“ปรีชาพล พงษ์พานิช” ในบทบาท ส.ส. เพื่อไทยและคุณพ่อลูกสอง

“ปรีชาพล พงษ์พานิช” ในบทบาท ส.ส. เพื่อไทยและคุณพ่อลูกสอง

“ปรีชาพล พงษ์พานิช” ในบทบาท ส.ส. เพื่อไทยและคุณพ่อลูกสอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ว่าสถานการณ์การเลือกตั้งจะยังไม่แน่นอน แต่ช่วงที่ผ่านมา การเมืองไทยดูจะมีสีสันมากขึ้นทั้งจากการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ ที่บริหารงานโดยคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยผ่านสมรภูมิการเมืองมาก่อน และบทบาทของพรรคการเมืองเก่า ที่ชูบทบาทของนักการเมืองรุ่นใหม่มากขึ้นกว่าที่เคย หนึ่งในนั้นก็คือ “พรรคเพื่อไทย” ที่เปิดตัวตัวแทนพรรคอย่าง “ปรีชาพล พงษ์พานิช” หรือ “ป๋อม” ผู้ซึ่งเคยเข้าสู่แวดวงการเมืองเมื่อ 11 ปีก่อน และยังเป็นทายาทของ ส.ว. หญิงคนดังอย่างคุณระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช

ในขณะที่คุณแม่ปรากฏตัวอยู่ในพื้นที่สื่อบ่อยครั้ง แต่เรากลับเห็นข้อมูลเกี่ยวกับลูกชายไม่มากเท่าไรนัก ดังนั้น Sanook! Men จึงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับนักการเมืองหนุ่มผู้นี้ให้มากกว่าเดิม ทั้งในฐานะนักการเมืองไฟแรงและคุณพ่อของลูกสาวฝาแฝด ที่หวังจะพัฒนาโลกที่ดีกว่าเดิมสำหรับคนรุ่นลูกรุ่นหลาน

“ผมเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ว่าซึมซับความเป็นคนต่างจังหวัดจากพ่อแม่มาเยอะ แล้วก็ภาคภูมิใจในความเป็นคนต่างจังหวัด ผมไม่อายที่จะพูดภาษาอีสาน หรือทักทายคนอีสาน ผมรู้สึกว่านี่คือเสน่ห์ของความเป็นคนต่างจังหวัดที่กรุงเทพฯ ไม่มี หรือมีน้อย เพราะคนกรุงเทพฯ ต่างคนต่างอยู่มากกว่า” คุณป๋อมเปิดบทสนทนาด้วยน้ำเสียงสดใส พร้อมเล่าว่าตนเกิดในครอบครัวข้าราชการ โดยคุณพ่อ คือคุณเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รับราชการอยู่กระทรวงมหาดไทย ส่วนคุณแม่รับราชการอยู่กระทรวงการคลัง และยังได้ยินได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับคุณตาที่เคยเป็นครูประชาบาล และเป็นสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) ถึง 5 สมัย ซึ่งเคยพาพรรคพวกวิ่งเกาะรถของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อขอยกฐานะตำบลหนองสองห้อง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตน ให้เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น

“เมื่อก่อนเส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปอีสานจะต้องผ่านอำเภอบ้านผม คืออำเภอหนองสองห้อง เดี๋ยวนี้ไม่ผ่านแล้วเพราะว่ามีถนนมิตรภาพตัดผ่าน คุณตากับพวกวิ่งเกาะรถจอมพลสฤษดิ์ เพื่อที่จะขอยกฐานะให้ตำบลหนองสองห้อง เป็นอำเภอ ตอนนั้นหนองสองห้องเป็นตำบลห่างไกล อยู่ทางใต้ของจังหวัด ติดกับโคราช บุรีรัมย์ มหาสารคาม ตอนที่ผมไปขอนแก่นครั้งแรก คุณตาเสียแล้ว คุณน้าก็มาทำงานการเมืองต่อ เป็น สจ. อีก 5 สมัย แล้วก็ทำโรงเรียนไปด้วย ดังนั้น ทุกครั้งที่ผมไปเยี่ยมคุณยาย ก็ไปช่วยรับแขก ไปนั่งคุย เพราะมีนิสัยรับแขกตั้งแต่เด็ก ช่วงน้าเราลงเลือกตั้ง เราก็ไปช่วยแจกใบปลิว ไปช่วยในงานปราศรัย แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองจะลงการเมืองเลยนะ เพราะยังเด็กมาก” คุณป๋อมเล่า

นอกจากการซึมซับบรรยากาศการเลือกตั้งในต่างจังหวัด สิ่งที่หล่อหลอมตัวตนของนักการเมืองหนุ่มวัย 37 ปี ผู้นี้ คือคำสั่งสอนและตัวอย่างจากพ่อแม่ ทั้งการรับฟังผู้อื่น ความมีเหตุมีผล และการใช้เวลาอย่างรู้คุณค่า

“พ่อเป็นคนที่ทำงานหนักมาก และไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ กับลูก เพราะรับราชการอยู่ต่างจังหวัด นานๆ จะกลับมาที พ่อก็จะสอนว่า คนเรามี 24 ชม. เท่ากัน ทำมากทำน้อยอยู่ที่ตัวเรา ต้องมีความขยัน อดทน ไม่เอาเปรียบคน ทุ่มเท ขยัน จริงจัง จริงใจ ซื่อสัตย์ แล้วก็ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แม่ก็จะสอนเรื่องคุณธรรม ความมีน้ำใจ มีความเมตตากรุณาต่อผู้อื่น แล้วก็สอนว่าถ้ามีโอกาส ให้ช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาสกว่า ผมก็เป็นส่วนผสมของคุณพ่อกับคุณแม่”

คุณป๋อมเล่าว่าเขามีความฝันหลายอย่าง ทั้งวิศวกร ทหาร และนักการเมือง เขาเลือกเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย แต่เมื่อเวลาผ่านไป และความสนใจเรื่องเหตุบ้านการเมืองต่างๆ ทำให้เขาตัดสินใจเลือกเรียนวิชาที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเมือง เมื่อเข้าสู่ระดับปริญญาโท นั่นคือเศรษฐศาสตร์การเมือง ก่อนที่จะกลับมารับราชการทหารประจำสำนักงบประมาณ กระทรวงกลาโหม เพื่อเดินตามความฝันอีกอย่างหนึ่งในที่สุด

“คนเรามีความฝันหลายอย่าง แต่จะมีสักกี่คนที่จะได้ทำตามความฝันของตัวเองได้ ขึ้นอยู่กับโอกาสและจังหวะ ผมได้เป็นวิศวกรอยู่ช่วงหนึ่ง เมื่อได้ออกไซต์งานสมัยที่อยู่ต่างประเทศ แต่ก็เป็นช่วงสั้นๆ แล้วเราก็รู้ว่าเราไม่เหมาะ ผมเรียนวิศวะเพราะผมอยากทำตามความฝัน ผมได้เป็นและรู้แล้ว ทหารก็กลับมาเป็น ได้อยู่ในสังคมราชการ ได้เรียนรู้การทำงาน ได้เรียนรู้วิธีคิดของราชการ เอามาปรับใช้กับงานของเรา ต่อไปก็คือเส้นทางทางการเมืองซึ่งผมรู้แล้วว่าน่าจะเป็นเส้นทางสุดท้ายในด้านอาชีพ” คุณป๋อมกล่าว

พ.ศ. 2550 คุณป๋อมในวัย 27 ปี ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมือง โดยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดขอนแก่น เขต 2 สังกัดพรรคพลังประชาชน และนับว่าเป็น ส.ส.ชายที่มีอายุน้อยที่สุด ซึ่งมาพร้อมกับความตั้งใจที่จะลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ

“ผมมองว่าตัวผมมีความพร้อม หนึ่งคือผมได้รับการศึกษามา สองคือครอบครัวสนับสนุน สามคือผมมีความตั้งใจ และผมก็เห็นว่าเราไม่สามารถไปบังคับใครได้ ถ้าเรามีโอกาสแล้วไม่ลงมือทำเอง ใครจะทำให้เรา และผมคิดว่าชีวิตคนเรามันสั้น เมื่อมันสั้นแล้ว จะฝากอะไรดีๆ ไว้กับแผ่นดินนี้ เราต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงที่มันดีขึ้นกับประชาชนแล้วก็ประเทศ และเมื่อถึงจุดหนึ่งที่เราอาจจะทำประโยชน์ได้น้อยลง มีคนที่ทำหน้าที่ได้ดีกว่าเรา เราก็ต้องถอยตัวเอง เปิดโอกาสให้เขาทำ อย่าไปตายคาเก้าอี้ ถ้าเรายังทำประโยชน์ได้ดีอยู่ เราก็ทำต่อไป บ้านเมืองไม่ใช่ของเราคนเดียว เป็นของทุกคน ถ้าไม่มีการผิดพลาดอะไร ผมก็จะเกษียณตัวเองตอนอายุ 60 ปี” คุณป๋อมกล่าวหลังจากการเดินทางบนเส้นทางการเมืองนาน 11 ปี ผ่านทั้งความยุ่งเหยิงของการเมืองไทย และความขัดแย้งทางความคิดระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ซึ่งคุณป๋อมมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นในยุคที่เขาเพิ่งเป็น “น้องใหม่” หรือแม้จะกลายเป็น “รุ่นพี่” ในทางการเมืองแล้วก็ตาม

“ตอนที่เข้าพรรคไปใหม่ๆ ก็กังวลเหมือนกันว่าเขาจะฟังเราไหม เพราะว่าพรรษาทางการเมืองเราก็น้อย อายุเราก็น้อย สิ่งที่เรามีไม่น้อยกว่าคนอื่นก็คือความตั้งใจ มันก็ต้องใช้เวลาในการที่จะนำเสนอ การพูดครั้งแรกหรือนำเสนออะไรใหม่ๆ คนอาจจะไม่เปิดใจพร้อมที่จะยอมรับทันที แต่ถ้าเรานำเสนอในทิศทางที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วย และเป็นทิศทางที่ดี ที่สมควร มันก็จะค่อยๆ ได้รับการยอมรับมากขึ้น ถ้าเรามีหลักในการทำงานของเรา สิ่งที่เราพูดอยู่ในร่องในรอย หรือเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น มันก็จะได้รับการยอมรับ มันอยู่ที่ความตั้งใจและคุณภาพ โอกาสมันมีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพิสูจน์ตัวเอง

“ความเห็นที่แตกต่างเป็นความสวยงามของประชาธิปไตย ทำอย่างไรเราจะอยู่กันได้โดยเอาคนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ทุกยุคเข้ามาผสมผสานกัน เพราะการทำงานต้องเรียนรู้อดีต มองปัจจุบัน แล้วก็ทำเพื่ออนาคต ประสบการณ์ของคนรุ่นเก่า ผสมผสานกับความรู้ ความเข้าใจ ความทันสมัย ความก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ มันก็จะผสมกลมกลืนออกมาเป็นสูตรที่มันลงตัวกับทุกคน ทุกยุค ทุกวัย” คุณป๋อมกล่าว พร้อมเสริมว่าตนยังคงมีความหวังกับนักการเมืองรุ่นใหม่ ซึ่งแม้จะมีที่มาแตกต่างกัน แต่สุดท้ายควรจะก้าวไปสู่จุดเดียวกันคือการส่งเสริมประชาธิปไตย ให้สามารถพัฒนาไปสู่จุดที่แข็งแรงได้

ในวัย 37 ปี คุณป๋อมผ่านจุดเปลี่ยนในชีวิตมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ดูเหมือนว่าการเมืองจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของเขาไปมากที่สุด จากคนรักการออกกำลังกายที่มีนัดเตะฟุตบอลกับเหล่าผู้ปกครองของเพื่อนลูกสาวทุกสัปดาห์ กลายเป็นการออกกำลังกายที่สามารถทำคนเดียวได้ในยามว่างเว้นจากงาน ซึ่งมักจะไม่ตรงกับคนอื่นๆ เช่น ว่ายน้ำและปั่นจักรยานในห้องออกกำลังกาย รวมทั้งใช้เวลาอยู่กับลูกสาวฝาแฝด “ลนา” และ “ลิดา” ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับคุณพ่อทั่วไป ที่เมื่อมีลูกก็จะเริ่มระมัดระวังตัวเองมากขึ้น จากที่เมื่อก่อนใช้ชีวิตตามสบาย ไม่เกรงกลัวสิ่งใด

“เมื่อมีเวลาว่าง ผมชอบพาลูกไปทำบุญแล้วภรรยาก็ชอบทำบุญมาก ทำงานเยอะแค่ไหน มีเวลาก็เข้าวัด ทำบุญทำทาน เลี้ยงพระ ผมมีเวลาอยู่กับลูกน้อย ก็พยายามปลูกฝังให้เขาเข้าวัดเข้าวา ให้เขามีธรรมะในจิตใจ โตขึ้นไปก็จะได้ไม่เอาเปรียบคนอื่น เราไม่ได้อยากให้ลูกเราเก่ง แต่อยากให้ลูกเราเป็นคนดี ถ้าสังคมจะเชิดชูคนเก่ง มีความสามารถ แต่ขาดคุณธรรม มันอยู่ไม่ได้หรอก”

ผมจะพยายามให้เวลากับลูกอย่างเต็มที่ เพราะชีวิตคนเราไม่แน่นอน พรุ่งนี้ผมอาจจะไม่อยู่แล้วก็ได้ แต่ผมไม่อยากพลาดพัฒนาการของเขาในทุกๆ ช่วง ในโทรศัพท์ผมจะเต็มไปด้วยรูปลูก แล้วก็จะทำใจลบรูปลูกไม่ได้ ต่อให้เป็นรูปเบลอๆ หลับตาข้างเดียว แต่ไม่อยากให้ลูกเป็นนักการเมืองนะครับ ถ้าเขาจะเป็นก็เพราะเขาอยากเป็น เพราะมันเป็นอาชีพที่เหนื่อย โชคดีที่ภรรยาก็มีธุรกิจของเขา ถ้ามีสามีเป็นนักการเมืองอย่างเดียวคงไม่รอด เพราะมีแต่ให้คน ไม่มีอะไรเข้ามา” คุณป๋อมกล่าว

การเมืองไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงการใช้เวลาส่วนใหญ่ของคุณป๋อมเท่านั้น เรื่องเล็กๆ อย่างรสนิยมการอ่านหนังสือหรือฟังเพลงก็ดูจะได้รับผลกระทบไปด้วย จากเด็กหนุ่มที่ชอบอ่านหนังสือทุกประเภท โดยเฉพาะนวนิยายไทย คุณป๋อมในปัจจุบันนี้มีหนังสือเล่มโปรดที่อ่านประจำคือ “รัฐธรรมนูญ” และต้องทิ้งหนังสือประเภทอื่นๆ ไปโดยปริยาย

“ผมชอบอ่านหนังสือ อ่านนิยาย บางทีก็อ่านบทละคร เพราะเราอยู่เมืองนอก ไม่ได้ดูละคร เราก็หาหนังสืออ่าน และผมว่าหนังสือมันบรรยายรายละเอียดได้เห็นภาพมากกว่าโทรทัศน์ ฟังดูไม่เหมือนผู้ชาย สมัยก่อนผมชอบอ่านเรื่องเรือนมยุรา แล้วก็จะพร่ำเพ้อว่าแฟนเราต้องเหมือนแม่นกยูงนะ ผมอ่านนิยายไทยเยอะมากจนแม่ห้ามอ่าน เดี๋ยวติด เล่มหนึ่งผมอ่านไม่กี่วันหรอก เหมือนดูซีรีส์น่ะ”

“ส่วนเพลงผมชอบฟังเพลงสบายๆ ฟังทุกแนว ขอให้ติดหู เมื่อก่อนตอนอยู่เมืองนอกชอบฟังเพลงเพื่อชีวิตมาก แอ๊ด คาราบาว, หงา คาราวาน, พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์, ฤทธิพร อินทร์สว่าง ผมว่าเพลงพวกนี้สอนเรื่องชีวิต บทเพลงมันสะท้อนชีวิตคน เป็นประสบการณ์ของแต่ละคนที่นักแต่งเพลงเอามาเขียน เราฟังแล้วก็ได้ความรู้ ได้คติสอนใจด้วย พอมาช่วงหลังๆ จะฟังลูกทุ่ง เพราะว่าเวลาไปงานก็ต้องร้องเพลงลูกทุ่ง จะไปร้องเพลงแบบพี่เบิร์ด มันก็ไม่ค่อยเข้ากับคนต่างจังหวัด ตอนนี้ลูกร้องตามหมดแล้ว” คุณป๋อมเล่าติดตลก

และเมื่อถามถึงสิ่งที่ควรได้รับการพัฒนามากที่สุด เพื่อคุณภาพชีวิตของคนรุ่นหลัง นักการเมืองและคุณพ่อลูกสองผู้นี้มองว่า “กระบวนการทางความคิดและวิสัยทัศน์” เป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด

“เราเห็นตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันแล้วว่าเผด็จการไม่ได้สร้างสิ่งดีๆ ให้กับบ้านเมือง มันอาจจะมาหยุดความวุ่นวายได้ในช่วงหนึ่ง แต่ถามว่ามันหยุดได้จริงหรือไม่ หรือแค่กดไว้เฉยๆ คุณนั่งทับขยะไว้ไหม หรือเอาขยะทิ้งไป แล้วโอกาสที่สูญเสียไป มันทำให้ขณะที่คนอื่นเขาวิ่ง แต่เราเดินหน้า 2 ก้าว ถอยหลัง 3 เหมือนคนเมา ทุกคนต้องช่วยกัน เราหวังกับคนรุ่นใหม่ที่จะมีความคิดก้าวหน้าไปเป็นสังคมที่เป็นประชาธิปไตย เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เคารพความเห็นต่าง แล้วก็ปล่อยให้ประชาธิปไตยได้มีพัฒนาการของมัน ไม่ต้องไปสร้างโน่นนี่ แต่ต้องปลูกจิตสำนึก บ้านเมืองนี้จะเดินไปได้ก็อยู่ที่ความคิดของคน เราอยากเห็นบ้านเมืองที่ดีในอนาคตสำหรับลูกของเรา ให้ลูกหลานเราสามารถอยู่ต่อไปได้ และทุกคนมีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นอะไร หรือตำแหน่งใดก็ตาม” คุณป๋อมสรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook