พิกโตแกรม : สัญลักษณ์การกีฬาที่ถือกำเนิด ณ โอลิมปิกฤดูร้อน ประเทศญี่ปุ่น

พิกโตแกรม : สัญลักษณ์การกีฬาที่ถือกำเนิด ณ โอลิมปิกฤดูร้อน ประเทศญี่ปุ่น

พิกโตแกรม : สัญลักษณ์การกีฬาที่ถือกำเนิด ณ โอลิมปิกฤดูร้อน ประเทศญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
  • การใช้ พิกโตแกรม (Pictogram) หรือภาพสัญลักษณ์แทนตัวหนังสือในวงการกีฬาเกิดขึ้นครั้งแรกในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 18 เมื่อ ค.ศ.1964 ที่ประเทศญี่ปุ่น
  • ในทุกครั้งของการแข่งขันโอลิมปิกนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจึงมีการดีไซน์พิกโตแกรมเพื่อให้ผู้คนจากต่างชาติและต่างภาษาได้เข้าใจตรงกันในสัญลักษณ์สากล
  • สำหรับการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น ทีมดีไซเนอร์ได้ออกแบบพิกโตแกรมโดยได้รับแรงบันดาลใจจากชุดพิกโตแกรมเมื่อปี ค.ศ.1964 เพื่อเชิดชูบรมครูดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในวงการกราฟิกดีโซน์ทั่วโลก

ย้อนกลับไปเมื่อ 57 ปีก่อน การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 18 เมื่อ ค.ศ.1964 นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันมหกรรมกีฬาของโลกและเป็นครั้งแรกที่จัดในทวีปเอเชีย และที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการกีฬาและการออกแบบคือการใช้ พิกโตแกรม (Pictogram) หรือภาพสัญลักษณ์แทนตัวหนังสือในวงการกีฬาเป็นครั้งแรกและก่อให้เกิดการดีไซน์พิกโตแกรมในทุกครั้งของการแข่งขันโอลิมปิกนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


พิกโตแกรมที่ใช้ครั้งแรกในการแข่งขันโอลิมปิก ค.ศ.1964 ที่ประเทศญี่ปุ่น
(ภาพ : Olympic Games Museum)

การริเริ่มใช้ พิกโตแกรม เป็นภาษาสัญลักษณ์สากลในการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับโลกเพื่อให้ผู้คนจากต่างชาติและต่างภาษาได้เข้าใจตรงกันในยุคสมัยที่กำแพงภาษายังเป็นอุปสรรคอย่างมากในครั้งนั้นฝ่ายจัดการแข่งขันนำโดย ผู้อำนวยการฝ่ายศิลปะ มาซารุ คัตซึมิเอะ (Masaru Katzumie) และกราฟิกดีไซเนอร์ โยชิโระ ยามาชิตะ (Yoshiro Yamashita) จึงได้ออกแบบพิกโตแกรมจำนวน 20 ภาพเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชนิดกีฬาต่าง ๆ ที่ใช้ในการแข่งขันและอีก 39 ภาพสำหรับใช้สื่อสารข้อมูลทั่วไป เช่น ห้องน้ำหญิงและห้องน้ำชาย หน่วยปฐมพยาบาล ห้องจำหน่ายตั๋ว ห้องเก็บสัมภาระ ธนาคาร โทรศัพท์ เป็นต้น


พิกโตแกรมที่ใช้ในการแข่งขันโอลิมปิกเมื่อ ค.ศ.1964 เพื่อเป็นสัญลักษณ์สากลสำหรับข้อมูลทั่วไป
(ภาพ : Olympic Games Museum)

ญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องการดีไซน์แบบมินิมัล พิกโตแกรมที่ใช้ในโอลิมปิกเมื่อ ค.ศ.1964 จึงเน้นความเรียบง่าย ลดทอนรายละเอียดให้เหลือเพียงเส้นสายที่จำเป็นและจัดวางองค์ประกอบได้อย่างลงตัว ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการดีไซน์โลกและทำให้เกิดการใช้ พิกโตแกรม แพร่หลายมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน


ป้ายแสดงพิกโตแกรมของประเภทกีฬาในการแข่งขันโอลิมปิกค.ศ.1964 ที่ประเทศญี่ปุ่น
(ภาพ : © IOC / Kishimoto)

สำหรับการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเลื่อนจากกำหนดเดิมคือวันที่ 24 กรกฎาคม-9 สิงหาคม ค.ศ. 2020 เป็นวันที่ 23 กรกฎาคม-8 สิงหาคม ค.ศ. 2021 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทีมดีไซเนอร์นำโดย มาซาอากิ ฮิโรมูระ (Masaaki Hiromura) ได้ออกแบบ พิกโตแกรม โดยได้รับแรงบันดาลใจจากชุดพิกโตแกรมเมื่อปี ค.ศ.1964 เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูการออกแบบของบรมครูดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นในครั้งนั้นที่ทรงอิทธิพลต่อวงการกราฟิกดีไซน์ทั่วโลกในเวลาต่อมา

พิกโตแกรมสำหรับการแข่งขันโอลิมปิก 2020
การออกแบบยังคงเน้นเส้นสายที่เรียบง่ายแต่มีมิติมากขึ้นด้วยการเน้นที่การเคลื่อนไหวร่างกายของนักกีฬาที่บ่งชี้เอกลักษณ์ของกีฬาประเภทต่าง ๆ 

“ผมพยายามสื่อให้เห็นถึงความสวยงามของการเคลื่อนไหวร่างกายและพละกำลังของนักกีฬาในแต่ละชนิดกีฬาผ่านชุดพิกโตแกรม ในขณะเดียวกันการออกแบบครั้งนี้เพื่อเป็นการเชิดชูดีไซเนอร์รุ่นบุกเบิกผู้สร้างสรรค์ผลงานในโตเกียวโอลิมปิก 1964 จนกลายเป็นตำนานของวงการดีไซเนอร์ ทางทีมดีไซเนอร์เราใช้เวลากว่า 2 ปีในการออกแบบพิกโตแกรมชุดนี้และหวังว่าจะช่วยสร้างสีสันให้แก่โตเกียวโอลิมปิก 2020” มาซาอากิ ฮิโรมูระ กล่าว

มาซาอากิ ฮิโรมูระ

ทางทีมดีไซเนอร์ได้ออกแบบชุดพิกโตแกรมจำนวน 50 ภาพเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของ 33 ประเภทกีฬาที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ (บางประเภทกีฬามีมากกว่า 1 ภาพ เช่น จักรยานและขี่ม้า) โดยมี 5 ชนิดกีฬาใหม่ที่ถูกบรรจุเพิ่มเข้ามาได้แก่ เบสบอล/ซอฟต์บอล คาราเต้ สเกตบอร์ด ปีนหน้าผา และกระดานโต้คลื่น

พิกโตแกรมแบบ Frame Type

พิกโตแกรม แบ่งเป็น 2 เซตคือแบบไม่มีกรอบที่เรียกว่า Free Type ซึ่งเหมาะกับการใช้งานในการออกแบบโปสเตอร์ ตั๋วและสินค้าที่ได้รับลิขสิทธิ์ ส่วนอีกแบบคือพิกโตแกรมอยู่ในกรอบเรียกว่า Frame Type ที่เหมาะกับการใช้ในแผนที่ หนังสือแนะนำการท่องเที่ยว และป้ายสัญลักษณ์ในสนามแข่งขันโดยพื้นหลังส่วนใหญ่เป็นสีน้ำเงิน (indigo blue) ซึ่งเป็นสีหลักของการแข่งขันครั้งนี้ หรือจะใช้พื้นหลังเป็น 5 เฉดสีรองซึ่งเป็นเฉดสีที่นิยมใช้ในงานศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่นได้แก่ kurenai (สีแดงเข้ม) ai (ฟ้าน้ำทะเล) sakura (ชมพูอมส้ม) fuji (ม่วง) และ matsuba (เขียวเข้ม)

พิกโตแกรมสำหรับการแข่งขันพาราลิมปิก 2020
นอกจาก พิกโตแกรม สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกแล้ว ทางทีมดีไซเนอร์ยังได้ออกแบบชุดพิกโตแกรมสำหรับการแข่งขันพาราลิมปิก 2020 สำหรับนักกีฬาผู้พิการจากทั่วโลกซึ่งจะจัดขึ้นหลังจบการแข่งขันโอลิมปิกคือระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม-5 กันยายน ค.ศ. 2021 


ชุดพิกโตแกรมสำหรับการแข่งขันพาราลิมปิก 2020 มีทั้งหมด 23 ภาพสำหรับ 22 ประเภทกีฬาที่ใช้ในการแข่งขันโดยในครั้งนี้ได้เพิ่ม 2 ชนิดกีฬาเข้ามาเป็นครั้งแรก คือ แบดมินตัน และเทควันโด ในส่วนการดีไซน์นั้นยังเน้นรูปทรงที่เรียบง่ายและมีมิติการเคลื่อนไหวร่างกายของนักกีฬาประเภทต่าง ๆ

เครดิตภาพ : ©Tokyo 2020

อ้างอิง

olympics.com/tokyo-2020/en/news/tokyo-2020-unveils-olympic-games-sport-pictograms
www.olympic-museum.de/pictograms/olympic-games-pictograms-1964.php

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook