ความเชื่อเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ เรื่องไหนจริงเรื่องไหนเท็จ เช็ก!

ความเชื่อเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ เรื่องไหนจริงเรื่องไหนเท็จ เช็ก!

ความเชื่อเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ เรื่องไหนจริงเรื่องไหนเท็จ เช็ก!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การแฮงค์เอาท์กับเพื่อนฝูง รวมถึงการเข้าสังคม ถือเป็นอีกหนึ่งไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน โดยบางครั้งปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเสมือนหนึ่งในสัญลักษณ์ของการสังสรรค์และเฉลิมฉลองในหลายโอกาส สำหรับคนรุ่นใหม่สายปาร์ตี้ที่มีแผนไปผับ บาร์คืนวันศุกร์กับกลุ่มเพื่อนสนิท หรือสายซอฟต์ที่ต้องสังสรรค์กับที่ทำงานในโอกาสต่างๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ เพื่อรู้ทันแอลกอฮอล์และดื่มอย่างรับผิดชอบมาฝาก สิ่งสำคัญข้อแรกที่ควรทำคือ รับประทานอาหารรองท้องสักนิดก่อนดื่ม เพราะเมื่อท้องว่าง

ร่างกายจะดูดซึมแอลกอฮอล์เร็วมาก ภายใน 30 นาที ทำให้เมาเร็ว และจะทำให้สนุกกับเพื่อนๆ ได้ไม่นาน เชื่อว่าคุณคงไม่อยากเป็นคนแรกที่กลับบ้านตั้งแต่ความสนุกยังไม่เริ่ม! อีกข้อที่จำเป็นไม่แพ้กันก็คือ ไม่ควรเติมเครื่องดื่มอยู่เรื่อยๆ โดยที่ยังดื่มไม่หมด เพราะจะไม่รู้เลยว่าดื่มไปกี่แก้วแล้ว นอกจากนี้ ยังมีตัวช่วยดีๆ อย่าง“เครื่องคำนวณแอลกอฮอล์” สำหรับผู้ที่ต้องการเช็คแคลอรี่ หรือปริมาณแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มได้อย่างง่ายๆ  เพียงสแกน QR Code ด้านล่าง โปรแกรมจะคำนวณจำนวนหน่วยที่บริโภค ปริมาณแคลอรี่และระยะเวลาที่แอลกอฮอล์ขับออกจากร่างกายให้เลยแบบอัตโนมัติ ถือเป็นตัวช่วยที่ดีให้เราได้วางแผนก่อนดื่ม ได้อย่างชาญฉลาด รู้อย่างนี้แล้ว ถ้าเช็คให้ชัวร์ก่อนดื่มก็จะยิ่งดี

นอกจากเคล็ดไม่ลับการเตรียมความพร้อมก่อนดื่มแอลกอฮอล์ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีความเชื่ออื่นๆ ที่จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ถ้าอยากรู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร มาดูกันเลย

 

1.      ดื่มกาแฟดำจะช่วยทำให้หายแฮงค์

ไม่จริง กาแฟแค่ช่วยลดอาการง่วงซึมของผู้ดื่ม แต่ไม่ได้ช่วยเร่งการขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายหรือลดความมึนเมาเลย จริงๆ แล้วกาแฟดำออกฤทธิ์ขับปัสสาวะเช่นเดียวกับแอลกอฮอล์ ซึ่งจะยิ่งทำให้ร่างกายของคุณขาดน้ำขึ้นไปอีก วิธีแก้อาการเมาที่ถูกต้องคือ ควรนอนพัก และดื่มน้ำเปล่าเยอะๆ จะดีกว่า

2.      ดื่มน้ำเปล่าก่อนและหลังดื่มแอลกอฮอล์ ช่วยป้องกันอาการเมาค้าง

จริง เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ จึงทำให้ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งก็คืออาการเมาค้างนั่นเอง ดังนั้นควรดื่มน้ำเยอะๆ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการดื่มเแอลกอฮอล์ เพราะจะช่วยให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ

3.      ดื่มเหล้าโดยใช้หลอดดูด จะเมาเร็วขึ้น

เป็นไปได้  เพราะเมื่อใช้หลอดดูด ผู้ดื่มจะรู้สึกว่าดื่มง่ายขึ้น แถมกลบรสขมของแอลกอฮอล์ จึงทำให้รู้สึกเพลิน เหมือนดูดน้ำ เป็นสาเหตุให้บริโภคปริมาณแอลกอฮอล์มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

4.      การ “ถอน” ช่วยทำให้อาการเมาค้างดีขึ้น

ไม่จริง การ “ถอน” จะช่วยให้ดีขึ้นชั่วคราวเท่านั้นเอง เพราะร่างกายจะหยุดกลไกขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายเพื่อเตรียมรับแอลกอฮอล์ใหม่เข้าไป การทำเช่นนี้ แค่ช่วย “ชะลอ” อาการเมาค้างเท่านั้น เพราะถึงอย่างไรแล้ว แอลกอฮอล์ที่คุณดื่มเข้าไปจะต้องผ่านกระบวนการเพื่อขับออกจากร่างกายอยู่ดี

5.      ดื่มไวน์ เบียร์ ปลอดภัยกว่าดื่มเหล้า

ไม่จริง ผลกระทบของการดื่มไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องดื่ม แต่ขึ้นอยู่กับปริมาณแอลกอฮอล์ รูปแบบการดื่ม และปัจจัยอื่นๆ เช่น ปริมาณและความเร็วในการดื่ม ภาวะร่างกายของแต่ละคนที่ตอบสนองต่อแอลกอฮอล์ไม่เท่ากัน อายุและเพศ ซึ่งคนหนุ่มสาวและผู้หญิงมีโอกาสเมาเร็วกว่า

เมื่อเตรียมตัวล่วงหน้าและรู้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างดีแล้ว ก็ปิดท้ายด้วยความสนุกอย่างมีสติและรับผิดชอบ เมื่อจะต้องรินแอลกอฮอล์ลงในแก้ว ควรคำนึงถึงปริมาณ “ดื่มมาตรฐาน” (Standard Drink) โดย 1 ดื่มมาตรฐาน เท่ากับ แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ประมาณ 10 กรัม ใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการขับออก ซึ่งดื่มมาตรฐานของแอลกอฮอล์แต่ละประเภทต่างกัน ขึ้นอยู่กับดีกรีของแอลกอฮอล์ประเภทนั้นๆ เช่น 1 ดื่มมาตรฐาน เทียบเท่ากับการดื่มวิสกี้หรือวอดก้า 3 ฝา (รวม 30 มิลลิลิตร), ไวน์ 1 แก้ว (100 มิลลิลิตร) หรือเบียร์ 1 กระป๋องหรือขวดเล็ก (330 มิลลิลิตร) เป็นต้น ดังนั้น แม้เครื่องดื่มจะถูกเสิร์ฟมาในแก้วหลากหลายรูปแบบ มีลักษณะภายนอก กลิ่น หรือรสชาติที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่พึงระวังคือเครื่องดื่มเหล่านี้ล้วน “ดื่มมาตรฐาน” ไม่เท่ากัน เนื่องมาจากปริมาณแอลกอฮอล์ นั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook