เคลียร์ใจอย่างไร เมื่อมีปัญหากับ “เพื่อนร่วมงาน”

เคลียร์ใจอย่างไร เมื่อมีปัญหากับ “เพื่อนร่วมงาน”

เคลียร์ใจอย่างไร เมื่อมีปัญหากับ “เพื่อนร่วมงาน”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นเรื่องที่ปกติมาก ๆ ในการทำงาน ที่เราจะมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันกับผู้อื่น ถึงกระนั้น ปัญหาส่วนใหญ่สามารถเคลียร์กันจบได้ในห้องประชุม เมื่อออกมาก็สามารถทำงานได้ต่อทันที แต่ก็มีอยู่หลายครั้งเหมือนกันที่ปัญหามันไม่ได้จบง่ายขนาดนั้น คนที่มีความเห็นไม่ตรงกันในห้องประชุมยังออกมาบึ้งตึงใส่กันข้างนอก ยิ่งนานวันจากปัญหาของคนสองคน ก็อาจกลายเป็นของคนสองกลุ่มขึ้นมา จนเป็นสัญญาณที่ส่อเค้าว่าจะเกิดปัญหาใหญ่ในอนาคตอันใกล้

ก่อนที่ทุกอย่างจะบานปลาย สิ่งที่ผู้ใหญ่เขาทำกัน คือ หันหน้ามาคุยกันแล้วเคลียร์ใจให้จบ เพื่อที่บรรยากาศในการทำงานจะได้ดีขึ้น ตราบใดที่ยังต้องทำงานร่วมกัน และมีความตั้งใจเดียวกันที่จะทำงานให้ออกมาดีที่สุด การแก้ปัญหาจึงเป็นประโยชน์กว่า พอเคลียร์จบก็เริ่มต้นกันใหม่ อย่ามัวแต่ดึงดราม่าใส่กัน หรือเอาแต่หลบหน้าหนีปัญหา บรรยากาศการทำงานจะแย่ลงเปล่า ๆ และในที่สุดความสัมพันธ์ก็แย่จนต่อกันไม่ติด

ขนาดพี่น้องกันยังทะเลาะกันได้ นับประสาอะไรกับคนอื่นที่ทำงานอยู่ที่เดียวกันแล้วจะไม่ทะเลาะกัน มาดูกันว่าเราจะจัดการกับปัญหาความสัมพันธ์อันเปราะบางนี้อย่างไร จะได้ไม่เป็นปัญหากับงานที่ต้องทำร่วมกัน

หาสาเหตุที่ทำให้ผิดใจกัน
อันดับแรกก็ต้องรู้ก่อนถูกไหมว่าอะไรที่เป็นปัญหา ไม่อย่างนั้นจะแก้ได้อย่างไร ก่อนจะเปิดใจเคลียร์กับใคร ก็ต้องรู้ก่อนว่าทะเลาะกันเพราะอะไร ผิดใจกันเพราะอะไร เขาไม่พอใจอะไรเรา เรื่องส่วนตัวล้วน ๆ หรือเรื่องงานแล้วลามไปเรื่องส่วนตัว เพราะการเคลียร์จะไม่เหมือนกัน การพูดคุยกันตรง ๆ ว่าอะไรที่เป็นปัญหา คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยกู้สถานการณ์เลวร้ายให้ดีขึ้นได้ อาจจะไม่ต้องถึงขั้นรักใคร่กลมเกลียว แต่จะต้องทำงานด้วยกันได้โดยไม่มีปัญหาใด ๆ

พึ่งคนกลาง
ต่อให้เลือกที่จะเผชิญหน้ากันแบบแมน ๆ แต่คนที่ทะเลาะกันสองคนอาจจะเข้าหน้ากันยากสักหน่อย ฉะนั้น ส่วนใหญ่จึงมักจะพึ่งคนกลางในการสมานรอยร้าว การมีบุคคลที่สามมาคอยเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย ช่วยให้หาทางออกร่วมกันง่ายขึ้น เป็นคนกลางที่ทั้งสองฝ่ายสบายเวลาที่คุยด้วย หรือเกรงใจ คนกลางจะทำให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดีโดยรู้สึกว่าไม่ต้องเผชิญหน้ากันเอง เป็นไปอย่างยุติธรรม และอาจจะสบายใจขึ้นหน่อย ตรงที่เราไม่ต้องคิดวิธีเริ่มต้นเอง

ผิดก็ขอโทษไม่เห็นยาก
ถ้าคุยไปคุยมาแล้วพบว่าฉันนี่แหละที่เป็นคนผิด ก็แค่พูดคำว่าขอโทษเท่านั้นเอง ไม่ยากอะไรเลย ไม่ต้องถือทิฐิ ถือยศตำแหน่ง หรือถืออายุที่สูงกว่าให้ค้ำคอ จนอ้าปากพูดคำว่าขอโทษออกมาไม่ได้ การเป็นคนผิดและเอ่ยปากว่าขอโทษมันไม่ทำให้เสียศักดิ์ศรีมากนักหรอก แต่เป็นการรับผิดชอบต่างหาก ขอโทษคำเดียวก็ช่วยให้สถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้นเยอะ ปัญหาทุกอย่างจบอย่างรวดเร็ว แล้วก็อย่าผิดซ้ำผิดซาก จะได้สบายใจที่จะทำงานร่วมกันต่อไป

ให้โอกาสกัน
คนที่ผิดแล้วรู้ตัวว่าผิด เราก็ควรให้โอกาสเขาได้ขอโทษและปรับปรุงส่วนที่ยังบกพร่อง โดยไม่ซ้ำเติมในความผิดพลาด หรือประชดประชันให้ทุกอย่างมันแย่กว่าเดิม ไม่เช่นนั้นมันก็เป็นการสร้างความแตกแยก หรือสร้างบาดแผลในใจกันไปไม่รู้จบ เรื่องผ่านไปแล้ว ขอโทษแล้วก็ลืม ๆ ไปบ้าง เพื่อรักษาความสัมพันธ์และการทำงานที่ต้องทำร่วมกัน ฟังให้มากกว่าพูด หัดทำความเข้าใจคนอื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วเราจะรู้ว่าการให้โอกาสมันไม่ได้ยากจนเกินไป

คุยกันต่อหน้าดีที่สุด
บางคนรู้สึกว่าการเผชิญหน้าเป็นเรื่องน่ากลัวและยากเย็นสุด ๆ ไม่กล้าสู้หน้าบ้าง กลัวปรี๊ดแตกบ้าง แต่การคุยต่อหน้าคือการสื่อสารที่ดีที่สุด เพราะอีกฝ่ายจะเห็นความจริงใจและความรู้สึกผิดอย่างตรงไปตรงมา ต่างจากการคุยกันผ่านตัวหนังสือที่ไม่ได้รับรู้น้ำเสียงและสีหน้าของกันและกัน ทำให้คำพูดธรรมดาอาจถูกตีความไปในทางที่ไม่ดี และเข้าใจผิดกัน ทั้งนี้ต้องเลือกใช้คำให้ดี คิดเยอะ ๆ ก่อนพูด เราอาจพูดไม่คิดหรือคิดน้อย แต่คนฟังคิดมากและเสียน้ำใจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook