วราวุธ ศิลปอาชา: ผมอยากเห็นสังคมไทยถ้อยทีถ้อยอาศัยมากกว่านี้

วราวุธ ศิลปอาชา: ผมอยากเห็นสังคมไทยถ้อยทีถ้อยอาศัยมากกว่านี้

วราวุธ ศิลปอาชา: ผมอยากเห็นสังคมไทยถ้อยทีถ้อยอาศัยมากกว่านี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภายหลังการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ทำให้เส้นทางอาชีพนักการเมืองของ ท็อป-วราวุธ ศิลปอาชา ลูกชายคนสุดท้องของ นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทยและอดีตนายกรัฐมนตรี กับคุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา ต้องเปลี่ยนผันมาเป็นผู้บริหารทีมฟุตบอลสุพรรณบุรี ในศึกไทยพรีเมียร์ลีก

ก่อนที่ชื่อของ ท็อป วราวุธ จะปรากฏขึ้นอีกครั้งในวาระที่ประเทศไทย กำลังจะกลับมามีการเลือกตั้ง แม้ทุกอย่างยังไม่แน่ชัด ในห้วงเวลาดังกล่าว Sanook! Men มีโอกาสได้พูดคุยกับ ท็อป-วราวุธ ศิลปอาชา ในวันที่สภาพอากาศกำลังเปลี่ยนผ่านจากคิมหันต์ฤดูเข้าสู่วัสสานฤดู ซึ่งนี่คือความไม่แน่นอนของท้องฟ้า ที่พวกเราต่างล้วนอาศัยอยู่ภายใต้หลังคาของธรรมชาติ

กระนั้น ด้วยสภาพอากาศอันไร้ซึ่งความแน่นอน หาได้แตกต่างจากสภาพเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทยไม่ จนอาจกล่าวได้ว่า ห้วงเวลาปัจจุบันในสังคมไทยเป็นห้วงแห่งความคับขัน มิอาจมองหาความแน่นอนใดๆ แต่จนแล้วจนรอดเราก็อยู่กับสิ่งเหล่านี้จนกลายเป็นเรื่องปกติ

เพื่อให้เห็นภาพของสิ่งที่สังคมไทยที่กำลังจะต้องเผชิญอยู่ชัดขึ้น การได้พูดคุยกับ ท็อป วราวุธ ในเวลานี้ จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่า ถึงที่สุดแล้วคนที่ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านฝน ในแวดวงการเมืองมาเกือบ 20 ปี มีมุมมองอย่างไร ถึงบ้านเมืองของเราในช่วงที่ผ่านมา พร้อมมุมมองในเรื่องอื่นๆ ทั้งเรื่องฟุตบอล และในมุมที่เราไม่รู้มาก่อน เช่นการที่ ท็อป วราวุธ เป็นนักดูภาพยนตร์และซีรีส์ตัวยง

คืนสู่เวทีการเมือง

topthumbnail

เราคุ้นชื่อท็อป วราวุธ ศิลปอาชา ในฐานะประธานสโมสรฟุตบอลสุพรรณบุรี ในศึกไทยพรีเมียร์ลีก ทีมที่สร้างปรากฏการณ์ด้วยการเป็นทีมน้องใหม่ ที่สามารถคว้าอันดับเลขตัวเดียวได้ถึง 3 ฤดูกาลติดต่อกัน แต่การจากไปของนายบรรหาร ศิลปอาชา ผู้เป็นบิดา เป็นเหตุให้วราวุธจำต้องหวนคืนสู่แวดวงการเมืองอีกครั้ง

การตัดสินใจกลับมาสู่แวดวงการเมือง เป็นเพราะต้องสานต่อจากสิ่งที่นายบรรหารได้สร้างไว้ ทั้งโครงการคนดีศรีสุพรรณ สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ถนนหนทาง เหล่านี้ผมต้องสานต่อ ถ้าหากผมไม่ทำ ก็เสียทีที่เกิดมาเป็นลูกนายบรรหาร

วราวุธ เล่าต่อไปว่าทราบดีที่การกลับเข้าสู่แวดวงการเมืองครั้งนี้ ล้วนแต่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่ด้วยความไม่แน่นอนดังกล่าว การเมืองไทยก็ยังพอที่จะมีสิ่งสวยงามให้เห็นอยู่บ้าง เพราะไม่ว่าประเทศไทยจะอยู่ภายใต้การปกครองที่ดี หรือการปกครองที่ไม่ดี จะมีหรือไม่มีประชาธิปไตย แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ล้วนเกิดขึ้นจากการเมืองทั้งสิ้น จะด้วยภาคธุรกิจ ภาคอสังหาริมทรัพย์ กฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ทุกอย่างมันก่อร่างจากการเมืองทั้งหมด

เช่นนั้นแล้ว คำกล่าวที่คนทั่วไปมักเอ่ยถึงการเมือง โดยมองว่าการเมืองไทยเป็นเรื่องเลวร้ายในด้านหนึ่งมันก็จริง แต่ก็เพราะการเมืองไม่ใช่หรือที่ทำให้สังคมไทยมีพัฒนาการ เพียงแต่มันอาจจะไม่ใช่สังคมที่ดีที่สุด เทียบกับประเทศอื่นๆ

เมื่อมองถึงการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในกาลอนาคตข้างหน้า แม้ผู้คนจำนวนมากเชื่อว่า น่าจะถึงยุคสมัยของการเมืองเชิงอุดมการณ์มากกว่าการเมืองที่เชือดเฉือนกันด้วยวาทะ อันบังเกิดจากการปรากฏตัวของพรรคอนาคตใหม่ ที่นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ การผลักดันคนรุ่นใหม่ พริษฐ์ วัชรสินธุ ในนามพรรคประชาธิปัตย์ การมาของ ปรีชาพล พงษ์พานิช ตัวแทนของพรรคเพื่อไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา ที่จะผลักดัน วราวุธ ศิลปอาชา

แต่วราวุธ เชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไปที่จะเกิดขึ้น จะยังมิใช่การเมืองเชิงอุดมการณ์อยู่ดี วราวุธให้เหตุผลว่า ตัวเขายังเชื่อในเรื่องทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ว่าด้วยความแตกต่างระหว่างสังคมเมือง และสังคมต่างจังหวัด นั่นเป็นเพราะนักการเมืองแบบเดิม สามารถเข้าใจความต้องการของชาวบ้านตามต่างจังหวัดเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันนักการเมืองหน้าใหม่ ก็อาจตอบโจทย์ความต้องการของคนในกรุงเทพมากกว่า ดังนั้นแล้วการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้น จะเป็นการรวมกันของนักการเมืองหน้าใหม่และนักการเมืองหน้าเก่า ยกตัวอย่างเช่น พรรคอนาคตใหม่ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อาจได้ฐานเสียงมากมายจากสังคมเมือง แต่ในสังคมต่างจังหวัดแล้ว ชื่อของพรรคอนาคตใหม่ยังมีข้อจำกัดบางประการ ซึ่งอาจแตกต่างจากพรรคชาติไทยพัฒนา ที่มีประสบการณ์ทางการเมืองในต่างจังหวัด

ผมอาจมองต่างออกไป นักการเมืองรุ่นใหม่ 100% ไม่มีประโยชน์ มันต้องมีเก่าและใหม่รวมกัน ซึ่งคนรุ่นใหม่อาจจะมีความสดเรื่องมุมมอง แต่ก็ยังต้องอาศัยประสบการณ์ของคนรุ่นเก่า จึงอาจกล่าวได้ว่า การเมืองไทยจะต้องเป็นส่วนผสมของเหล้าเก่ากับเหล้าใหม่ โดยการผสมกันจะต้องเป็นการผสมกันที่ต้องไม่ใช่ 1+1 = 2 แต่ต้องได้ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น โดยที่ 1+1 จะต้องได้เท่ากับ 3”

แล้วด้วยวิธีการใดกันเล่า จึงจะลดการเป็นสองนคราประชาธิปไตย

ท็อป วราวุธ ให้คำตอบในมุมมองของเขาว่า สิ่งสำคัญที่จะลดช่องว่างการเป็นสองนคราประชาธิปไตยได้สำเร็จจำต้องมีการกระจายอำนาจ กระจายความเจริญ ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบสาธารณูปโภค โอกาสทางการศึกษา

top_pyramid2

สมมติว่า เรามองการเมืองไทยเป็นพีระมิด สังคมเมืองอาจจะอยู่กลางพีระมิด ซึ่งการที่สังคมเมืองอยู่กลางพีระมิด เขาก็จะมองเรื่องที่สำคัญในมุมของเขา เช่น การมีประชาธิปไตย การศึกษา แต่สังคมชนบทถ้าเทียบกันแล้ว เขายังอยู่ฐานพีระมิด แน่นอนว่า การอยู่ฐานพีระมิด สิ่งสำคัญคือเรื่องของปากท้อง พรุ่งนี้จะหาอะไรให้ลูกกิน พรุ่งนี้จะเปิดเทอมแล้ว ยังไม่มีเงินซื้อชุดนักเรียน

วราวุธ กล่าวต่อไปว่า ฉะนั้นแล้ว ความต้องการจึงต่างกัน ต้องลดช่องว่างพีระมิดทีละชั้นให้ได้เสียก่อน ถ้าหากไม่สามารถลดช่องว่างพีระมิดได้ มันก็จะเป็นไปในลักษณะที่เห็น ก็คือ สังคมเมืองเลือกส.ส. อย่างหนึ่ง สังคมต่างจังหวัดเลือกอย่างหนึ่ง แค่ในจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งห่างจากกรุงเทพเพียงร้อยกว่ากิโลเมตร ความแตกต่างของสองจังหวัดยังเห็นได้ชัดเลย การยกระดับคุณภาพชีวิตคนต่างจังหวัด จึงจะลดคำว่า สองนคราประชาธิปไตยได้

สิ่งที่น่าเสียดายในสังคมไทย

การที่สังคมไทยติดหล่มทางการเมืองไปถึง 10 ปี เป็นสิ่งที่เสียดายที่สุด เพราะนั่นหมายความว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สังคมไทยเสียเวลาอย่างเปล่าประโยชน์ โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพคนทางด้านการศึกษาขาดความต่อเนื่อง เพราะในประเทศไทยนโยบายการศึกษาจะมีการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล แนวทางการพัฒนาด้านการศึกษาที่น่าสนใจของรัฐบาลชุดก่อน จะไม่ได้รับการสานต่อในรัฐบาลชุดใหม่ คนที่เรียนก็เรียนไป ครูก็สอนไป นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามันเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา จะสิบปีหรือสิบห้าปี ก็ต้องทำอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญผมมองว่า ถ้าหากเป็นนโยบายทางการศึกษาควรเป็นการทำงานร่วมกันของทุกพรรค ไม่ว่าคุณจะเป็นพรรครัฐบาล หรือคุณจะเป็นพรรคฝ่ายค้าน ทุกพรรคการเมืองต้องมานั่งคุย (รวมถึงทหาร) ทำการตกลงร่วมกัน แล้วตั้งให้เป็นวาระแห่งชาติ หากพรรคการเมืองพรรคใด มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลจะดำเนินนโยบายการศึกษาตามที่ตกลงกันไว้

การศึกษาไทยเป็นสิ่งที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่ไม่ใช่วิธีเร่งด่วน ที่ต้องสำเร็จภายใน 3 ปี 5 ปี

img_9533

“สิ่งที่กล่าวมามันเป็นการนำเสนอนโยบายการศึกษาที่ ‘โลกสวย’ แต่ผมก็สงสัยว่า ถ้าเราไม่มองการแก้ปัญหาทางการศึกษาด้วยวิธีที่โลกสวย เชื่อเถอะว่า อีกสิบปีเราก็จะถกเถียงเรื่องการศึกษาด้วยปัญหาเดิมๆ ไม่รู้จบ เราควรจะเริ่มต้นลงมือทำตั้งแต่วันนี้”

บาเยิร์น มิวนิค ทีมฟุตบอลในดวงใจ

แม้ประวัติทางการศึกษา วราวุธ ศิลปอาชา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ประเทศอังกฤษก็จริง ซึ่งใครหลายคนก็เชื่อว่า ประธานสโมสรสุพรรณบุรี น่าจะเป็นแฟนทีมบอลสักทีมหนึ่งในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ แต่ในการสัมภาษณ์ คำตอบที่ได้รับคือ ท็อป วราวุธ เป็นแฟนบอลพันธุ์แท้ของทีมบาเยิร์น มิวนิค จากบุนเดสลีกา เยอรมนี

"นั่นเป็นเพราะว่า บาเยิร์น มิวนิค เป็นทีมฟุตบอลที่เล่นด้วยทีมเวิร์ค เวลาพูดถึงทีมบาเยิร์น มิวนิค ทีมนี้ใครเป็นพระเอกประจำทีม ถึงที่สุดแล้ว เราก็นึกไม่ออก บางคนอาจจะบอกว่า โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ผมคิดว่าไม่ใช่ เพราะที่จริงแล้ว บาเยิร์น มิวนิค ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ รวมกันจนกลายเป็นการเล่นด้วยทีมเวิร์ค ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่า มีความแตกต่างจากทีมอื่นๆ อย่างเรอัล มาดริด ก็ขับเคลื่อนด้วยคริสเตียโน่ โรนัลโด้ หรือแม้แต่บาร์เซโลน่า ก็เป็นลิโอเนล เมสซี่ แต่พอเป็นบาเยิร์น ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีใครใหญ่ไปกว่าสโมสร"

img_9562

สถาบันองค์กรควรเป็นสิ่งที่ใหญ่ที่สุด ผมคิดว่าบาเยิร์น มิวนิค มีลักษณะเหมือนคำกล่าวที่ว่า There is no I in team”

เมื่อถามต่อไปว่า ความแตกต่างระหว่างงานฟุตบอลและการเมือง เหมือนหรือแตกต่างอย่างไร หัวเรือใหญ่ของทีมสุพรรณบุรี ให้เหตุผลว่า การทำงานในฐานะประธานสโมสรฟุตบอล กับการเมืองมีส่วนที่คล้ายกันอยู่บ้าง นั่นคือ ทีมฟุตบอลจะมีนักฟุตบอลราวๆ 30 คน แต่ตัวจริงลงได้ 11 คน แล้วตัวสำรองที่ไม่ได้ลงเล่น จะดูแลนักเตะที่เหลือยังไง เช่นเดียวกับนักการเมือง เนื่องจากตำแหน่งทางการเมืองมีจำกัด ซึ่งจะมีนักการเมืองบางส่วนได้รับตำแหน่ง บางส่วนไม่ได้รับ ควรจัดสรรบาลานซ์อย่างไร ตรงนี้คือเรื่องสำคัญ

แต่การบริหารฟุตบอลมีความแตกต่างกับการเมืองตรงที่ นักการเมืองบางคนจะมีคาแรคเตอร์ที่ไม่เหมือนกัน นักการเมืองคนนี้อาจจะต้องพูดตรงๆ แต่บางคนอาจต้องพูดอ้อมค้อมสักหน่อย ส่วนการดูแลนักฟุตบอลจะต้องดูแลเท่าๆ กัน ไม่ดูแลคนใดคนหนึ่งประหนึ่งซูเปอร์สตาร์ เวลาที่จะชื่นชมนักเตะก็ต้องชมทั้งหมด ไม่ควรเจาะจงเลือกชมใครเป็นพิเศษ ถ้าจะด่าก็ต้องด่าทั้งทีม

สำหรับคาแรคเตอร์ของท็อป วราวุธ ส่วนตัวเขาคิดว่า ตนเองเป็นคนที่มีคาแรคเตอร์สนุกสนาน Work hard, play hard และยินดีรับฟังคอมเมนต์จากทุกๆ คน 

ส่วนเรื่องของไลฟ์สไตล์อื่นๆ ถ้าไม่ใช่ฟุตบอลแล้ว สิ่งที่วราวุธ ชื่นชอบมากที่สุด ก็คือ การปั่นจักรยาน เนื่องจากกีฬาจักรยานเป็นกีฬาที่ท้าทาย เป็นกีฬาที่ใช้ความเร็ว แต่มันไม่ใช่ความเร็วด้วยเครื่องยนต์กลไก หากแต่เป็นความเร็วที่เกิดขึ้นจากแรงปั่น ฝีมือ และความฟิตของตัวเอง

ผมเคยปั่นไปในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเขาใหญ่ เขาเขียว ปั่นจากกรุงเทพไปอยุธยา แล้วปั่นกลับมากรุงเทพ ความท้าทายในการปั่นจักรยานของผม คือ การปั่นรวดเดียว ผมไม่ยอมหยุดง่ายๆ ยิ่งเวลาปั่นขึ้นเขา ผมจะไม่ยอมหยุดจอดแล้วเข็นจักรยานขึ้นเขา แต่จะปั่นเรื่อยๆ อย่างไม่ยอมแพ้

คอหนังตัวยง

ในระหว่างที่ Sanook! Men พูดคุยกับวราวุธ เป็นเวลานับชั่วโมง สิ่งที่บุตรชายนายบรรหาร พูดถึงบ่อยครั้งมากที่สุด นั่นก็คือเรื่องของ ภาพยนตร์ และซีรีส์

เวลาที่ผมเครียด ผมจะเลือกใช้วิธีการดูหนัง ดูซีรีส์ เพราะการดูหนังดูซีรีส์ทำให้ผมหลุดไปอยู่อีกโลกหนึ่ง ก็คือโลกของหนัง มันทำให้ผมคลายเครียดได้ดีมากๆ ต่อจากนั้นก็กินอาหารให้อิ่ม แล้วเข้านอน ซึ่งผมเชื่อว่า ความเครียดหรือปัญหาที่หนักอก มันจะหายไปครึ่งหนึ่ง

ถ้าพูดถึงซีรีส์แล้ว ท็อป วราวุธ กล่าวว่า เขาชื่นชอบการรับชมภาพยนตร์และซีรีส์แนวไซไฟ โดยห้วงเวลานี้ ยกให้ Westworld ที่กำลังดำเนินเรื่องในซีซันที่ 2 เป็นซีรีส์ในดวงใจ ตามด้วยซีรีส์แนวซูเปอร์ฮีโร่ของ DC ไม่ว่าจะเป็น Arrow, The Flash ฝั่ง Marvel เป็น Agents of S.H.I.E.L.D. รวมถึงซีรีส์สืบสวนตระกูล CSI ทั้งหมด

ทำไมต้อง Westworld?

ท็อป วราวุธ บอกว่าชอบ Westworld เพราะมันเป็นซีรีส์ที่สอนมนุษย์หลายอย่าง ประการแรก มันสอนเรื่อง Basic Instinct สมมติว่า ถ้าเราอยู่ในโลกของ Westworld ในฐานะมนุษย์จะประพฤติตัวอย่างไร อีกทั้งมันทำให้เกิดข้อสงสัยต่อตัวมนุษย์โดยตรงว่า แท้ที่จริงแล้ว พื้นฐานของคนเราแต่ละคนเป็นคนยังไง และเมื่อโลกเดินทางไปจุดที่ AI (Artificial Intelligence) พัฒนามากๆ สุดท้ายแล้ว AI มันจะให้โทษแก่หรือไม่ แล้วจะควบคุมอย่างไร จะผสมผสานการใช้งาน AI กับชีวิตในฐานะ มนุษย์ อย่างไร

พร้อมกันนี้ การมีอยู่ของซีรีส์เรื่องนี้ มันทำให้คิดถึงนโยบายทางการเมืองว่า ถ้าโลกเราไปถึงจุดที่ AI พัฒนาก้าวไกลสุดๆ คนที่ทำงานการเมืองหรือมีอำนาจจะคุ้มครองคนด้วยกันเองยังไง นั่นจึงทำให้ชอบภาพยนตร์หรือซีรีส์ เพราะมันให้แง่คิดมากพอสมควร

คำถามสุดท้าย ในฐานะที่เป็นนักการเมือง ในมุมมองของวราวุธ ศิลปอาชา อยากเห็นสังคมไทยในอุดมคติอย่างไร

img_9556

See not with your eyes, but your heart.

Listen not with your ears, but with your mind.

Speak not with your mouth, but with your action.

(อย่ามองด้วยตา ให้มองด้วยใจ อย่าใช้หูฟัง แต่จงใช้ใจฟัง และจงพูดด้วยการกระทำ)

"ถ้าสังคมไทยถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมากขึ้น ลดการดู การฟัง อย่างผิวเผิน เวลาเห็นสิ่งใดอย่าเพิ่งพูดทันที จงยั้งคิดเสียก่อน แล้วมองด้วยสติ ฟังด้วยใจ ทำให้มากกว่าพูด ผมคิดว่าสังคมไทยน่าจะดีขึ้น"

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ วราวุธ ศิลปอาชา: ผมอยากเห็นสังคมไทยถ้อยทีถ้อยอาศัยมากกว่านี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook