จริงหรือไม่? ที่ว่ากันว่า “เนื้อคู่” จะหน้าตาคล้ายกัน

จริงหรือไม่? ที่ว่ากันว่า “เนื้อคู่” จะหน้าตาคล้ายกัน

จริงหรือไม่? ที่ว่ากันว่า “เนื้อคู่” จะหน้าตาคล้ายกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนมีคู่ทั้งหลายน่าจะเข้าใจดี และสัมผัสได้ว่าตัวเรากับคนคู่รักของเรานั้น นับวัน “หน้าตา” ยิ่งดูคล้ายกันมากขึ้นทุกที ก็อย่างที่โบราณเขาว่า “เนื้อคู่” จะหน้าตาคล้ายกับเรานั่นเอง ซึ่งนี่จะเป็นพรหมลิขิต หรือเป็นบุพเพสันนิวาสหรือไม่นั้นไม่อาจพิสูจน์ แต่สิ่งที่พิสูจน์และอธิบายได้คือ วิทยาศาสตร์ (อีกเช่นเคย) ว่าทำไมเรากับแฟนของเรานั้นถึงได้หน้าตาคล้ายกัน แล้วแบบนี้เขาคนนั้นคือเนื้อคู่ของเราหรือเปล่าล่ะ?

ในปี 2016 Olivia Brunner คือคนหนึ่งที่สงสัยมากว่าทำไมเธอกับแฟนของเธอนั้นถึงได้หน้าตาเหมือนกันอย่างกับพี่น้อง ไล่ตั้งแต่สีผม ผิวพรรณ ไม่เว้นแม้แต่การแสดงออกทางสีหน้า เธอและแฟนของเธอดูคล้ายกันมากจนถึงขั้นที่ว่าเธอต้องจูงมือแฟนตัวเองไปตรวจ DNA เพื่อพิสูจน์ว่าเธอกับแฟนมีความสัมพันธ์ทางสายเลือด เป็นพี่น้องที่พลัดพรากจากกันไปนานอะไรแบบนั้นหรือเปล่า

ผล DNA ที่ออกมา ยืนยันว่าเขาทั้งคู่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกัน แต่ทำไมถึงได้เหมือนกันมากขนาดนั้น พวกเขาก็ยังนึกขำ ๆ ว่าหากแต่งงานกันไปแล้วมีลูกด้วยกัน ลูกของพวกเขาจะเหมือนพวกเขาชนิดที่ว่าคัดลอกวางเลยหรือไม่

เหตุผลหลัก ๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษาและเก็บข้อมูล ระบุถึงปัจจัยที่ทำให้คู่รักหน้าตาคล้ายกัน ได้ดังนี้

เราชอบคนที่หน้าตาเหมือนตัวเอง
ข้อสังเกตนี้ อาจทำให้ใครหลายคนเถียงทันควันว่า “ไม่น่าจะใช่นะ เพราะฉันก็ไม่ได้ชอบหน้าตาตัวเองขนาดนั้น” แต่หลักฐานทางจิตวิทยาอธิบายว่า คนเราคุ้นเคยกับหน้าตาของตัวเองมาตั้งแต่เด็ก (ส่องกระจกก็เห็นหน้าตัวเองทุกวัน) การที่เราเลือกคู่รักที่หน้าตาคล้ายกับตัวเราเอง ก็เพราะเขาทำให้เรารู้สึกไว้ใจ สบายใจ ราวกับเราว่าได้อยู่กับตัวเองอีกคน การเห็นใครบางคนที่คล้ายกับตัวเรา ทำให้เรารู้สึกสบายใจได้ในระดับหนึ่งและทำให้มีความสุขได้

Justin Lehmiller นักจิตวิทยาสังคมชาวอินเดียแนโพลิสจากสถาบันคินซีย์ อธิบายว่าผู้คนมักจะเข้าหาคนที่รู้สึกคุ้นเคย ซึ่งน่าจะมาจากจิตใต้สำนึกที่เชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ตามธรรมชาติ หรือลักษณะบางอย่างที่ทำให้รู้สึกว่าเข้ากันได้ดี และสิ่งที่เราคุ้นเคย ก็มักจะเป็นสิ่งที่เราชอบ ลักษณะนี้อาจถูกมองว่าเป็นการปลอบโยน เราจึงมีโอกาสถูกดึงดูดได้ง่ายจากคนที่หน้าตาคล้ายกับเราอยู่แล้ว

ภาพจาก NBC News

การศึกษาในปี 2013 พบว่าเป็นเรื่องจริง การศึกษานั้น ได้ทดลองให้ผู้คนได้จำลองภาพใบหน้าของคนที่คิดว่าอยากได้เป็นคนรัก ภาพจำลองนั้นถูกสร้างขึ้นแบบดิจิทัล เพื่อรวมเอาลักษณะบางอย่างจากใบหน้าอื่นมาไว้ด้วยกัน ผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งชายและหญิง ประกอบภาพจำลองนั้นออกมาคล้ายกับตัวเอง

Tony Little นักวิจัยด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ในอังกฤษ ก็ให้ความเห็นว่าการที่คู่รักหน้าตาคล้ายกันมากนั้น มันมีสาเหตุทางจิตวิทยาก็คือ เรามีโอกาสที่จะถูกดึงดูดจากคนที่หน้าตาคล้ายเราอยู่แล้ว! แต่ความคล้ายคลึงกันที่ว่านี้ อาจดึงดูดเราให้เข้าหาใครบางคนในครั้งแรก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อคบกันไปแล้ว เราจะมีความสัมพันธ์ที่มีความสุข

การศึกษานักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออนตาริโอ ศึกษาการเลือกคู่ของคนที่เป็นฝาแฝดกัน พบว่าคู่แฝดที่เข้าร่วมการศึกษา ไม่เพียงแต่เลือกคู่ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันเท่านั้น ยังพบว่าคู่สมรสของแฝดเหมือนเหมือนกันมากกว่าคู่สมรสขอแฝดไม่เหมือนด้วย

อีกสมมติฐาน นักจิตวิทยาอ้างถึงทฤษฎี “Assortative Mating” ว่าการเลือกคู่ครองที่มีหน้าตาคล้ายคลึงกับตัวเอง เป็นไปตามสัญชาตญาณของมนุษย์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เผ่าพันธุ์หรือความเป็นเราดำรงอยู่ต่อไป นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการเลือกคู่ครองที่หน้าตาคล้ายกันของมนุษย์ เป็นวิธีที่บุคคลพยายามส่งต่อพันธุกรรมของตนเองไปยังคนรุ่นต่อไปให้ได้มากที่สุด พูดง่าย ๆ ก็คือ ในอนาคตเราอยากให้มีคนหน้าเหมือนตัวเองยังคงอยู่บนโลก ลองคิดดูสิ ว่าถ้าเรากับแฟนที่หน้าตาคล้ายกันอยู่แล้วมีลูกด้วยกัน โอกาสที่ลูกจะดูเหมือนเราทั้งคู่แบบคัดลอกวางจะมากขนาดไหน

เราชอบคนที่หน้าตาคล้ายกับพ่อแม่
นอกจากเราจะรู้สึกอบอุ่นเพราะเหมือนอยู่กับตัวเองอีกคนแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังยืนยันอีกว่า เราไม่ได้เลือกคู่ครองที่แค่หน้าตาเหมือนเราเพียงอย่างเดียว แต่มีโอกาสที่จะเลือกคนรักที่หน้าตาคล้ายกับพ่อและแม่ของตัวเองด้วย หากเป็นผู้ชาย ก็มีแนวโน้มที่จะชอบผู้หญิงที่คล้ายกับแม่ของตนเอง เช่นเดียวกัน ผู้หญิงก็มีแนวโน้มจะชอบผู้ชายที่คล้ายกับพ่อตนเองเหมือนกัน

เนื่องจากรูปลักษณ์ของเรา ก็ถูกถ่ายทอดทางพันธุกรรมมาจากพ่อและแม่ของเราอยู่แล้ว การที่เราจะหน้าตาเหมือนพ่อและ/หรือแม่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก พอเป็นการเลือกแฟน ก็มีโอกาสที่จะเลือกคนที่หน้าคล้ายกับพ่อแม่ (และคล้ายตัวเราด้วย เพราะเราก็เหมือนพ่อแม่) อาจมาจากความรู้สึกผูกพัน รู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ด้วยกัน เหมือนว่าได้รับการปกป้องคุ้มครอง อยู่ด้วยแล้วรู้สึกอบอุ่นหัวใจ เหมือนเวลาที่อยู่กับพ่อแม่

จากข้อสังเกต จะเห็นว่า ไม่ว่าเราจะเลือกแฟนคนนี้เพราะเขาหน้าตาคล้ายกับเรา หรือเลือกเพราะว่าเขาหน้าตาคล้ายกับพ่อหรือแม่เรา เหตุผลในการเลือกมันมาจากตัวเราเอง โดยที่เราก็อาจไม่รู้ตัว เพราะมันเป็นสิ่งที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา และอีกอย่างก็เชื่อไปแล้วว่าเขาคือเนื้อคู่ที่โชคชะตาส่งมา ฉะนั้นแล้ว แฟนของเราอาจไม่ใช่คนที่สวรรค์ส่งมาให้รักกัน แต่เราและเขาเป็นแฟนกัน เพราะเรา (และเขา) เลือกด้วยจิตใต้สำนึกของตนเองต่างหาก

เพราะคู่รักแสดงอารมณ์เหมือนกัน
คู่รักบางคู่ที่ใช้เวลาอยู่ร่วมกันกันบ่อย สามารถซึมซับพฤติกรรมบางอย่างของกันและกันได้ เช่น การยิ้มหรือหัวเราะ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของกล้ามเนื้อบนใบหน้า ที่ทำให้คุณและแฟนมีริ้วรอยในจุดเดียวกัน ข้อสังเกตนี้ นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานที่ว่า การแบ่งปันประสบการณ์ของคู่รัก อาจส่งผลต่อรูปลักษณ์ของคู่รักด้วยเช่นกัน ทฤษฎีนี้ยังคงถูกอ้างถึงในปัจจุบัน โดยนักวิทยาศาสตร์รุ่นต่อ ๆ มา

ในปี 1987 Robert Zanjonc นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกันจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้ศึกษาปรากฏการณ์ของคู่แต่งงานที่มีลักษณะเหมือนกันมากขึ้นเมื่อกาลเวลาผ่านไป เขากล่าวว่ายิ่งคู่รักมีความสุขกับชีวิตแต่งงานมากเท่าไร หน้าตาของทั้งสองก็จะคล้ายกันมากขึ้นด้วย

ภาพจาก Brightside

เขาศึกษาสมมติฐานนี้โดยการเปรียบเทียบรูปถ่ายของคู่รักในวันแต่งงาน กับภาพที่ถ่ายในอีก 25 ปีต่อมา เขาพบว่าแม้สามีและภรรยาจะไม่มีใบหน้าที่คล้ายกันเลยสักนิดในวันแต่งงาน แต่ในอีก 25 ปีต่อมาพวกเขากลับดูเหมือนกันอย่างน่าประหลาดใจ

การศึกษานี้ได้อ้างถึงความสัมพันธ์ของคู่รักที่เข้ากันได้ดี ว่ามักจะสะท้อนนิสัยและภาษากายของกันและกัน แสดงให้เห็นว่าพวกเขาสบายใจ และไว้ใจในความสัมพันธ์นี้ นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าคู่แต่งงานมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนนิสัยของตนเองไปโดยไม่รู้ตัวตลอดชีวิตแต่งงาน เช่น หากมีใครคนใดคนหนึ่งพยายามเลิกบุหรี่ หรือเริ่มที่จะดูแลสุขภาพ อีกคนก็มักจะทำเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม การที่เราเลือกที่จะสานสัมพันธ์กับใครสักคนที่หน้าตาคล้ายคลึงกับเราก็ไม่ใช่ว่าจะดีเสมอไป ส่วนหนึ่งมาจากการที่เราทึกทักเอาเองว่าคนที่หน้าตาเหมือนเรา ก็คือเนื้อคู่ของเราที่สวรรค์ส่งมา มันทำให้เราอยู่ในสภาวะ “ยึดติด” มากจนเกินไป เพราะในวันหนึ่งหากความสัมพันธ์จบลง มีการเลิกรา ก็มีโอกาสที่เราจะตัดใจได้ช้าลง และเจ็บปวดยาวนานขึ้น ด้วยเราเข้าใจว่าเราเสียคนที่เป็นเนื้อคู่ไป

ฉะนั้นแล้ว จะรักใครคบใคร อย่าไปยึดติดเรื่องที่ว่าคนคนนั้นจะหน้าเหมือนเราหรือไม่เหมือนเรา ไม่ต้องยึดติดกับคำว่าเนื้อคู่มากจนเกินไป ให้สนใจเพียงแค่เราและเขาเข้ากันได้ดีไหม และพร้อมจะดูแลซึ่งกันและกันตลอดไปหรือเปล่า เชื่อในความรู้สึกของตัวเอง ถ้าใจบอกว่าใช่ก็คือใช่ นี่สิถึงจะเรียกเนื้อคู่ คู่แท้ตัวจริง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook