พหุวัฒนธรรม ชีวิตในอเมริกา หลอมตัวตนจนเป็น “Madsaki” ศิลปินสตรีทอาร์ทดาวรุ่งของโลก

พหุวัฒนธรรม ชีวิตในอเมริกา หลอมตัวตนจนเป็น “Madsaki” ศิลปินสตรีทอาร์ทดาวรุ่งของโลก

พหุวัฒนธรรม ชีวิตในอเมริกา หลอมตัวตนจนเป็น “Madsaki” ศิลปินสตรีทอาร์ทดาวรุ่งของโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สตรีทอาร์ท (Street Art) หรือศิลปะข้างถนน ได้รับการยอมรับนับถือมากขึ้น กระทั่งกลายเป็นงานศิลป์กระแสหลัก ที่พบเห็นได้ทั่วไปบนท้องถนนตามเมืองใหญ่ๆ ของโลก

สืบเนื่องจากการที่ศิลปะแบบสตรีทอาร์ท เป็นงานศิลปะที่สะท้อนสัญลักษณ์ออกมาจากเนื้องาน โดยมีบ่อเกิดจากสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของศิลปิน และงานศิลป์ทุกชิ้น ก็จะรับใช้ ปลุกเร้า ในสิ่งที่คนทั่วไปรู้สึกแต่ไม่สามารถแสดงออกมาได้ นั่นจึงเป็นความโดดเด่นของสตรีทอาร์ท

และเป็นห้วงเวลาที่เหมาะสมยิ่ง เมื่อ Madsaki หนึ่งในศิลปินสตรีทอาร์ทรุ่นใหม่ ผู้ซึ่งแผ้วถางทางจนกลายเป็นดาวดวงใหม่ที่กำลังเจิดจรัส กลายเป็นศิลปินดาวรุ่งหน้าใหม่ที่อยู่นำหน้าเหนือศิลปินอีกนับร้อย นับพัน กำลังเปิดการแสดงครั้งแรกของตัวเอง บนผืนแผ่นดินขวานทองคำ

โอกาสที่ดี กาลเวลาที่ใช่ นั่นจึงทำให้ Sanook! Men มีโอกาสพูดคุยกับ Madsaki เป็นครั้งแรก

madsaki2Madsaki

Madsaki เริ่มต้นด้วยการบอกว่า เขาเป็นคนญี่ปุ่นลืมตาดูโลกในโอซาก้า แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้เด็กชาย Madsaki ในวัย 6 ขวบ จำต้องย้ายถิ่นฐานบ้านเกิดตามครอบครัวไปยังนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

“ผมคิดว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมรู้จักกับคำว่า ศิลปะ น่าจะมาจากการที่ตอนผมย้ายไปอยู่อเมริกา ผมไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้เลย ทำให้การสื่อสารพูดคุยกับเด็กคนอื่นๆ จึงเป็นไปในลักษณะของการวาดภาพแทนคำพูด”

ด้วยเหตุดังกล่าวกระมัง จึงทำให้เด็กชาย Madsaki ที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ให้ความสนใจในงานด้านศิลปะ จนเมื่อเรียนจบไฮสคูล จุดมุ่งหมายของ Madsaki เลยมุ่งมาดไปที่ Parsons School of Design เพื่อตอบสนองความทะเยอทะยานในการเป็นศิลปินชั้นแนวหน้า

“พอได้เข้าไปเรียนใน Parsons ก็ได้ทราบว่า มันก็ไม่ใช่ตัวตนของผมสักเท่าไหร่ แต่การเรียนที่นั่นก็ช่วยหล่อหลอมบางสิ่งบางอย่าง กระทั่งออกมาเป็นงานในรูปแบบสตรีทอาร์ทอย่างที่คุณได้เห็นกัน เช่น การหยิบภาพยนตร์ การนำคำพูดต่างๆ มาสร้างสรรค์ หรือแม้แต่การ์ตูนที่ผมเคยดูในวัยเด็กก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในผลงาน”

559049Salvator Mundi ของดา วินชี ที่ Madsaki ตีความใหม่

เมื่อดูจากงานของ Madsaki มักจะเห็นได้ว่า งานส่วนใหญ่ของเขามักจะเป็นการดัดแปลงผลงานของศิลปินระดับโลกมาตีความใหม่ รวมถึงการนำวัฒนธรรมป็อป (Pop Culture) เข้ามาแต่งแต้มใหม่ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง

แต่กว่าที่มันจะกลายเป็นเอกลักษณ์บนชิ้นงานของตัวเองได้นั้น มันก็มีหลายปัจจัยเข้ามาผสมผสาน ตั้งแต่เรื่องในวัยเด็ก การได้สัมผัสวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย ซึ่งนิวยอร์ก คือเมืองที่เป็นตัวแทนของความหลากหลาย มีคนหลายชาติพันธุ์ หลากความเชื่อ หลายศาสนาอยู่ร่วมกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ Madsaki ได้รับการซึมซับจนกลายเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างงาน และออกมาเป็นผลงานดังที่เห็น

ส่วนเรื่องของแรงบันดาลใจ Madsaki อธิบายว่า ทุกห้วงเวลาของชีวิตล้วนแต่เป็นแรงบันดาลใจของเขาไปหมดทุกสิ่งอย่าง ทั้งการท่องเที่ยว อ่านหนังสือ การดูการ์ตูนญี่ปุ่นและการ์ตูนอเมริกา แต่ที่ชอบที่สุด ก็เป็นการรับชมภาพยนตร์ โดยเฉพาะ Goodfellas ของมาร์ติน สกอร์เซซี ที่ดูมาแล้วไม่ต่ำกว่า 300 ครั้ง

“อันที่จริง เมื่อพูดถึงเรื่องแรงบันดาลใจ ทุกวันนี้ผมก็ยังตั้งคำถามกับตัวเองทุกวัน มีการตั้งคำถามถึงตัวผมเองเสมอๆ”

480475ภาพ Le Reve 2 หนึ่งในผลงานเอกของ Madsaki

จุดเด่นในงานของ Madsaki ก็คือ ตัวละครที่อยู่ในภาพมักจะมีหยดน้ำใสๆ ที่ดูคล้ายหยาดน้ำตาบนใบหน้าปรากฏออกมาอยู่เสมอ ซึ่งแน่นอนว่า คนที่ดูงานศิลปะของเขา มักจะตีความไปต่างๆ นานา และเชื่อว่า มันต้องมีนัยสำคัญอะไรบางอย่างซ่อนอยู่

“มีนัยสำคัญหรือไม่ ให้ผู้เสพงานศิลป์คิด พิจารณา และตีความด้วยตัวเองดีกว่า แต่ในมุมมองของคนรังสรรค์ มันก็มี แต่ผมขอไม่บอกดีกว่า”

อย่างไรก็ตาม หากใครที่คิดจะดำรงชีพด้วยการเป็นศิลปินนั้น ควรทำใจเนิ่นๆ ด้วยว่า การเป็นศิลปินไม่ใช่เรื่องง่าย ตรงกันข้ามกลับเป็นสิ่งที่มีความยากลำบาก เพราะนับตั้งแต่ Madsaki จบการศึกษาจาก Parsons เมื่อครั้งที่ยังหนุ่มยังแน่น แต่กว่าที่ Madsaki จะเริ่มเป็นที่รู้จักนั้น อายุก็ปาเข้าไปถึง 42 ปีแล้ว ดังนั้นการที่จะสร้างชื่อเสียงในวงการนี้ได้ จะต้องใช้เวลา อดทนนับสิบๆ ปี

img_7446_resizeMadsaki

“มีผู้คนสงสัยว่า การเป็นศิลปินในญี่ปุ่นกับอเมริกาแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน ซึ่งที่จริงมันค่อนข้างพูดยาก ในอเมริกามีคนที่ได้ชื่อว่าศิลปินเต็มไปหมด ก็อยู่ที่ว่าคุณจะสร้างสรรค์ผลงานในแบบที่เป็นตัวคุณอย่างไร แต่ในญี่ปุ่นการจะเป็นศิลปินก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่าย เพราะมันก็ยังไม่ใช่อาชีพที่สามารถเลี้ยงชีพคุณได้ตลอดรอดฝั่ง ดังนั้นแล้วทั้งอเมริกาและญี่ปุ่น การเป็นศิลปินจึงเป็นเรื่องยาก ต่างกันแค่ว่ายากคนละแบบ”

สำหรับนิทรรศการครั้งแรกของ Madsaki บนผืนแผ่นดินประเทศไทยนั้น เขาได้เลือกชื่อ Combination Platter เนื่องจากการจัดแสดงครั้งนี้เป็นการรวบรวมผลงานที่หลากหลาย ให้ทุกคนได้รับชม ซึ่งมีครบตั้งแต่งานปั้น และงานวาด เสมือนเป็นการรวบรวมอาหารที่มีความหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ผู้ชมได้ลิ้มลองรสชาติที่แตกต่าง แต่เอร็ดอร่อยบนจานที่เสิร์ฟรวมกันบนจานเดียว

ไม่ว่าคุณจะรู้จัก Madsaki มาก่อนหรือไม่ก็ตาม แต่เชื่อเถอะว่า ผลงานทุกชิ้นในนิทรรศการ Combination Platter ล้วนเป็นผลงานที่ผ่านกระบวนการทางความคิดเป็นอย่างดี โดยงานทุกชิ้นถูกสื่อออกมาจากเบ้าหลอมทางวัฒนธรรม และส่งต่อแนวความคิดที่สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย 

Combination Platter เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมงานแล้วที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ระหว่างวันที่ 8 พฤษภาคม ถึง 3 มิถุนายนนี้

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ พหุวัฒนธรรม ชีวิตในอเมริกา หลอมตัวตนจนเป็น “Madsaki” ศิลปินสตรีทอาร์ทดาวรุ่งของโลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook