ความเชื่อผิดๆ ในการ “อดอาหาร” ลดความอ้วน

ความเชื่อผิดๆ ในการ “อดอาหาร” ลดความอ้วน

ความเชื่อผิดๆ ในการ “อดอาหาร” ลดความอ้วน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บ่อยครั้งที่ผู้ที่ต้องการจะลดความอ้วน มักมีความเชื่อผิด ๆ ว่า “การอดอาหาร” ช่วยลดความอ้วนได้ เพราะร่างกายจะได้รับพลังงานจากอาหารน้อยลง แล้วไปดึงไขมันที่ร่างกายสะสมไว้มาใช้แทน แต่รู้หรือไม่? ว่าการอดอาหารเพื่อลดความอ้วนเป็นความคิดที่ผิดมหันต์ เพราะจะส่งผลเสียต่อร่างกายหลายประการ ซึ่ง Tonkit360 จะขออาสามาอธิบายให้ฟัง

ได้ไม่คุ้มเสีย หากจะลดความอ้วนด้วยการอดอาหาร
การอดอาหาร แม้ว่าในระยะแรกจะช่วยให้ผอมได้จริง แต่เป็นการผอมที่ไม่ยั่งยืน เนื่องจากร่างกายไม่ได้กำจัดไขมันทิ้งไป เพราะสิ่งที่ร่างกายสูญเสียเมื่อเราลดน้ำหนักคือ น้ำ กล้ามเนื้อ และไขมันตามลำดับ

การอดอาหารทำให้ระบบการเผาผลาญเสีย กล่าวคือ เมื่อร่างกายได้รับพลังงานน้อยกว่าที่เคย ร่างกายจะดึงพลังงานจากส่วนอื่นมาใช้ น้ำหนักจึงลดอย่างรวดเร็วในระยะแรก เพราะน้ำและกล้ามเนื้อหายไป แต่เมื่อร่างกายปรับตัวให้ใช้พลังงานน้อยลงตามที่กินเข้าไป ร่างกายจะเผาผลาญได้น้อยลง น้ำหนักจึงไม่ลดในระยะต่อมา และเมื่อกลับมากินอาหาร ร่างกายได้พลังงานมากกว่าหรือเท่าเดิม แต่เผาผลาญได้น้อยลง จึงเกิดภาวะ “โยโย่” หรืออ้วนกว่าเดิมนั่นเอง

ขาดสารอาหาร
ไม่ว่าจะเป็นการอดอาหารมื้อใดก็ตาม ร่างกายจะขาดสารอาหาร 5 หมู่ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักแบบเร่งด่วนจะงดกินคาร์โบไฮเดรต (ข้าว,แป้ง,น้ำตาล) และไขมัน ซึ่งควรจะได้รับให้เพียงพอต่อความต้องการในทุกมื้อ ในระยะยาว ร่างกายทุกส่วนจะอ่อนแอลง เพราะไม่มีแหล่งพลังงาน และสารอาหารก็ไม่เพียงพอที่จะไปบำรุงอวัยวะต่าง ๆ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ อ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง สมองเซื่องซึมทำงานช้า แล้วร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นให้รู้สึกหิวเป็นพิเศษ เพื่อเตือนให้เรากินอาหาร ด้วยร่างกายใกล้จะหมดพลังงานแล้ว

ระบบขับถ่ายพัง ร่างกายไม่ระบายของเสีย
การอดอาหารทำให้ไม่มีอาหารเคลื่อนตัวผ่านระบบทางเดินอาหารและระบบย่อยอาหาร โดยเฉพาะหากขาดคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน และอาหารที่มีไฟเบอร์สูง การทำงานของระบบย่อยอาหารก็จะด้อยประสิทธิภาพลงเพราะไม่ได้ทำงาน ส่งผลไปถึงระบบขับถ่ายที่ต้องทำงานต่อจากระบบย่อยอาหารก็ด้อยตามไปด้วย เมื่ออยากขับถ่ายน้อยลง ทำให้ท้องผูก และร่างกายก็ไม่ได้ขับถ่ายเอาของเสียออกมา นานวันเข้าสุขภาพก็ยิ่งแย่

ส่งผลต่ออารมณ์
คนที่เร่งลดน้ำหนักส่วนใหญ่จะงดบริโภคคาร์โบไฮเดรตและไขมัน แต่รู้หรือไม่? ว่าการกินคาร์โบไฮเดรตและไขมันให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยที่ไม่น้อยและไม่มากเกินไป มีส่วนสำคัญในการผลิตเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทประเภทหนึ่ง มีหน้าที่รักษาสมดุลของอารมณ์ หากร่างกายมีไม่เพียงพอก็จะมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด ฉุนเฉียว เครียดได้ง่ายกว่าปกติ และยังทำให้สมองตอบสนองได้ช้า ง่วงเพลียอยู่ตลอดเวลา

นอนหลับยาก
การอดอาหารส่งผลต่อการนอนหลับ เพราะทำให้ร่างกายจะรู้สึกโหย การทำงานของฮอร์โมนในช่วงเวลาต่าง ๆ ผิดปกติไปหมด โดยเฉพาะฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งจะหลั่งออกมามากขึ้นถ้าท้องว่างนานเกินไป ซึ่งคอร์ติซอลนี้มีฤทธิ์สลายกลูโคส กรดไขมัน และโปรตีน มีส่วนให้ร่างกายเสื่อมเร็ว ดูแก่กว่าวัย เมื่อร่างกายทำงานปั่นป่วน ก็จะไปรบกวนคุณภาพการนอน

เมื่อนอนหลับไม่สนิท ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็ส่งผลไปถึงฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมความอยากอาหารอย่างเลปติน (leptin) ฮอร์โมนความหิว และเกรลิน (ghrelin) ฮอร์โมนความอิ่ม เมื่อเลปตินมีมาก ก็จะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งน้ำย่อย หากหิวมากจนตบะแตก ก็จะกินอาหารมากกว่าเดิม เพราะเกรลินไม่หลั่งมาระงับการกิน อ้วนง่ายกว่าเดิม

กล้ามเนื้อลดลง สะสมไขมันมากขึ้น
เมื่อร่างกายขาดสารอาหารและพลังงานอย่างต่อเนื่อง ร่างกายจะดึงพลังงานที่สะสมอยู่ตามกล้ามเนื้อมาใช้ก่อน เนื่องจากร่างกายให้ความสำคัญกับไขมันมากกว่ากล้ามเนื้อ เพราะวิวัฒนาการของมนุษย์ในอดีตต้องใช้พลังงานมากในการต่อสู้และออกล่าอาหาร ร่างกายจึงมีโปรแกรมในการรักษาไขมันไว้ให้มากที่สุด เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานหลักให้มนุษย์อยู่รอด เมื่อโปรตีนตามกล้ามเนื้อหายไป กล้ามเนื้อก็จะนิ่มเหลวอ่อนแรงลง เพราะเหลือแต่ไขมัน

อีกทั้งในภาวะขาดแคลนอาหาร ร่างกายจะเริ่มสะสมไขมันมากขึ้น เพื่อให้เป็นพลังงานสำรองให้มนุษย์ยังดำรงชีวิตอยู่ได้ ในขณะที่เราใช้พลังงานในชีวิตประจำวันกันเท่าเดิม แต่ร่างกายกลับสะสมไขมันมากขึ้น จึงอ้วนง่ายขึ้นเช่นกัน

แล้วอย่างไรถึงจะลดความอ้วนอย่างได้ผล
หากจะลดความอ้วนให้ได้ผล จะต้องไม่ทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติไปจากเดิม โดยเน้น “ลด” มากกว่า “อด” และเลือกกินอาหารที่ให้ประโยชน์มากกว่า โดยเฉพาะผักและผลไม้ เพราะนอกจากจะอุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ที่ร่างกายต้องการแล้ว ยังมีแคลอรี่ต่ำ ไฟเบอร์สูง ช่วยให้อิ่มได้นานและไม่หิวบ่อย

นอกจากนี้ให้หันไปออกกำลัง แต่เป็นแบบไม่หักโหมจนร่างกายปรับตัวเข้าสู่โหมดเก็บไขมัน และต้องออกกำลังกายกล้ามเนื้ออยู่เสมอ เพื่อให้ร่างกายเพิ่มการเผาผลาญพลังงานในการรักษากล้ามเนื้อไว้ แต่จะค่อย ๆ เอาพลังงานจากไขมันมาใช้แทน แม้ว่าจะไม่ผอมอย่างรวดเร็วทันใจ แต่จะผอมอย่างยั่งยืน ฟิต เฟิร์ม และไม่บั่นทอนสุขภาพจิตอีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook