“รถจักรไอน้ำ” ตำนานที่ยังมีลมหายใจ และอดีตที่ต้องเดินหน้าไปให้ถึง

“รถจักรไอน้ำ” ตำนานที่ยังมีลมหายใจ และอดีตที่ต้องเดินหน้าไปให้ถึง

“รถจักรไอน้ำ” ตำนานที่ยังมีลมหายใจ และอดีตที่ต้องเดินหน้าไปให้ถึง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ในวันนี้ ความรุ่งโรจน์ของการรถไฟจะกลายเป็นแค่คำบอกเล่าจากคนเก่าคนแก่ แต่มันก็เป็นความทรงจำแสนหวานที่ช่วยหล่อเลี้ยงหัวใจ "คนรถไฟ" และมันคืออดีตที่พวกเขาตั้งใจจะเดินหน้าต่อไปให้ถึง “เราจะกลับมาเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยอีกครั้ง”

ย้อนกลับไปราวๆ 80 ปีก่อน ทันทีที่หัวรถจักรไอน้ำจอดเทียบชานชาลา ความคิดถึงของหลายชีวิตสิ้นสุดลง มันคือการรอคอยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหมาย ภาพที่พนักงานรถจักรจะได้เห็นผ่านช่องหน้าต่างเล็กๆ คือครอบครัวโผเข้าสวมกอดกันด้วยรอยยิ้มและน้ำตา

ในยุคที่ “จดหมาย” คือเครื่องมือเพียงอย่างเดียวที่ช่วยบรรเทาความคิดถึงระยะไกล การเฝ้ารอพบหน้าบุคคลอันเป็นที่รักริมรางรถไฟ มีความหมายเกินกว่าจินตนาการของผู้คนในยุคนี้ การพบปะและพลัดพรากของผู้คนยุคก่อน มีรถไฟและชานชาลาเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำ

แม้ชีวิตประจำวันของพนักงานรถจักรในยุคนั้น จะคุ้นเคยกับเปลวไฟร้อนจากเตาเผาและกลิ่นควัน แต่พวกเขาก็ยินดีกับหน้าที่นี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปได้โดยสะดวก เป้าหมายสูงสุดคือ ผู้โดยสารถึงที่หมายอย่างปลอดภัย

ทั้งหมดคือความรับผิดชอบที่แลกมาด้วยเนื้อตัวสกปรกมอมแมม “ทำงานกับรถจักร ไม่มีวันไหนที่มือสะอาด” นั่นเป็นคำกล่าวของอดีตพนักงานรถจักรวัย 71 ปี

คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินไปนัก หากจะบอกว่าหยาดเหงื่อแรงกายของพวกเขา เคยเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศชาติ

ในยุคนั้น รถไฟคือพาหนะที่มาพร้อมกับความศิวิไลซ์ มันเปลี่ยนป่าดงรกร้างให้กลายเป็นเส้นทางที่ผู้คนได้ใช้ประโยชน์ ผู้คนค่อยๆ กระจายกันออกไปตามเส้นทางที่รางรถไฟพาไปถึง

อาจกล่าวได้ว่า “รถไฟ” คือสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านจากสังคมศักดินาสู่ความเท่าเทียม อย่างน้อยๆ ภาพที่เห็นบนชานชาลา ณ เวลานั้น ก็ชวนให้เข้าใจได้ว่าทั้งผู้ลากมากดีและคนยากคนจนต่างก็มีสิทธิ์ได้ใช้บริการ

ความทรงจำที่ผู้คนในยุคก่อนมีต่อรถจักรไอน้ำ จึงไม่ใช่แค่พาหนะหรือตัวเลือกในการเดินทาง แต่มันคือชิ้นส่วนสำคัญทางประวัติศาสตร์ และเป็นการคมนาคมที่รับใช้ผู้คนทุกชนชั้นโดยไม่เลือกยากดีมีจน

ด้วยเหตุนี้เอง “รถจักรไอน้ำ” จึงเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยในเวลานั้น ถึงแม้มันจะเป็นเครื่องจักรที่ซับซ้อน ใช้ฟืนสร้างไฟ และแปลงไอน้ำให้กลายเป็นแรงดันมหาศาลในการขับเคลื่อน แต่ก็นับว่าเป็นการเดินทางที่สะดวกสบายที่สุดในช่วงเวลาของมัน

จนถึงวันที่รถจักรดีเซลถูกพัฒนาขึ้นมาแทนที่ นั่นคือเวลาที่รถจักรไอน้ำจะต้องปลดประจำการ มันถูกกระจายไปตามสถานีรถไฟทั่วประเทศ เพื่อตั้งไว้เป็นอนุสรณ์ย้ำเตือนความยิ่งใหญ่ในวันวาน

หัวรถจักรไอน้ำบางคันกลายสภาพเป็นซากเหล็กกลางแจ้ง ไม่หลงเหลือความสง่างามของหัวรถจักรที่เคยนำพาความศิวิไลซ์ไปสู่ทุกถิ่นที่ในสยาม มีเพียงคนเฒ่าคนแก่ที่มีความทรงจำร่วมกับมันเท่านั้นที่รู้ว่ามันยิ่งใหญ่แค่ไหนในอดีต

ในวันที่กิจการรถไฟมีอายุ 118 ปีเต็ม เรายังเหลือหัวรถจักรไอน้ำ 5 คัน ที่ยังพอนำมาใช้งานได้ มันถูกเก็บรักษาไว้ที่ “โรงรถจักรธนบุรี” โดย 2 ใน 5 ตกทอดมาจากคราวที่กองทัพญี่ปุ่นทิ้งเอาไว้ ทั้งหมดมีสภาพเหมือนผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

ด้วยความซับซ้อนของกลไกในยุคเก่า มันไม่ง่ายเลยที่จะหาคนมารับหน้าที่ซ่อมบำรุง กลุ่มคนที่รับอาสาชุบชีวิตหัวรถจักรไอน้ำ ประกอบด้วยอดีตพนักงานวัยเลยเกษียณที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปี ขึ้นไป และพนักงานรุ่นปัจจุบันที่มีความตั้งใจจะอนุรักษ์ประดิษฐกรรมชิ้นสำคัญของประวัติศาสตร์เอาไว้

ทุกวันนี้ที่ล้อมันยังหมุนได้ก็ด้วยแรงกายแรงใจของคนเพียงไม่กี่คน หนึ่งในนั้นคือ "เจตนา กลัดเพ็ชร" พขร. รถจักรไอน้ำรุ่นปัจจุบันที่เหลืออยู่ไม่กี่คน ทักษะที่มีอยู่ทั้งหมดได้มาจาก “ครูพักลักจำ” เมื่อได้เข้าไปคลุกคลีกับอดีตพนักงานรถจักรรุ่นเก่า

“รถจักรสมัยใหม่เหมือนเกียร์ออโต้ เราขึ้นไปขับ เข้าเกียร์ กำหนดความเร็วแล้วคอยเหยียบเบรก แต่รถจักรไอน้ำทุกอย่างมันจะเป็นแมนนวล มีคนทำหน้าที่ปรุงน้ำ ปรุงไอ เพื่อให้ พขร. เอาไปใช้ให้มันเหมาะสมกับการเดินขบวน ให้ไอมันคงที่ เพราะฉะนั้นเหมือนการขับรถในเกียร์ธรรมดา มีรายละเอียดมากกว่า” พขร.เจตนาอธิบาย

ด้วยประสบการณ์ 17 ปี ในฐานะ “คนรถไฟ” จากเด็กหนุ่มที่สานต่อความฝันของครอบครัว สู่การเป็นผู้ประคับประคองลมหายใจสุดท้ายของรถจักรไอน้ำให้เป็นตำนานที่ยังมีชีวิต "ผมจะทำทุกอย่างให้ล้อมันหมุน" นั่นคือปณิธานของเขา

“ทุกวันนี้เราเอารถจักรไอน้ำกลับมาวิ่งในเชิงอนุรักษ์ เฉพาะโอกาสพิเศษ ปีละ 3 – 4 ครั้ง เพื่อให้มันได้กลิ่นอายของประวัติศาสตร์ ก็จะไปในจุดที่ไม่ไกล ไปอย่างช้าๆ เท่าที่กำลังของรถจักรไอน้ำอายุ 80 จะไปได้”

สำหรับคนเฒ่าคนแก่ที่เคยได้ใช้ชีวิตช่วงหนึ่งร่วมยุคสมัยกับความยิ่งใหญ่ของรถจักรไอน้ำ การที่ได้เห็นเครื่องจักรส่งเสียงคำรามพร้อมหวูดแหลมดังกึกก้องอีกครั้ง เหมือนการปลุกอดีตที่แห้งแล้งของปู่ย่าตายายให้กลับมามีชีวิต

“เมื่อก่อนผมเคยสงสัย เวลาเอารถจักรไอน้ำออกมาวิ่งแล้วคนเฒ่าคนแก่ที่ชานชาลาเขายกมือไหว้ ผมถามเขาว่าไหว้ทำไม คำตอบคือการมีรถไฟมันช่วยให้หลายๆ คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พอการคมนาคมมันดี ความเจริญมันก็ไปถึง”

ภาพที่เห็นตรงหน้า ทำให้เขาอดภูมิใจกับหน้าที่ของตัวเองไม่ได้ ในฐานะ พขร. เขามีโอกาสได้นำส่งผู้โดยสาร สินค้า และที่ยิ่งไปกว่านั้น เขาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประวัติศาสตร์กลับมามีชีวิต

พขร. เจตนา เกิดและโตมาในครอบครัวรถไฟ ตั้งแต่พ่อ พี่ชาย มาจนถึงตัวเขาเอง ทราบดีว่าในสายตาคนนอกที่มองเข้ามา การรถไฟไม่ใช่องค์กรที่สวยหรู ซ้ำยังดูล้าหลังไร้การพัฒนา แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ภูมิใจในหน้าที่ของตัวเอง ทุกครั้งที่ได้นำพาผู้โดยสารไปถึงที่หมายอย่างปลอดภัย

“ภาพที่เราจะเห็นตลอดเวลาที่รถไปถึงสถานีคือครอบครัวที่เขามารับ เราไม่มีวันหยุดตามเทศกาล เราไม่ได้อยู่กับครอบครัว แต่เราได้เห็นครอบครัวคนอื่นเป็นร้อยเป็นพันที่เราพาเขากลับบ้านได้อย่างปลอดภัย ผู้โดยสารได้เจอครอบครัวอย่างมีความสุข ก็เป็นหนึ่งในความสุขความภูมิใจของเรา”

แม้จะเป็นยุคที่ชื่อเสียงขององค์กรอยู่ในภาวะวิกฤติ แต่เขาไม่เคยหมดศรัทธาในสิ่งที่รัก เชื่ออยู่เสมอว่าในวันใดวันหนึ่ง ทุกๆ อย่างจะต้องดีกว่าที่เป็นอยู่ และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาจะไม่เสียเวลาโทษฟ้าดิน แต่เลือกที่จะทำงานตรงหน้าให้ดีที่สุด

“ทุกวันนี้ขับรถไปซ่อมไป ผมก็ต้องทำ เราจะไม่พูดถึงเรื่องระบบบริหารว่าเขาจะอะไรยังไง เพราะพนักงานระดับล่างๆ ก็คงจะไม่มีหน้าที่ตรงนั้น แต่ที่หน้างาน เราทำทุกอย่างให้มันเคลื่อนที่ไปได้ ผมเชื่อว่าถ้าประเทศพร้อม ระบบพร้อม ทุกอย่างมันเป็นใจให้เราพัฒนาได้ คนของรถไฟก็จะทำได้ดีกว่านี้ เพราะในความไม่พร้อมที่คนทั่วไปมองเข้ามา เราก็ยังให้บริการประชาชนได้จนถึงทุกวันนี้”

ความฝันของพนักงานรถจักรคนหนึ่ง ไม่มีอะไรมากไปกว่าการได้เห็นรถไฟกลับมาเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ไอน้ำสีขาวที่พุ่งผ่านอากาศบนหัวรถจักร ไม่ต่างไปจากไฟฝันของเขาที่ลุกโชนเมื่อได้เห็นมันออกมาโลดแล่นบนรางอีกครั้ง
“เราจะกลับมาเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย” เขากล่าวทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook