7 โครงการไฮไลท์ “เซ็นทรัล ทำ” พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน สู่การท่องเที่ยวยั่งยืน

7 โครงการไฮไลท์ “เซ็นทรัล ทำ” พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน สู่การท่องเที่ยวยั่งยืน

7 โครงการไฮไลท์ “เซ็นทรัล ทำ” พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน สู่การท่องเที่ยวยั่งยืน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เซ็นทรัล ทํา ยังคงสานต่อความมุ่งเน้นในการลดความเหลื่อมลํ้า ให้โอกาสทุกคนในสังคม พัฒนาด้านการศึกษาสู่การเป็น ศูนย์การเรียนรู้ ส่งเสริมอาชีพคนพิการ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้มั่นคง พร้อมแบ่งปันความรู้ทักษะต่าง ๆ สนับสนุนช่องทางการขายและสื่อสารทางการตลาด พร้อมการรักษาและดูแลสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่โลกสีเขียว ขับเคลื่อนทุกภาคส่วนสู่การท่องเที่ยวยั่งยืน

คุณพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า ในปี 2566 เซ็นทรัล ทำ ยังคงตอกย้ำจุดยืน มิติใหม่ของการทำ บนแนวคิด การสร้างคุณค่าร่วม (CSV) พร้อม Tagline ‘ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ’ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้ง หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน องค์กร และชุมชน ต่างๆ เพื่อสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน เหมือนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยมีโครงการไฮไลท์ ของ เซ็นทรัล ทำ ดังนี้

จริงใจ มาร์เก็ต จ.เชียงใหม่ การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์

จริงใจ มาร์เก็ต จ. เชียงใหม่ ถือเป็นหนึ่งในโครงการแห่งความจริงใจและใส่ใจในเครือกลุ่มเซ็นทรัล ที่อยู่ภายใต้ เซ็นทรัล ทำ สร้างขึ้นภายใต้แนวคิดรักษ์โลก (Eco-friendly) และ CSV (Creating Shared Values) ภายในตลาดแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ อาหาร (Food) ศิลปะและงานออกแบบ (Art & Design) และ งานฝีมือ (Craft) เน้นสร้างความสุขอย่างยั่งยืนทั้งแก่ผู้คนในชุมชน และนักท่องเที่ยว

ตลาดจริงใจ ถือเป็นตลาดเกษตรอินทรีย์แห่งแรกของกลุ่มเซ็นทรัล โดยเริ่มจากแผงขนาดเล็กไม่ถึง 10 แผง ใช้เวลากว่า 10 ปี จนปัจจุบันมีผู้ประกอบการท้องถิ่น และเกษตรกร ที่นำ ผัก ผลไม้ มาจำหน่ายภายในตลาดจริงใจจาก 15 ชุมชน คิดเป็นกว่า 70 ครัวเรือน และมีผู้ประกอบการอีกเกือบ 250 ราย ที่มาจำหน่ายสินค้าทำมืออัตลักษณ์ไทย และอาหารปลอดภัยพร้อมทาน ซึ่งถือเป็นการช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการในท้องที่ให้มีรายได้อย่างยั่งยืน พร้อมส่งเสริมให้ สินค้า อาหาร และวัฒนธรรมของชาวเชียงใหม่ เป็น ซอฟต์ พาวเวอร์ ที่จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติ ซึ่งสามารถช่วยสร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวให้กับเศรษฐกิจไทยได้กว่า 40 ล้านบาทต่อปี

ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี จ.ตรัง การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม

สืบสานวัฒนธรรม พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมที่ ‘นาหมื่นศรี’ จังหวัดตรัง ซึ่งมีความโดดเด่น ทั้งทางด้านวัฒนธรรมและความงดงามทางธรรมชาติ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่กลุ่มเซ็นทรัลให้การสนับสนุนก่อสร้าง ‘พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี’ เพื่อรวบรวมผ้าทอมือโบราณที่มีประวัติยาวนานกว่า 200 ปี พร้อมทั้งสืบสานลายอัตลักษณ์โบราณ โดยในปี 2557 กลุ่มเซ็นทรัลเข้าไปช่วยรวมกลุ่มช่างทอ จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี จ. ตรัง รวบรวมลายผ้าโบราณ และเปิดร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าทอ จากนั้นได้ปรับปรุงชั้น 2 ของโรงทอผ้าเดิม (อาคารไม้) ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี

จนกระทั้งปี 2565  เปิดโครงการศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรีอย่างเป็นทางการ โดยท่าน ชวน หลีกภัย เป็นประธานในพิธี วันที่ 14 มีนาคม 2566 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปทอดพระเนตร ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน และ พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี จ. ตรัง

‘ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี’ นับได้ว่าเป็นต้นแบบของศูนย์การเรียนรู้การอนุรักษ์เชิงวัฒนธรรม ในแต่ละเดือนจะมีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แวะเวียนไปดูงานอย่างสม่ำเสมอ  ในปีที่ผ่านมา สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 7.3 ล้านบาท และมีจำนวนสมาชิกชุมชนที่เข้าร่วม 155 คน ปัจจุบัน

ศูนย์การเรียนรู้พุทธนิเวศเกษตรอินทรีย์ ไร่เชิญตะวัน  จ.เชียงราย การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์

เซ็นทรัล ทำ ร่วมมือกับพระเมธีวชิโรดม (ท่าน ว.วชิรเมธี) ผู้ก่อตั้งศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน จังหวัดเชียงราย และภาคีเครือข่าย ต่อยอด โครงการพุทธนิเวศเกษตรอินทรีย์ ไร่เชิญตะวัน ผลักดันสู่ ‘ต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ด้านนวัตกรรมการทำเกษตรอินทรีย์’ พัฒนาวิสาหกิจชุมชน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืน บนพื้นที่ 2 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกร ชาวนา รวมถึงผู้ที่สนใจ สามารถเข้ามาเรียนรู้ศึกษาโครงการได้

โครงการพุทธนิเวศเกษตรอินทรีย์ ไร่เชิญตะวัน เป็นหนึ่งในโครงการ ศึกษาแผนแม่บทพัฒนาไร่เชิญตะวันให้เป็น ‘พุทธนิเวศสากล’ (International Eco Monastery) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ในการสร้างอาชีพ ภายใต้ภูมิปัญญาใหม่ ให้คนกับคน  คนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถอยู่ร่วมกัน เป็นกัลยาณมิตรด้วยจิตที่เป็นกุศล และตื่นรู้ต่อปัญหาของสิ่งแวดล้อม แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม  ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงหมุนเวียนระดับพื้นบ้าน ด้านการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งหากดำเนินการสำเร็จจะเป็นต้นแบบของการฟื้นฟูมนุษย์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

ชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์

เซ็นทรัล ทำ ร่วมกับ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน (Earth Net Foundation) และหน่วยงานมากมายในการส่งเสริมและสนับสนุนด้านต่าง ๆ ดำเนิน โครงการพื้นที่วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา เป็นโครงการต้นแบบ ที่มุ่งหวังให้สมาชิกคนรุ่นใหม่รวมกลุ่มกันจัดสรรพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ด้านต่าง ๆ ปี 2560 โครงการเซ็นทรัล ทำ ภายใต้กลุ่มเซ็นทรัล ได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสนับสนุนโครงการด้านเกษตรอินทรีย์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรรุ่นใหม่มีบทบาทในการขับเคลื่อนการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน

นอกจากเป็นแหล่งเพราะปลูกผลผลิตอินทรีย์ที่มีคุณภาพจากต้นทางแล้ว กลุ่มเซ็นทรัลยังเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน แลกเปลี่ยนความรู้ จนก่อให้เกิดโครงการและความร่วมมือต่างๆมากมาย เช่น การพัฒนาผลผลิต การรับซื้อ การสร้างแบรนด์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการสนับสนุนช่องทางการจัดจำหน่าย ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน ตลอดจนให้การสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างอาคารอบรมและห้องคัดแยกเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ และสนับสนุนการปรับปรุงอาคารคัดบรรจุผักให้เป็นไปตามมาตรฐาน อ.ย.และติดตั้งเครื่องปรับอากาศภายในอาคาร และจัดซื้อรถขนส่งห้องเย็นให้กับชุมชน

กาแฟรักษาป่า ภูชี้เดือน จ.เชียงราย การท่องเที่ยวชุมชนเชิงนิเวศ

เซ็นทรัล ทำ ได้เข้าไปส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟอินทรีย์รักษาป่าภูชี้เดือน จังหวัดเชียงราย สนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ภูชี้เดือนปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกจากเกษตรแบบเชิงเดี่ยวและใช้สารเคมี มาเป็นการปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าแท้ โดยการคัดต้นพันธุ์แท้ ทริปปิก้า มัลเดอริ่ง จากต่างประเทศ มาปลูกในผืนป่าธรรมชาติบนพื้นที่ภูชี้เดือน เชียงราย ความสูง 1,300-1,600 เมตร จากระดับน้ำทะเล ด้วยสภาพผืนป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ได้ทั้งร่มเงาความชื้น และอุณหภูมิที่พอเหมาะพอดี ประกอบกับมีผลไม้ป่านานาชนิดที่ขึ้นในพื้นที่ อาทิ เบอรี่ พลับ ท้อ บ๊วย กล้วยป่า และดอกไม้ป่านานาพรรณ ซึ่งเมื่อผลไม้ ดอกไม้ป่าเหล่านี้ร่วงหล่น ก็จะกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติอย่างดีให้กับต้นกาแฟ ซึ่งการส่งเสริมให้ปลูกไม้ผล จะแนะนำให้ปลูกพืชหลากหลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน อย่างน้อยก็ 4-5 ชนิด เมื่อพอมีร่มเงาจึงปลูกกาแฟแซมเข้าไปได้ 

ในปี 2566 นี้ยังคงสนับสนุนปัจจัยในการผลิตอย่างครบถ้วน ได้แก่ โรงเรือนแปรรูปกาแฟ โกดัง เครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิตกาแฟ เป็นต้น ทั้งยัง จัดอบรมให้ความรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อต่อยอดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวได้มาเยือนแหล่งนิเวศและชมกาแฟรักษาป่า พร้อมลิ้มลองรสชาติกาแฟออร์แกนิคแท้ๆ ถึงแหล่งเพาะปลูกอีก

ในส่วนของการตลาด เซ็นทรัล ทำ ได้เข้าไปพัฒนาเมล็ดกาแฟภายใต้แบรนด์ good goods ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน อย. และ GMP มาจำหน่ายที่ร้าน good goods และ ท็อปส์ มาร์เก็ต ในรูปแบบเครื่องดื่มและเมล็ดกาแฟ จนได้รับรางวัลสำหรับ Honey process

ชุมชนผ้าย้อมครามบ้านกุดจิก จ.สกลนคร การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม

ความสามารถอันโดดเด่นด้านการทอผ้า ความสมบูรณ์ของพื้นที่ และความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกกลุ่ม ทุกครอบครัวมีศักยภาพที่แตกต่างกัน เช่น มีความสามารถในการปลูกต้นคราม การย้อมผ้า และการทอผ้า เมื่อมารวมตัวกันจึงทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาเป็นชิ้นงานที่มีคุณภาพและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เมื่อได้รับการพัฒนาและต่อยอดทักษะความรู้เพียงเล็กน้อย ชาวชุมชนก็สามารถเรียนรู้และนำไปปรับใช้ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยความเข้มแข็งของชุมชนและสมาชิก ‘กลุ่มทอผ้าบ้านกุดจิก’ ทำให้ผลิตภัณฑ์ผ้าครามของชุมชนแห่งนี้มีความโดดเด่น แตกต่าง ทั้ง เส้น สี และลายผ้า ด้วยภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์และฝีมือการทอผ้า การปลูกฝ้าย ย้อมคราม ที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น

เซ็นทรัล ทำ ร่วมมือกับ กรมพัฒนาชุมชน เข้าไปสนับสนุนพัฒนากลุ่มทอผ้าบ้านกุดจิก โดยให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างชุมชนและองค์กร ร่วมกันหาจุดเด่น และเอกลักษณ์ ที่ทั้งฝ้ายและสีธรรมชาติ ฝ้าย นั้นทำการปลูกเอง ครามก็ปลูกเอง ความสามารถที่แตกต่างของชุมชนนี้ กลุ่มเซ็นทรัล นำมาพัฒนา พร้อมถ่ายทอดทักษะความรู้และความเชี่ยวชาญที่เซ็นทรัลมี เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมด้านการขายและการตลาด เพื่อสร้างรายได้และสร้างอาชีพให้กับคนท้องถิ่น

ศูนย์การเรียนรู้พัฒนาผลผลิตการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน บ้านเทพพนา อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ

การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์ เป็น 1 ใน 7 ของผู้ปลูกอะโวคาโด พันธุ์แฮสส์ในประเทศไทย ผลผลิตหลักคืออะโวคาโด พันธุ์แฮสส์ แมกซิโก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลก จุดเริ่มต้นจากการปลูกอะโวคาโด สายพันธุ์แฮสส์ สู่การทำเกษตรอย่างยั่งยืน ช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ด้วยความตั้งใจที่จะปลูกพืชเศรษฐกิจ ที่มีมูลค่าสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ  เป็นการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวสู่ ด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะในรูปแบบครบวงจรการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับการจัดการน้ำ การจัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน การใช้ปุ๋ยหมักเติมอากาศ และการเพาะเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี เพื่อแก้ปัญหาโรคพืชในการปลูกอะโวคาโด

สวนเทพนา ของคุณวิเชียร พรมทุ่งค้อ ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรฐานสินค้าเกษตร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ให้เป็นตัวแทนในระดับเขต เพื่อเข้าแข่งขันเกษตรกรดีเด่นในระดับชาติ สาขาเกษตรดีที่เหมาะสม(GAP ดีเด่น) ต่อไป ทั้งนี้ โครงการเซ็นทรัล ทำ โดยกลุ่มเซ็นทรัล พัฒนาต่อยอดด้านท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์ โดยจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวร่วมกับสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จ.ชัยภูมิ เพื่อรองรับนักท่องท่องเที่ยว ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น อย่างต่อเนื่อง ในทุกๆ ปี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook