โยชิฮาระ โยชินโดะ ช่างผู้สร้างศิลปะในอาวุธสังหาร

โยชิฮาระ โยชินโดะ ช่างผู้สร้างศิลปะในอาวุธสังหาร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำหรับเพื่อนๆ ที่ชื่นชอบเรื่องราวเกี่ยวกับซามูไร (士) หรือสนใจเล่นเคนโด (剣道) แล้ว การได้ดาบซามูไรของแท้สักเล่มมาครอบครองก็คงเป็นความใฝ่ฝันหนึ่งก็ว่าได้ แต่ดาบที่ดีก็ต้องมาจากช่างฝีมือดี แล้วช่างตีดาบอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นคือใครกันล่ะ? มาทำความรู้จักกับโยชิฮาระ โยชินโดะ (吉原義人) ช่างตีดาบชั้นเลิศของยุคเรากัน

ชื่อของเขาคือโยชิฮาระ โยชินโดะ
ปัจจุบันญี่ปุ่นมีช่างตีดาบทั่วประเทศประมาณ 300 คนแต่มีเพียง 30 คนเท่านั้นที่สามารถตีดาบเป็นอาชีพหลักได้ และโยชิฮาระ โยชินโดะคือหนึ่งในนั้นค่ะ โยชิฮาระซังเกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 ณ จังหวัดโตเกียว (東京都) ตั้งแต่วัยเด็ก เขาได้ใช้เวลาในโรงตีดาบกับโยชิฮาระ คุนิอิเอะ (吉原国家) ซึ่งเป็นทั้งปู่ของเขาและเป็นช่างตีดาบผู้มีบทบาทในการผลิตดาบให้กับกองทัพญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

โยชิฮาระ คุนิอิเอะ
อย่างไรก็ตาม โยชิฮาระซังก็ไม่ได้เริ่มตีดาบเป็นของตัวเองจนกระทั่งอายุ 22 ปีเมื่อเขาได้จดทะเบียนเป็นช่างตีดาบ และเมื่อปีค.ศ. 1973 เขาได้ชนะเลิศการแข่งขันตีดาบ Shinsakumeitouten (新作名刀展) ด้วยวัย 30 ปี โดยก่อนรับรางวัลเจ้าชายโนบุฮิโตะ (高松宮宣仁親王) ทรงโปรดให้มีการทดสอบดาบหรือทาเมะชิงิริ (試し切り) ซึ่งเป็นการทดสอบความคมของดาบโดยการฟันมัดฟาง โดยมีจุดประสงค์คือเพื่อให้แน่ใจว่าดาบที่ได้รับรางวัลนี้จะมีทั้งความงามในฐานะผลงานทางศิลปะและสามารถใช้งานได้จริง สำหรับผลการทดสอบนั้นบ้างก็ว่าหลังจากเจ้าชายได้ทอดพระเนตรเห็นคุณภาพในผลงานของโยชิฮาระซังแล้วก็ไม่เคยโปรดให้มีการทดสอบทาเมะชิงิริอีกเลย

โยชิฮาระ โยชินโดะทำการทดสอบทาเมะชิงิริ
ต่อมาในปีค.ศ. 1982 หลังจากที่เขาชนะเลิศในการแข่งขันตีดาบประจำปีติดต่อกันถึง 7 ครั้ง  เขาได้รับการยกย่องให้อยู่ในตำแหน่งมุคันสะ (無監査) ซึ่งเป็นตำแหน่งสำหรับผู้ที่มีความสามารถอยู่ในระดับสูงเกินกว่าจะเข้าแข่งขันได้ นอกจากผลงานในการแข่งขันแล้ว เขายังได้รับเชิญให้เป็นผู้ตีดาบศักดิ์สิทธิ์ในพิธีตีดาบของศาลเจ้าอิเสะ (伊勢神宮) ที่ถูกจัดขึ้นทุกๆ 20 ปีทั้งหมด 3 ครั้งด้วยกัน

ล่าสุดเมื่อปี 2014 ผลงานของเขา Tentetsutou (天鉄刀) ดาบที่ถูกตีขึ้นจากเหล็กผสมกับเหล็กจากอุกกาบาต Gibeon ที่ตกในประเทศนามิเบีย ทวีปแอฟริกา เมื่อ 450 ล้านปีก่อนได้ถูกนำมาจัดแสดงที่โตเกียวสกายทรีในฐานะสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาการของมนุษย์กับอวกาศ

ดาบ Tentetsutou
นอกจากผลงานในประเทศญี่ปุ่นแล้ว เขายังเดินทางไปยังประเทศอเมริกาและเปิดโรงตีดาบที่ดัลลาสและซานฟรานซิสโกเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมญี่ปุ่นให้เป็นที่รู้จักในซีกโลกตะวันตกอีกด้วย ปัจจุบันโยชิฮาระซังวัย 74 ปีมีลูกศิษย์อยู่ 6 คนและกำลังถ่ายทอดศิลปะการตีดาบให้ลูกชายคือโยชิฮาระ โยชิคาสุ (吉原義一)

กว่าจะเป็นช่างตีดาบ
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วเพื่อนๆ อาจจะสงสัยว่ากว่าจะเป็นช่างตีดาบได้ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง จากบทสัมภาษณ์โยชิฮาระซังได้เล่าว่าการจะเป็นช่างตีดาบได้ต้องผ่านการฝึกเป็นเวลา 10 ปีเป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ยังต้องสามารถทำงานทุกส่วนของกระบวนการตีดาบได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำเครื่องมือเอง การดูแลและตีเหล็กให้ขึ้นรูป การทำตราประทับที่ตัวดาบ และการทำฝักดาบเป็นต้นค่ะ อาจกล่าวได้ว่าหากทำไม่ได้ทั้งหมดก็ไม่สามารถเป็นช่างตีดาบมืออาชีพได้

 

ในด้านการฝึกฝนนั้น ดูจากการทำงานในโรงตีดาบของโยชิฮาระซังแล้วบางครั้งลูกศิษย์จะทำงานเองในความเงียบโดยมีโยชิฮาระซังยืนดูอยู่ห่างๆ แต่ก็ไม่ได้ให้คำแนะนำหรือบอกกำกับอะไรแต่อย่างใด โดยโยชิฮาระซังเคยให้เหตุผลในบทสัมภาษณ์หนึ่งว่าเขาไม่ต้องการลูกศิษย์ที่ไม่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง กล่าวคือการเรียนรู้ด้วยตัวเองก็เป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติหนึ่งที่ช่างตีดาบต้องมี

กว่าจะเป็นดาบหนึ่งเล่ม
เพื่อนๆ อาจจะคิดว่าช่างคนหนึ่งสามารถตีดาบเล่มนึงขึ้นมาด้วยตัวคนเดียวได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วการตีดาบต้องใช้แรงงานคนถึง 4 คนด้วยกันและในการตีดาบแต่ละเล่มที่ต่างกันออกไปบางครั้งก็ต้องใช้เครื่องมือที่ต่างกันออกไปเช่นกัน และยิ่งเมื่อเครื่องมือเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่มีมาแต่อดีตและไม่มีขายตามร้านทั่วไปช่างจึงต้องทำเครื่องมือขึ้นมาเอง

สำหรับระยะเวลาที่ใช้จะต่างกันออกไปตามความต้องการของลูกค้าที่สั่งทำค่ะ ถ้าเป็นงานง่ายๆ จะใช้เวลาตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปีค่ะ แต่ถ้าเป็นงานละเอียดที่ต้องใช้ความประณีตและฝีมือมากๆ ก็อาจจะต้องใช้เวลาถึง 2 ปีด้วยกัน ด้วยอุปกรณ์ แรงงาน ฝีมือ และเวลาที่ต้องใช้ทั้งหมดนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ดาบฝีมือโยชิฮาระซังสักเล่มจะมีมูลค่ามากถึง 3 ล้านถึง 4 ล้านเยน หรือเป็นค่าเงินไทยก็ประมาณ 9 แสนถึง 1 ล้าน 2 แสนบาทค่ะ โดยหลักๆ ดาบจะถูกซื้อทั้งในฐานะของขวัญ ของสะสม และเครื่องรางตามความเชื่อ ซึ่งกลุ่มลูกค้ามีทั้งที่เป็นคนญี่ปุ่นและคนต่างชาติ

 สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวของโยชิฮาระซังเพิ่มเติมสามารถหาสารคดีเกี่ยวกับโยชิฮาระซังดูได้ใน Youtube ค่ะ หรือถ้าลองค้นชื่อโยชิฮาระซังดูก็จะมีบทสัมภาษณ์ให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันพอสมควรค่ะ แต่ถ้าเพื่อนๆ อยากลองไปเยี่ยมชมกระบวนการตีดาบของโยชิฮาระซังที่เขตคัตสึชิกะ (葛飾区) จังหวัดโตเกียวเพื่อนๆ ก็สามารถสำรองที่นั่งได้ผ่านเว็บไซต์ TOKI เลยค่ะ โดยสามารถเข้าชมได้ทุกวันธรรมดาแต่ในรอบนึงจะรับเพียง 8 คนเท่านั้น นอกจากนี้เว็บไซต์ TOKI ยังเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของโยชิฮาระซังด้วยค่ะ หมายความว่าเพื่อนๆ สามารถสั่งทำดาบเป็นของตัวเองได้ผ่านเว็บไซต์นี้เลย โดยมีข้อแม้ว่าโยชิฮาระซังจะรับทำเพียงดาบที่ถูกสั่งทำเท่านั้นและผู้สั่งต้องเดินทางไปพบโยชิฮาระซังเป็นการส่วนตัวก่อนจะทำการซื้อด้วย

ก่อนจะไป ANNGLE ขอทิ้งท้ายด้วยคำพูดหนึ่งขอโยชิฮาระซังที่มักถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงกัน “ในโลกที่ผมมุ่งหวังนั้น ถ้ามีโอกาสที่จะได้พูดคุยโดยตรงกับบุคคลชั้นนำล่ะก็ เราก็ควรไปพูดคุยกับเขาเป็นอย่างยิ่ง เพราะจากการได้พบกับบุคคลผู้เป็นเลิศเหล่านั้นเราจะได้เห็นทั้งมุมมองที่มีต่อสิ่งต่างๆ และการตัดสินดีชั่วของคนคนนั้น กล่าวคือเราจะได้เรียนรู้เซ้นส์ที่เป็นเลิศไปในตัวด้วย พอรู้จักการรับรู้ที่เป็นเลิศแล้ว เมื่อนั้นคนจึงจะเริ่มเข้าใกล้ความเป็นเลิศ (目指す世界で、一流の人間から直接話を聞く機会があれば、絶対に足を運ぶべき。その世界で秀でた人間と触れ合うことは、ものの見方や良し悪しの判断基準――つまり一流のセンスを学ぶことにつながる。一流の感覚を知って、人は初めて一流に近づくことができるんです)”

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก toki, mbs, grateful-japan, japantimes, samurai-sword-shop, matome.naver, marimon, hbol, fulloflovemy99, kknews, samurai-association, twimg, it-chiba ค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook