อยากลดไขมัน สุขภาพดีขึ้น จำเป็นต้องทำ IF ไหม?

อยากลดไขมัน สุขภาพดีขึ้น จำเป็นต้องทำ IF ไหม?

อยากลดไขมัน สุขภาพดีขึ้น จำเป็นต้องทำ IF ไหม?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินคำแนะนำว่าถ้าต้องการลดไขมัน ลดระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้สุขภาพดีขึ้น ควรต้องทำ Intermittent Fasting หรือเรียกสั้น ๆ ว่าทำ IF เช่น จำกัดเวลากิน 8 ชั่วโมง และอดอาหาร 16 ชั่วโมง กันใช่ไหมครับ
แต่งานวิจัยใหม่ล่าสุดที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ The New England Journal of Medicine เมื่อเดือนเมษายนปีนี้ แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะทำ IF หรือ การกินแบบควบคุมแคลอรี่ สามารถลดน้ำหนัก ลดไขมัน และปรับเปลี่ยนรูปร่างได้ไม่ต่างกันในระยะยาว ยิ่งไปกว่านั้น การทำ IF ไม่ได้ทำให้สุขภาพดีขึ้นกว่าการกินแบบควบคุมแคลอรี่ ไม่ว่าจะเป็นความดัน และปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านระบบเผาผลาญ



รายละเอียดงานวิจัยตามนี้ครับ

- กลุ่มทดลอง 139 คน อายุตั้งแต่ 18-75 ปี มีดัชนีมวลกาย (BMI) ระหว่าง 28-45 ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่มีความอ้วน แต่ไม่มีโรคและไม่ได้ใช้ยาที่ส่งผลต่อระบบเผาผลาญ
- แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม 69 คนควบคุมเวลาในการกินอยู่ที่ 8โมงเช้า - 4 โมงเย็น (ทำ IF 16/8) และ 70 คนที่เหลือกินแบบควบคุมแคลอรี่ ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มจะควบคุมการกินแคลอรี่อยู่ที่ 1,500-1,800 แคลอรี่ในผู้ชาย ส่วนผู้หญิงจะควบคุมการกินอยู่ที่ 1,200-1,500 แคลอรี่ ตลอดทั้งปี
- มีคนที่ทำได้ 6 เดือนอยู่ 135 คน และทำครบทั้งปีอยู่ที่ 118 คน
- กลุ่มที่ทำ IF ลดน้ำหนักได้เฉลี่ย 8 กิโลกรัม ส่วนกลุ่มที่ควบคุมแคลอรี่ลดได้เฉลี่ย 6.3 กิโลกรัม แต่ไม่มีความแตกต่างกันในเชิงสถิติ
- การเปลี่ยนแปลง เช่น สัดส่วน ดัชนีมวลกาย ไขมัน มวลที่ไม่มีไขมัน(LBM) ความดัน และปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านระบบเผาผลาญ ไม่แตกต่างกันในทั้ง 2 กลุ่ม

ข้อจำกัดของงานวิจัย

- งานวิจัยนี้ทำในกลุ่มคนจีนเพียงอย่างเดียว อาจจะต้องรอดูว่าในที่ต่าง ๆ จะมีผลลัพธ์ที่แตกต่างมั้ย
- งานวิจัยนี้ทำกับกลุ่มคนอ้วนที่ไม่มีโรคอื่น ๆ เช่น ไขมันพอกตับ เบาหวาน หัวใจ ไขมันในเลือดสูง
- งานวิจัยนี้ไม่ได้ดูและควบคุมเรื่องกิจกรรมที่ทำ การออกกำลังกายและพลังงานที่ใช้ออกไปในแต่ละวัน ซึ่งอาจจะส่งผลต่อเรื่องรูปร่างการลดไขมันและกล้ามเนื้อได้

สรุปงานวิจัยจากความคิดเห็นของผม

- การลดน้ำหนัก/ลดไขมันเราจะมีรูปแบบการกินแบบไหนก็ได้ขอให้เกิด Calories Deficit และสามารถทำต่อเนื่องได้ในระยะยาว
- การที่จะมีสุขภาพดีขึ้นอาจจะไม่ใช่มาจากการทำ IF แต่อาจจะมาการที่น้ำหนักตัวเราลดลง มีหลายงานวิจัยชี้ไปด้านนี้เยอะมาก
- IF ไม่ใช่สิ่งวิเศษ ไม่ใช่เป็นวิธีการที่ต้องทำเพียงอย่างเดียว ถ้าทำแล้วรู้สึกดีก็สามารถทำได้ และผลลัพธ์ก็จะออกมาดี แต่ถ้าทำ IF แล้วรู้สึกลำบาก เครียด หิว หงุดหงิด รู้สึกไม่มีแรง ก็อาจจะเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะ (ส่วนตัวผมเป็นแบบหลัง )


นิว วีระเดช ผเด็จพล
MSc. Sport & Exercise Nutrition, Leeds Beckett University, UK
Certified Strength & Conditioning Specialist (NSCA)
Certified Personal Trainer (NSCA)
ผู้ร่วมก่อตั้ง Fit-D Fitness และเว็บไซต์ fit-d.com
Educator at FIT
IG: new_fitd

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook