“มีน้ำใจ” ต่อเพื่อนร่วมงาน สร้างสังคมการทำงานให้มีความสุข

“มีน้ำใจ” ต่อเพื่อนร่วมงาน สร้างสังคมการทำงานให้มีความสุข

“มีน้ำใจ” ต่อเพื่อนร่วมงาน สร้างสังคมการทำงานให้มีความสุข
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณเคยได้ยินไหมว่า “การได้เพื่อนร่วมงานดี มีชัยไปกว่าครึ่ง” หากพูดถึงสาเหตุที่เรายังคงไม่เปลี่ยนงาน ไปทำงานในทุกวัน นอกจากงานที่เรารัก เงินเดือน ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน เพราะนอกจากเวลานอนแล้ว เราใช้เวลาในการทำงานเกิน 50% ของชีวิต เจอเพื่อนร่วมงานมากกว่าครอบครัว เพื่อน หรือแฟนด้วยซ้ำ หากเราเจอสังคมในการทำงานเต็มไปด้วยเพื่อนร่วมงานที่ใจดี เข้าใจ และช่วยเหลือกัน แม้งานจะหนัก จะเหนื่อยแค่ไหน แต่ก็ทำให้มีแรงฮึดสู้และมีความสุขกับการทำงานได้ทุกวัน

วันนี้ Tonkit360 ขอแนะนำให้มนุษย์เงินเดือนทุกคนมาดูวิธีการเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีเพื่อสร้างสังคมการทำงานที่มีความสุขและสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับองค์กร

ควรเอาใจเขามาใส่ใจเรา
คิดถึงหัวจิตหัวใจของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นถ้อยคำการพูดควรพูดด้วยวาจาที่ดี ไม่ควรใช้คำพูดที่แสดงถึงการไม่รักษาน้ำใจต่อผู้อื่น นอกจากจะไม่ได้เพื่อนร่วมงานที่ดีแล้วยังอาจไม่ศัตรูในที่ทำงานมาแทน และควรแสดงต่อผู้อื่นเหมือนที่เราต้องการให้คนอื่นแสดงต่อเรา และทำดีต่อคนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน ไม่ว่าความดีนั้นจะเป็นเพียงสิ่งเล็กน้อยหรือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ก็ตาม แม้ผู้อื่นไม่ได้รับรู้กันทุกคน แต่หัวใจของเราก็รับรู้เสมอ

ควรเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ
“การให้” ในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นการให้ด้วยสิ่งของเสมอไป ให้เป็นการคิด ให้ด้วยการพูด และการแสดงออก ที่อาจหวังผลตอบแทนหรือไม่หวังผลตอบแทนก็ย่อมได้ ซึ่งรูปแบบของการให้นั้นอาจเป็นได้ทั้งการเสนอหรืออาสาที่จะให้ผู้อื่นก่อนเสมอ หรืออาจจะเป็นการให้เมื่อมีได้การร้องขอจากผู้อื่น ซึ่งการให้ลักษณะนี้ก็มีอยู่ด้วยกันหลากหลายรูปแบบ

  • ให้ “ความรู้” คุณไม่ควรเก็บหรือกั๊กข้อมูลไว้ เหตุเพราะกลัวคนอื่นจะเก่งกว่าหรือรู้มากกว่า การให้ความรู้อาจจะเป็นในรูปแบบของการถ่ายทอด หรือการสอน หรือการจัดกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้อื่นในสายวิชาชีพเดียวกัน หรือบุคคลต่าง ๆ ที่สนใจในสิ่งที่คุณรู้
  • ให้ “ความคิดเห็น” รูปแบบหนึ่งของการให้นั่นก็คือ การแสดงความคิดเห็นของตนแก่ผู้อื่น ซึ่งเป็นความคิดเห็นทั้งในแง่มุมของการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย รวมทั้งเหตุผลประกอบความคิดเห็นของตนด้วย ในกรณีที่คุณไม่เห็นด้วยนั้น คุณควรระวังในคำพูด โดยพยายามใช้คำพูดในทางบวกเพื่อให้อีกฝ่ายมีความรู้สึกดีด้วยเช่นเดียวกัน
  • ให้ “คำปรึกษา” การให้คำปรึกษาแก่ผู้อื่นนั้นจะเป็นได้ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน การให้คำปรึกษาที่ดีนั้นคุณควรเป็นผู้รับฟังที่ดีด้วย รวมถึงเป็นผู้ตั้งคำถามเพื่อค้นหาข้อมูลหรือเหตุผลในเหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้น และในระหว่างที่คุณให้คำปรึกษาแก่ผู้อื่นอยู่นั้น ขอให้ลองสังเกตสีหน้าและแววตาของอีกฝ่าย เพื่อที่ว่าคุณจะได้ปรับน้ำเสียงและคำพูดของคุณให้เหมาะสมกับความรู้สึกของฝ่ายตรงกันข้าม
  • ให้ “ความช่วยเหลือ” เมื่อมีคนมาขอร้องคุณให้ช่วยทำสิ่งต่าง ๆ ให้ โดยที่คุณวิเคราะห์แล้วว่าสิ่งนั้นคุณสามารถทำได้ (สบายมาก) คุณไม่ควรนิ่งดูดาย คุณควรรับปากด้วยความเต็มใจ รวมถึงคุณควรเป็นผู้หนึ่งที่อาสาให้ความช่วยเหลือก่อนโดยไม่ต้องรอคำร้องขอหรือคำสั่งใด ๆ ก็ตาม

ไม่โยนงาน
วันแต่ละวันในที่ทำงานกว่าจะผ่านไปได้ก็เหนื่อยกันอยู่แล้ว งานของใครก็รับผิดชอบกันไปให้เต็มที่ อย่าได้โบ้ยงานไปให้คนนั้นคนนี้ทำแทนตัวเอง ทั้ง ๆ ที่มันควรอยู่ในขอบข่ายงานของเรา ที่สำคัญคืออย่าโบ้ยความผิดให้เพื่อน เมื่อยามมีปัญหา แทนที่จะโบ้ยนั่นนี่ให้คนนั้นคนนี้ รับผิดชอบงานตัวเองให้ดี แล้วหันหน้ามาช่วยแก้ไขปัญหาจะสร้างสรรค์กว่าไหม ถามตัวเองดู เราไม่ชอบอะไร ก็อย่าไปทำอย่างนั้นกับคนอื่นเลย การโยนงานถือเป็นความเห็นแก่ตัวที่ไม่ควรทำต่อเพื่อนร่วมงาน ในบางครั้งเขาอาจช่วยคุณได้ แต่มันแสดงถึงความไม่มีน้ำใจและความเห็นแก่ตัว แบบนี้นอกจากจะไม่ได้มิตรในที่ทำงานแล้ว จะโดนไม่ชอบหน้าเอาเสียด้วย

ระวังคำพูดคำจา
พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง ยังเป็นสุภาษิตคลาสสิคตลอดกาลที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย อะไรก็ตามที่เราประเมินแล้วว่าพูดไปไม่ได้อะไร อย่าพูดน่าจะดีกว่าถูกไหม แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นคนไม่รู้จักเก็บออมคำพูด จะทำให้กลายเป็นคนไม่น่าเชื่อถือไปทันที เพื่อนร่วมงานจะเอือมระอาในพฤติกรรม สิ่งที่ควรพูดคือความจริง และพูดอย่างถูกกาลเทศะเท่านั้น คำพูดเพียงหนึ่งประโยคก็มีผลเปลี่ยนแปลงบรรยากาศได้ ดังนั้นลองคิดดูว่าถ้าคุณเป็นตัวทำลายบรรยากาศบ่อย ๆ จะชนะใจเพื่อนร่วมงานได้อย่างไรกัน

หมั่นเพิ่มพลังงานทางบวก
ในการทำงาน หลายครั้งหลายคราที่เกิดปัญหาขึ้น ถ้าทุกคนเอาแต่บ่น พูดพ่นแต่คำลบ ทำให้กำลังใจทีมถดถอย แบบนี้แล้วจะแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้อย่างไร ขอแนะนำว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์สะเทือนใจขึ้นระหว่างการทำงาน ต้องรู้จัก cheer up เอนเทอร์เทนเพื่อนร่วมงานให้เกิดขวัญและกำลังใจต่อสู้จะดีกว่า นอกจากนี้ ในยามที่เหตุการณ์ปกติ การหยอกล้อให้ความสนิทสนมกันทั่วไปก็เป็นเรื่องที่ควรทำบ้าง เพื่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลมเกลียวของหมู่คณะนั่นเอง

มีจิตอาสา
ในหลาย ๆ โอกาสที่อาจต้องการผู้มีจิตอาสา รับผิดชอบโครงการใด ๆ ที่นอกเหนือจากการตามขอบข่ายของตัวเอง ผู้ที่จะเอาชนะใจเพื่อนร่วมงานได้ ก็ต้องเปิดเผยความเป็นผู้นำออกมาให้โลกรู้ การอาสาตัวเองเข้ารับกิจกรรมใด ๆ นอกจากเรื่องงาน มักได้ใจเพื่อน ๆ และที่สำคัญอาจได้คอนเนคชั่นเพิ่มเติมไปอีก ทำดีก็ดีอยู่แล้ว ทำดีให้คนรู้ด้วยได้ทั้งงานและได้เพื่อน แล้วจะช้าอยู่ทำไม ทำเลย

“มีน้ำใจ” ใคร ๆ ก็อยากคบหา เพราะนี่คือคุณสมบัติสำคัญในการสร้างมิตรภาพ อย่าว่าแต่ในที่ทำงานเลย ที่ไหน ๆ ก็จำเป็น คำว่ามีน้ำใจนั้นหมายความรวมถึง 2 ด้าน คือด้านการทำงาน เช่น ถ้าเห็นเพื่อนงานโหลด แต่เราทำงานเสร็จแล้ว ก็ไม่ใช่มัวแต่นั่งเล่นเกม ดูเพื่อนทำงาน หันไปช่วยกันบ้างจะเป็นไร อีกด้านหมายถึงด้านชีวิตความเป็นอยู่ทั่วไป ตัวอย่างเช่น ถ้าเห็นเพื่อนยกของหนัก ไม่ไหว ก็ช่วยยกบ้าง เป็นต้น น้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ สร้างความประทับใจมานักต่อนักแล้ว ที่สำคัญทำให้เป็นคนน่าคบหาด้วยจริง ๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook