เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ THINKING LIKE A SCIENTIST

เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ THINKING LIKE A SCIENTIST

เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ THINKING LIKE A SCIENTIST
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อมีเรื่องเหนือธรรมชาติ แพร่ระบาดในสังคมไทยเมื่อใด นักข่าวจะต้องจ่อไมค์ไปที่เขาเสมอ

นับตั้งแต่กรณีสุดอื้อฉาว การแฉเครื่องตรวจวัตถุระเบิดลวงโลกอย่าง GT200 เมื่อหลายปีก่อน ชื่อของ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ไม่เคยหายไปจากกระแส

เขาคือนักวิชาการที่ช่วยนำกระบวนการคิดแบบ “วิทยาศาสตร์” ออกมาค้านกระแสความเชื่อต่างๆ ในสังคมไทย ตั้งแต่เรื่องวิทยาศาสตร์ลวงโลก ไสยศาสตร์ ไปจนถึงเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง

ปัจจุบัน อาจารย์เจษฎาบอกกับ GM ว่าเขาไม่รู้สึกสนุกกับระบบใหม่ของเว็บบอร์ดพันธุ์ทิพย์ดอตคอม ที่เขาเคยแอคทีฟอยู่พักใหญ่ๆ ในนาม … เขาจึงหันมาสื่อสารประเด็นต่างๆ กับสังคม ผ่านทางเฟซบุ๊คส่วนตัว

ถ้าใครเล่นโซเชียลมีเดียเป็นประจำ จะรู้ว่าเรื่องที่คนแชร์ๆ แล้วก็เชื่อๆ กันนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่บอกต่อกันมา จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง มีบางส่วนที่เจตนาแหกตาและเป็นอันตรายต่อชีวิตผู้คนด้วยซ้ำไป จึงต้องมีคนแบบอาจารย์เจษฎานี่แหละ ที่มาคอยโต้แย้ง หาหลักฐานความจริงมาหักลบ และเผยแพร่ออกไปแข่งกับความเท็จ

แน่นอนว่าการออกมาเบรคกระแสความเชื่อของคนหมู่มาก ย่อมเป็นของคู่กับเสียงก่นด่า ประนาม และบางครั้งก็สาปแช่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องที่เกี่ยวกับไสยศาสตร์ ลัทธิ และเลขหวย จำพวกรอยพญานาค บั้งไฟพญานาค หรือบ่อน้ำผุดศักดิ์สิทธิ์
แต่ อาจารย์เจษฎา บอกว่ากับ GM ว่าชีวิตเราก็มีทั้งสองด้านแบบนี้แหละ เหมือนกับแสงไฟซึ่งฉายมาที่ตัวเราแรงๆ เงาก็ต้องสาดออกไปไกลแน่ๆ ฉะนั้นเรื่องไหนเป็นเรื่องใหญ่ คนสนใจเยอะ ก็ต้องมีคนออกมาต่อว่าเราเยอะเป็นธรรมดา ไม่น่าแปลกใจ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการโต้แย้งและแลกเปลี่ยนความเห็นกันในสังคม โดยเอาข้อมูลและเหตุผลมากางดูกันชัดๆ เมื่อนั้นก็แปลว่ากระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ได้เกิดขึ้นในสังคมไทยแล้ว

นี่คือสิ่งที่เขาอยากเห็น

SCIENCE AS A WAY OF THINKING
GM: อะไรคือเหตุผลที่คุณชอบออกมาแสดงความเห็นต่อความเชื่อผิดๆ

ดร.เจษฎา: ก่อนอื่น ต้องบอกก่อนว่าตามปกติแล้ว ผมจะไม่ใช้คำว่างมงายนะครับ ผมว่ามันเป็นสิทธิ์ของเขาที่จะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร จริงๆ มันคือเรื่องกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ เราเรียนวิทยาศาสตร์คือเชื่อตามตำราที่ครูสอน แต่กระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ต้องเริ่มจากการสงสัย ตั้งคำถาม หาทางพิสูจน์ ฉะนั้นสิ่งที่ผมพยายามทำอยู่ และต้องบอกว่ามีอีกหลายๆ คนช่วยกันสร้างบรรยากาศนี้ คือเราต้องกล้าตั้งคำถามกับมัน ว่าเรื่องนี้จริงหรือเปล่า ใช่หรือเปล่า มีมุมอื่นอีกมั้ย และกล้าที่จะหาข้อมูล ในเชิงวิทยาศาสตร์ พอคุณตั้งคำถามได้ คุณก็ต้องหาข้อมูล รวบรวมข้อมูลมายืนยัน เพื่อจะได้มาหาคำสรุป ว่ามันคืออะไรกันแน่ หาทางโต้แย้ง บางเรื่องอาจจะต้องการคำตอบมากกว่านั้น หรือต้องการข้อมูลมากกว่านั้น คุณก็ต้องไปหาทางที่จะพิสูจน์มากขึ้น มันเลยนำไปสู่ประโยคที่เราชอบใช้ตอนหลังว่า ‘ไม่เชื่อต้องพิสูจน์’ คุณมีสิทธิ์ไม่เชื่อนะ แล้วก็หาทางพิสูจน์มันได้ ซึ่งค่อนข้างค้านกระแสสังคมไทย แต่ผมคิดว่ามันกระตุ้นบรรยากาศมากขึ้นตอนหลัง

หน้าที่ของนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างผมคือเราก็ให้ความรู้ประชาชนบ้าง ทำวิจัยเป็นหลัก และสอนหนังสือให้กับนักศึกษา ผมว่าจุดเปลี่ยนในความคิดต่อเรื่องหน้าที่ คือตอนที่ไปยุ่งกับเครื่องตรวจระเบิด GT200 ทำให้เห็นภาพว่าหลายๆ เรื่องในสังคมไทยเรา ต้องการให้มีการสื่อสารมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการหลอกหลวงกันโดยเอาวิทยาศาสตร์มาอ้าง หรือ ซูโดไซน์ (Pseudoscience) คือวิทยาศาสตร์ที่หลอกลวง

GT200
อุปกรณ์ตรวจสอบวัตถุระเบิดซึ่งเป็นที่สงสัยถึงความสามารถในการตรวจจับ จนในที่สุดกลายเป็นประเด็นสอบสวนการหลอกลวงคดีใหญ่ในสหราชอาณาจักร และมีการส่งสารเตือนไปยังรัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งไทยว่า เครื่องจีที200 เป็นเครื่องที่ 'ไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง' ในการตรวจสอบวัตถุระเบิด

Pseudoscience
วิทยาศาสตร์เทียม หรือ วิทยาศาสตร์ลวงโลก คือ การแอบอ้าง, ความเชื่อ หรือแนวทางปฏิบัติ ที่บอกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ แต่จริงๆ แล้วไม่ได้ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง ไม่มีหลักฐานหรือความเป็นไปได้ใดๆ มาสนับสนุน ไม่สามารถทดสอบได้อย่างน่าเชื่อถือ หรือไม่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์

DOGMATISM VS SKEPTICISM

GM: การที่คนไทยเราชอบเชื่อตามๆ กัน เกิดขึ้นจากอะไร และเราจะคิดอย่างวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร

เจษฎา: สันนิษฐานว่าสังคมไทยเรา เป็นสังคมค่อนข้างจะเน้นซีเนียริตี้ เน้นความอาวุโส เมื่อเทียบกับสังคมทางตะวันตก สังคมตะวันออกจะมีความคล้ายกันตรงจุดนี้ อีกประการหนึ่งคือเรื่องศาสนาของเราด้วย
กรอบของศาสนาทำให้เราเชื่อตามที่ผู้ใหญ่บอกมา หรือว่าตามคนที่เราคิดว่าอยู่สูงกว่าเรา เช่นพระหรือใครก็ตาม การเรียนการสอนบ้านเราก็เน้นระบบเดียวกัน คือลูกศิษย์ต้องเชื่อครู ครูออกข้อสอบยังไง คุณก็ต้องเขียนตามที่เขาสอนมา คือกลายเป็นว่าสังคมเราโดนเทรนให้เชื่อทั้งกระบวนการ เราไม่โดนเทรนให้แย้ง ให้โต้ เลยกลายเป็นความอ่อนแอที่ฝังรากลึกฉะนั้น พอเราไม่มีกระบวนการคิดแบบตะวันตกเท่าไรนัก ในขณะที่ เรากำลังเคลื่อนเข้าไปอยู่ในโลกที่มีความเป็นตะวันตกมากขึ้น เราเริ่มใช้เครื่องมือเครื่องไม้ของเขามากขึ้น แต่เรากลับไม่ได้รับแนวคิดแบบเขามา คือทางนั้นเขาสอนเรื่องการโต้เถียง การแลกเปลี่ยน ชอบเรื่องการดีเบทมาก การที่คนสองคนขึ้นเวทีแล้วก็โต้แย้งกันให้ดู แต่บ้านเราจะไม่เห็นภาพของการดีเบท การโต้วาทีบ้านเราจึงกลายเป็นเพียงรายการบันเทิง กลายเป็นการใช้คำขำๆ มาเหน็บแนมกัน จริงๆ แล้วการดีเบทหรือโต้วาที ต้องเป็นการเอาเนื้อหามาโต้แย้งกัน แล้วคุณก็จะสามารถค้นหาคำตอบได้

ทีนี้ข้อสำคัญคือมันไม่มีใครมาแย้งว่า เฮ้ย ถึงเวลาที่เราต้องไม่เชื่อตามๆ กันได้แล้วนะ สมมุติกรณีที่เกิดกับผม อาจารย์มาแย้งเรื่องนี้ไม่กลัวเขาว่าเหรอ ไม่กลัวโดนประนามเหรอ ซึ่งผมรู้ว่าโดนอยู่แล้วแน่ๆ เพราะว่าที่ผ่านมา ไม่มีใครทำอย่างนี้ ในบ้านเราไม่มีกลไกที่จะรับมือกับการโต้แย้งในเรื่องต่างๆ ผมเชื่อว่าทางหนึ่งที่เราจะเท่าเทียมสังคมโลกได้ ไม่ว่าจะเชิงของความรู้ แม้แต่การเมืองการปกครอง คือเราต้องเริ่มกระตุ้นให้คนเราคิดมากขึ้น ไตร่ตรองมากขึ้น

3 STEPS TO THINK LIKE A SCIENTIST

GM: เราจะคิดอย่างวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร

เจษฎา: การคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องยากนักหรอก ผมมีแทคติกที่อยากจะแนะนำคุณ แต่มันเป็นแทคติกแบบค่อนข้างหาเรื่องชาวบ้านนะครับ (หัวเราะ) ยกตัวอย่างบั้งไฟพญานาค เหมือนเรื่องที่ซ่อนอยู่ใต้พรมมานาน 30-40 ปี แล้วไม่มีใครกล้าแตะ ใครแตะทีไร มีเรื่องทุกที แต่ผมคิดว่าในเมื่อเรามีความสงสัยเรื่องนี้ เราควรมีอิสระในเชิงวิชาการเพียงพอ ที่จะสามารถสื่อออกไปได้ ผมก็สื่อไปตรงๆ ซึ่งแค่นั้นก็เหมือนกับช็อคกระแสสังคมแล้ว ว่าสิ่งที่เคยเชื่อตามๆ กันมา ถามว่าตกลงคุณเชื่อว่าขึ้นจากน้ำจริงเพราะอะไร คำตอบคือเพราะพ่อแม่บอกมา ปู่ย่าบอกมา มันไม่น่าใช่แล้ว คุณลองมาฟังเหตุผลของผมบ้างสิ แล้วถ้าคุณไม่เชื่อ คุณก็ไปตั้งกล้องถ่ายรูปเอง

1. เช่น กรณีเรื่องผงชูรส ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดี เวลาผมไปบรรยายให้นักศึกษาฟัง มีใครชอบกินผงชูรสบ้าง เคยตักมาชิมมั้ย น้อยคนมากที่กล้าตักกิน ผมถามว่ามันอันตรายเหรอ เขาก็จะตอบกันไปต่างๆ นานา ว่ากินแล้วผมร่วง เป็นมะเร็ง แล้วรู้มั้ยประเทศไหนในโลกที่กินผงชูรสเยอะ เด็กส่วนใหญ่จะตอบว่าประเทศไทย ผมบอกไม่ใช่ พวกเราน่ะกลัวผงชูรสขนาดนี้ เราไม่กินเยอะหรอก แต่พวกเพื่อนบ้านเราต่างหาก ลาว พม่า เวียดนาม ที่นั่นเขาตักผสมข้าวกินเลย แล้วผมก็ค่อยๆ ขยายความ ว่าองค์การอนามัยโลกนับผงชูรสว่าเป็นแค่หนึ่งในสารปรุงแต่งอาหาร เพราะฉะนั้นผงชูรสหนึ่งช้อนชา กับเกลือหนึ่งช้อนชา จะอันตรายหรือปลอดภัยก็ไม่่ต่างกัน เขาก็จะเริ่มอึ้งไป ผมก็จะบอกว่าประเทศที่กินเยอะจริงๆ คือญี่ปุ่น เพราะที่นั่นเป็นคนคิด แล้วถ้าอย่างนี้ญี่ปุ่นหัวล้านทั้งประเทศหรือเปล่า เป็นมะเร็งทั้งประเทศหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ นี่คือสเต็ปแรก ที่เราพยายามตั้งคำถามใส่เข้าไป เพื่อทำให้เขาช็อคก่อนว่า อ้าว เหรอ แล้วที่เชื่อๆ กันมาล่ะ

2. สเต็ปต่อมา คือเริ่มเอาวิทยาศาสตร์เข้ามาอธิบาย ว่าจำได้มั้ย ว่าผงชูรสคืออะไร โมโนโซเดียมกลูตาเมท โมโน แปลว่าหนึ่ง โอเคไม่มีอาหาร โซเดียมก็โซเดียมเดียวกับโซเดียมคลอไรต์ หรือเกลือนั่นแหละ ไม่ได้แตกต่างอะไร ที่เหลือสุดท้ายคือกลูตาเมท นี่หรือเปล่าที่คุณกลัว ก็ถามว่าคุณรู้จักกลูตาเมทมั้ย เด็กจำนวนหนึ่งก็ยังพอคุ้นๆ ว่าเคยเรียนในเรื่องของโปรตีน งั้นโปรตีนที่เรากิน ที่ทำเป็นเครื่องดื่มยี่ห้ออะมิโนโอเค อะไรทั้งหลายแหล่ มันก็มีสารหลายๆ ชื่อ ลิวซีน ไกลซีติน และกลูตาเมทแอซิด คือกลูตาเมทด้วย เพราะฉะนั้นมันคือก้อนโปรตีน เมื่อใส่โซเดียมเข้าไปหนึ่งตัว แล้วเกิดอันตรายตรงไหนล่ะ นี่คือช็อคที่สองที่เกิดขึ้น

3. สเต็ปต่อมา ช็อคที่สามเมื่อผมบอกว่า สารกลูตาเมทเนี่ย เป็นโปรตีนสำคัญในร่างกาย มันช่วยในการสื่อประสาทนะ งั้นต่อไปถ้าเกิดเราจะเตรียมตัวสอบ สมองไม่แล่น กินผงชูรสหนึ่งช้อนชา สมองอาจจะแล่นขึ้นได้ ฮาเลยทีนี้ นี่คือแทคติกเพื่อจะสร้างกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์

ผมก็จะสอนอย่างนี้ เทคนิคก็ค่อยๆ ไล่ความกลัวกับเรื่องใกล้ตัวเขา แล้วค่อยมาเข้าวิทยาศาสตร์ ความกลัวคุณคืออะไร สุดท้ายได้ข้อสรุปว่าความกลัวคือการเล่าต่อๆ กันมา ฉะนั้นเขาก็จะเริ่มได้คิด อ๋อ หลายเรื่องที่เชื่อต่อๆ กันมา ทำให้เราเข้าใจอะไรผิดได้ แล้วจะต้องมาย้อนแย้งหาวิธีพิสูจน์แบบนี้มากกว่า เรื่องจีเอ็มโอนี่ผมโดนทันทีเลยนะ ผมจะโดนคนบอกว่า อาจารย์คนนี้มันเป็นพวกที่สนับสนุนทุนนิยม (หัวเราะ)

GM: สิ่งเหล่านี้ อาจารย์ได้อะไรกับตัวเอง

เจษฎา: ได้ความมัน อย่างแรกแน่ๆ (หัวเราะ) จริงๆ นะอันนี้ คืออย่างนี้ครับ ผมค่อยๆ มีแทคติกมากขึ้นในการทะเลาะแบบสร้างสรรค์ ในการแย้งไปเพื่อให้เกิดประเด็นคุยกัน แทคติกผมคือจะไม่จับเรื่องเดียวนานๆ พอถึงเวลาผมก็จะถอย จึงมีเรื่องใหม่ๆ ตลอด อย่างสมมุติบั้งไฟพญานาค บางทีเลยช่วงออกพรรษาแล้ว เถียงกันจนเหนื่อยแล้ว ทุกคนก็บอกว่าปีหน้าเอาใหม่ (หัวเราะ) เทคนิคเป็นอย่างนั้น หรือเรื่องจีเอ็มโอ เวลาผมไฟต์ ผมทะเลาะกับเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม บางครั้งก็เหนื่อยใจ เพราะว่าเขาใช้แทคติกในการตอบโต้โดยการกล่าวว่าร้ายกัน พอผมเหนื่อยๆ ก็ขอพัก แล้วเปลี่ยนไปเรื่องอื่น ผมแทบจะตอบเรื่องใหม่ๆ ได้ทุกวันในเฟซบุ๊ค แต่ละเรื่องก็เกินคาด เพราะคนยังไม่รู้ก็หลายเรื่อง อย่างเมื่อวันก่อนก็พูดเรื่องโอโซน เพราะว่าคนไทยก็เชื่อมานานแล้วว่าคำว่าโอโซน หมายถึงอากาศดี ไปเที่ยวจังหวัดนั้นจังหวัดนี้เพื่อสูดโอโซน ผมก็ช่วยอธิบายให้ใหม่ คำว่าโอโซนนี่มันแก๊ซพิษเลยนะ ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ก็จะให้คนได้คิดทบทวนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้อยากให้คุณมาตามเชื่อผม ผมอยากให้คุณไม่เชื่อผมมากกว่า ช่วงหลังๆ มานี้ ผมก็เริ่มห่วงแล้ว เพราะมีเพื่อนอาจารย์หลายคนเริ่มมาทัก ว่าถ้าต่อไปคนเขาเกิดเชื่อ ศรัทธา ในตัวอาจารย์ขึ้นมาทำไง ผมบอกเฮ้ยๆ ไม่ได้เลยนะ คืออย่ามาบอกว่า เพราะอาจารย์เจษฎาฟันธงเรื่องนี้แล้ว ก็ต้องเป็นไปตามนี้ ผมเองก็ผิดได้ และผิดบ่อยด้วย พอผิดแล้ว ก็มีบางคนเข้ามาแย้งผมในเฟซบุ๊ค และผมก็ยอมรับเขาด้วย
วิทยาศาสตร์ที่ดำเนินมาได้หลายร้อยปี ก็เพราะว่ามันเปิดให้มีการโต้แย้ง สมมุติว่าผมพูดว่ายาที่ป้ายแล้วสลบน่ะไม่มีจริง พูดด้วยความรู้ที่มีขณะนี้ เพราะผมไม่รู้นี่ว่าในอนาคตต่อไป มันอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ วิทยาศาสตร์เปลี่ยนแปลงได้ ทีนี้ถ้าคนเล่นเฟซบุคมาศรัทธาผม นี่คืออันตรายแบบใหม่ กลายเป็นว่าถ้าผมพูดอะไรต้องถูกหมด

WHAT I THINK
“ผมเป็นนักสื่อสารเรื่องวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์คือ Scientist ทำวิจัย สอนหนังสือ ผมคิดว่าตัวเองกำลังสนใจเรื่อง Science Communicator หน้าที่เราคือสื่อสารความเป็นวิทยาศาสตร์ออกไปให้สังคม ในมุมที่ง่ายขึ้น บ้านเรายังมีค่อนข้างน้อย มีไม่กี่ท่าน นับได้เลย แล้วก็ยังไม่ค่อยฮือฮาในการเป็นวิชาเรียนอะไรขึ้นมา ต่างประเทศนี่จะฮิตมาก เพราะเขารู้กันอยู่แล้วว่า พวกนักวิทยาศาสตร์เก่งๆ นั้นพูดไม่รู้เรื่อง อันนี้เป็นธรรมชาติของพวกเราเลย (หัวเราะ) ไม่ค่อยกล้าพูด ไม่ค่อยอยากออกสื่อ พูดแล้วก็งงๆ ไม่รู้เรื่อง มีหลักสูตรขึ้นมาเยอะที่พยายามสร้างนักวิทยาศาสตร์แบบใหม่ขึ้นมา คือคนที่สามารถสื่อสาร เผยแพร่เรื่องราวที่ถูกต้องออกไป ถ้าดูสารคดีวิทยาศาสตร์ในทุกวันนี้ จะเห็นว่าไม่ใช่พิธีกรหน้าตาหล่อๆ สวยๆ ที่จ้างมา แต่คือตัวนักวิทยาศาสตร์แท้ๆ แต่คนแบบนี้พูดได้สนุก ตรงประเด็น นั่นคือสิ่งที่ผมพยายามจะฝึกตัวเอง เอาเรื่องต่างๆ ที่เป็นเรื่องในสังคมมาสื่อให้ชาวบ้านฟัง อาจจะให้เข้าใจง่ายขึ้นด้วย รวดเร็วขึ้นด้วย เป็น Science Communication เป็นครั้งคราวที่ผมอาจจะชิพตัวเองแรงขึ้นไปอีกเป็นเหมือนแอคติวิสต์ เหมือนเอ็นจีโอบ้าง ที่บางทีก็ไปตอบโต้กับเรื่องชาวบ้าน แต่โดยพื้นฐานจะอยู่ตรงการเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์มากกว่า”

แม้จะตั้งใจสื่อสารกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ออกไปสู่สังคม แต่อาจารย์เจษฎาบอกว่าหน้าที่ของสายวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่การไปฝืนความเชื่อของคนที่เชื่ออยู่แล้ว แล้วคนที่เขาเชื่อแบบผิดๆ อยู่แล้ว นี่เราไม่ดึงเข้ามาเลยหรือ?
“ผมว่าโดยพื้นฐานคือดึงยาก ไม่มีความจำเป็นที่เราต้องไปเหนื่อยในการดึงเขามา แต่ถ้าเกิดเขามาดูข้อมูลเราแล้วเขาเปลี่ยนใจมันก็เป็นเรื่องดี”

WHEN I THINK
ชีวิตของ อ.เจษฎาเริ่มถูกปลูกฝังให้มีใจรักและผูกพันกับวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ตอนเรียนจบ ม.3 ที่สาธิตจุฬาฯ แล้วได้รับทุน พสวท. (ทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) จนเรียนจบปริญญาเอก

แต่ก่อนหน้านี้ เขาก็เป็นนักวิทยาศาสตร์แบบเมนสตรีมทั่วไป คือสอน วิจัย แล้วก็เผยแพร่เฉยๆ ไม่ค่อยออกสู่สังคม จนกระทั่งมาถึงจุดเปลี่ยนของชีวิต ที่ทำให้เริ่มมีความคิดแบบย้อนแย้ง หาคำตอบในเรื่องต่างๆ ที่คนเชื่อตามๆ กันมา ก็ตอนที่เข้าไปยุ่งกับเครื่องตรวจระเบิด GT200 เมื่อ 5 ปีก่อน

“ตอนนั้นเริ่มเข้าไปดูพันธุ์ทิพย์ มีห้องหว้ากอ เขาถกเถียงกันเรื่องนี้ ข้อมูลชัดมากเลย ถ้าพูดง่ายๆ คือจับพลัดจับผลู ประเด็นนี้ไม่ได้อยู่ในความสนใจตั้งแต่แรก แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะเคยเห็นในข่าวทีวี มันจะใช้ยังไง คือก็น่าสงสัยอยู่ แต่เนื่องจากในเมนสตรีมที่เราศรัทธาเทคโนโลยี เลยเชื่อว่ามันมีเทคโนโลยีอย่างนี้จริง แต่พอได้ข้อมูล คือข้อมูลก็เยอะนะ แต่แค่บอกว่าข้างในมันไม่มีอะไรเลย มันจบตั้งแต่ตอนนั้นแล้วไง นี่มันโดเรมอนชัดๆ (หัวเราะ) เอาเข็มมาเขี่ยกัน ผมรับปากเขาแล้วผมก็ทำต่อ คือลูกศิษย์เขาเล่าว่าเขาไปคุยอย่างนี้กับหลายคนแล้วแต่ไม่มีใครสนใจ คนก็จะบอกว่าเรื่องไกลตัวอย่าไปยุ่งกับเขา ตอนนั้นยังมองว่าเป็นเรื่องภาคใต้

แต่ผมมันพวกกลับข้างไง โดนเทรนมาแบบเราต้องช่วยสังคม วิทยาศาสตร์ต้องช่วยประเทศได้ เลยค่อยๆ พัฒนากัน แต่ไม่คิดว่าจะจับพลัดจับผลูจนเป็นเรื่องเป็นราว เป็นข่าวทีวี จนทดสอบภาคสนามให้ดูได้”


ABOUT MY THINKER
ด้วยความที่ อ.เจษฎาเป็นนักชีววิทยา สอนวิชาวิวัฒนาการ นักคิดที่มีความสำคัญต่อเขาคงจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก ชาร์ลส์ ดาร์วิน

“จริงๆ ดาวินส์ก็จะเป็นคนคล้ายๆ ทำนองนี้เหมือนกันนะ คือคนที่ประกาศอะไรบางอย่างที่เปลี่ยนโลก ช็อคโลก เขาใช้เวลานานมากกว่าจะกล้าประกาศตรงนั้น เป็นการโต้แย้งทางความคิดที่รุนแรงมาก ระหว่างที่คุณยังเชื่อในศาสนา เรื่องของพระเจ้าสร้างโลก สร้างสิ่งมีชีวิต แล้วก็มาเป็นมุมของความคิดที่ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แล้ว มันชัดเจนว่าไม่จริง คุณจะกล้าประกาศมั้ยว่ามันไม่จริง คุณจะกล้าบอกมั้ยว่าจริงๆ แล้ว คน ลิง สัตว์ต่างๆ เราก็วิวัฒนาการร่วมกันมา มันเป็นเรื่องใหญ่ พอเราศึกษาชีวิตเขา ก็มีหลายๆ อย่างที่ผมว่าน่าประทับใจ ดาร์วินไม่ใช่คนเรียนเก่งอะไร แต่เป็นคนที่ขยัน เป็นคนที่พยายามรวบรวมข้อมูลต่างๆ มาเผยแพร่ มีหลายๆ อย่างที่น่าประทับใจ”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook