แชมป์โลกเพาะกาย "สมศักดิ์ ค้าขึ้น" เหล็กทั้งกาย เหล็กทั้งใจ ไม่ใช่แค่ขา!

แชมป์โลกเพาะกาย "สมศักดิ์ ค้าขึ้น" เหล็กทั้งกาย เหล็กทั้งใจ ไม่ใช่แค่ขา!

แชมป์โลกเพาะกาย "สมศักดิ์ ค้าขึ้น" เหล็กทั้งกาย เหล็กทั้งใจ ไม่ใช่แค่ขา!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ต้องสร้างความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อในทุกๆ มัด ทำลายกล้ามเนื้อจุดนั้นให้ฉีกขาด เพื่อมันจะได้ไปซ่อมแซมให้มีขนาดเพิ่มมากขึ้น คือต้องเล่นย้ำแต่ละส่วนๆ ในระยะเวลาที่กระชั้นชิดมากที่สุด คล้ายเราแทงจุดระเบิดของมัน ทำลาย ทำลาย ทำลาย อย่างเดียว เพื่อให้จุดนั้นระบมแล้วเลือดไปคั่งมากที่สุด โดยใช้ระยะเวลาที่สั้นที่สุด”

คำโบราณที่ว่า ‘เกิดมาครบ 32’ หรือ ‘อาการครบ 32’ ที่เรามักได้ยินคนเฒ่าคนแก่พูดกัน หมายถึงการมีอวัยวะครบถ้วน ไม่เป็นผู้พิกลพิการใดๆ คำนี้ใช้ไม่ได้กับ ‘ตู่-สมศักดิ์ ค้าขึ้น’ เพราะความพิการอาจทำร้ายใครต่อใครบนโลกใบนี้ได้ แต่กับ ‘คนเหล็กขาเดียว’ คนนี้ แม้ว่าจะถูกความพิการทำร้ายจนถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตาย สุดท้ายเขารอดและกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง ทั้งในฐานะแชมป์โลกกีฬายกน้ำหนักคนพิการ และแชมป์โลกเพาะกาย ปัจจุบันตู่ สมศักดิ์ในวัยย่างหลักสี่เป็นเทรนเนอร์ฟรีแลนซ์ที่รับเทรนคนรักสุขภาพและคนอยากมีรูปร่าง ร่างกายที่ดีทั่วราชอาณาจักร

 

‘เหล็ก’ ตั้งแต่วัยเด็ก

แรกเริ่มเดิมทีเราก็เป็นเด็กบ้านๆ ทั่วไปที่วิ่งเล่น ดูการ์ตูน เล่นออกกำลังกาย แต่เราไม่ชอบออกกำลังกายแบบเพื่อนๆ ที่ไปเตะฟุตบอลหรือเล่นกีฬากัน ผมไม่เอา ผมชอบจับพวกเหล็ก พวกบาร์เล่น ทีนี้เกิดอยากมีกล้าม อยากมีหุ่นเท่ๆ เราไม่รู้ว่าจะหาวิธีเล่นยังไง เลยตัดสินใจไปทำงานที่อู่ซ่อมรถ เพราะคนทำงานอู่ซ่อมรถนอกจากได้เงินแล้ว ยังได้ยกเหล็ก ทำลูกปูนแบบที่ตัวเองชอบ คิดว่าทำแบบนี้แล้วจะทำให้มีกล้าม ไม่ได้เข้ายิมแบบปัจจุบันนี้ หลังจากนั้นเห็นในกรุงเทพฯ มีฟิตเนส มียิม เลยตัดสินใจเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ ตอนนั้นถึงได้รู้จักการเล่นยิมแบบจริงจัง

เนื้อหุ้ม ‘เหล็ก’ ไม่ได้

ผมไม่ได้พิการมาตั้งแต่เกิด ผมเป็นคนปกติ พอเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง เมื่อปี 2544 เราก็เอาไปซื้อรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ ทั้งขับไปทำงาน ขับไปเที่ยว มีกลุ่มเพื่อนนัดออกทริปขับบิ๊กไบค์กันไปที่จังหวัดกาญจนบุรี และสุดท้ายไปประสบอุบัติเหตุที่นั่น นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เราเปลี่ยนจากคนปกติเป็นคนพิการ จำได้ว่าเป็นเส้นทางไปน้ำตกเอราวัณ ขับไปจนถึงโค้งหักศอกหนึ่ง ผมมองไม่เห็นทางและไม่ชินทางในการขับขี่ แต่มั่นใจและประมาทเกินไป สุดท้ายประสบอุบัติเหตุ ตอนนั้นขาหักและเส้นเลือดใหญ่ขาด โดยที่ไม่สามารถที่จะต่อเส้นเลือดใหญ่ได้ หมอสั่งให้ตัดขา เพราะหากไม่ตัดอาจติดเชื้อในกระแสเลือดและตายได้ เลยต้องยอมตัดขาออกเพื่อรักษาชีวิตไว้

สภาพจิตใจเมื่อร่างกายถูกแทนด้วย ‘เหล็ก’

ตอนนั้นผมเศร้าเป็นเดือนๆ เพราะพอกลายเป็นคนพิการจริงๆ ความคิดหลายอย่างเปลี่ยนไป ทุกอย่างมันแย่ไปหมด ก่อนนี้เคยทำงานเป็นสตั๊นท์แมน ทำงานเป็นนักแสดงทั่วไปด้วย แต่พอประสบอุบัติเหตุมันทำอะไรไม่ได้เลย คิดแต่ว่าจะเป็นภาระทางครอบครัว เพราะที่ผ่านมาไม่เคยพึ่งทางบ้านเลย พึ่งตัวเองตลอด คิดอยู่แต่แบบนี้ทุกวัน แล้วก็ได้แต่ร้องไห้ หลังหายจากอาการบาดเจ็บ เรากลับไปอยู่บ้าน แต่ความคิดพวกนี้ยังวนเวียนอยู่ จนสุดท้ายตัดสินใจฆ่าตัวตาย ด้วยการเก็บสะสมยาหลายๆ ตัวที่เคยกิน แล้วกินพร้อมกันทีเดียวเพื่อฆ่าตัวตาย แต่สุดท้ายรอด เพราะแม่มาช่วยพาส่งโรงพยาบาลเพื่อล้างท้องทันเวลาพอดี

คำสัญญากับแม่นำพาสู่กีฬายก ‘ลูกเหล็ก’

หลังรอดชีวิตอีกครั้ง แม่ขอร้องผมว่าให้แม่ตายก่อนลูกเถอะ นั่นเป็นจุดที่ทำให้ผมคิดได้ ผมทำใจอีกประมาณ 3-4 เดือน แล้วกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ แรกๆ ผมไปทำงานเป็นโอเปอเรเตอร์ก่อน จนมีเพื่อนๆ ที่รู้จักกันใน กกท. (การกีฬาแห่งประเทศไทย) แนะนำว่ามีกีฬาน่าสนใจที่คนพิการเล่นได้ คือกีฬายกน้ำหนักคนพิการ ลองไปสมัครดู ซึ่งส่วนใหญ่เป็นท่านอน หรือท่าที่คนพิการเล่นได้ ผมเลยฉุกคิดขึ้นมาว่า เราเคยเล่นกีฬาประเภทนี้ น่าจะพอไปได้ และยึดจุดนี้เป็นจุดยืนของชีวิตหลังจากพ้นความตายมา เพราะเราคิดแค่ว่าถ้าเป็นนักกีฬา เราจะมีรายได้เข้ามา ก็เลยเริ่มฝึกซ้อม เช่น ดันอก และซ้อมท่าเบื้องต้น จนสุดท้ายได้เป็นตัวแทนของกรุงเทพมหานคร ไปแข่งกีฬาแห่งชาติที่จังหวัดเชียงใหม่ในปี 2003 ผมได้เหรียญทองตั้งแต่รายการแรกที่แข่งเลย นั่นทำให้เรามีกำลังใจในการยืนที่จุดนี้มากขึ้น จากนั้นในปีเดียวกันผมก็เข้าคัดตัวทีมชาติไปได้ 2 เหรียญเงินที่เวียดนาม ในกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ และอีกเหรียญเงินที่ฟิลิปปินส์ ในฐานะนักกีฬาทีมชาติไทยในรายการเอเชียนเกมส์ จากนั้นก็ได้เหรียญทองมาเรื่อยๆ ครับ ครั้งที่ 3 ได้เหรียญทองที่โคราช และครั้งที่ 4 ได้เหรียญทองที่ประเทศมาเลเซีย ส่วนเหรียญทองที่ 5 ผมไปได้ที่อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการแข่งขันในรายการซีเกมส์ แต่ที่ประทับใจมากคือเหรียญทอง ชิงแชมป์โลกที่อินเดีย เลยยึดอาชีพนักกีฬายกน้ำหนักคนพิการมาเรื่อยๆ

ผันตัวสู่การเป็น ‘คนเหล็ก’

ปี 2013 ผมเริ่มถอนตัวออกมาด้วยเหตุผลหลายอย่าง ทั้งอายุของกล้ามเนื้อและมวลกระดูกต่างๆ มันเริ่มแย่ลง จากการฝึกซ้อมที่ต้องยกน้ำหนักเกินกว่ากำลังจะยกได้สองถึงสามเท่าตัว มันทำให้ข้อต่อต่างๆ เสียหายเยอะมาก ผมบาดเจ็บเยอะ และพบว่าร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนก่อน ยกอะไรก็ไม่ค่อยได้ อีกทั้งรู้สึกว่าไม่สามารถที่จะทำลายสถิติตัวเองได้แล้ว ซึ่งเหมือนกับว่าถ้าร่างกายมันเจ็บตลอดเวลา ไม่พักเลย ก็ไม่สามารถที่จะไปต่อได้อีก จึงมาศึกษากีฬาเพาะกาย ที่ไม่จำเป็นต้องหนักจนโอเวอร์ แต่ใช้เทคนิคที่จะทำให้กล้ามเนื้อพัฒนาได้อีก และการดูแลเรื่องโภชนาการ ซึ่งต่างกันมากในเรื่องของวินัยเกี่ยวกับเรื่องอาหาร เพราะยกน้ำหนักไม่ต้องไปโฟกัสอะไรมาก ดึงพลังทั้งหมดออกมาแล้วระเบิดพลังในครั้งเดียว ส่วนเพาะกายนั้นต้องโฟกัสทุกส่วนและต้องดูแลเรื่องอาหารเป็นหลัก เรากินอะไรก็ได้ไม่ได้เหมือนเก่า ต้องจัดตารางชีวิตอย่างมีวินัย ตั้งแต่ตื่น กินอะไร ต้องจัดเป็นหมวดหมู่และผ่านการชั่งตวงอย่างเหมาะสมทุกอย่าง เพาะกายต้องกินอาหารที่มีโปรตีนมาเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ซึ่งมันมีรายละเอียดอีกมากมาย ตอนแรกเราก็คิดว่ามันยากมาก แต่ตอนนั้นคิดแค่ว่าถ้าเราทำได้ต้องเป็นที่ฮือฮาแน่นอน เพราะคนปกติทำยากอยู่แล้ว แต่นี่เราเป็นคนพิการด้วย

เรียนรู้สู่การเป็น ‘คนเหล็ก’

มันเป็นสิ่งที่เราชอบแต่เด็กๆ เเละมาถามรุ่นพี่อีกหลายคนว่าต้องทำอย่างไรให้กล้ามเนื้อมีความคมชัด เพราะยกน้ำหนักอย่างเดียวอาจได้ขนาดอย่างเดียว แต่กล้ามเนื้อไม่ชัด พอเรามาศึกษาจริงๆ โดยให้เขามาสอนเราด้วย ก็เริ่มรู้ว่าการฝึกกล้ามเนื้อไม่จำเป็นที่จะต้องใช้น้ำหนักมโหฬารจนเกินไป แต่เป็นการโฟกัสการใช้น้ำหนักที่พอดี ทำให้ไม่ต้องกลัวอาการบาดเจ็บของข้อต่อ เราเลยเลือกมาเล่นกีฬาเพาะกายแบบเต็มตัว กีฬาเพาะกายมันเป็นศิลปะบนเรือนร่างที่หาคำเปรียบเทียบไม่ได้ เป็นกีฬาที่วัดจิตใจของคุณโดยเฉพาะเลยว่าคุณผ่านวินัยจุดนี้ได้ไหม เพราะเป็นกีฬาที่แข่งกันด้วยความสวยงาม ความสมส่วนของกล้ามเนื้อ ไม่ใช่บางส่วนใหญ่เกินไป มันต้องสมดุลทั้งร่างกาย อีกทั้งเรื่องความคมชัดของกล้ามเนื้ออยู่ที่กรรมการจะมองว่าคนไหนทำได้มากที่สุด เพราะคนที่ทำให้กล้ามเนื้อชัดที่สุดได้นั้น ต้องผ่านการทำคาร์ดิโอหนักมาก และคุมอาหารดีมาก นั่นคือการแข่งขันกันที่การรักษาวินัยต่อร่างกาย เพราะการที่จะทำให้กล้ามเนื้อแต่ละส่วนสมบูรณ์ได้นั้นจะต้องใช้เวลานาน และแตกต่างกันออกไป เอาแค่การไดเอทก็ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ที่จะต้องคุมอาหาร กินซ้ำๆ ทุกอย่าง ที่ไม่ได้มีรสชาติอร่อย ถ้าคุณทนได้และทำคาร์ดิโออย่างต่อเนื่องคุณก็จะเป็นแชมป์ได้

เทคนิคการเป็น ‘คนเหล็ก’

ผมคิดว่าผมแค่เปลี่ยนเฉยๆ เปลี่ยนจากยกน้ำหนักมาเป็นเพาะกาย เพราะผมมีมวลกล้ามเนื้ออยู่แล้วจึงได้เปรียบ ส่วนเรื่องการแต่งโครงสร้างก็จะมีเทคนิคแยกออกไปอีก หลักการทั่วไปของมันก็คือต้องสร้างความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อในทุกๆ มัด ทำลายกล้ามเนื้อจุดนั้นให้ฉีกขาดเพื่อมันจะได้ไปซ่อมแซมให้มีขนาดเพิ่มมากขึ้น คือต้องเล่นย้ำแต่ละส่วนๆ ในระยะเวลาที่กระชั้นชิดมากที่สุด คล้ายเราแทงจุดระเบิดของมัน ทำลาย ทำลาย ทำลาย อย่างเดียว เพื่อให้จุดนั้นระบมแล้วเลือดไปคั่งมากที่สุด โดยใช้ระยะเวลาที่สั้นที่สุด ส่วนหลักการเรื่องอาหารนั้น กินเยอะ แต่เราจะแบ่งอาหารไม่ให้กระเพาะมันหนักไป นักเพาะกายจริงๆ ต้องกินอาหาร 6 มื้อขึ้นไป ที่ต้องซอยมื้ออาหารเพิ่มออกไปเพื่อให้กล้ามเนื้อดูดซึม ดูดเข้าไปเก็บ เข้าไปใช้ ทำแบบนี้ตลอดเพื่อไม่ให้สะสม นี่คือการเปลี่ยนสารอาหารเป็นกล้ามเนื้อ

ก้าวไปถึง ‘คนเหล็ก’ แชมป์โลก

ต้องยอมรับว่าวงการเพาะกายเปิดกว้างมาก ให้คนพิการเข้าไปร่วมแข่งด้วย เราสามารถแข่งกับคนปกติได้ เริ่มแข่งกันในประเทศก่อน และมีการเชิญไปแข่งในต่างประเทศ จนรายการ ‘มิสเตอร์ ยูนิเวิร์ส (Mr Universe)’ เขาส่งข้อความมาชวนผมไปแข่งที่ประเทศเกาหลี แล้วเราก็ได้แชมป์กลับมา เป็นการแข่งแบบรวมเลยครับ คนพิการกับคนปกติ เขาเรียกว่ารุ่นเอ็กซ์ตรีม เป็นรุ่นที่เรียกความตื่นตาตื่นใจ ทุกคนจะตกใจเหมือนช็อกไป คือเขาไม่เคยเจออย่างนี้ แล้วขึ้นไปวัดกับคนปกติ มันก็เลยฮือฮาไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ตอนนั้น เพราะในวงการเพาะกายโลกมีคนพิการเยอะครับ แต่ละประเทศจะมีแบบผมหนึ่งคน ซึ่งในประเทศไทย ผมก็จะเป็นหนึ่งคนนั้น

วินัย ‘เหล็ก’ ของตัวเอง

ถ้าเป็นช่วงที่เราต้องแข่งขัน ผมจะไม่เข้าสังคมเลย เพราะผมต้องคุมอาหารเพื่อแข่ง เลือกที่จะเก็บตัว อยู่แต่บ้าน จะไม่ไปไหน ถ้าใครจะมาจ้างผมถ่ายแบบต้องนัดล่วงหน้า 1-2 เดือน เพื่อให้เวลาในการควบคุมรูปร่างของผมเอง เพราะช่วงแรกที่เริ่มเล่นกีฬาเพาะกาย กลัวทุกอย่าง กลัวกินแล้วกล้ามเนื้อมันจะไม่ชัด กลัวประกวดไม่ได้ ผมโดนฝึกมาแบบวินัยจัดมาก แต่พอศึกษาเรื่อยมาเราก็เข้าใจว่าบางอย่างสามารถยืดหยุ่นได้ บางครั้งการที่เราเรียนรู้มากจนเกินไปมันก็จะทำลายเราเหมือนกัน มันจะเป็นดาบสองคม รู้มากยิ่งเกร็งมาก เกิดอาการกลัวจนเกินไป

แรงบันดาลใจให้ใครต่อใครที่อยากเป็น ‘คนเหล็ก’

สิ่งสำคัญในการเล่นเพาะกายคือต้องมีเงิน คุณจะไม่สามารถเอาเงินในส่วนต่างๆ ของชีวิตไปถลุงได้เลย เงินทั้งหมดต้องมาใส่ที่ตัวเอง ไม่ใช่ไปใส่ในสิ่งของอื่นๆ คนงบน้อยต้องมีความอดทนสูงมาก ดังนั้นทำงานเก็บเงินแล้วสร้างตัวเองเท่านั้น ผมไม่เคยอยากเลิกเลย อยากแข่งอย่างเดียว ผมอยากทำอะไรก็ได้เท่าที่เรามีเงินเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการเทรนลูกค้า หรือเป็นการแข่งเพื่ออาชีพมันเป็นการหาเงินมาหลายๆ ทาง ทำให้ผมต้องดูแลตัวเองต่อไป กีฬาเพาะกายไม่ได้จำกัดอายุ ต้องแข่งกับใจตัวเอง ถ้าอยากชนะก็ต้องมีวินัย อดทน ไม่ต้องสนคนอื่น มองตัวเราเองเยอะๆ เท่านั้น ผมไม่เคยรู้สึกผิดหวังอะไรเลย ไม่เคยตั้งความหวังแล้วพลาด ผมจะมองสูงไว้ตลอด และจะลดลงมาตามความเหมาะสม ถ้าจะผิดหวังคือไม่ได้ลง ถ้าแข่งแล้วไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ ไม่เป็นไร เราซ้อมใหม่ได้ นักกีฬาเพาะกายจะเป็นแบบนั้นหมด ขอให้ได้ยืนอยู่บนเวทีก็พอ ส่วนใครที่คิดว่าตัวเองพิการแล้วไม่เหลืออะไร อยากให้มองว่าจะใช้ชีวิตได้ยาวแค่ไหน หรือจะจบชีวิตแค่ในห้อง หรือจะจบชีวิตแค่ทำงานไปวันๆ หนึ่ง แล้วไม่สามารถจะออกไปเที่ยวข้างนอกได้เพราะมีร่างกายไม่แข็งแรง หาเวลาให้กับตัวเอง ท้อมาลงกับเหล็ก สุขภาพไม่ดีมาลงกับเหล็ก แล้วจะรู้ว่าร่างกายคุณดีขึ้น ชีวิตมีความสุขมากขึ้น พยายามมองคนที่แย่กว่าเรา เราจะมีชีวิตที่ดีกว่า ถ้าเรามองคนที่สูงกว่า เราจะมีชีวิตที่ด้อยมาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook