เซ็กซี่ ฟรุ้งฟริ้ง ฉาบฉวย ′เน็ต ไอดอล′ที่ไม่ใช่ของจริง?

เซ็กซี่ ฟรุ้งฟริ้ง ฉาบฉวย ′เน็ต ไอดอล′ที่ไม่ใช่ของจริง?

เซ็กซี่ ฟรุ้งฟริ้ง ฉาบฉวย ′เน็ต ไอดอล′ที่ไม่ใช่ของจริง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ในปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าเราก้าวเข้าสู่สังคมโซเชียลมีเดียอย่างเต็มตัว หรืออาจจะเรียกว่า "เกิน" เสียด้วยซ้ำ เพราะไม่ว่าจะทำอะไรอยู่มุมไหนของประเทศ ขอแค่มีสมาร์ทโฟนติดอยู่กับตัวก็มีโอกาสดังได้เพียงชั่วข้ามคืนและน้อมรับคำ ว่า "เน็ตไอดอล" ไปแบบใสๆ

ไม่ว่าจะเป็นสาวหน้าสวยอย่าง น้องม็อบ แม่ค้าก๋วยเตี๋ยว (เฉพาะกิจ), น้องติ้ง พริตตี้กตัญญูช่วยแม่ขายไก่ย่าง, น้องเลย์ สาวรอยสักอัดคลิปสอนวัยรุ่นที่ริจะสัก

หรือสายฮาอย่าง ไลล่า เจ้าของวลีฮิต "เหนียวไก่หาย"

รวม ถึงสายที่มาแรงตลอดกาลขวัญใจทาสนมทั้งหลายอย่าง มันแกว-รุ้งตะวัน ชัยหา เจ้าของสโลแกนนมคุณธรรม, มุกกี้-ชณิตา ภูวพิพัฒน์ สาวเปรี้ยวผมสั้นไซซ์สะบึม และสาวขาวหมวยสไตล์เกาหลีอย่าง อลิซ-อริสรา กาพย์เดโช ที่ล้วนมีคนติดตามเฟซบุ๊กเป็นแสน!!

ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะปัจจุบันใครก็ถูกเรียกว่า ′เน็ตไอดอล′ ได้ด้วยปัจจัย 3 ประการที่คอยเอื้อ

โดย ธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยโครงการมีเดียมอนิเตอร์บอกว่า ข้อแรกคือทุกคนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ในราคาถูกและเท่าเทียมกัน

ข้อที่สอง โลกอินเตอร์เน็ตไม่ใช่แค่สื่อ แต่กลายเป็นสังคมที่ทุกคนสามารถผลิตสารอะไรก็ได้

และสุดท้ายโลกของข้อมูลข่าวสารเชื่อมโยงกันโดยใช้ความสัมพันธ์ของผู้คน ผ่านการไลค์-แชร์-แท็ก

"เมื่อก่อนเซนเดอร์ (ผู้ส่งสาร) คือสื่อ แต่ทุกวันนี้เซนเดอร์คือเครือข่ายความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม" ธามว่า

ส่วนที่ว่าทำไมเด็กวัยรุ่นชอบโชว์ก็เพราะ "ต้องการการยอมรับจากเพื่อน"

"การที่เขาต้องการมีสมาร์ทโฟน ต้องการถูกกดไลค์กดแชร์ในเฟซบุ๊กหรือโซเชียลแคม เพราะพรุ่งนี้จะได้มีเรื่องไปอวดเพื่อนที่โรงเรียน"

"ทุกคนต้องการมีตัวตน"

ซึ่งไม่ใช่เฉพาะยุคนี้ หากเป็นมาแต่ไหนแต่ไร เพียงแค่เจเนอเรชั่นก่อนๆ เลือกเข้าสังคมด้วยการทำกิจกรรมหรือมีผลการเรียนชั้นเลิศ

"แต่สมัยนี้ง่ายกว่าที่จะสร้างการยอมรับผ่านรูปลักษณ์เรือนกาย เด็กเลยใช้การสื่อสารด้วยภาพ"

"ซึ่งของพวกนี้ไม่มีอะไรมากนอกจากสิ่งที่พูดต่อกล้อง ไม่ต้องพิสูจน์ตัวเองโดยใช้เวลายาวนาน"

และ เพราะการแพร่ง่าย-ได้ฟีดแบ๊กเร็วทำให้โซเชียลมีเดียเป็นสื่อประเภทเดียวที่ ช่วยในการสร้างอัตลักษณ์ทางสังคมของตัวเองได้ และวัยรุ่นก็ไม่ได้มองมันในฐานะเครื่องมือสื่อสาร

"แต่เป็นเสมือน ′สังคม′ ที่มีอิทธิพลกระทบชีวิตจริงโดยตรง"

สังคม...ที่ไม่มีขอบเขตพื้นที่เชิงกายภาพและไร้มิติเชิงกาลเวลา

"ใน ชีวิตจริงคุณอาจลืมอะไรได้ในชั่วข้ามคืน แต่ในอินเตอร์เน็ตมันจะอยู่ในนั้นตลอดกาลและขยายไปสุดขอบพรมแดนความสัมพันธ์ หรือตามจำนวนเพื่อน เว้นแต่คุณจะลบหรือแก้ไขมัน"

ทั้งยังเป็นสังคม ที่พร้อมให้คนเข้ามาสอดส่องชีวิตส่วนตัวได้แบบ 24 ชั่วโมง จึงนับว่าอันตรายถ้าใช้มากเกิน หรือจับโลกจริงกับโลกออนไลน์มาผสมกันจนแยกไม่ออก และเริ่มสับสนว่าอัตลักษณ์แท้จริงของตัวเองคืออะไร

"มันทำให้เด็กยุคนี้มีหลายตัวตน ขณะเดียวกันก็สนใจแต่เรื่องตัวเอง เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางและเห็นใจคนอื่นน้อยลง"

แต่เมื่อใครๆ ก็เข้าถึงเทคโนโลยีได้ แล้วทำอย่างไรจึงจะโดดเด้งจนได้เป็นเน็ตไอดอลสมใจ

อย่างแรกธามบอกว่า เมื่อ 10 ปีก่อนหน้าตาอาจสำคัญ แต่ตอนนี้คนดูที่ "คอนเทนต์" มากกว่า

"ต้องแปลก แตกต่างจากคนอื่น"

"นำเสนอความคิดที่เป็นตัวตนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ก๊อปเขามา"

"มีความสามารถในการเปลี่ยนความคิดหรือนำพาพฤติกรรมผู้อื่นให้เชื่อถือ"

และ "สร้างแอ๊กชั่นหรือเปลี่ยนแปลงบางอย่างในสังคมได้"

ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานั้นยังไม่มีในเมืองไทย!!!

"บ้าน เราตัดสินแค่ฉาบฉวย ชอบที่ภาพลักษณ์ แต่เข้าถึงระดับตัวตนและความคิดน้อยมาก เน็ตไอดอลส่วนใหญ่เลยเป็นวัยรุ่นโชว์เซ็กซี่ น่ารักฟรุ้งฟริ้ง ออกแนวสตาร์หรือเซเลบริตี้มากกว่า"

"ถ้าใช้คำว่าเน็ตไอดอลผมจะนึกถึงผู้นำทางความคิดที่ชัดเจน ทำอะไรเพื่อสังคมมากกว่าตัวเอง"

"เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ′เน็ต′ หมายถึงพื้นที่สาธารณะไม่ใช่ส่วนตัว"

ที่ พอใกล้เคียงก็มี จอห์น-วิญญู วงศ์สุรวัฒน์, วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล, ปลื้ม-สุรบถ หลีกภัย หากก็ยังไม่ใช่เสียทีเดียว และแม้กระนั้นก็ยังถือว่ามีน้อย เพราะส่วนใหญ่เน้นขายภาพลักษณ์มากกว่าความคิด

สังคมเราจึงขาดผู้นำทางความคิดสำหรับวัยรุ่น ในขณะที่มีเน็ตไอดอลเต็มบ้านเต็มเมือง

ด้าน เน็ตไอดอลวัย 21 นัตตี้-นัทธมณ คงจักร์ ที่เริ่มต้นจากการร้องและเต้นคัฟเวอร์ศิลปินจนมีคนรู้จักจำนวนหนึ่ง ก่อนจะตู้มต้ามอย่างแรงเมื่อบริษัทโปรดักชั่นเกาหลีชื่อดังประจำไทย ดรีมซีนีม่า จับเซ็นสัญญาและพาไปฝึกฝีมือที่เกาหลี จนมีอัลบั้มของตัวเอง รวมทั้งงานภาพยนตร์ โฆษณา ถ่ายแบบอีกมากมาย

เธอบอกว่า ตอนนี้เน็ตไอดอลมาเร็ว ไปเร็ว และมีเยอะ

"แค่คนติดตามเยอะก็กลายเป็นเน็ตไอดอลแล้ว"

"แต่ ไม่จำเป็นต้องสวยหรือรวย บางคนเป็นได้เพราะความฮา ความแปลก หรือความคิดที่นอกกรอบ ทุกอย่างเริ่มต้นจากการเป็นตัวของตัวเองก่อนเลย"

"ต้องชัดเจนในคาแร็กเตอร์ว่าชอบอะไร ทำอะไร แล้วจะเกิดเอกลักษณ์ของตัวเอง"

รวมถึง "มีแนวทางการดำเนินชีวิตที่เป็นแรงบันดาลใจให้ใครได้"

ถ้าให้ดีก็ต้องอาศัย "โอกาส" และ "จังหวะชีวิต" มาประกอบกัน จากนั้นก็ปล่อยให้ "ความสม่ำเสมอ" ในตัวทำงาน

"วันแรกดีแบบไหน ทุกๆ ครั้งที่ทำออกมาก็ต้องดีเหมือนเดิม"

ฟาก สาวน้อยหน้าญี่ปุ่น สายป่าน-สิริกานดา ไชยบุรุษ ก็ช่วยยืนยันอีกแรงว่าเน็ตไอดอลไม่จำเป็นต้องโชว์เรือนร่างผ่านสื่อออนไลน์ แต่อย่างใด

"อินเตอร์เน็ตทำให้คนดังได้แวบเดียว แต่การจะอยู่ให้คงที่แล้วค่อยๆ ขึ้น มันลำบาก"

เพราะ กว่าเธอจะเป็นที่รู้จักก็เริ่มจากประกวดมิสทีนไทยแลนด์ 2004 เป็นพริตตี้ ถ่ายโฆษณา กระทั่งหาแนวทางของตัวเองเจอว่าเป็นคน "พูดเก่ง" และ "ชอบฟุตบอล" ปัจจุบันจึงได้เห็นสายป่านในงานเกี่ยวกับฟุตบอลเกือบทั้งหมด ทั้งพิธีกร ถ่ายแบบ พรีเซ็นเตอร์ ดีเจตามแอพลิเคชั่น-เกม-เว็บไซต์ จนสามารถเลี้ยงดูคนในครอบครัวกว่า 10 ชีวิต รวมทั้งส่งตัวเองและคุณแม่เรียนจบปริญญาตรี คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต พร้อมกันได้

"อาจเพราะเป็นผู้หญิงคนเดียวที่มาสายนี้" สาววัย 26 เล่าด้วยรอยยิ้ม

เธอยังบอกอีกว่าตอนแรกว่าเหนื่อยแล้ว ตอนนี้เหนื่อยกว่า ด้วยต้องวางตัวเป็นต้นแบบที่ดีของคนที่ติดตามนับแสน

ที่สำคัญต้องรู้ตัวว่า "เราอยู่ตรงไหน ขายอะไร"

ยังดีที่ได้แฟนคลับช่วยเตือนอยู่ตลอด "เวลาโพสต์รูปโชว์นิดนึง จะมีคอมเมนต์มาเลยว่าโป๊เกิน ไม่ต้องลง อย่าใส่เสื้อกล้าม"

"แฟนคลับเราจะไม่เหมือนคนอื่นที่เชียร์ให้ถอด แต่มาแนวห่วงใยมากกว่า"

"สมัยนี้ทาสนมเยอะมาก เน็ตไอดอลทุกคนจะโชว์ แต่ลุคเราไม่ใช่ เรามาแนวสปอร์ต"

"ทุก วันนี้ผู้หญิงโชว์นมเรียกไลค์เยอะ แต่ในความคิดป่านคือมันอยู่ได้ไม่นาน ถ้าอยากเป็นเน็ตไอดอลเราต้องดูแลตัวเองให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่โอเค"

และไม่เป็นแค่ "ชั่วข้ามคืน" ก่อนจะเลือนหาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook