เวอร์จิล อาโบลห์ : ผู้ประสานลักชัวรี่แวร์ สตรีทแวร์ และสปอร์ตแวร์ให้เป็นหนึ่งเดียว

เวอร์จิล อาโบลห์ : ผู้ประสานลักชัวรี่แวร์ สตรีทแวร์ และสปอร์ตแวร์ให้เป็นหนึ่งเดียว

เวอร์จิล อาโบลห์ : ผู้ประสานลักชัวรี่แวร์ สตรีทแวร์ และสปอร์ตแวร์ให้เป็นหนึ่งเดียว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในขณะที่แวดวงแฟชั่นกำลังคึกคักและเต็มไปด้วยเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่น่าสนใจ ผ่านการรังสรรค์งานของศิลปิน แฟชั่นดีไซเนอร์จำนวนมากจากหลายแบรนด์ดัง อาทิ แอนโทนี่ วัคคาเรลโล่ จาก แซงต์ โรลองต์,​ มาเรีย การ์เซีย ชิอูรี่ จาก ดิออร์ หรือ อเลสซานโดร มิเชล จาก กุชชี่ ทั้งวงการต่างก็ต้องหยุดชะงักกันด้วยความตกใจ เพราะทางด้านของ หลุยส์ วิตตอง อีกหนึ่งแฟชั่นเฮาส์ชื่อดัง เพิ่งจะเสียหนึ่งในแฟชั่นดีไซเนอร์แห่งยุค อย่าง "เวอร์จิล อาโบลห์" ไป 

ถือเป็นเรื่องที่สะเทือนวงการและสร้างความตกใจให้แก่แฟน ๆ จำนวนมาก เพราะ เวอร์จิล อาโบลห์ คือหนึ่งในแฟชั่นดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของยุค ด้วยเอกลักษณ์อันโดดเด่นผ่านการบุกตลาดสตรีทแวร์โดยเฉพาะ หนึ่งในเทรนด์การแต่งตัวที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ณ ปัจจุบัน ทำให้ผลงานของเขาส่วนมากเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง 

การเสียชีวิตของ เวอร์จิล เป็นเรื่องที่ใครต่างก็ไม่คาดคิดมาก่อน เพราะตลอดเวลา 2 ปีที่ผ่านมาหลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งหัวใจ ตั้งแต่ปี 2019 เขาก็แทบไม่เปิดเผยเรื่องนี้ให้เป็นที่รับรู้กับทั้งสื่อและแฟน ๆ แม้แต่น้อย ในขณะเดียวกันเขาก็ยังคงสร้างสรรค์ผลงานออกมาควบคู่ไปกับการรักษาร่างกาย 

Main Stand ขอชวนย้อนรอยไปสำรวจเส้นทางของแฟชั่นดีไซเนอร์แห่งยุคสมัยคนนี้ ก่อนที่เขาจะไต่เต้าขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลแห่งวงการแฟชั่นคนหนึ่งไปพร้อม ๆ กัน  

DISRUPTIVE IN THE BEST WAY 
"เวอร์จิล อาโบลห์" เกิดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 1980 ที่เมืองร็อกฟอร์ด บริเวณนอกเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา เขาเติบโตขึ้นมาจากการเลี้ยงดูโดยพ่อแม่ชาวกานาที่เป็นผู้อพยพมาจากทวีปแอฟริกา พ่อของเขาประกอบอาชีพเป็นผู้ดูแลโรงงานบริษัททาสีและแม่ของเขาเป็นช่างตัดเสื้อแบบที่สั่งคัสตอมได้ ด้วยเหตุนี้ เด็กชายเวอร์จิล จึงเริ่มเรียนรู้ที่จะหยิบจับเสื้อผ้ามาตั้งแต่เด็ก เขาได้เรียนการเย็บปักถักร้อยมาจากการถ่ายทอดวิชาโดยแม่ของเขาเอง 

เด็กชายเวอร์จิล ได้เข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนที่ชื่อว่า "บอยแลน คาทอลิก" ซึ่งเป็นโรงเรียนคริสต์นิกายคาทอลิคแห่งเดียวในเมืองร็อกฟอร์ดที่เขาเกิดและเติบโตขึ้นมา เขาเรียนอยู่ที่นั่นจนจบการศึกษาระดับมัธยมในปี 1998 และเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย "วิสคอนซิน-แมดิสัน" ในรัฐวิสคอนซิน รัฐใกล้เคียงกับอิลลินอยส์บ้านเกิดของเขา และจบการศึกษาได้ปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา ในปี 2002 

Photo : dailymail.co.uk

หลังที่ได้ใบปริญญาใบแรกมา เวอร์จิล ยังคงใฝ่เรียนอย่างต่อเนื่อง เขาเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งอิลลินอยส์ในปี 2006 และได้รับใบปริญญาใบที่สองในสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์มาครอบครอง ที่นั่นเองเขาได้พบเห็นอาคารหลังหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ออกแบบโดย "เร็ม โกลฮาส" สถาปนิกชาวดัตช์ ที่เคยทำงานร่วมกับ ปราด้า ในการออกแบบหน้าร้านให้ และนั่นกลายจุดเริ่มต้นความสนใจในแฟชั่นของเขาอย่างจริงจัง ผิดกับสิ่งที่เขาศึกษามาก่อนหน้านี้ทั้งสิ้น 

เวอร์จิล ได้ฉายแววความสามารถของเขาอย่างต่อเนื่องโดยย้ายความสนใจและสายงานของตัวเองไปทางแฟชั่นทั้งหมด ในปี 2009 เขาได้เข้าไปเป็นเด็กฝึกงานให้กับ "เฟนดิ" (Fendi) และได้กลายเป็นเด็กฝึกงานรุ่นเดียวกับ "คานเย เวสต์" (ชื่อปัจจุบัน เย) ศิลปินฮิปฮอปชาวอเมริกัน ที่ขณะนั้นเริ่มเป็นที่รู้จักและมีผลงานเพลงออกมาแล้วถึง 4 อัลบั้ม 

ผลงานของ เวอร์จิล ที่เขาได้ร่วมโยนไอเดียให้กับเฟนดิ เริ่มเป็นที่เข้าตาของผู้ใหญ่ในวงการ หนึ่งในนั้นคือ ไมเคิล เบิร์ค ซีอีโอของ หลุยส์ วิตตอง เขากล่าวกับ "เดอะนิวยอร์กไทมส์" ไว้ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2018 ถึงไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ของเวอร์จิลและคานเย 

"ผมรู้สึกประทับใจมากที่พวกเขาได้สร้างบรรยากาศใหม่ ๆ ให้แก่สตูดิโอและทำให้มันแตกต่างได้อย่างดีที่สุด เวอร์จิลสามารถสร้างคำเปรียบเปรยหรือสร้างคำนิยามใหม่ขึ้นมาได้สำหรับบางสิ่ง โดยเฉพาะบางสิ่งที่ค่อนข้างมีแบบแผนอยู่แล้วแบบเฟนดิ ผมก็เลยติดตามงานของเขามาตั้งแต่นั้นเลย" 

Photo : highsnobiety.com

พวกเขาทั้งคู่ได้กลายมาเป็นเพื่อนกันและเริ่มเชื่อมความสัมพันธ์กันมาเรื่อย ๆ ผ่านการร่วมงานกันอย่างมากมาย เวอร์จิล ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบปกอัลบั้มของเยมากมาย อาทิ "My Beautiful Dark Twisted Fantasy" สตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 5 ของเย ในปี 2010 หลังจากที่พวกเขาได้รู้จักกัน พวกเขาก็ได้ร่วมวางแนวทางด้านงานศิลป์ประกอบอัลบั้มพิเศษของเย อย่าง "Watch The Throne" อัลบั้มดูโอที่เยร่วมกันทำกับ เจย์-ซี ในปี 2011 และออกแบบปกอัลบั้ม "Yeezus" สตูดิโออัลบั้มชุดที่ 6 ของเย ในปี 2013 และได้ลามไปช่วยออกแบบปกอัลบั้มของศิลปินคนอื่น ๆ อย่าง "เอแซ็พ ร็อคกี้" ศิลปินฮิปฮอปจากเอแซ็พ ม็อบ และ "วิซาร์ด" วงดนตรีไซด์โปรเจ็กต์ของ "คิด คัดดี้" เจ้าของเพลงฮิตอย่าง "The Pursuit of Happiness" 

เวอร์จิล เริ่มสร้างชื่อมาจากการทำงานร่วมกันกับเพื่อนของเขา เริ่มมีเครดิตในวงการออกแบบและแฟชั่น ก่อนที่เขาจะเริ่มสร้างแบรนด์ของตนเอง จนมันได้เปลี่ยนโฉมหน้าวงการแฟชั่นและเริ่มยุคสมัยของเขาอย่างแท้จริง 

GRAY AREA 
ย่างเข้าสู่ปี 2012 เวอร์จิล เริ่มอยากที่จะสร้างแบรนด์ของตนเองอย่างจริงจัง เข้าได้สร้างแบรนด์ "ไพเร็กซ์ วิชั่น" (Pyrex Vision) ขึ้น เขาลงทุนซื้อเสื้อลายตารางหมากรุกแบบที่ขายไม่ออกยี่ห้อ "ราล์ฟ ลอเรน" ราคาตัวละ 40 ดอลลาร์สหรัฐ มาเพนต์ทับ เขานำเสื้อพวกนี้มาสกรีนคำว่า "Pyrex" พร้อมกับประทับเลข​ 23 ที่เป็นเลขของ "ไมเคิล จอร์แดน" ฮีโร่วัยเด็กของเขา ลงไปด้วย เสื้อผ้าเหล่านี้ได้รับความนิยมพอสมควรและมันก็สามารถขายได้ในราคาถึง 550 ดอลลาร์สหรัฐ จากต้นทุนเพียง 40 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น 

Photo : allttbuy.tw

ไม่นานหลังจากนั้นในปี 2013 เวอร์จิล ได้ทำการรีแบรนด์ไพเร็กซ์ วิชั่น เพราะเขารู้สึกว่า ไพเร็กซ์ วิชั่น เป็นเสมือนงานศิลปะมากกว่าผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ เป้าหมายของเขาคือการรังสรรค์ผลงานลูกผสมระหว่างแฟชั่นไฮเอนด์และสตรีทแวร์ แบรนด์ของเขาจึงถือกำเนิดขึ้นใหม่ภายใต้ชื่อ "ออฟ-ไวท์" (Off-White) โดยพุ่งเป้าไปที่เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายอย่างจริงจัง 

จากบทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งในปี 2018 กับ Teen Vogue เวอร์จิล ได้กล่าวถึงเบื้องหลังในการสร้างออฟ-ไวท์เอาไว้ว่า 

"คอนเซ็ปต์ที่ผมมีในตอนที่เริ่มสร้างออฟ-ไวท์ คือผมไม่มีภาพของกลุ่มลูกค้าหลักเลย มันเหมือนกับการสร้างบางสิ่งบางอย่างให้กับทุกคนมากกว่า และผมว่านี่แหละที่ทำให้มันยูนีค มันไม่มีเป้าหมายโดยเฉพาะ ผมว่ามันค่อนข้างทันสมัยกว่าหากมันจะสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้คนได้หลาย ๆ กลุ่มตามที่ผมหวังไว้" 

ออฟ-ไวท์ เป็นแบรนด์ที่ถูกก่อตั้งขึ้นในมิลาน ประเทศอิตาลี ที่มีผู้ก่อตั้งเป็นชาวอเมริกัน เวอร์จิล ได้ให้คำนิยามแก่แบรนด์ออฟ-ไวท์ของเขาเอาไว้ว่า "เป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างสีดำกับสีขาว เหมือนกับสีออฟไวท์" ลักษณะเด่นของแบรนด์นี้คือการใช้เครื่องหมายอัญประกาศหรือเครื่องหมายคำพูดในการโควตคำต่าง ๆ อาทิ "FOR WALKING" บทรองเท้าบูธ, "SCULPTURE" บนกระเป๋า ซึ่งเครื่องหมายคำพูดเหล่านี้เองที่เป็นสิ่งเพิ่มมูลค่าให้แบรนด์ของเขาได้อย่างมหาศาล 

ครั้งหนึ่ง เวอร์จิล ได้ให้สัมภาษณ์ไว้กับนิตยสาร 032c ถึงการใช้เครื่องหมายอัญประกาศของเขาเอาไว้ว่าคอนเซ็ปต์เบื้องหลังนั้นช่างเรียบง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็มีความสุขุม แฝงถึงนัยยะการมองสิ่งของอย่างละเอียดไว้อย่างแยบยล 

Photo : nytimes

"คุณสามารถใช้อักษรศิลป์หรือคำศัพท์มาเปลี่ยนคำนิยามให้กับบางสิ่งบางอย่างได้อย่างสิ้นเชิงโดยที่ไม่ต้องไปเปลี่ยนอะไรที่ตัววัตถุเลยแม้แต่น้อย ถ้าผมเอาเสื้อสเวตเตอร์ของผู้ชายมาสกรีนที่หลังเป็นคำว่า 'ผู้หญิง' นี่มันก็กลายเป็นงานศิลป์แล้ว" 

ออฟ-ไวท์ ของเวอร์จิลเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด แบรนด์ของเขาได้ไปร่วมงานกับแบรนด์อื่น ๆ มากมาย อาทิ "ลีไวส์" แบรนด์ยีนส์เก่าแก่แต่เก๋าของสหรัฐฯ, เฟอร์นิเจอร์ "อิเกีย" จากสวีเดน และที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการได้ร่วมงานกับ "ไนกี้" สปอร์ตแบรนด์ขวัญใจมหาชน 

เวอร์จิล และ ออฟ-ไวท์ กลายเป็นอีกหนึ่งโฉมหน้าหลักของวงการแฟชั่น เพราะเขาไม่ได้หยุดอยู่แค่ "ลักชัวรี่แวร์" หากแต่ยังพุ่งเป้าไปไกลถึง "สตรีทแวร์" และ "สปอร์ตแวร์" อีกด้วย 

DECONSTRUCT THE CLASSICS

หนึ่งในโปรเจ็กต์ที่ได้เข้ามาเขย่าวงการแฟชั่นและกีฬาไปพร้อม ๆ กันของ เวอร์จิล อาโบลห์ คือ "เดอะ เท็น" (THE TEN) การร่วมงานกับไนกี้ในปี 2017 ที่มีคอนเซ็ปต์เบื้องหลังคือการนำ 10 รองเท้ารุ่นคลาสสิกของไนกี้มาออกแบบใหม่ เป็นการรื้อภาพสนีกเกอร์แบบเดิม ๆ ให้มีความแปลกตามากยิ่งขึ้น 

Photo : soldoutservice

เดอะ เท็น ประกอบไปด้วยรองเท้ารุ่นดังของไนกี้อย่าง แอร์ จอร์แดน, แอร์ ฟอส 1, แอร์ แม็กซ์ 90, แอร์ เพรสโต้, แอร์ เวเปอร์ แม็กซ์, แอร์ เบลเซอร์ มิด, แอร์ แม็กซ์ 97, รีแอค ไฮเปอร์ ดังก์, ซูม เวเปอร์ฟลาย เอสพี และคู่สุดท้ายได้แก่ คอนเวิร์ส ชัค เทย์เลอร์ (คอนเวิร์ส เป็นบริษัทลูกของไนกี้ที่ถูกซื้อไปในปี 2003) 

หากไนกี้ที่เรารู้จักมีเครื่องหมายถูกเป็นเอกลักษณ์ ไนกี้ เดอะ เท็น ก็เหมือนเป็นการตอกย้ำว่าเครื่องหมายถูกนี้เป็นได้มากกว่าที่มันเคยเป็น เมื่อมันถูกจับมารวมกับ ออฟ-ไวท์ ทุก ๆ อย่างของไนกี้ก็ดูมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาอย่างทันตา เพราะเครื่องหมายอัญประกาศ 

เครื่องหมายคำพูดนี้ เน้นย้ำถึงการมองรองเท้าให้เป็นมากกว่ารองเท้า เสมือนเป็นการเพิ่มมูลค่าสิ่งที่ธรรมดาให้ไม่ธรรมดาอีกต่อไป อย่างคำว่า "SHOELACE" บนเชือกรองเท้า, "AIR" บนตัวรองเท้า ชูเรื่องความเบาสบายของไนกี้, "FOAM" บนพื้นรองเท้าบาสและรองเท้าวิ่ง เป็นการเน้นย้ำถึงความเด้งของพื้นรองเท้า, "VULCANIZED" บนยางของรองเท้าคอนเวิร์ส ที่แสดงถึงกระบวนการการผลิตพื้นยางที่คงรูปของรองเท้าออลสตาร์ไว้ด้วยอุณหภูมิสูง ทุกอย่างล้วนมีมูลค่าขึ้นมาทั้งสิ้น รวมไปถึงซิปแท็กสีแดงที่เป็นเสมือนอีกหนึ่งเครื่องหมายการค้าของออฟ-ไวท์ ลบภาพรองเท้าสนีกเกอร์แบบเดิมที่เราเคยเห็นออกไปจนเกือบหมด

 
Photo : solecollector

นอกจาก เดอะ เท็น จะเปลี่ยนโฉมหน้าของแฟชั่นสนีกเกอร์ หากเราลองมองสินค้าเหล่านี้ผ่านเลนส์ของคนนิยมสปอร์ตแวร์หรือเสื้อผ้าออกกำลังกาย มันก็จะสอดคล้องกับสิ่งที่เวอร์จิลได้เคยพูดออกมาอย่างไม่ผิดแผก นี่คือการเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างจากการใช้อักษรศิลป์โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตัววัตถุแต่อย่างใด ไนกี้ ยังคงเป็นไนกี้ที่เรารู้จัก แต่มันกลับไปเพิ่มเซนส์ของความแพงบางอย่างที่แฝงอยู่ข้างในขึ้นมา 

เวอร์จิล เป็นผู้ที่รื้อความธรรมดาให้หนีจากสิ่งที่ธรรมดาได้อีกมากมาย โดยเฉพาะเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์กีฬาที่มีความจำเจแบบที่เราคุ้นเคย อย่างเสื่อโยคะของออฟ-ไวท์ ที่เมื่อสกรีนคำว่า "YOGA MAT" ลงไป มันก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดาไปแล้ว 

เรื่องนี้ยังถูกตอกย้ำอีกครั้ง เมื่อเส้นทางอาชีพของ เวอร์จิล ได้พาเขาไปเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับแฟชั่นเฮาส์ชื่อดังของฝรั่งเศสอย่าง "หลุยส์ วิตตอง" (Louis Vuitton) ในปี 2018 ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของไลน์เสื้อผ้าผู้ชาย ซึ่งเขากลายเป็นคนผิวดำคนแรกที่ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ในบ้านของ LV 

การได้เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ของเวอร์จิลในแฟชั่นเฮาส์แห่งนี้ นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่หาได้ยากในวงการลักชัวรี่แฟชั่น ด้วยความที่เวอร์จิลเป็นคนผิวดำและมีเชื้อสายแอฟริกัน ทำให้การยอมรับเป็นสิ่งที่หาได้ค่อนข้างยาก ในแฟชั่นโชว์แรกของเวอร์จิลหลังจากที่เข้ามาร่วมงานกับหลุยส์ วิตตอง จึงเกิดเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่เวอร์จิลได้เดินปรี่เข้าไปสวมกอดเพื่อนรักของเขาอย่างคานเยข้างรันเวย์ เสมือนเป็นการทบทวนถึงอดีตที่เขาผ่านมาด้วยกันตั้งแต่ตอนที่เป็นเด็กฝึกงานของเฟนดิ 

 Photo : thecut

หลุยส์ วิตตอง เป็นที่ที่ช่วยต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ของเวอร์จิลได้อย่างเต็มที่ และตัวเวอร์จิลก็ยังไม่หยุดที่จะสร้างผลงานแหกขนบสปอร์ตแวร์และสตรีทแวร์ตามแบบที่เขาถนัดออกมาอีกเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าปีนเขา, สเกตบอร์ด รวมไปถึงเสื้อผ้าออกกำลังกายที่ร่วมงานกับไนกี้เจ้าเดิม ในการทำชุดแข่งขันเทนนิสให้แก่ "เซเรน่า วิลเลียมส์" นักเทนนิสหญิงชาวอเมริกันชื่อดัง โดยมีจุดเด่นเป็นคำว่า "LOGO" บนเครื่องหมายถูก เขาได้มอบลายเซ็นอันเป็นเอกลักษณ์ให้แก่แบรนด์อย่างต่อเนื่อง 

ตั้งแต่การเป็นเด็กฝึกงานของเฟนดิ มาจนถึงเป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์เสื้อผ้าผู้ชายของหลุยส์ วิตตอง ภาพของวงการแฟชั่นคงจะเต็มไปด้วยชื่อของ เวอร์จิล อาโบลห์ ไปอีกนาน หากโรคร้ายไม่พรากเขาไปเสียก่อน 

"TO DEVELOP EVERYTHING FROM ZERO" 
กลายเป็นเรื่องช็อกในวงการแฟชั่นแบบไม่ทันตั้งตัว เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2021 ได้มีรายงานว่า เวอร์จิล อาโบลห์ เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งหัวใจ ด้วยวัยเพียง 41 ปี ผ่านการแถลงข่าวในหน้าเว็บไซต์ของออฟ-ไวท์และอินตาแกรมส่วนตัวของเวอร์จิล 

ความจริงแล้ว เวอร์จิล ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2019 แล้ว เป็นเวลา 1 ปีหลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่งใหญ่ใน หลุยส์ วิตตอง อย่างไรก็ตามเวอร์จิลและครอบครัวของเขาก็เลือกที่จะปิดเรื่องนี้อย่างเป็นความลับ และเขาก็ได้เข้ารับการรักษาโดยไม่เปิดเผยต่อสื่อมาโดยตลอด อีกทั้งเขายังคงสร้างผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ข่าวการเสียชีวิตของเวอร์จิล จึงทำให้แฟน ๆ ตกอยู่ในสภาวะงุนงงปนช็อก เพราะแทบจะไม่มีใครรู้ว่าอาการป่วยของเขาได้รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างที่เขาทำงานอยู่ 


Photo : soldoutservice

หากนับกันตามอายุงานของเขา เป็นเวลาเพียง 12 ปีเท่านั้นที่เวอร์จิลได้โลดแล่นอยู่ในวงการนี้ ตั้งแต่ที่เขาเข้าไปเป็นเด็กฝึกงานที่เฟนดิมาจนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าอาจจะเป็นพรสวรรค์ที่ถูกกลั่นรวมกับความกล้าที่จะแหกขนบจากแฟชั่นเดิม ๆ ที่ดันเขาให้มาสู่จุดสูงสุดบนอาชีพได้ ก่อนจะเหลือไว้เพียงผลงาน มรดก และแรงบันดาลใจให้แก่ศิลปินรุ่นต่อ ๆ ไป 

อย่างไรก็ตาม เวอร์จิล ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ผ่านคำสบประมาทมามากมายกว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ บ้างก็ว่างานของเขาขาดความออริจินัล บ้างก็ว่าเขาไม่ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้แก่วงการ ถึงอย่างไรชายคนนี้ก็ยังคงเชื่อในสิ่งที่เขาทำอยู่เสมอ เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว เขาจะมาถึงตรงนี้ได้อย่างไร ?​

จากบทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งจาก Vogue ในปี 2019 เขาตอบกลับคำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ไปว่า 

"วิถีของการออกแบบที่ว่าด้วยการพัฒนาบางอย่างมาจากศูนย์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในบางช่วงบางตอนเท่านั้น สำหรับผมแล้วการออกแบบคือการมุ่งหาอะไรก็ตามที่เราคิดว่ามันมีค่าให้การเล่าเรื่อง ผมไม่เคยเชื่อว่าวัฒนธรรมจะได้อะไรจากความคิดที่ว่า 'ไม่เคยมีใครวาดเส้นแบบนี้ลงกระดาษมาก่อน'  โดยที่เราต่างก็รู้ตัวว่าเส้นเส้นนี้เคยถูกวาดแบบนี้มาแล้ว 

ในขณะที่เวอร์จิลกำลังพูดถึงความเป็นออริจินัลของงานศิลปะ พร้อมกับชวนตั้งคำถามถึงความดั้งเดิมของงานศิลป์ในโลกแฟชั่น เหมือนกับเป็นการเปรียบเปรยว่า สิ่งที่คนมองว่าใหม่ จริง ๆ แล้วเราก็รู้อยู่แก่ใจว่ามันไม่ได้ใหม่ขนาดนั้น “ความดั้งเดิม” ที่เกิดขึ้นใหม่อาจจะเกิดจากการต่อยอดจากสิ่งหนึ่งมาสู่อีกสิ่งหนึ่งก็เป็นได้ 

Photo : gq-magazine.co.uk

"เป้าหมายของผมคือการคัดเน้นอะไรบางอย่าง นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงร่วมงานกับคนอื่นมากมาย ผมศึกษาอ้างอิงงานต่าง ๆ เยอะ นั่นทำให้เนื้องานของผมออกมาเป็นอย่างที่ได้เห็นกัน" 

ว่ากันว่าศิลปะเป็นเรื่องปัจเจก มีทั้งคนที่โยนดอกไม้ให้และคนที่โยนก้อนหินใส่ แต่มันก็คงเป็นการยากที่จะปฏิเสธว่าสิ่งที่ เวอร์จิล อาโบลห์ สร้างไว้ไม่ว่าจะในรูปแบบใด ก็มีอิทธิพลมากต่อวงการแฟชั่น ณ ตอนนี้จริง ๆ 

 

แหล่งอ้างอิง : 

https://hypebeast.com/2019/5/virgil-abloh-vouge-plagiarism-critique-design-philosophy-interview 
https://news.nike.com/news/virgil-abloh-nike-the-10 
https://snobette.com/2019/10/off-white-black-yoga-mat/ 
https://www.businessoffashion.com/community/people/virgil-abloh 
https://www.complex.com/style/virgil-abloh-album-covers 
https://www.gq.com/story/virgil-abloh-louis-vuitton-kanye-west-hug 
https://www.highsnobiety.com/p/virgil-abloh-off-white-quotation-marks/ 
https://www.nytimes.com/2018/03/26/business/louis-vuitton-virgil-abloh.html 
https://www.teenvogue.com/story/virgil-abloh-interview 
https://www.vogue.com/article/virgil-abloh-biography-career-timeline 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook