เรื่องน่าปวดหัวที่มักเจอบ่อย ๆ เมื่อต้องทำงานกันเป็นทีม

เรื่องน่าปวดหัวที่มักเจอบ่อย ๆ เมื่อต้องทำงานกันเป็นทีม

เรื่องน่าปวดหัวที่มักเจอบ่อย ๆ เมื่อต้องทำงานกันเป็นทีม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในการทำงานในองค์กรต่าง ๆ สิ่งหนึ่งที่คนทำงานหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ “การทำงานเป็นทีม” เพราะแทบจะไม่มีงานไหนเลยที่สามารถทำได้ตัวคนเดียวจนเสร็จสิ้นกระบวนการ โดยไม่ต้องประสานงานกับใครอื่นที่เกี่ยวข้องเลย ถ้าเป็นเช่นนั้นบริษัทก็ไม่จำเป็นต้องมีพนักงานหลายคน โดยทั่วไป เวลาที่องค์กรจะรับสมัครพนักงานใหม่ ก็มักจะเรียกหาทักษะในการทำงานเป็นทีมจากผู้สมัครเสมอ เพราะทุกคนในองค์กรจำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกัน เพราะไม่ว่าหน้าที่ของแต่ละคนจะทำอะไร ทุกคนก็มีเป้าหมายเดียวกันเมื่อมองในภาพรวมภาพใหญ่

สิ่งที่ต่างกันเห็นจะเป็นขนาดของทีม หากเป็นทีมเล็กที่สุดก็อาจจะเป็นแค่คนสองคนจับคู่เป็นคู่หูกัน ทีมใหญ่ก็อาจมีสมาชิกในทีมเป็นสิบ ๆ คน ทีมที่ขนาดใหญ่ขึ้นมาจำเป็นต้องมีคนที่เป็นหัวหน้าเพื่อดูภาพรวมของการทำงาน รวมความเป็นทีมให้แข็งแกร่ง และควบคุมให้สมาชิกทำงานให้ได้ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย แต่การทำงานเป็นทีมนั้น ยิ่งคนเยอะเรื่องก็ยิ่งแยะ ซึ่งมันก็อาจทำให้เกิดปัญหาและความล้มเหลวในการทำงานได้ทุกเมื่อ หากทีมมีรอยร้าว รอยแตก รอยรั่ว หลัก ๆ แล้วปัญหาที่มักเกิดขึ้นเมื่อเราต้องทำงานเป็นทีมนั้นมีเรื่องอะไรที่น่าปวดหัวบ้าง

สื่อสารกันไม่เข้าใจ
ปัญหาเรื่องการสื่อสาร เป็นปัญหาแรก ๆ ที่มักเกิดขึ้นในการทำงานที่ต้องทำร่วมกันหลาย ๆ คน แต่ละคนมีพื้นฐานในการฟัง การนำเสนอ การประมวลผลไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นอะไรที่สื่อสารกันตอนประชุมแล้วไม่ชัดเจน ไม่กระจ่าง กำกวม ก็อาจจะนำไปสู่การเข้าใจผิด เพราะตีความแบบคนละเรื่องเดียวกันของแต่ละคน เมื่อเข้าใจไม่ตรงกันแต่คิดว่าเข้าใจตรงกัน ก็ย่อมทำให้การทำงานไม่ประสานกันได้ บางที่หนักกว่านั้น คือทำงานเป็นทีมแต่คนในทีมไม่คุยไม่สื่อสารกัน แล้วงานจะออกมาตรงตามเป้าหมายได้อย่างไร งานอาจจะไปกันคนละทิศคนละทาง เสียงาน เสียแรง เสียเวลา เสียความรู้สึก เสียความไว้วางใจ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการประชุมที่มีประสิทธิภาพถึงเป็นเรื่องสำคัญ

แข่งขันชิงดีชิงเด่นกันมากกว่าจะสามัคคีกันทำงาน
กรณีนี้มักจะเริ่มเรื่องมาจากอคติ การรู้สึกไม่ชอบหน้าเพื่อนร่วมทีมคนใดคนหนึ่งเป็นการส่วนตัว หรืออาจจะลากยาวมาจากเรื่องงานเป็นเหตุก็ได้ เช่น ขัดแย้งกันในเรื่องของการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันแล้วเคยโต้เถียงกันรุนแรง หรือมีเรื่องที่ขัดผลประโยชน์กันอยู่ เมื่อต้องมาทำงานทีมเดียวกันกลับไม่สนใจที่จะแยกแยะว่างานต้องมาก่อนและควรต้องทำมันออกมาให้ดี เลือกที่จะใช้งานเป็นเครื่องมือในการตัดสินว่าใครดีใครเด่นกว่ากัน ไม่ได้คำนึงถึงประสิทธิภาพประสิทธิผลของงานและทีมเป็นอย่างแรก แต่มีความสะใจส่วนตัวเป็นที่ตั้ง แม้ว่างานจะออกมาดี (เพราะต้องแข่งกัน) แต่มันไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการทำงานเป็นทีม ที่สำคัญยังดึงคนอื่นเข้ามากระอักกระอ่วนใจด้วย

งานกลุ่มทำคนเดียว
“งานกลุ่มทำคนเดียว งานเดี่ยวทำเป็นกลุ่ม” หลายคนรู้ซึ้งมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว แต่ไม่คิดว่าจะต้องมาเจออีกในวัยทำงานที่แต่ละคนต่างต้องรับผิดชอบหน้าที่การงานของตัวเองให้ดี เพราะมันมีเรื่องของค่าจ้างและการประเมินงานเข้ามาเกี่ยวข้อง จะอยู่จะไปวัดกันที่ผลงาน ถ้าไม่ได้เรื่องก็คงไม่มีใครอยากจะจ้างไว้ คนประเภทนี้จึงอยู่ได้ไม่นานนักถ้าถูกจับได้คาหนังคาเขา คนที่ชอบเอาเปรียบคนอื่นแบบนี้มีแค่ส่วนน้อย แต่กลับมีอยู่ในทุก ๆ ออฟฟิศ บางคนไม่ช่วยไม่พอยังเป็นตัวปัญหาเอาเท้าราน้ำอีก พองานเสร็จก็อยากจะมีส่วนร่วมขึ้นมาเฉย เชื่อได้เลยว่าคนทำงานทุกคนจะต้องเคยสัมผัสกับคนแบบนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง

ปกปิดความผิด
เมื่องานมีปัญหา ก็ควรจะต้องแจ้งให้เพื่อนร่วมทีมและหัวหน้าทีมทราบเสมอ และต้องแจ้งตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อที่จะได้แก้ไขกันได้ทันก่อนที่จะมีอะไรเสียหายไปมากกว่านั้น แต่จะมีคนอยู่บางประเภทที่เลือกที่จะเก็บเงียบไม่บอกใคร โดยเฉพาะเมื่อเป็นความผิดของตนเอง ทั้งที่รู้ดีว่าอีกไม่นานเรื่องก็คงแดงขึ้นมาแต่ขอลอยตัวเหนือปัญหาแล้วกัน ที่ไม่พูดไม่บอกใครก็เพราะไม่อยากรับผิดชอบ ไม่อยากโดนตำหนิ คิดว่ามันเป็นแค่เรื่องเล็ก ๆ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร หรือไม่ก็จงใจให้เพื่อนร่วมทีมมาเจอเข้าโดยบังเอิญแบบที่จับมือใครดมไม่ได้ ฉันไม่รู้ไม่เห็นอะไร พอไม่มีใครรู้ ปัญหาก็ถูกปล่อยไว้นานจนเสียหาย มันก็มักจะกลายเป็นเรื่องใหญ่และต้องเดือดร้อนกันทั้งทีม

ความสัมพันธ์ของหัวหน้าทีมกับสมาชิกในทีม
ความสัมพันธ์ของหัวหน้าทีมกับลูกน้อง เป็นเรื่องของการซื้อใจล้วน ๆ หัวหน้าทีม คือบุคคลสำคัญผลักดันทีมไปสู่ความสำเร็จ เป็นกำลังสำคัญในการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ต้องเป็นผู้นำที่ดีในทุก ๆ ด้านให้กับคนในทีม เลือกใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการบริหารทีมให้เหมาะสม มีความเป็นธรรม ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หรือทำตัวไม่น่าเชื่อถือ รับฟังทุก ๆ ความเห็นจากคนที่ทำงาน การได้ระดมสมองและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันจะช่วยให้การทำงานราบรื่นขึ้น สมาชิกในทีมจะไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนเกินหรือฝืนใจที่จะต้องทำงานให้ สนับสนุนลูกทีมของตนเอง ทำดีต้องมีคำชมเชยสร้างขวัญกำลังใจ ทำพลาดต้องตักเตือน และให้โอกาสแก้ตัว เช่นนี้สมาชิกถึงจะยอมรับโดยด้วยความยินดี

ไม่วางแผนแนวทางการทำงานให้ชัดเจน
การทำงานร่วมกันเป็นทีม ต้องมีการวางแผนในการทำงานให้มีแนวทางที่ชัดเจน เพื่อให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ ได้งานที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ประหยัดเวลา ประหยัดแรง ลดข้อผิดพลาดและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากการกำหนดขอบเขตการทำงานที่แน่นอน ซึ่งทุกคนในทีมต้องรับรู้ให้ตรงกัน โดยเฉพาะทีมที่มีสมาชิกหลายคน จะได้ไม่มีการทำงานซ้ำซ้อน มีการประสานงานภายในทีมอย่างเป็นระบบ และเนื่องจากการวางแผนเป็นกระบวนการเกี่ยวกับการคิดและการตัดสินใจที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ต้องทำให้เสร็จสิ้นก่อนจะลงมือดำเนินงาน หากแผนที่วางไว้ไม่มีแนวทางที่ชัดเจนมากพอ อาจเกิดความเข้าใจผิดจนเสียหายได้

ไม่มีการประเมินผล
ในการทำงานเป็นทีม ควรต้องมีการรายงานความคืบหน้าและประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งควรทำเป็นระยะ ๆ เว้นช่วงให้เหมาะสม เพื่อดูความคืบหน้า ทิศทางของการทำงาน ผลลัพธ์ของงาน วิเคราะห์ปัญหา แนวทางแก้ไข ทบทวนเรื่องวัตถุประสงค์ เป้าหมาย รวมถึงวิธีการในการทำงาน ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เนื่องจากปัญหาอาจเกิดขึ้นมาเมื่อไรก็ได้ ที่สำคัญคือไฟของคนทำงาน ยังอยู่ดีหรือไม่ ทุกคนมีส่วนร่วม มีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของทีมหรือไม่ ปัญหาที่เกิดจากจิตใจของคนทำงานไม่ใช่เรื่องเล็ก หากพวกเขาไม่มีแก่ใจที่จะทำงาน ก็ไม่มีทางที่งานจะออกมาดี ซึ่งคนที่เป็นหัวหน้าทีมจะต้องติดตามกระบวนการนี้อย่างต่อเนื่อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook