เพื่อนร่วมโลกไปไกลแล้ว อาร์ทีมิสเตรียมตั้งอาณานิคมบนดวงจันทร์

เพื่อนร่วมโลกไปไกลแล้ว อาร์ทีมิสเตรียมตั้งอาณานิคมบนดวงจันทร์

เพื่อนร่วมโลกไปไกลแล้ว อาร์ทีมิสเตรียมตั้งอาณานิคมบนดวงจันทร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“อวกาศ” เป็นสถานที่ที่ยังคงเต็มไปด้วยความลับที่น่าค้นหา และวิธีการได้มาซึ่งคำตอบที่สุดแสนจะอันตราย มนุษย์เริ่มสนใจอวกาศ ก็เพราะว่าอยากรู้ว่านอกจากดาวเคราะห์ที่เรียกว่าโลกแล้ว ในเอกภพยังมีดาวเคราะห์ดวงไหนอีกบ้างที่มนุษย์เราจะสามารถอพยพไปอยู่ได้หากดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้สิ้นอายุขัยลง มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่มนุษย์จะอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่บนดาวดวงใหม่ นอกจากนี้ยังทำการศึกษาทรัพยากรต่าง ๆ บนดาวเคราะห์ดวงนั้น ๆ ด้วย ว่าถ้าสภาพแวดล้อมบนดาวเคราะห์ดวงนั้นไม่เอื้อให้สิ่งมีชีวิตอย่างมนุษย์อยู่ เราจะนำทรัพยากรธรรมชาติจากดาวเคราะห์ดวงอื่นกลับมาใช้ที่โลกได้หรือไม่ เพื่อแบ่งเบาภาวะขาดแคลนทรัพยากรต่าง ๆ บนโลก

แน่นอนว่าความกระตือรือร้นของมนุษย์ที่จะออกไปสำรวจอวกาศนั้น อาจทำให้ใครหลายคนเสี่ยงตายมากกว่าการนอนอยู่บ้านเฉย ๆ แต่ผลลัพธ์ที่ได้มันกลับมามันคุ้มค่ามากกว่า อย่างน้อยที่สุด มันคือองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่จะมีผลต่อการศึกษาเรื่องดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการกำเนิดเอกภพ ยกระดับองค์ความรู้ของมนุษยชาติ เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาความรู้ด้านต่าง ๆ ในเมื่อเอกภพกว้างใหญ่ไม่มีที่สิ้นสุด ความรู้ก็ไม่มีที่สิ้นสุดเช่นเดียวกัน ยังไม่รวมถึงนัยทางการเมือง ของประเทศมหาอำนาจที่แย่งชิงความเป็นใหญ่ในโลก เพราะหากนับถึงปัจจุบัน มีไม่กี่ประเทศบนโลกที่สามารถส่งอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือที่ผลิตในนามประเทศตัวเองออกไปทัวร์นอกโลกได้สำเร็จ

ภารกิจอาร์ทีมิส 1 กับความคาดหวังที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ
ไม่กี่วันก่อน มีข่าวสารในแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่รายงานว่า ภารกิจอาร์ทีมิส  1 (Artemis  1) ซึ่ง เป็นภารกิจแรกของอภิมหาโครงการอาร์ทีมิสขององค์การนาซา ได้ทะยานสู่ห้วงอวกาศอย่างสวยงามเมื่อวันที่  16  พฤศจิกายน 2022 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การบินอวกาศเคนเนดีในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา โดยภารกิจแรกนี้จะเป็นการทดสอบระบบนำส่งมนุษย์และสัมภาระไปยังดวงจันทร์ เป้าหมายเพื่อที่จะนำมนุษย์กลับไปดวงจันทร์อีกครั้ง หลังจากไม่มีมนุษย์ได้ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์อีกเลยมานานกว่า 50 ปีแล้ว แถมยังประสบปัญหาต้องเลื่อนมาหลายครั้ง

โครงการนี้จึงเป็นครั้งแรกที่เตรียมจะส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์อีกครั้งในรอบครึ่งศตวรรษ หลังจาก ครั้งล่าสุดที่มีมนุษย์ได้ไปเดินบนดวงจันทร์ ก็คือเมื่อปี  1972 มนุษย์ คนสุดท้ายที่ทิ้งรอยเท้าไว้บนดวงจันทร์คือ  ยูจีน  เชอร์แนน  ในภารกิจอะพอลโล  17 นอกจากนี้ ภารกิจอาร์ทีมิส  1 ขององค์การนาซ่า ยังนับว่าเป็นการปล่อยจรวดที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่เคยมีมาอีกต่างหาก สำหรับการเริ่มต้นภารกิจครั้งใหม่ในรอบ 50 ปี เป็นจรวดรุ่นใหม่ (Space Launch System – SLS) ที่จะนำยานโอไรออน (Orion capsule) ออกจากวงโคจรโลก ก่อนพุ่งทะยานไปบินทดสอบวนรอบดวงจันทร์

“อาร์ทีมิส 1” จึงเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของเส้นทางประวัติศาสตร์อวกาศยุคใหม่ โดยมีการวางแผนเป็นโครงการย่อยคืออาร์ทีมิส 1, 2, และ 3 อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์ใหญ่ของโครงการอาร์ทีมิส คือการสร้างอาณานิคมต่างดาวให้มนุษย์ได้ไปลงหลักปักฐานอาศัยอยู่ในระยะยาว เริ่มจากฐานที่มั่นบนดวงจันทร์ที่เป็นที่แรก ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จ ก็จะเป็นการปูทางไปสู่การนำมนุษย์ไปเหยียบดาวอังคารให้ได้ภายในช่วงทศวรรษ 2030 หรืออีกไม่เกิน 20 ปีข้างหน้านี้

จะเห็นได้ว่าสิ่งที่น่าสนใจในภารกิจอาร์ทีมิส 1 ก็คือ การไปตั้งรกรากสร้างฐานที่อยู่บนดวงจันทร์อย่างถาวร ซึ่งไม่ใช่แค่นำมนุษย์ไปเดินเล่นบนดวงจันทร์ไม่กี่ชั่วโมงแล้วกลับโลกแบบที่ภารกิจอะพอลโลเคยทำ ทั้งยังมองอนาคตถึงการตั้งถิ่นฐานแบบเดียวกันบนดาวอังคารด้วย ในขณะที่นาซากำลังเริ่มต้น จีนกับรัสเซียในฐานะที่เป็นมหาอำนาจห้ำหั่นกับสหรัฐอเมริกามาโดยตลอดก็มีแผนความร่วมมือในการสร้างสถานีวิจัยบนดวงจันทร์อย่างเป็นทางการด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ในภารกิจอาร์ทีมิส ยังมีอีกชาติที่จะร่วมทำภารกิจกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็คือญี่ปุ่น โดยได้มีการลงนามข้อตกลงในการขอส่งนักบินอวกาศญี่ปุ่นเดินทางเข้าไปร่วมในโครงการอาร์ทีมิส ทั้งในส่วนภารกิจที่จะขึ้นไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ และส่วนที่จะประจำการอยู่บนสถานีอวกาศบนวงโคจรดวงจันทร์แห่งใหม่ นั่นทำให้ขณะนี้ ภารกิจอาร์ทีมิสมี 2 ชาติที่เป็นตัวตั้งตัวตีสำหรับภารกิจที่จะส่งมนุษย์จริง ๆ ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้ง นั่นก็คือสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ทว่ามีประเทศอื่น ๆ ที่ได้ลงนามในสนธิสัญญาอาร์ทีมิสฉบับปกติด้วยเช่นกัน โดยเน้นไปที่ข้อตกลงในการแบ่งปันข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และร่วมมือกันด้านการพัฒนาเทคโนโลยี

อย่างไรก็ดี ภารกิจอาร์ทีมิส 1 ซึ่งเพิ่งทะยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศไปเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ยังไม่มีมนุษย์ร่วมเดินทางไปด้วยแต่อย่างใด เพราะเป็นการนำอุปกรณ์ทดสอบต่าง ๆ สำหรับเตรียมการเดินทางในภารกิจหน้าให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมและทดสอบการบินของยาน ก่อนที่จะมีมนุษย์เดินทางไปด้วยในภารกิจอาร์ทีมิส 2 และ 3 ตามลำดับ

ถึงอย่างนั้น บนยานโอไรออน จะมีลูกเรือสามนายที่ไม่ใช่มนุษย์พร้อมกับตุ๊กตาสนูปปี้สวมชุดอวกาศหนึ่งตัวร่วมเดินทางไปในภารกิจอาร์ทีมิส 1 หุ่นยนต์ตัวหนึ่งสวมชุดอวกาศของจริงที่นักบินอวกาศมนุษย์จะใช้ใส่ขณะขึ้นจากโลกและกลับสู่โลก หุ่นยนต์ อีกสองตัวติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดรังสี ตัวหนึ่งสวมชุดป้องกันรังสีแอสโทรแรดด้วย  ซึ่งเป็นชุดที่มนุษย์อวกาศในอนาคตอาจต้องใส่เพื่อป้องกันรังสีคอสมิกที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ที่อยู่ในอวกาศเป็นเวลานาน สำหรับตุ๊กตาสนูปปี้ เป็นธรรมเนียมของทั้งฝั่งสหรัฐอเมริกาและรัสเซียที่ปฏิบัติสืบต่อมา โดยห้อยตุ๊กตาไว้ในห้องนักบินของยานอวกาศ ทำ หน้าที่เป็นตุ๊กตานำโชค และใช้เป็นตัวแสดงภาวะไร้น้ำหนักที่ดี

อาณานิคมยุคใหม่บนอวกาศ
หนึ่งในช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์โลกที่สำคัญมาก ๆ และเราคุ้นหูกันดีก็คือ ช่วงเวลาแห่งการล่าอาณานิคมของชาติต่าง ๆ ในยุโรป ยุคสมัยแห่งการล่าอาณานิคมอยู่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ช่วงเวลาที่ชาติยุโรปหลายชาติสถาปนาอาณานิคมในทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกา เพื่อแสวงหาประโยชน์จากดินแดนอาณานิคม ยุคการล่าอาณานิคมสิ้นสุดลงด้วยผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และสหประชาชาติตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษการปลดปล่อยอาณานิคมขึ้น

เพราะว่ายุคการล่าอาณานิคมดินแดนต่าง ๆ บนโลกจะสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่ประเทศมหาอำนาจหลัก ๆ ก็ยังต้องการที่จะประกาศแสนยานุภาพความเป็นมหาอำนาจของตนเองอยู่ดี อาณานิคมสมัยใหม่จึงย้ายจากการล่าดินแดนต่าง ๆ บนโลก ขึ้นไปอยู่บนดาวเคราะห์ดวงอื่นบนอวกาศแทน ซึ่งภารกิจอาร์ทีมิส 1 ก็คือหนึ่งในภารกิจที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างอาณานิคมแห่งใหม่บนดาวเคราะห์ดวงใหม่ และทำการอพยพมนุษย์ขึ้นไปใช้ชีวิตอยู่บนดาวเคราะห์ดวงนั้นแทน นอกจากนี้ยังมีจีนและรัสเซียด้วยที่ต้องการมีอาณานิคมบนดวงจันทร์เช่นกัน ด้วยการตั้งโครงการสถานีสำรวจและทำการวิจัยบนดวงจันทร์นานาชาติ International Lunar Research Station หรือ ILRS ขึ้น

ต้องบอกว่าปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ชาติเท่านั้นที่สามารถพูดคุยเรื่องการไปเยือนอวกาศหรือขึ้นไปใช้ชีวิตบนอวกาศกันอย่างจริง ๆ จัง ๆ หลัก ๆ แล้วก็คงจะหนีไม่พ้นประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย สำหรับภารกิจอาร์ทีมิส 1 ที่เพิ่งถูกส่งขึ้นไปเมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ประจำทำเนียบขาว ถึงกับเปิดเผยเอกสารที่อธิบายแนวการตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์จากคณะรัฐบาลของประธานาธิบดีออกสู่สายตาสาธารณชน เพื่อส่งสัญญาณว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในแผนการตั้งอาณานิคมบนดวงจันทร์ของนาซาเรียบร้อยแล้ว นับเป็นอีกขั้นของสงครามอวกาศที่เริ่มมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น

สำหรับเป้าหมายอาณานิคมแรกนอกโลกก็คือ ดวงจันทร์ ซึ่งถูกหมายตาเป็นตัวเลือกหนึ่งที่จะเป็นที่อยู่ใหม่ของสิ่งมีชีวิต โดยดวงจันทร์เป็นบริวารเพียงดวงเดียวของโลก และเป็นเทห์วัตถุที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด อยู่ห่างจากโลกราว ๆ 250,000 ไมล์เท่านั้น นอกจากนี้ ข้อมูลจากการส่งยานอวกาศไปเยือนดวงจันทร์หลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ก็ค้นพบว่าดวงจันทร์มี (หรือน่าจะเคยมี) น้ำ ซึ่งทางนาซานั้นไม่ได้พบน้ำเป็นแอ่งน้ำหรือหล่มแบบที่เราเห็นกันบนโลก แต่พบในลักษณะของโมเลกุลของน้ำ อยู่บริเวณหลุมอุกกาบาตคลาเวียสบริเวณซีกใต้ของดวงจันทร์

ในเมื่อดวงจันทร์มี (หรือเคยมี) โมเลกุลของน้ำ ก็เป็นไปได้ว่าบนดวงจันทร์ก็อาจจะเคยมีสิ่งมีชีวิตอยู่ด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตขนาดจุลชีพที่มองกันด้วยตาเปล่าไม่เห็น ไม่เพียงเท่านั้น หลักฐานที่ว่าบนดวงจันทร์มีน้ำ ก็เป็นไปได้ที่สิ่งมีชีวิตอาจจะไปตั้งรกรากอยู่บนดวงจันทร์ได้ด้วย แม้ว่าในความเป็นจริง สภาพอากาศบนดวงจันทร์ไม่ได้เอื้อต่อการใช้ชีวิตอยู่ของสิ่งมีชีวิตเท่าไรนัก โดยเฉพาะมนุษย์ที่น่าจะไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในระยะยาวได้ เนื่องจากไม่มีน้ำเป็นแหล่ง อากาศก็ไม่ถ่ายเท แถมยังมีอากาศหนาวมาก มีอุณหภูมิประมาณ -25 องศาเซลเซียส แต่สำหรับชาติที่ตั้งเป้าหมายจะสร้างอาณานิคมบนดวงจันทร์จริงจัง คงไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้

อย่างไรก็ดี มีสิ่งที่น่ากังวลว่าภารกิจอาร์ทีมิสอาจมีผลประโยชน์อื่นแอบแฝง มีนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายคนวิเคราะห์ว่า สหรัฐอเมริกาอาจพยายามสงวนท่าทีเรื่องการนำทรัพยากรธรรมชาติบนดวงจันทร์มาใช้งานอยู่ก็เป็นได้ ในฐานะที่เป็นชาติแรก ๆ ที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติบนดวงจันทร์ได้ แต่เพราะมีสนธิสัญญาอวกาศในปี 1967 ที่นานาชาติได้มีความตกลงร่วมกันว่า อวกาศเป็นสมบัติร่วมกันของมวลมนุษยชาติ จึงทำให้สหรัฐอเมริกาอาจไม่สามารถออกนอกหน้าได้มากเรื่องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติบนดวงจันทร์

ดังนั้น ภารกิจอาร์ทีมิส  1 จึงนับว่าเป็นก้าวแรกของเป้าหมายที่จะส่งมนุษย์ไปอยู่ดวงจันทร์ และดาวอังคารจะเป็นเป้าหมายต่อไปหากภารกิจนี้ประสบความสำเร็จได้จริง ๆ แถมก่อนหน้านี้ ทางฝั่งสหรัฐอเมริกาเองก็เคยมีแนวคิดโครงการ Lunar Ark ที่นักวิทยาศาสตร์จะให้ส่งตัวอย่างสเปิร์ม เซลล์ไข่ ของทั้งพืช สัตว์ เห็ดรา และเมล็ดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลกว่า 6.7 ล้านสายพันธุ์ไปเก็บบนดวงจันทร์ เพื่อให้มี DNA ของสิ่งมีชีวิตบางอย่างจากโลก ถูกย้ายไปฝังเก็บรักษาไว้ในอุโมงค์ซึ่งอยู่ใต้พื้นผิวดวงจันทร์ เพื่อให้สายพันธุ์เหล่านั้นยังมีโอกาสที่จะดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป วิวัฒนาการขึ้นเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ แม้ว่าโลกจะดับสูญไปแล้วก็ตาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook