DC SHOES : แบรนด์ที่ยืนหยัดเพื่อวงการสเก็ตบอร์ดทั่วโลกมากว่า 2 ทศวรรษ

DC SHOES : แบรนด์ที่ยืนหยัดเพื่อวงการสเก็ตบอร์ดทั่วโลกมากว่า 2 ทศวรรษ

DC SHOES : แบรนด์ที่ยืนหยัดเพื่อวงการสเก็ตบอร์ดทั่วโลกมากว่า 2 ทศวรรษ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

AC/DC ในที่นี้ไม่เกี่ยวกับไฟฟ้า แต่ว่าเป็นวงร็อครุ่นเก๋า คนทั่วไปต่างเรียกแนวดนตรีของพวกเขาว่าฮาร์ดร็อค แต่พวกเขาเรียกตัวเองว่า ROCK N ROLL

 
AC/DC คืออีกนิยามของคำว่า Rock n Roll มาตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมา เพลงของพวกเขาเคยดั่งกระหึ่มมาทุกที่ มีส่วนสำคัญในสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนหลายยุคสมัย ไม่ต่างจาก DC Shoes แบรนด์รองเท้าสเก็ตบอร์ดที่ก็เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ และผลักดันวงการสเก็ตบอร์ดมาอย่างยาวนานเช่นเดียวกัน

และเนื่องจากในปี 2020 นี้ Black in Black สุดยอดอัลบั้มอมตะของ AC/DC มีอายุครบ 40 ปีพอดิบพอดี DC Shoes จึงได้ออกคอลเลคชั่นสุดลิมิเต็ด จับมือกับ AC/DC เพื่อคารวะต่อตำนานวงร็อคที่ยังมีลมหายใจ

บทความนี้จึงเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของ DC Shoes นับตั้งแต่วันที่ถือกำเนิด จนถึงวันที่กลายเป็นเสาหลักของวงการสเก็ตบอร์ดทั่วโลก เพื่อให้เข้าใจในตัวตนของแบรนด์นี้มากขึ้น เรื่องราวทั้งหมดจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่ Main Stand

ใช้ความชอบเป็นที่ตั้ง
การจะกล่าวถึงจุดกำเนิดของ DC Shoes คงต้องเริ่มต้นเล่าจากเรื่องราวของผู้ชายสองคนอย่าง เดมอน เวย์ (Damon Way) และ เคน บล็อก (Ken Block) เนื่องจากถ้าไม่มีสองคนนี้ DC Shoes คงไม่มีวันถือกำเนิดขึ้นมา 

ย้อนกลับไปในช่วงต้นทศวรรษที่ 90 ดามอน กับ เคน เป็นเพียงเด็กหนุ่มธรรมดาจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งคู่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ได้บังเอิญมาเจอกันขณะที่ลงทะเบีนเรียนในวิทยาลัยชุมชนแห่งหนึ่ง และเนื่องจากมีความสนใจในการเล่นสเก็ตบอร์ดเหมือนกัน ทั้งคู่จึงสนิทสนมกันในเวลาอันรวดเร็ว 

Photo : Highsnobiety

ก่อนที่ทั้งคู่จะมาเจอกัน เคน มีแบรนด์เสื้อผ้าเล็ก ๆ เป็นของตัวเองอยู่แล้วในชื่อ Eightball ดังนั้นเขาจึงชักชวน เดมอน มาร่วมทุนด้วย เพื่อหวังจะผลักดันแบรนด์นี้ไปให้ไกลกว่าเดิม

นอกจาก เดมอน แล้ว เคน ยังได้หยิบยืมเงินจากพ่อตัวเองมาอีก 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเป็นค่าเช่าโกดังพื้นที่ 750 ตารางฟุตเพื่อเป็นทั้งสำนักงานและโรงงานผลิตเสื้อผ้าของ Eightball 

ซึ่ง เคน ก็ไม่ได้ทำให้คุณพ่อของเขาผิดหวัง เขาสามารถหาเงินมาใช้คืนได้ครบทุกบาททุกสตางค์ เนื่องจากลวดลายที่ เคน ร่วมกับทีมดีไซน์เนอร์ออกแบบนั้นค่อนข้างหวือหวาน่าสนใจ นอกจากนั้นด้วยความกว้างขวางของ ดามอน ในวงการสตรีทแฟชั่นท้องถิ่น เขาจึงสามารถหาร้านค้าจำนวนมากที่นำเสื้อผ้า Eightball ไปวางจำหน่ายได้ 

Photo : Vert Is Dead

อย่างไรก็ตามในปี 1993 แบรนด์ Eightball ก็ได้ปิดตัวลง โดยเหตุผลที่ เคน ให้ไว้คือ Eightball ได้รับความนิยมก็จริง แต่มันไม่สามารถไปไกลได้มากกว่านี้แล้ว ยอดขายมาถึงทางตัน นอกจากนั้นยังมีปัญหาลิขสิทธิ์ด้านชื่อแบรนด์กับแบรนด์อื่นๆ อีกด้วย ดังนั้นก่อนที่ทุกอย่างจะเริ่มแย่ ชิงปิดตัวก่อนเสียตั้งแต่วันนี้น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

ถึงแม้ Eightball จะปิดตัวลงไป แต่ทั้ง เคน เดมอน รวมถึงทีมงานอีกส่วนหนึ่งยังคงมีแพชชั่นที่แรงกล้าในการทำเสื้อผ้า ดังนั้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันพวกเขาจึงได้ทำการเปิดตัวแบรนด์เสื้อผ้าแบรนด์ใหม่ขึ้นมาภายใต้ชื่อ Droors Clothing

แนวคิดของ Droors Clothing ไม่มีอะไรซับซ้อน พวกเขาแค่ดึงสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด และมีแพชชั่นต่อมันมากที่สุดอย่างสเก็ตบอร์ด มาถ่ายทอดลงบนเสื้อผ้าเท่านั้น

Photo : skate newswire

"สำหรับนักสเก็ตบอร์ด พวกเขาแค่อยากใส่เสื้อผ้าที่สะท้อนถึงเรื่องราวบนถนนและบาดแผลของพวกเขาเท่านั้น" อลาย่า มัวร์ หนึ่งในทีมดีไซน์เนอร์ของ Droors Clothing กล่าว

Droors Clothing โดดเด่นนับตั้งแต่วันเปิดตัว เนื่องจากแคมเปญการทำโฆษณาของพวกเขาเป็นการหยิบยกเรื่องราวการโดนดูถูกเหยีดหยามของนักสเก็ตบอร์ดออกมาถ่ายทอดอย่างซื่อตรง ทำให้มันโดนใจเหล่านักสเก็ตบอร์ดเป็นอย่างมาก

"เราจ้างคนที่เข้าใจในวัฒนธรรมและมีความคิดสร้างสรรค์ ทุกคนสามารถปลดปล่อยตัวตนได้เต็มที่" เดมอน กล่าวถึงแนวทางในการสร้างสรรค์ Droors Clothing

Photo : Vert Is Dead

ในปี 1993 Droors Clothing ได้ออกไลน์สินค้ารองเท้าสเก็ตบอร์ดเป็นของตัวเองในชื่อ DC Shoes ซึ่งคำว่า DC นั้นย่อมาจาก Droors Clothing ไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่านี้ และแน่นอนว่ามันประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล รายได้ที่ได้จากการขายรองเท้ามากกว่าที่ขายเสื้อผ้าไปหลายเท่าตัว

จนในปี 1994 เคน กับ เดมอน ก็ลงความเห็นว่าจะเปลี่ยนมาขายรองเท้าสเก็ตบอร์ดเป็นสินค้าหลัก พวกเขาจึงเปลี่ยนชื่อแบรนด์จาก Droors Clothing มาเป็น DC Shoes อย่างเป็นทางการในปีเดียวกัน และหลังจากนั้นแบรนด์นี้ก็ยังคงเดินหน้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

Photo : WearTesters

ในปี 1996 DC Shoes มีรายได้มากกว่า 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งๆ ที่มีพนักงานเพียง 35 คน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในทุกปี ด้วยเหตุนี้ในปี 2004 Quicksilver ก็ได้ทุ่มเงินกว่า 87 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าซื้อกิจการของ DC Shoes แต่พวกเขาจะดูแลอยู่ภายนอกเท่านั้น เดมอน กับ เคน ยังคงเป็นหัวเรือใหญ่ที่กำหนดทิศทางต่างๆ อยู่ 

นี่คือเรื่องราวการกำเนิดของแบรนด์ DC Shoes อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากการเติบโตในเชิงธุรกิจแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้แบรนด์นี้ครองหัวใจชาวสเก็ตบอร์ดมาตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมาคือการที่ DC Shoes ยืนหยัดสนับสนุนวงการสเก็ตบอร์ดอย่างจริงจัง

แบรนด์สเก็ตบอร์ดเพื่อคนสเก็ตบอร์ด
หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่านอกจากที่ DC Shoes จะเป็นแบรนด์ขายสินค้าสเก็ตบอร์ดแล้ว พวกเขายังมีทีมสเก็ตบอร์ดเป็นของตัวเองอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีจำนวนหลายทีม กระจายอยู่ทั่วมุมโลก เพื่อให้วัฒนธรรมสเก็ตบอร์ดเข้าถึงผู้คนทุกหมู่เหล่า

เริ่มต้นในปี 2010 DC Shoes ได้ปล่อยคลิปวิดิโอชื่อ Skateboarding Is Forever โดยในวิดิโอดังกล่าวเป็นการนำเสนอให้ทุกคนได้รู้จักทีมนักสเก็ตบอร์ดสมัครเล่นภายใต้การสนับสนุนของ DC Shoes ก่อนที่หลังจากนั้นไม่กี่ปี หลายคนในวิดิโอดังกล่าวก็ได้เติบโตกลายมาเป็นนักสเก็ตบอร์ดอาชีพระดับโลก ตัวอย่างเช่น อีแวน สมิธ 

 

หลังจากวิดิโอชุดนี้เผยแพร่ออกไป DC Shoes ก็ได้ก่อตั้งทีมสเก็ตบอร์ดขึ้นมาอีกหลายทีมเช่น DC Shoes China, DC Shoes Spain, DC Shoes Norway, และ DC Shoes Australia เป็นต้น ก่อนที่ภายหลังบรรดาทีมย่อยจะถูกรวมเข้าด้วยกันกลายเป็นทีมระดับภูมิภาค เช่น DC Shoes Europe และ DC Shoes Asia Pacific

แน่นอนว่า DC Shoes ก็ได้ประโยชน์ในแง่ของการโปรโมตสินค้า สร้าง Brand Awarness จากการสร้างทีมนักสเก็ตบอร์ดจำนวนมากทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีนักสเก็ตบอร์ดจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ได้รับมอบโอกาสจาก DC Shoes จนเติบโตขึ้นเป็นนักสเก็ตบอร์ดระดับโลก เช่น อีแวน สมิธ, จอช คาลิส, แดนนี่ เวย์ เป็นต้น 

Photo : DC Shoes

อีกหนึ่งหลักฐานที่พิสูจน์ว่า DC Shoes คือผู้ยืนหยัดเพื่อวงการสเก็ตบอร์ดอย่างแท้จริงเกิดขึ้นในปี 2001 กับโครงการที่ชื่อ Artist Projects

Artist Projects คือโปรเจ็คที่นำเสนอเรื่องราวของศิลปินผู้เติบโตมาจากวัฒนธรรมการเล่นสเก็ตบอร์ด ถึงแม้พวกเขาจะไม่ใช่นักสเก็ตบอร์ดอาชีพ แต่ประสบการณ์ในสนามสเก็ตบอร์ดที่คลุกคลีมาตั้งแต่เด็กคือวัตถุดิบชั้นดีให้ศิลปินเหล่านี้สร้างสรรค์ผลงานจนมีชื่อเสียงโด่งดัง

Photo : Hypebeast

"ผมคิดว่าการเล่นสเก็ตบอร์ดกับศิลปะคือเรื่องเดียวกัน การเล่นสเก็ตบอร์ดคือหนึ่งในวิธีการหาความคิดสร้างสรรค์ที่ดีที่สุด" แอรอน โรส หนึ่งในศิลปินที่เข้าร่วมงานกล่าว

เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวทั้งหมดเท่านั้น แต่ก็น่าจะเพียงพอที่จะทำให้รับรู้ว่าตลอดช่วงเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา DC Shoes มีส่วนในการช่วยผลักดันวงการสเก็ตบอร์ดมากขนาดไหน

ทำต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
หลังจากที่หยุดพักไปหลายปี ในปี 2016 เดมอน เวย์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง DC Shoes ก็ได้กลับมานั่งแท่นเป็นหนึ่งในผู้บริหารของแบรนด์อีกครั้ง และถึงแม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน แต่เขาก็ยังคงยืนยันอุดมการณ์ในแบบเดิม

"บทบาทของผมคือการรักษาแบรนด์ให้ตรงกับแนวทางที่พวกเราสร้างมา" เดมอน กล่าวในปี 2016 

Photo : Hypebeast

นอกเหนือจากการผลิตสินค้าที่ยังคงไว้ซึ่งความเป็น DC Shoes แต่ก็สามารถปรับตัวเข้ากับยุคสมัยได้ทันแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ DC Shoes ไม่เปลี่ยนไปคือการสนับสนุนนักสเก็ตบอร์ด 

ถึงแม้ในตอนนี้พวกเขาจะมีนักสเก็ตบอร์ดระดับโลกที่อยู่ภายใต้สังกัดมากมายแล้วก็ตาม แต่พวกเขาก็ยังคงเฟ้นหานักสเก็ตบอร์ดดาวรุ่งฝีมือดี แต่ขาดโอกาสจากทั่วมุมโลกเหมือนเช่นที่ทำมาตลอด

Photo : DC Shoes

ทิอาโก้ เลโมส เด็กหนุ่มจากบราซิลและ จาคโค่ โอจาเนน เด็กหนุ่มจากนอร์เวย์ คือนักสเก็ตบอร์ดเลือดใหม่ ไฟแรง ฝีมือเยี่ยม ที่ได้รับมอบโอกาสจาก DC Shoes ให้สามารถมีโอกาสมีโชว์ลวดลาย เฉิดฉายในเวทีระดับโลกได้สำเร็จ

"การได้ทำสิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงพลังงานและแนวความคิดเหมือนที่ผมเริ่มต้นวันแรก ผมอยากเห็นเหลือเกินว่า DC Shoes จะก้าวสู่อนาคตอย่างไร" เดมอน เวย์ กล่าวทิ้งท้าย

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.complex.com/sneakers/2020/03/dc-evolution-of-kalis-ep-1
https://www.fundable.com/learn/startup-stories/dc-shoes
https://en.wikipedia.org/wiki/DC_Shoes
https://www.company-histories.com/DC-Shoes-Inc-Company-History.html
https://economictimes.indiatimes.com/magazines/panache/dc-shoes-was-built-on-debt-ken-block-borrowed-10k-from-parents-and-now-its-a-1-bn-business/articleshow/70492325.cms
https://www.highsnobiety.com/p/dc-shoes-documentary-part-one/
https://www.highsnobiety.com/p/dc-shoes-documentary-part-two/
https://www.highsnobiety.com/p/dc-shoes-documentary-part-three/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook