นิรัติศัย บุญจันทร์ — The Novelty of Paperless

นิรัติศัย บุญจันทร์ — The Novelty of Paperless

นิรัติศัย บุญจันทร์  — The Novelty of Paperless
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โลกแห่งการอ่านที่ขยับตัวหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปทำให้การดำรงอยู่ของสิ่งพิมพ์แบบหน้ากระดาษลดน้อยถอยลง และนำไปสู่พื้นที่ใหม่แห่งโลกดิจิทัล ซึ่งผู้สร้างสรรค์ผลงานต้องปรับตัวให้รวดเร็วขึ้น ฉับไว กระชับมากยิ่งขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วพื้นที่สำหรับ ‘วรรณกรรม’ ที่เรียกร้องการมีส่วนร่วมของผู้อ่านจะดำเนินไปในทิศทางใด มันเป็นคำถามที่ยากจะตอบได้ จนนำไปสู่การพูดคุยครั้งล่าสุดกับ บุ๊ค-นิรัติศัย บุญจันทร์ ผู้ช่วยบรรณาธิการหนุ่มไฟแรงแห่งเว็บไซต์ The Paperless พื้นที่ดิจิทัลสำหรับวรรณกรรมกับแนวคิดอันเปิดกว้างที่ไม่ได้มองว่า วรรณกรรมจะล้มหายตายจากในการมาของสื่อใหม่ แต่กลับเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้โลกอันรุ่มรวยแห่งบรรณพิภพได้เปิดกว้างขึ้นมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

 

ความสนใจในวรรณกรรมเริ่มต้นจากการเขียน
แต่พอเขียนได้ไม่ดี เราก็ต้องกลับมาอ่าน ตอนนั้นเรียนมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ก็หมกตัวอยู่ห้องสมุดชั้น 6 อ่านวรรณกรรมญี่ปุ่น สเปน แล้วค่อยๆ ต่อยอดไปแนวอื่นๆ ที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งพอเราอ่านมากขึ้น เราก็เริ่มมีมุมมองกว้างขึ้น มองงานวรรณกรรมแต่ละชิ้นได้ละเอียดลึกซึ้งขึ้น พอเราได้ข่าวว่ามีการประกวดงานเขียนของ SCG Young Thai Artist Award ก็ลองเขียนส่งไป แล้วก็ได้รางวัล แต่นั่นก็ยังถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ เพราะตัวผมเรียนมาทางด้านดนตรีแจ๊ส เป็นฟรีแลนซ์ทำงานเพลงประกอบโฆษณาเป็นหลัก งานเขียนเป็นงานอดิเรกเท่านั้น

เมืองไทยยังขาด Directory สำหรับนักเขียน เป็น Database สำหรับผู้ที่สนใจ
อาจจะมีแปลบทสัมภาษณ์ที่เชื่อมโยงกับประเทศไทย ซึ่งก็คิดว่า ถ้าเราทำได้ ก็อยากลองทำ อยากให้คนรู้จัก เปาโล คูเอลโญ, นัตซึมิ โซเซกิ ให้มากขึ้น นั่นเป็นที่มาของการเริ่มต้น The Paperless และเพื่อเป็นแนวทางว่า โลกแห่งวรรณกรรมของไทยยุคใหม่ควรจะมีทิศทางต่อไปอย่างไร ซึ่งตอนนี้เปิดมา 5 เดือน แม้จะไม่เท่ากับเพจรายอื่นๆ แต่ก็ถือว่าเป็นการเติบโตที่น่าพอใจ

เลือกวรรณกรรมญี่ปุ่นเป็นแนวทางหลัก
เพราะความชัดเจนสูง ทั้งในรูปแบบการเขียน คุณภาพระดับรางวัล และการ ‘ส่งออก’ วรรณกรรมของตนเอง งานวรรณกรรมญี่ปุ่นได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มามากมาย แพร่หลายออกไปเยอะมาก เป็นเสาหลักของวรรณกรรมจากฝั่งเอเชีย คือไม่ถึงกับเอาตามอย่างมาทุกกระเบียดนิ้ว แต่มันน่าสนใจที่จะนำมาเรียนรู้และปรับใช้กับโลกวรรณกรรมไทย เพราะงานของเราเองนั้นก็มีดีอยู่ไม่น้อย แต่กลับเป็นที่รู้จักน้อยถึงน้อยมาก เราจะออกแนว ‘นำเข้า’ วัฒนธรรมจากต่างประเทศเสียมากกว่า ซึ่งมีน้อยมากๆ ในการที่เราจะส่งออกสิ่งที่เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมด้านวรรณกรรมที่จะสร้างกระแสความตื่นตัวในเวทีระดับสากลจริงๆ

The Paperless เป็นกึ่งๆ งานทดลอง
The Paperless เป็นร่วมกันระหว่างคุณนิรันศักดิ์ บุญจันทร์ ซึ่งเป็นคุณพ่อของผม กับตัวผม เพราะนี่ถือเป็นงาแรก ในพื้นที่ที่เราไม่คุ้นเคย เราทำเองหมดในตอนเริ่ม ไม่มีใครผลักดัน ลุยกันลุ่นๆ ซึ่งในช่วงแรกก็ทำให้เราเรียนรู้ได้เยอะมากนะ คือมันพูดยาก มันอาจจะเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เพจ The Paperless อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จัก รวมถึงงานของทุกท่านอาจจะไม่ ‘ไวรัล’ สำหรับโลกดิจิทัล ว่างานบางอย่างมันก็ไม่เหมาะสำหรับพื้นที่ดิจิทัลจริงๆ อย่างงานของ กฤษณา อโศกสิน หรือแดนอรัญ แสงทอง ก็คงเหมาะที่จะอยู่บนหน้ากระดาษมากกว่า แต่เราก็พยายามอย่างต่อเนื่องในการปรับปรุงคุณภาพการนำเสนอ และเนื้อหาของทางเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น มีบทความที่หลากหลายขึ้น ด้วยความที่การเชื่อมโยงระหว่างโลกวรรณกรรมสมัยก่อนกับผู้รับสารสมัยนี้เป็นเรื่องยาก ทางเพจ The Paperless เลยพยายามใช้ความเป็นสมัยใหม่ อย่างเช่นใช้กราฟิกมากขึ้น แต่ทั้งนี้ ยืนยันว่าเราจะไม่ดูถูกคนอ่านด้วยการเขียนสั้นลง คือมันไม่จำเป็นเลย ถ้าเนื้อหาน่าสนใจจริง ยังไงคนก็อ่าน อย่างบทความเกี่ยวกับ อนาอิส นิน ผู้เขียน ‘เนินนางวีนัส’ อันนี้เป็นกระแสอยู่ เรามีบทวิเคราะห์ มันน่าสนใจ คนก็เข้ามาอ่าน ซึ่งเราก็พยายามจะให้มีเนื้อหาแบบนี้อยู่เสมอๆ เพราะขึ้นชื่อว่าหนังสือ มันมีแง่มุมที่หลากหลาย ไม่เคยซ้ำกันเลยในการอ่านแต่ละครั้ง มีเรื่องให้พูดคุยได้อยู่ตลอดเวลา

คนอ่านหนังสือคือ อภิสิทธิ์ชน
คือสิ่งที่ผมได้จากการไปพูดคุยกับอาจารย์สุชาติ สวัสดิ์ศรี ซึ่งผมว่ามันสะท้อนอะไรหลายๆ อย่าง เกี่ยวกับวัฒนธรรมการอ่านของคนรุ่นใหม่ คือตอนนี้โลกการอ่านมันขยายไปก็จริง แต่กลายเป็นเรื่องความ ‘ฮิป’ ไป ต้องปั่นจักรยาน ต้องกินกาแฟดริป ซึ่งหนังสือในชั่วโมงนี้กลายเป็นวัฒนธรรม Unique ไม่ต่างอะไรกับการกลับมาอีกครั้งของแผ่นเสียง สังเกตได้จากยอดการพิมพ์ของหนังสือในต่างประเทศที่เริ่มสูงขึ้น ยอด E-Book ที่ลดลงนิดนึง แต่เป็นสัญญาณที่มีนัยสำคัญ แต่ก็ต้องยอมรับว่าวรรณกรรมเป็นสิ่งที่อยู่ห่างจากความเข้าใจและความสนใจของคนรุ่นใหม่ไปเลย บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวรรณกรรมคืออะไร ผมมองว่าวรรณกรรมไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัวนะ อะไรก็สามารถเป็นวรรณกรรมได้ มันขึ้นกับการตีค่าและการมองในมุมที่ต่างกัน ยุคหนึ่งวรรณกรรมอาจจะเป็นสายโรแมนติก อีกยุคอาจจะเป็นร่วมสมัย แต่ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม ผมก็มีความเชื่อของตัวเองว่าวรรณกรรม คือสิ่งที่จะยกระดับจิตใจให้ดีขึ้น

คาดหวังว่า The Paperless จะค่อยๆ ก้าวไป
พยายามขยายความเข้าใจให้กับผู้เข้ามาชมได้รับรู้ว่าโลกแห่งวรรณกรรมนี้ยังมากกว่าที่เราคิดไว้ ถามว่ากลัวจะเสียตัวตนมั้ย เรามองว่านี่เป็นการนำเสนอความหลากหลายให้เกิดขึ้น เราไม่ได้เสียตัวตน แต่เราขยายตัวตนเราให้กว้างขึ้น รอบขึ้นมากกว่า ซึ่งถ้าวัดจากยอดผู้เข้าชมในปัจจุบัน จากการเริ่มต้นที่แทบไม่ได้มากมายอะไร ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า กำลังมาในทางที่ถูกนะครับ ผมคิดเช่นนั้น

HIS Profile
การศึกษา: ศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดุริยางคศาสตร์สากล
อาชีพการงาน: ผู้ร่วมก่อตั้ง และผู้ช่วยบรรณาธิการ เว็บไซต์ The Paperless

After Work
จริงๆ งานของ The Paperless ก็ไม่ค่อยมีเวลาเลิกงานที่แน่นอนนะครับ บางทีตีหนึ่งตีสอง เราก็มานั่งคุยงานกันอยู่เลย แต่ถ้ามีเวลาว่างจริงๆ ผมก็เล่นดนตรี โดยเฉพาะกีตาร์ครับ เพราะผมเรียนด้านดนตรีมานี่นา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook