราได้เป็นติวเตอร์ทำให้เราได้โอกาสในการไปแชร์ความรู้ จากจุดที่เราเคยถูกถกเถียงว่าเราเป็นเพียงติวเตอร์หรือเป็นครู วันหนึ่งเราก็ได้รับเกียรติให้ไปเป็นวิทยากรอบรมครูภาษาอังกฤษทั่วประเทศ จนต้องถามตัวเองว่า นี่ฉันขึ้นมาถึงจุดนี้แล้วเหรอ? ไม่ใช่ว่าเรากร่าง หรือมีอีโก้ แต่มันทำให้เราได้มองว่าเราขึ้นมาตรงจุดนี้ได้ยังไง

ถ้าพูดกันตามตรง นักเรียนที่จะได้ร่ำเรียนในโรงเรียนกวดวิชา ได้เจอกับครูสอนภาษาอังกฤษแบบคุณ จะต้องเป็นคนที่มีฐานะระดับหนึ่ง แล้วเด็กที่อยากเรียนแต่ไม่มีโอกาสล่ะ

คณาธิป : ถามว่าเด็กที่มีฐานะมาเรียนใช่ไหม ส่วนใหญ่ก็ใช่ เพราะถ้าไม่มีเงินสนับสนุนจากพ่อแม่ก็เข้ามาเรียนไม่ได้ ซึ่งเรตราคาของเราก็ปกติ ต้องเข้าใจว่า Angkriz ไม่มีสาขา เราสอนสด สอนคนเดียว นักเรียนมีจำกัด ราคาอาจสูงกว่าที่อื่น แต่ทุกคนจะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง มีคนถามว่าทำไมลูกกอล์ฟไม่กลับไปเปิดโรงเรียนที่ต่างจังหวัด ทำไมถึงเปิดที่กรุงเทพฯ เพราะเราเลือกแล้วว่าตรงนี้คือศูนย์กลาง คนอาจมองว่าไม่ใช่การกระจายความรู้ มันไม่ใช่เลย เราเป็นเด็กต่างจังหวัด เราเข้าใจดีในเรื่องนี้ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ลูกกอล์ฟทำคลิปออนไลน์เยอะมาก เราออนทัวร์จัดทอล์คโชว์ฟรีๆ เพราะรู้สึกว่าต้องให้กลับคืน จริงอยู่ Angkriz อาจจะมีสาขาเดียว แต่คลิปที่เราทำออกไป ลูกกอล์ฟมั่นใจว่าเนื้อหามันพอแน่นอนที่จะทำให้คนคนหนึ่งเก่งภาษาอังกฤษ บางคลิปทาง YouTube มีคนดูเกือบล้าน

ถามว่าถ้ามาคำนวณเป็นห้องเรียนนี่คือกี่ห้องเรียน ทุกคนสามารถเก่งได้โดยไม่ต้องมานั่งเรียนด้วยซ้ำ เด็กไทยชินกับการที่ต้องอุ้มขึ้นมาจากเปล บดข้าวให้ ป้อนถึงปาก ซึ่งเราไม่ได้อยากให้เด็กไทยเป็นอย่างนั้น เราไม่ได้รู้สึกว่าอยากมีนักเรียนทั่วประเทศเพื่อให้เราต้องมานั่งป้อนข้าวให้ ที่พูดอย่างนี้ได้ เพราะตอนที่ฉันโตมาในวันนั้นก็ไม่ได้มีคนสอนอย่างพี่ลูกกอล์ฟไง แล้วสิ่งที่ฉันรู้ในตอนนั้นก็น้อยกว่า

สิ่งที่เด็กรู้ในตอนนี้ แล้วทำไมฉันยังรอดมองว่าภาษาอังกฤษเป็นตัวแทนของคนอีกชนชั้นหนึ่งหรือเปล่า

คณาธิป : คิดว่ามันมีความซับซ้อนมากกว่านั้น ใครก็ตามที่อยู่ในเมืองใหญ่ อยู่ในโรงเรียนที่ทุ่มเงินกับภาษาอังกฤษ หรือได้ไปซัมเมอร์ที่ต่างประเทศ นั่นคือโอกาสดีที่เขาได้รับ แต่คิดว่าเราไม่ควรชูประเด็นว่าภาษาอังกฤษคือภาษาของคนรวย เพราะสิ่งหนึ่งที่ลูกกอล์ฟพยายามกระเทาะคือ ภาษาควรที่จะหยุดถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการวัดว่าใครเด่นหรือใครด้อยกว่ากัน คนไทยชอบคิดว่าใครพูดได้หลายภาษาจะดูเหนือกว่า จริงๆ แล้วไม่เลย คนเก่งหรือไม่เก่งไม่ได้ดูกันตรงนี้ ภาษากับความอัจฉริยะต้องแยกกัน มันเป็นเรื่องของบุคคล โอเค! มันมีประโยชน์แหละถ้าได้ภาษา คุณจะได้ไปเจอโอกาสมากมาย แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร มันก็จะมีทางรอดอื่นในชีวิต ถามว่ามันเป็นการวัดรวยจนหรือเปล่า แน่นอนคนที่มีฐานะมักจะมีโอกาสมากกว่าเสมอ เราต้องเข้าใจและมองความเป็นจริงว่า คนบางคนเกิดมาพร้อมโอกาสที่น้อยมากจริงๆ ดังนั้นใครที่ยังไม่มีโอกาสก็ต้องสู้อย่างเดียว หากมีอะไรฟรีๆ ที่คุณเข้าถึงได้ จงไปดู จงไปฟัง แล้วฝึกมากๆ เพราะนั่นคือโอกาสสำหรับคุณ คนในประเทศนี้แบ่งเป็น 3 จำพวก กลุ่มแรก คือ โอกาสโคตรดี เก่งเพราะโอกาส กลุ่มที่ 2 คือ โอกาสดี แต่ไม่ใช้โอกาส กลุ่มสุดท้ายคือ โอกาสไม่มี แล้วจะให้ใช้ยังไง กลุ่มสุดท้ายอาจจะแตะยาก ต้องมี

การอุ้มชูจากภาครัฐและเอกชน แต่ก่อนจะเจาะไปถึงตรงนั้น มันมีกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่มากๆ นั่นคือกลุ่มที่ 2 ทำยังไงให้คนในกลุ่มนี้เก่งภาษา เพราะปัญหาตอนนี้คือ ขนาดคนที่มีโอกาสโดยเฉลี่ย มันยังไม่ขวนขวายเลย

พูดถึงโปรเจกต์ทอล์คโชว์ The Amazing English Talk Show คิดอยู่นานไหมถึงได้ลงมือจะทำ

คณาธิป : ตั้งแต่ทำโรงเรียนมา เราพยายามทำอะไรที่เป็นการกุศลมาตลอด จัดติวฟรีมาตั้งแต่โรงเรียนเล็กๆ เด็ก 40 คน จนย้ายมาติวฟรีที่ใบหยก เด็กอยู่ในหลักร้อย จากนั้นก็กลายมาเป็นจัดทอล์คโชว์ที่สกาลาร์ มีคนมาดูเราเกือบ 2,000 คน เราดึงคนดัง อย่าง เต๋อ-ฉันทวิชญ์,

โอปอลล์-ปาณิสรา, เต้ย-จรินทร์พร, พลอย หอวัง ฯลฯ มาเป็นเกสท์ คนก็เยอะมาก ที่เราทำเพราะอยากให้คนมาฟังแล้วรู้สึกดีกับภาษาอังกฤษ แล้วมันก็เวิร์ค จนกลายเป็นทอล์คโชว์ออนทัวร์ โดยมีทางเอเซอร์มาเป็นสปอนเซอร์ให้ สำหรับทอล์คโชว์นี้เป็นโปรเจกต์

ทอล์คโชว์ 4 ภาค (สงขลา, พิษณุโลก, ขอนแก่น และกรุงเทพฯ) ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่ดีมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เด็กทุกคนเกิดประกายในการเรียนภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง ทำให้โปรเจกต์ขยายมาสู่ปีนี้ โดยมีชื่อโปรเจกต์ที่ใหญ่ขึ้นว่า The Amazing

English Talk Show มีธีมว่า English Makes Your Life Amazing กลุ่มเป้าหมายของคุณดูเหมือนจะไม่ใช่แค่นักเรียนนักศึกษา

คณาธิป : รู้สึกเหมือนคนไทยชอบผลักภาระนะ อยากเก่งภาษาอังกฤษเป็นหน้าที่ของเด็ก และครูภาษาอังกฤษ เราผลักภาระออกไปจนลืมไปว่าจริงๆ แล้วเราทุกคนคือฟันเฟือง ในปีนี้เราจึงดึงผู้ปกครองมาฟังเยอะขึ้น ใครก็ตามที่ส่งเสียค่าเล่าเรียนให้เด็กเรียนภาษาอังกฤษอยู่ คุณนั่นแหละคือคนที่ต้องมาฟัง เพราะคุณข้องเกี่ยวกับภาษาอังกฤษทางอ้อมอยู่ คุณต้องมาฟังเพื่อให้เข้าใจว่าคุณจะสอนลูกยังไงให้เขาเก่งภาษาอังกฤษโดยเสียเงินน้อยที่สุดเพราะพ่อแม่คือครูคนแรกของลูก

คุณอยากให้คนที่มาฟังคุณเขาได้อะไรกลับไป

คณาธิป : บอกตามตรงว่าแค่นั่งทำเนื้อหาเอง เรายังรู้สึกว่ามันพอแล้วกับการเริ่มต้นสำหรับคนที่ยังไม่รู้จะเริ่มยังไง กับการไปต่อสำหรับคนที่มีพื้นฐานประมาณหนึ่ง และกับการเอาเทคนิคนี้ไปเผื่อแผ่สำหรับคนที่เก่งแล้ว ในทุกครั้งที่ไปทอล์คโชว์จะมีแง่มุมหนึ่ง เพิ่มขึ้นเสมอในฐานะผู้สอน คนชอบมาถามว่า มาฟัง 3 ชั่วโมง พูดภาษาอังกฤษได้เลยไหม ไม่ได้ ไม่มีทาง ฉันไม่ใช่แม่มด ฉันเสกไม่ได้

แต่อย่างน้อยคนที่มาฟังจะเป็นฟันเฟืองที่ดีมาก เรามั่นใจว่าคนที่ออกจากห้องไปจะหยุดล้อกัน จะส่งเสริมให้คนที่เรียนภาษาอังกฤษกล้าเรียนมากขึ้น จะขวนขวายมากขึ้น จะเริ่มสังเกตความเป็นภาษาอังกฤษที่อยู่รอบตัวมากขึ้น เขาจะเป็นเหมือนไม้ขีดไฟที่จุดต่อๆ กันไป

ถ้าให้นั่งเรียนภาษาอังกฤษตั้ง 3 ชั่วโมง เป็นเราก็คงไม่มีสมาธิอยู่กับเนื้อกับตัวบ้าง เพราะสมาธิอยู่แค่ช่วงเวลาแรกๆ แล้วอย่างนี้คุณดึงคนดูยังไงให้เขาฟังคุณจนครบ 3 ชั่วโมงได้

คณาธิป : ต้องลองมาฟังทอล์คโชว์ คนที่ไปฟังแทบไม่มีใครลุกหนีจากเก้าอี้เลย มันคงอยู่ที่สไตล์ คงจะดูเหมือนอวดตัวเองเกินไปถ้าจะบอกว่า มันดีมาก มันสนุกมาก มันไม่ไหวแล้ว (หัวเราะ) จริงๆ มันมีความผ่อนคลาย แล้วก็มีความรู้ เป็นไดนามิคของทอล์คโชว์ที่เข้าใจวัยรุ่น ถ้าให้มองหาเหตุผลที่ดึงคนให้อยู่จนจบ คงมีเหตุผลอยู่ 2 ประการ หนึ่ง. มันสนุกมาก และสอง. มันเกี่ยวข้องกับตัวของทุกคนเอง ลูกกอล์ฟไม่ใช่คนที่ถูกส่งไปเรียนเมืองนอกตั้งแต่เด็กแล้วเก่งภาษาอังกฤษ เราไม่ใช่ลูกครึ่งที่มีพ่อหรือแม่เป็นฝรั่ง แต่เราคือคนไทยเหมือนกับทุกคน ผู้ชมจะได้เห็นตัวแทนของเด็กภูธรคนหนึ่ง เราไม่ได้ต่างจากเขา ถ้าเราทำได้ทำไมเขาจะทำไม่ได้ เพราะสิ่งที่เราทำมันไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรง เราไม่ได้ทำให้เขาต้องฝืน แต่เราทำให้เขาพยายามมากขึ้นในลิมิตที่เขาไม่เหนื่อย จนเขาทำได้

คุณได้อะไรจากการทำโปรเจกต์ทอล์คโชว์นี้

คณาธิป : ถ้าพูดไปก็จะเหมือนดูสวย (หัวเราะ) นี่คืองานที่เราทำเพื่อความรู้ แค่ได้เห็นเด็กเรียนภาษาอังกฤษดีขึ้น ได้ทำให้คนรู้สึกดีต่อการเรียนภาษาอังกฤษ เท่านี้หน้าที่ของลูกกอล์ฟก็สมบูรณ์แล้ว ประเทศเรามีปัญหาหลายด้าน การช่วยประเทศนี้ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือจึงจะเกิดผล เช่น ลูกกอล์ฟเป็นติวเตอร์ งานที่เราถนัดคือการให้ความรู้ พาร์ทที่เราจะช่วยประเทศได้ คือพาร์ทของการสร้างทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการให้ความรู้เขา ถ้าบุคลากรทางการศึกษาลุกขึ้นมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ คุณครูที่เก่งๆ ลุกขึ้นมาจัดสัมมนา จัดแลกเปลี่ยนความคิด ลูกกอล์ฟคิดว่าสถานการณ์ทุกอย่างจะโอเคขึ้นแน่นอน

The Amazing

English Talk Show

ยังเหลืออีก 2 รอบใน 2 ภูมิภาคที่คุณจะได้ตีตั๋วแบบฟรีๆ เข้าร่วมฟังทอล์คโชว์ภาษาอังกฤษที่แซบเว่อร์
ของ ลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ โดยในครั้งที่ 3
จะจัดขึ้นที่ขอนแก่น วันที่ 29 สิงหาคม และรอบสุดท้ายที่กรุงเทพฯ วันที่ 27 กันยายน รายละเอียดติดตามที่ angkriz.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook