สำหรับเด็กแล้วพ่อแม่ไม่ใช่เพียงพ่อแม่

สำหรับเด็กแล้วพ่อแม่ไม่ใช่เพียงพ่อแม่

สำหรับเด็กแล้วพ่อแม่ไม่ใช่เพียงพ่อแม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำหรับเด็กแล้วพ่อแม่ไม่ใช่เพียงพ่อแม่ สำหรับชีวิตน้อย ๆ ที่เพิ่งลืมตามาดูโลกแล้ว พ่อแม่คือโลกทั้งใบ เป็นพระเจ้าที่ทำได้ทุกอย่าง ทุกครั้งที่ต้องการคำแนะนำหรือการสนับสนุนพวกเขาจะแหงนหน้าขึ้นมองหาคุณทันที ฉะนั้นสิ่งที่พ่อแม่ทำจึงกลายเป็นแบบอย่างส่วนสำคัญของชีวิตของลูกไปโดยที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

แต่พ่อแม่ก็ยังเป็นมนุษย์ ซึ่งแน่นอนว่าในความเป็นมนุษย์ทุกคนย่อมผิดพลาดด้วยกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะเมื่อมีอารมณ์โกรธ ไม่พอใจ หรือหงุดหงิด เราอาจจะพูดอะไรที่แม่ตั้งใจออกมา คำพูดเหล่านั้นกลายเป็นเสียงที่ฝังอยู่ในหัวของเด็กไปตลอดชีวิต บอกว่าอันนี้ผิด อันนี้ถูก ชี้นิ้วสั่งต่าง ๆ ภายหลังแม้จะรู้สึกผิด แต่บางทีมันกลายเป็นผลเสียต่อชีวิตของพวกเขาในระยะยาวได้เลยทีเดียว

พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกเติบโตมาอย่างเข้มแข็ง มีความมั่นใจในตัวเอง เชื่อมั่น และอารมณ์ที่มั่นคง และสิ่งที่จะช่วยทำให้พวกเขารู้สึกแบบนั้นได้ก็คือเสียงในหัวที่ดังก้องมาตั้งแต่เด็กนั่นเอง ซึ่งนี่คือ 8 ประโยคที่นักจิตวิทยาต่างเชื่อว่า ‘ไม่ควรพูด’ กับเด็ก ๆ เพราะมันเป็นคำพูดที่สร้างบาดแผลทางจิตใจและทำให้พวกเขารู้สึกไร้ค่า

1. “หยุดร้องไห้เดี๋ยวนี้นะ”

เชื่อว่าคำนี้หลุดออกมาจากปากของพ่อแม่หลายคน (ส่วนตัวผู้เขียนก็เคยพูดเมื่ออารมณ์มันพุ่งปี๊ดจริง ๆ) แต่ไม่ว่าลูกจะร้องไห้ด้วยสาเหตุใดก็ตาม อย่าไปทำให้เขารู้สึก ‘งี่เง่า’ แม้ว่าการร้องไห้นั้นดูไร้เหตุผลสำหรับเรา ร้องไห้ไม่ยอมหยุดสักที เด็กยังคงเป็นเด็กที่ยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์หรือเข้าใจความรู้สึกที่เกิดขึ้นข้างใน วิธีการเดียวที่พวกเขาทำได้คือร้องไห้ออกมา เราต้องให้พื้นที่เขาเพื่อแสดงความรู้สึก ถ้าเกิดเราบอกให้พวกเขา ‘หยุดร้องไห้ได้แล้ว!’ มันจะเหมือนการโปรแกรมให้พวกเขาคิดว่าอารมณ์แบบนี้พ่อแม่ไม่โอเค ควรจะกดเอาไว้ ไม่แสดงออก ผลที่จะตามมาคือเด็กที่เก็บกดอารมณ์ทุกอย่างโดยไม่แสดงอะไรออกมาเลยเพราะไม่เคยได้รับอนุญาตให้แสดงอารมณ์เหล่านั้น ลองพูดว่า ‘ร้องไห้ได้นะลูก แต่สิ่งที่ลูกทำ เอาทรายปาใส่คนอื่นแบบนั้นมันไม่ถูกต้อง’ หรือ ‘ร้องไห้ได้นะลูก ตอนนี้หนูคงเสียใจมากที่ต้องเอาตุ๊กตาไว้ที่บ้าน แต่เรากำลังจะไปโรงเรียน ถ้าเอาไปด้วยตุ๊กตาอาจจะหายได้นะ’ สงบใจไว้…ลูกร้อง เราต้องไม่ปี๊ดตามไปด้วย

2. “พ่อ/แม่ผิดหวังในตัวลูก!”

เมื่อเด็ก ๆ ทำอะไรผิดพลาด พวกเขารู้สึกผิดอยู่แล้วในใจ อย่าไปซ้ำเติมทำให้ยิ่งแย่ลงไปกว่าเดิม โดยการทำให้รู้สึกว่าพวกเขาทำให้คุณผิดหวัง ไม่มีความรู้สึกไหนแย่ไปกว่าการทำให้คนที่เรารักผิดหวังในตัวเราอีกแล้ว เด็ก ๆ ก็รู้สึกเช่นกัน อาจจะลองบอกว่า ‘สิ่งที่ลูกทำนั้นไม่ถูกนะลูก แย่งของเล่นของคนอื่นมาแบบนั้นไม่ได้ เดี๋ยวไปขอโทษเพื่อนก่อน แล้วมาคุยกันนะ’

3. ลูกยัง (…) ไม่พอ

หลายคนอาจจะพูดประโยคนี้บ่อย ๆ โดยไม่รู้ว่ามันส่งผลกระทบต่อจิตใจเด็กเช่นกัน ‘ลูกยังบวกเลขไม่เก่งพอ’ หรือ ‘ลูกยังไม่แข็งแรงพอที่จะย้ายกล่องหนังสือด้วยตัวเอง’ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันจะส่งผลให้เขารู้สึกว่าตัวเองขาดอะไรไป โตขึ้นอาจจะรู้สึกว่าพวกเขาทำไม่ได้หรอก เพราะพ่อ/แม่เคยบอกเอาไว้แบบนั้น เพราะฉะนั้นลองเปลี่ยนแป็นประโยคที่ว่า ‘ลูกยังบวกเลขไม่เก่งตอนนี้ เดี๋ยวเรามาช่วยกันทำดีไหม’ หรือ ‘ลูกยังตัวเล็กอยู่ กล่องหนังสือมันหนัก มันอาจจะหล่นใส่ลูกได้ พ่อเข้าใจว่าลูกอยากช่วย แต่เดี๋ยวรอโตกว่านี้อีกหน่อยดีกว่านะลูก’

4. เป็นพี่แล้วไม่กลัวแล้ว

เด็กก็ยังคงเป็นเด็ก ความรู้สึกกลัวหรือกังวลเป็นสิ่งธรรมชาติ การพูดแบบนี้ไม่ได้ทำให้เขาแข็งแกร่งขึ้นเลย การบอกให้ไม่กลัวไม่ทำให้ความรู้สึกนั้นหายไป เราทุกคนก็กลัว พ่อแม่ก็เหมือน สิ่งที่เราควรสอนเด็ก ๆ คือการรับมือกับความกลัวนั้น เช่นถ้าลูกกลัวความมืดเมื่อปิดไฟ คุณก็อยู่กับลูกนอนกับเขา ‘ไม่เป็นไรนะถ้ากลัว ทุกคนก็รู้สึกกลัวเหมือนกัน แต่พ่ออยู่ตรงนี้นะ’ อาจจะเล่านิทานให้ฟัง หรือถ้ามีโอกาสพาไปดูดาวกลางคืนก็ช่วยทำให้เขาเห็นด้านสวยงามของความมืดได้เช่นกัน

5. ลูกไม่มีประโยชน์เลย

นี่เป็นอีกประโยคหนึ่งที่ไม่ควรพูดเลย ไม่ว่าสถานการณ์ใดก็ตาม เด็ก ๆ มองหาการยอมรับจากพ่อแม่เสมอ เพราะฉะนั้นเมื่อเราบอกว่าลูกไม่มีประโยชน์ ไร้ค่า สร้างแต่ปัญหา ฯลฯ การพูดแบบนี้จะเป็นการบีบให้พวกเขาหันไปหาการยอมรับจากที่อื่น ที่ไหนก็ได้ที่พวกเขาจะหาได้ เมื่อพวกเขาสร้างปัญหาหรือทำอะไรที่ไม่ถูกใจ ลองพูดว่า ‘ไม่มีใครสมบูรณ์แบบลูก…เดี๋ยวครั้งหน้าทำให้ดีขึ้น’

6. ลูกเป็นเด็กที่แย่มาก

นี่ก็เป็นอีกประโยคหนึ่งที่ส่งผลร้ายแรงในชีวิตได้เลย เพราะเมื่อเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กที่แย่ ทำอะไรก็แย่ แย่ทั้งหมดเลย ทุกอย่างจะยิ่งเลวร้ายลงไปกว่าเดิม ไม่ใช่แค่ตอนที่เขาเป็นเด็ก แต่เมื่อโตขึ้นมาด้วย ถ้าลูกทำผิดให้เจาะจงไปว่าการกระทำไหนที่ผิด ‘ลูกปาของใส่กระจกแบบนั้นไม่ดีเลยนะลูก’ การกระทำของเขาอาจจะไม่ใช่สิ่งที่สมควรทำ แต่เราก็ไม่ควรไปติดฉลากในหัวเด็กว่าพวกเขาคือเด็กที่แย่ เราทุกคนพลาดกันทั้งนั้น แต่ไม่ได้ทำให้เราเป็นคนที่แย่ไปซะทุกอย่าง

7. พ่อ/แม่ต้องทำทุกอย่างให้ลูกหมดเลยรึไง

ฟังให้ดีนะครับพ่อแม่ ลูกไม่ได้เป็นคนขอเกิดมาบนโลกใบนี้ เราเองที่เป็นคนตัดสินใจพาเขามาสู่โลกใบนี้ แน่นอนเมื่อเขาโตขึ้นพอจะทำอะไรเองได้ รับผิดชอบบางอย่างได้ งานของเราจะเบาลง แต่ว่าเมื่อเขายังเป็นเด็ก ต้องการการดูแลจากพ่อแม่ ใช่ครับเราต้องทำทุกอย่างให้กับเขา ลูกไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่พ่อแม่ที่ไม่เข้าใจว่านี่คือหน้าที่ความรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้พ่อแม่ต้องปรับความเข้าใจใหม่อีกครั้ง

8. ไอ้อ้วน ลูกอ้วน ไอ้หมูตอน

นี่คือประโยคที่ทำลายความมั่นใจของเด็ก ๆ ได้มากกว่าที่คุณคิด ถ้าเรามีลูกที่อ้วนท้วนสมบูรณ์ เด็ก ๆ เขารู้ครับว่าตัวเองอ้วนกว่าเด็กคนอื่น แตกต่างอยู่แล้ว อย่าไปทำให้เขารู้สึกแตกต่างยิ่งไปกว่าเดิม การพูดเพราะความน่ารักหรือน่าฟัดอะไรก็ตาม ยิ่งตอกย้ำไปอีกว่าตัวเองอ้วน ดูไม่ดี แตกต่าง บางทีโดนเพื่อนล้อที่โรงเรียนไม่พอ กลับมาเจอพ่อแม่พูดแบบนี้ยิ่งไปกันใหญ่เลย ถ้าพูดเพราะอยากให้ลูกเปลี่ยนนิสัยการกินใหม่หรือทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นก็อาจจะบอกว่า ‘นี่ลูก แม่/พ่อ ว่าจะหันมาดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีขึ้นเพราะจะได้อยู่กับหนูไปนาน ๆ ตอนเย็นเรามาปั่นจักรยาน แล้วก็กินผักให้เยอะขึ้นกว่าเดิมกันไหม แม่พ่อ ไม่อยากทำคนเดียว’ การติดป้ายว่าลูกอ้วนจะยิ่งส่งผลให้พวกเขากินหนักไปกว่าเดิมและความมั่นใจในตัวเองก็ต่ำลงไปด้วย

ทุกประโยคที่กล่าวมานั้นล้วนสร้างความเสียหายต่อจิตใจเด็ก เราต้องระมัดระวังเวลาพูดเพราะนั่นคือสิ่งที่เด็กจะเก็บไปคิดและฝังอยู่ในตัวพวกเขาไปตลอด รักลูกในแบบที่เขาเป็น ชื่นชมให้ถูก ตักเตือนเมื่อทำผิด ไม่ใช่เหยียบย่ำหรือประชดประชัน พูดจาท้ร้ายจิตใจเด็กเพียงเพราะอารมณ์โมโหฉุนเฉียวที่ปี๊ดขึ้นมา ถ้ารู้ตัวว่าตัวเองเอาไม่ไหว ให้เดินออกมาก่อน สงบสติอารมณ์แล้วค่อยกลับไปลุยต่อ เพราะคำที่พูดออกไป เราเอากลับคืนมาไม่ได้แล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook