เบื้องหน้าของชายผู้อยู่เบื้องหลัง พระฉายาลักษณ์ “เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร”

เบื้องหน้าของชายผู้อยู่เบื้องหลัง พระฉายาลักษณ์ “เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร”

เบื้องหน้าของชายผู้อยู่เบื้องหลัง พระฉายาลักษณ์ “เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาพถ่ายทุกภาพมีเรื่องราวเหนือกว่าที่ดวงตาสัมผัสเห็น โดยเฉพาะภาพถ่ายบุคคลที่นอกจากจะสะท้อนบุคลิกภายนอกของต้นแบบแล้ว สีหน้า แววตาของบุคคลในภาพ ยังเปล่งเสียงบอกความรู้สึกนึกคิดจากภาพถ่ายสู่สายตาของผู้พบเห็นได้เป็นอย่างดี

สำหรับนักเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายอย่างคุณนิติกร กรัยวิเชียร หนึ่งในช่างภาพระดับแถวหน้าของเมืองไทย ที่มีความเชี่ยวชาญในการถ่ายภาพบุคคลหรือภาพถ่าย Portrait เขากลับเป็นช่างภาพที่ได้รับโอกาสอันสูงสุดแห่งชีวิต นั่นคือการได้เป็น “ช่างภาพประจำพระองค์” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้กับเขาเป็นอย่างยิ่ง

ความทรงจำ สู่ความฝันที่กลายเป็นจริง

ในสมัยที่คุณนิติกรเป็นนักเรียนอยู่โรงเรียนจิตรลดา ได้มีโอกาสฉายพระรูปสมเด็จพระเทพฯ เป็นครั้งแรก หากแต่ครั้งนั้นเป็นเพียงการฉายพระรูปขณะเสด็จพระราชดำเนินในฐานะศิษย์เก่าของโรงเรียน พระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเทพฯ จึงเป็นพระฉายาลักษณ์ขณะทรงประกอบพระราชกรณียกิจ หากแต่การฉายพระรูปในวันนั้นกลับอยู่ในความทรงจำของช่างภาพตัวน้อยนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ระยะเวลาผ่านไปกว่า 10 ปีเมื่อคุณนิติกรสำเร็จการศึกษาด้านการถ่ายภาพ และเดินทางกลับจากต่างประเทศใหม่ๆ เกิดมีความคิดอยากถ่ายภาพบุคคลซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เพื่อรวบรวมไว้จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายบุคคลตามที่ตัวเองปรารถนา และหนึ่งในบุคคลสำคัญระดับประเทศที่คุณนิติกรใฝ่ฝันว่า หากมีโอกาสได้ถ่ายภาพจะถือว่าบรรลุความฝันอันสูงสุดนั่นคือ การได้ฉายพระรูปสมเด็จพระเทพฯ

“หลังเรียนจบมาใหม่ๆ ผมมีโอกาสถ่ายภาพหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ หรือท่านจักร ซึ่งตอนนั้นดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี และท่านโปรดมาก ท่านรับสั่งว่าน่าจะฉายพระรูปสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่พระองค์ทรงพระสิริโฉม ตอนนั้นผมคิดว่าถ้าได้ถวายงานสมเด็จพระเทพฯ จริงๆ ถือว่าเป็นบุญของผมมาก จากนั้นท่านจักรก็รับปากว่าจะกราบบังคมทูลขอพระราชานุญาตให้”

และภายในปีเดียวกันนั้นเองคุณนิติกรได้รับพระราชทานพระราชวโรกาส เข้าไปฉายพระรูปสมเด็จพระเทพฯ เป็นครั้งแรก พระฉายาลักษณ์นั้นเป็นที่คุ้นตาของคนทั่วไป นั่นคือพระฉายาลักษณ์ขณะทรงประทับอยู่ ณ เรือนต้น หรือเรือนไทยภายในพระราชวังสวนจิตรลดา และในโอกาสนั้นคุณนิติกรก็ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระวโรกาสฉายพระรูปสมเด็จพระเทพฯ ปีละครั้ง ซึ่งพระองค์ทรงพระราชทานอนุญาต

พิถีพิถัน “ข้างหลังภาพ”

การฉายพระรูปสมเด็จพระเทพฯ แต่ละครั้ง ถือเป็นงานสำคัญยิ่งสำหรับคุณนิติกร ที่นอกจากการวางคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนในการฉายพระรูปแต่ละครั้งแล้ว จะต้องมีการเตรียมความพร้อมอย่างถูกต้องและเหมาะสม
“การฉายพระรูปแต่ละครั้ง มีความแตกต่างกันทุกครั้งตั้งแต่เรื่องของแสง สถานที่ ฉาก ฉลองพระองค์ เนื่องจากเราต้องการความหลากหลาย เพราะมีคนต้องการพระฉายาลักษณ์ของท่านเป็นจำนวนมาก”

“ขั้นตอนการทำงานต้องศึกษาทุกรายละเอียด เริ่มต้นจากการวางคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน หาสถานที่ๆ เหมาะสม หากฉลองพระองค์เต็มยศ จะต้องมีผู้ที่มีความรู้เรื่องฉลองพระองค์ เครื่องพระราชอิสริยยศ ซึ่งแต่ละครั้งเจ้าหน้าที่ของพระบรมมหาราชวังจะมาจัดการ และดูแลรายละเอียดต่างๆ ให้ถูกต้องตามหลักโบราณราชประเพณี”

“เมื่อเลือกสถานที่ได้แล้ว วันต่อไปเราจะลองไปถ่ายจริง มีการวางตำแหน่งทุกอย่างเหมือนวันจริง จัดไฟ อุปกรณ์ต่างๆ จนพอใจ ขณะนั้นจะมีผู้แทนมายืนในตำแหน่งที่กำหนดไว้เพื่อดูแสง เงา องค์ประกอบภาพ และต้องมีการไหว้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสมเด็จพระบูรพมหากษัตราธิราชเจ้า ว่าเรามาทำงานนี้เพื่อบ้านเมือง ไม่ได้ลบหลู่”

หลังจากจัดวางทุกรายละเอียดเรียบร้อยแล้ว จะไม่มีการขยับสับเปลี่ยนใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อถึงวันฉายพระรูป สมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จพระราชดำเนินมาประทับในตำแหน่งที่เตรียมไว้ ซึ่งคุณนิติกรใช้เวลาฉายพระรูปแต่ละครั้งประมาณ 2-3 นาทีเท่านั้น

เมื่อการฉายพระรูปเสร็จสิ้นลง คุณนิติกรจะเป็นผู้คัดเลือกภาพที่ตนเองคิดว่าดีที่สุด ก่อนทูลเกล้าถวาย “แต่ละครั้งผมจะฉายพระรูปเป็นจำนวนมาก ตอนคัดเลือกพระรูปก็คิดว่าในขณะนั้นเราคัดเลือกพระรูปที่ดีที่สุดไว้แล้ว แต่เมื่อกลับมาค้นๆ ดู กลับพบว่ามีพระรูปดีๆ ที่สวยงาม และคิดเสียดายว่าทำไมผมไม่เลือกพระรูปนั้น ปีนี้จึงจะมีพระรูปที่คนทั่วไปอาจไม่เคยเห็น และจะจัดพิมพ์ลงในนิตยสาร 2-3 ฉบับ ซึ่งหาซื้อได้ภายในเดือนนี้”

“พระรูปที่ไม่เคยได้ใช้ก็มีเหลือ ซึ่งในตอนนั้นผมอาจจะละเลยไป แต่ในความเป็นจริงเมื่อเวลาผ่านไป ภาพทุกภาพก็มีคุณค่าในตัวเอง”

พระฉายาลักษณ์ อันทรงคุณค่า

ในทุกๆ ปีคุณนิติกรจึงมีโอกาสถวายงานสมเด็จพระเทพฯ โดยเฉพาะในปี 2534 ซึ่งขณะนั้นสมเด็จพระเทพฯ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ และนับเป็นพระฉายาลักษณ์ขณะทรงฉลองพระองค์เต็มยศครั้งแรก ซึ่งพระฉายาลักษณ์นั้นทรงพระราชทานไปในหลายโอกาส และล่าสุดกับการนำมาเป็นภาพบนตราไปรษณียากรที่ระลึกชุด 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

“ในปีนั้นผมฉายพระรูปสมเด็จพระเทพฯ หลายชุด มีชุดหนึ่งที่ต้องการใช้พระฉายาลักษณ์แบบเป็นทางการ จึงออกมาเป็นพระฉายาลักษณ์ขณะทรงประทับยืนอยู่เบื้องหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงถึงความเป็นขัตติยะนารีสืบราชสันตติวงศ์แห่งราชวงศ์จักรี ในฉลองพระองค์ชุดไทยจักรีสีม่วงอันเป็นสีประจำพระองค์ ทรงเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งสยามมกุฎราชกุมารี ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง นอกจากนั้นก็ยังมีพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเทพฯ ในฉลองพระองค์ และสถานที่อื่นๆ อีกจำนวนมาก”

สำหรับการฉายพระรูปสมเด็จพระเทพฯ ครั้งล่าสุดคือเมื่อประมาณกลางปี 2557 ทางสภากาชาดไทยติดต่อให้คุณนิติกรฉายพระรูปสมเด็จพระเทพฯ ในฉลองพระองค์องค์อุปนายิกาสภากาชาดไทย ขณะที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในการประชุมกรรมการสภากาชาดไทย ซึ่งถูกนำมาเป็นภาพบนตราไปรษณียากรที่ระลึกงานกาชาดประจำปีนี้อีกเช่นกัน

ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่คุณนิติกรได้มีโอกาสถวายงานสมเด็จพระเทพฯ นอกจากจะเป็นหน้าที่อันมีเกียรติแล้ว เชื่อแน่ว่าหากใครที่ได้ไปยืนอยู่ในจุดเดียวกับคุณนิติกร ก็คงมีความรู้สึกไม่แตกต่างกัน

“ทุกๆ ครั้งที่ได้รับพระราชทานพระวโรกาสฉายพระรูปสมเด็จพระเทพฯ ผมรู้สึกภูมิใจอย่างหาที่สุดมิได้”

เมื่อภาพถ่ายสะท้อนเรื่องราวได้เทียบเคียงกับอักขระอักษร บทบาทของช่างภาพคงไม่ห่างไกลไปจากบทบาทของนักเล่าเรื่อง หรือนักเขียน หากแต่ “พระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเทพฯ” ที่บุคคลทั่วไปพบเห็น นอกจากจะสะท้อนพระบารมีในองค์สมเด็จพระเทพฯ แล้ว ประชาชนทุกคนยังรับรู้ได้ว่าสมเด็จพระเทพฯ ทรงเป็น “เจ้าหญิงในดวงใจ” สำหรับคนไทยอย่างแท้จริง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook