คุยกับ เดวิด อัศวนนท์ นักแสดงที่ทำให้คำพูดที่ว่า “เหมาะกับบทโรคจิต” กลายเป็นคำชม

คุยกับ เดวิด อัศวนนท์ นักแสดงที่ทำให้คำพูดที่ว่า “เหมาะกับบทโรคจิต” กลายเป็นคำชม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้าเขียนจากเนื้อหาที่ถอดเทปมาโดยไม่เซนเซอร์และไม่ตัดทอนใดๆ บทสัมภาษณ์นี้จะมีคำว่า ‘เหี้-’ ทั้งหมด 9 ครั้ง ตลอดระยะเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมงที่คุยกัน

แต่ทุกๆ คำว่า ‘เหี้-’ ที่ได้ยินนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความหยาบคายหรือเจตนาที่จะด่าคู่สนทนา แต่เป็นคำที่ถูกใช้เพื่ออธิบายให้เข้าใจคาแรคเตอร์บางตัวในภาพยนตร์และละครว่า มีที่มาที่ไปอย่างไรในการแสดงออกตามที่เราเห็นในจอ

และการเข้าใจคาแรคเตอร์อย่างลงลึกนี้เองคือวิธีการทำงานของ เดวิด อัศวนนท์ นักแสดงวัย 42 ปี ผู้ที่คนดูจำนวนมากลงความเห็นว่า ถ้าเป็นบทโรคจิต ต้องยกให้เดวิดเท่านั้นถึงจะเล่นได้ถึงบทบาท

Sanook! Men มีโอกาสคุยกับเขาในวันที่เขาเพิ่งขับรถกลับจากกองถ่ายละครเรื่องใหม่ ที่นักแสดงลูกครึ่งไทย-ฝรั่งเศสคนนี้ รับบทเป็นมาเฟียข้ามชาติ ซึ่งเป็นอีกครั้งที่เขารับบท ‘ตัวร้าย’ ของเรื่อง และเป็นบทแบบที่คนดูมักจะมีภาพจำสำหรับเขา

ทั้งที่เมื่อว่ากันตามจริงแล้ว เดวิดไม่เคยมีกฎว่าจะต้องรับแต่เฉพาะบทร้าย เพราะเขารับงานทุกบท ด้วยเหตุผลที่ว่า “เพราะนักแสดงไทยไม่ได้รวย ไม่ได้ได้ค่าตัวเยอะ เพราะฉะนั้นมีงานอะไรเข้ามาก็เลยรับหมด ไม่ได้เลือกว่าต้องเป็นบทแบบไหน ถ้าจะไม่รับ ก็เป็นเพราะว่าคิวชนกันมากจนเราไม่มีเวลาให้ แต่ว่าไม่ได้อยู่ที่บทเลย”

จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อย้อนดูผลงานที่ผ่านมาตลอด 13 ปีในวงการบันเทิงไทยของเขาโดยละเอียดแล้ว เราจะได้เห็นเขาทั้งในบทของ ‘เฮซุส’ ที่บ้าคลั่งอย่างสุดขั้วในภาพยนตร์เรื่อง เคาท์ดาวน์ บทของพ่อที่รักครอบครัวแต่มีปัญหาเรื่องติดเหล้าในเอ็มวีของ SIN บทของ ‘พระยาสมิติภูมิ’ จากละครย้อนยุคเรื่อง คือหัตถาครองพิภพ มาจนถึงบทนักค้าอาวุธข้ามชาติที่ชื่อ ‘ปีเตอร์’ ผู้ชายที่ยินดีจ่ายให้ใจเริงอย่างไม่อั้น แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เธอบอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจ ในละครเรื่อง เพลิงบุญ

ถึงแต่ละบทจะหลากหลายและแตกต่างกัน แต่ทุกบทของเขามีจุดร่วมอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ การนำหลักจิตวิทยามาใช้ในการทำความเข้าใจคาแรคเตอร์ของตัวละคร

“ตัวเราเรียนจิตวิทยามาอยู่แล้ว เราเลยเข้าใจในเรื่องความต้องการของคน เพราะจิตวิทยามันคือการศึกษาและวิเคราะห์พฤติกรรมของมนุษย์ พอเราเข้าใจแนวคิด วิธีการคิดของตัวละครที่เราเล่น เราก็จะสามารถเล่นออกมาได้ใกล้เคียงกับตัวละครนั้นที่สุด” เดวิดเล่าถึงการใช้ความรู้ด้านจิตวิทยาเข้ามาเสริมศาสตร์แห่งการแสดง โดยยกตัวอย่าง ‘ปีเตอร์’ ตัวละครที่ผู้กำกับบรีฟมาว่า ขอแบบจิตๆ เหมือนคนบ้าเซ็กส์ ชอบซาดิสต์

“ตอนแรกที่ทีมงานติดต่อมาให้เล่นเรื่องนี้ เขาพูดน้อยมาก พูดแค่ว่า ‘มาเป็นผัวคนสุดท้ายของเจนี่ แล้วก็มาซ้อมเขาค่ะ’ แต่เรามาทำความเข้าใจเพิ่มในเรื่องความต้องการของคน เข้าใจองค์ประกอบว่าสถานการณ์คืออะไรและตัวละครตัวนี้อยู่ที่ไหน มีความเป็นตัวของตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน”

ในกรณีของตัวละครตัวนี้ การอาศัยอยู่ในเพนท์เฮาส์ส่วนตัวที่เป็นอาณาจักรของเขา เปิดโอกาสให้ปีเตอร์แสดงด้านมืดเรื่องเซ็กส์ของตัวเองได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องมีตัวกรองใดๆ ทั้งสิ้น การสวมบทบาทนี้จึงเป็น “การเล่นด้วยความเข้าใจ เพราะถ้าเราเข้าใจว่าคนมันต้องการแล้วมันไม่ได้มีความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่ มีแต่ความดิบ มีแต่ความเป็นสัตว์ ท่าทางก็เลยออกมาได้หมดในช่วงที่ต้องการ แล้วในเพนท์เฮาส์ของเขาก็เป็นเหมือนจักรวาลของเขาที่จะทำอะไรก็ได้ เลยออกมาดูจิต ดูน่ากลัว ลองคิดถึงตัวเราเองก็ได้ว่าเวลาเราออกไปข้างนอก อยู่กับเพื่อนร่วมงาน กับเวลาเราอยู่กับเพื่อนสนิทในห้องนอนของเราที่มันเป็นโลกของเรา พฤติกรรมเราก็ไม่เหมือนกันแล้ว”

นอกจากความเข้าใจในตัวละครแบบลงลึกถึงหลักจิตวิทยา อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผลงานของเขาโดดเด่นก็คือ ‘ความกล้า’

“เราคิดว่านักแสดงบางคนเวลาได้เล่นบทที่ออกแนวจิตๆ เขาไม่กล้าที่จะไปสุด ไม่ใช่ว่าเขาไม่เก่งนะ แต่เขาไม่กล้า อย่างบางบท มันต้องกล้ายอมรับกับตัวเองว่า กูต้องการจะเอาคนนี้นะ เพื่อมันจะทำให้มีความดิบออกมาในแววตา ซึ่งถ้าหากคนที่เล่นไม่กล้าบอกสิ่งนี้กับตัวเอง เพราะว่าอาย เพราะว่าเขินกับตัวเอง มันก็จะไปไม่ถึง ถามว่าเล่นดีไหม เล่นดี แต่มันไปได้แค่นี้  คนดูดูแล้วก็รู้ ผู้จัดดูแล้วก็รู้ แต่เวลาเราเล่น  เราพยายามเล่นให้ใกล้เคียงกับชีวิตความเป็นจริงมากที่สุด เพราะเวลาคนเรามีความต้องการทางเพศ มันจะมีความเป็นสัตว์เดรัจฉานอยู่ พอความต้องการมันมา มันจะลืมทุกสิ่ง อันนี้พูดถึงในแง่ของผู้ชายนะ”

“โมเมนต์แบบนั้นล่ะที่เวลาเล่นเราจะต้องนึกถึงช่วงเวลานั้น แล้วปล่อยอะไรสักอย่างหนึ่งออกมา ไม่ว่าจะเป็นความดิบ ความเป็นสัตว์เดรัจฉาน ความเป็นปีศาจ หรืออะไรที่มันหลับใหลในตัว คือเราคอนโทรลมันได้ แต่ช่วงเวลาที่เล่น เราต้องปล่อยออกมา คนดูก็จะได้เห็นทั้งแววตาและท่าทาง นักแสดงคนอื่นที่เขาเก่งและมีฝีมือ เขาอาจจะมีกำแพงกั้นอยู่ ทำให้ไม่กล้าที่จะไปถึงตรงนั้น แต่เรากล้าไง” เดวิดอธิบายถึงวิธีคิดในการแสดงของเขา ที่มีพลังทำให้คนดูที่อยู่หน้าจอรู้สึกขนลุกแทนตัวละครที่เขาเข้าฉากด้วย

เมื่อมีทั้งความเข้าใจและความกล้า บวกกับประสบการณ์ในการทำงานและการสื่อสารที่ดีระหว่างนักแสดงด้วยกัน ทำให้บทของปีเตอร์ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเขา บทที่เขาว่ามองว่ายาก กลับเป็นบทจากละครแนวคอมเมดี้-แฟนตาซีเรื่อง สายลับสามมิติ ที่เขารับบทเป็น ‘มิสเตอร์โอเค’ ที่เขาอธิบายว่า ต้องเล่นใหญ่แบบละครเวที เพราะตัวละครมีความเป็นการ์ตูนและมีความย้อนยุคไปในช่วงปี ’50s-’60s ทั้งยังต้องดัดเสียงให้เหมือนพากย์การ์ตูนตลอดเรื่อง

อีกบทที่ถือเป็นงานยากก็คือบทของ ‘ผู้กองปีเตอร์’ จากละครเรื่อง ชาติพยัคฆ์ ตัวละครในยุคล่าอาณานิคมที่มีแผนอยากยึดเอาสยามเป็นของตัวเอง เขาเล่าว่าตลอดเวลาที่รับบทนี้นอกจากจะต้องดัดเสียงพูดตลอดเรื่องแล้ว ยังต้องออกแบบท่าทางการเคลื่อนไหวที่มีลักษณะของคนหลังค่อม มีแววตาแข็งๆ และอารมณ์ตึงๆ ตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นอีกบทในชีวิตการทำงานที่เขาบอกว่า “โคตรดี”

แต่ในหลายบทบาทที่ได้รับมาทั้งหมดนั้น เมื่อถามว่าบทที่ยากที่สุดคือบทไหน เขาก็ยังคงยกให้บท ‘เฮซุส’ จากเรื่อง เคาท์ดาวน์ ซึ่งเป็นผลงานที่ทำให้คนส่วนใหญ่เริ่มรู้จักชื่อของ เดวิด อัศวนนท์ มากขึ้น

“ตัวละครตัวนี้มันเหมือนกับเหยียบคันเร่งมิดตลอดทาง พลังต้องเต็ม บทก็เยอะ แล้วจังหวะพูดในบทมันพลาดไม่ได้แม้แต่นิดเดียว มันต้องเป็นทั้งบ้าสุดๆ แล้วก็กวนตีน แต่ก็มีความตลกแบบดาร์กๆ อยู่ในตัว เป็นตัวละครที่หลากหลายอารมณ์มาก เวลาเล่นโฟกัสต้องดีจริงๆ หลุดไม่ได้เลย ทุกครั้งที่ผู้กำกับสั่งคัต เราจะเหนื่อยมาก กลับไปถึงบ้านแล้วยังรู้สึกวิ้งๆ เพราะเหมือนเราเหยียบคันเร่งมาทั้งวันแล้วเครื่องยังร้อนอยู่ ยังลงไม่ได้ แล้วบทนั้นยากมากตรงที่เราต้องคิดว่าจะเล่นยังไงให้ตรึงคนดูให้อยู่ในห้อง เพราะฉะนั้นถ้าการแสดงของเราเอาไม่อยู่ คนดูก็จะเดินออกจากโรง”

ถึงจะเริ่มอาชีพนักแสดงอย่างเต็มตัวในวัยเลขสามนำหน้า แต่เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีต เดวิดมองว่าความอยากเป็นนักแสดงนั้นมีอยู่ในตัวเขาตั้งแต่ยังเป็นเด็กแล้ว

“ตอนเด็กเราชอบดูหนัง แล้วก็ชอบเล่นตาม เพราะรู้สึกว่ามันสนุกจังเลย เวลาดูก็จะรู้สึกว่าทำไมนักแสดงเขาเปลี่ยนอารมณ์ตัวเองได้ ทำไมเขาทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้” เดวิดเล่าถึงวัยเด็กของเขา ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงวัยรุ่นที่ต้องเลือกเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่เขาเลือกเรียนจิตวิทยาว่า “เราชอบคุย ชอบศึกษาคน สงสัยในความคิดของคนตลอดเวลาว่าทำไมคนเราถึงมีความคิดแบบนี้ ทำไมคนเราต้องทำแบบนี้ ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยที่อเมริกา มันจะมีพวกโฮมเลสเยอะมาก เราก็ชอบนั่งคุยกับพวกเขา อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในชีวิตเขาบ้าง แล้วเขาลงเอยตรงนี้ได้ยังไง ซึ่งจริงๆ เราชอบเข้าหาคนตั้งแต่เด็กแล้ว ไม่ค่อยกลัวใคร เป็นคนแบบที่เวลาไปไหน กูก็คุยได้หมดทุกคน ก็เลยรู้สึกว่า จิตวิทยามันไม่ใช่แค่ศาสตร์ที่ใช้ในการบำบัดคน แต่มันคือสิ่งที่จะติดตัวเราไปจนวันตาย มันคือสิ่งที่เราได้ใช้ตลอดเวลา”

แน่นอนว่า คำว่า ‘ตลอดเวลา’ ของเขานั้น รวมถึงการใช้ในการแสดง ศาสตร์ที่เขารักและมองว่าเป็นสิ่งที่สวยงาม

“คนทั่วไปอาจจะคิดว่าการแสดงก็คือ มึงพูดแล้วมึงก็แอค พูดแล้วก็ตีหน้าเศร้า ซึ่งมันไม่ใช่อย่างนั้น คนที่ทำอย่างนั้นมันมี แต่มันเรียกว่า indicate มันเป็นการแสดงออก เป็นการเล่นให้คนดูเห็น การแสดงที่ดีมันต้องผสมระหว่าง indicate กับอินเนอร์ ถึงจะออกมาเป็นสูตรสำเร็จรูปที่ดีที่สุด แล้วจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับบทว่าเล่นได้เยอะ ได้น้อยแค่ไหน”

“พอได้เข้าถึงศาสตร์การแสดงแบบลึกๆ เราก็ได้เห็นว่ามันเป็นศิลปะที่สวยงามมากๆ ศาสตร์หนึ่ง ลองคิดดูสิว่า จากประโยคๆ หนึ่งบนกระดาษ มันต้องผ่านการอ่าน ผ่านการตีความ ผ่านการวิเคราะห์ ผ่านการทำความเข้าใจ ผ่านการคิด ผ่านการพูด ผ่านภาษากาย จนกระทั่งออกมาเป็นรูปธรรมอย่างที่เราเห็นกัน”

และหน้าที่ของ เดวิด อัศวนนท์ ก็คือการถ่ายทอดความสวยงามในศาสตร์นั้น ออกมาเป็นหลากหลายอารมณ์ของตัวละครให้สมจริง ใช้ทุกความเข้าใจเพื่อทำให้คาแรคเตอร์นั้นไม่ใช่แค่ตัวละครในนิยาย แต่มี ‘ชีวิต’ อยู่ในตัวละครนั้นจริงๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook