“มนุษย์เห็นแก่ตัวกว่าหอยทาก” ผ่านมุมมอง ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา คนไทยที่สนิทกับหอยทากที่สุด

“มนุษย์เห็นแก่ตัวกว่าหอยทาก” ผ่านมุมมอง ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา คนไทยที่สนิทกับหอยทากที่สุด

“มนุษย์เห็นแก่ตัวกว่าหอยทาก” ผ่านมุมมอง ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา คนไทยที่สนิทกับหอยทากที่สุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มันคงจะดีถ้าเราสามารถสนทนากับสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้เรียกว่า “คน”  ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา หรืออาจารย์หอย (ชื่อเรียกน่ารัก น่ารักที่บรรดาลูกศิษย์เรียกขาน) ไม่ได้เป็นผู้ที่สามารถสื่อสารกับสัตว์ต่างๆ ได้ แต่อาจารย์หอยเป็นนักวิจัยชาวไทยที่รู้จัก “หอยทาก” ดีที่สุด รู้จักดีจนสามารถนำเมือกหอยทากไปพัฒนาเป็นเครื่องสำอางได้รับรางวัลเหรียญทองในงาน 44th International Exhibition of Invention of Geneva ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และในความคุ้นเคยอาจารย์สมศักดิ์ยังบอกว่ามนุษย์นั้นเห็นแก่ตัวกว่าหอยทาก

Sanook! Men ไม่ได้พูดคุยกับอาจารย์สมศักดิ์เพื่อทำให้เรารู้จักหอยทากมากขึ้น แต่เราสนทนากับอาจารย์เพื่อทำความรู้จักกับผู้ชายคนหนึ่งที่ทำทุกอย่างตามความหลงใหลของตนเองจนประสบความสำเร็จ นอกเหนือไปกว่านั้นเราอาจได้ลองสำรวจตัวเองว่าจริงๆ แล้ว เราด้อยกว่าหอยทาก สัตว์ที่มักถูกมองว่าต่ำกว่ามนุษย์หรือเปล่า

 

กว่าจะเป็นเพื่อนซี้กับ “หอยทาก”

ถ้าจะถามว่าในเมืองไทยใครสนิทกับ “หอยทาก” มากที่สุด ก็คงจะต้องเป็นอาจารย์สมศักดิ์คนนี้นี่แหละ สนิทสนมจนทำให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งถ้าย้อนกลับไปเรื่องราวเหล่านี้มีที่มาตั้งแต่เมื่อครั้งอาจารย์สมศักดิ์ยังเป็นเด็กชายตัวเล็กๆ ลูกชาวนาวิ่งเล่นในท้องทุ่งจังหวัดลพบุรี เห็นกุ้ง หอย ปู ปลาแล้วรู้สึกชอบ

“ตอนเด็กๆ จะสนใจพวกกุ้ง หอย ปู ปลา เห็นและก็กินเป็นอาหาร เราเป็นลูกชาวนาก็มีความฝันตามเรื่องที่เราสนใจ ไม่มีใครมาแนะนำ พื้นฐานเรื่องการรักธรรมชาติเลยเป็นแรงผลักดันให้เราเดินตามสิ่งที่เราสนใจ ถ้าเป็นลูกคนในเมืองเขาได้เรียนพิเศษ แต่เราไม่ได้เรียน พ่อแม่ของเพื่อนๆ ที่อยู่ในตลาดเขาจะมีช่องทางว่าจะให้ลูกเขาไปเรียนต่อที่ไหน แต่เราไม่รู้เรื่องเลย เรียนตามสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เรามี”

 

ใครจะคิดว่าเพียงเพราะความชอบกุ้ง หอย ปู ปลาจะทำให้อาจารย์เลือกเขาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ประสานมิตรในสาขาวิชาการศึกษาชีววิทยา ก่อนจบปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสาขาสัตววิทยา และตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นทำวิทยานิพนธ์เรื่องวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตเน้นเรื่องหอยทากจนจบการศึกษาและขึ้นแท่นเป็นดร.ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 30

 

“หอยทาก” มหัศจรรย์สัตว์สุด Slow

หลายคนเห็นหอยทากเป็นศัตรูพืช หรือมองว่าเป็นสัตว์ที่ต่ำกว่า หากแต่แท้จริงแล้วหอยทากนั้นเกิดมาก่อนมนุษย์ คนโรมันกินหอยทากในเมนูเอสคาโกเป็นอาหาร เมื่อรับประทานกันมากขึ้นจึงเกิดเป็นฟาร์มหอยทาก คนที่ไปจับหอยทากมาทำอาหารมือกลับนุ่มขึ้น เรื่องเล่าของหอยทากจึงยาวนานมาตั้งแต่อดีต และต่อยอดทำให้เมือกของหอยทากกลายเป็นวัตถุดิบชั้นยอด

 “แม้หอยส่วนใหญ่จะอยู่ในน้ำแต่หอยทากอยู่บนบกได้ มีจมูกหายใจได้เหมือนสัตว์บก แต่ความมหัศจรรย์ของเขาคือเขาดูแลผิวพรรณของตัวเอง เมื่อเขาต้องขึ้นมาอยู่บนบกเขาต้องคิดถึงการดูแลผิวตัวเองไม่ให้แห้งโดยการสร้างผิวหนังให้หนา มีเปลือก มีน้ำเมือกเอาไว้ชโลมผิวตัวและทำให้ตัวเองเดินได้ เขาไม่มีรองเท้า แต่เขามีกระบวนการทำให้เดินได้ด้วยการสร้างเมือก”

 

กระบวนการสร้างเมือกเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดของหอยทาก จึงทำให้คนตั้งแต่สมัยโบราณค้นพบว่าเมือกของหอยทากมีคุณสมบัติสมานแผลเพราะมีสารไฮยารูโลนิคช่วยทั้งรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ลดริ้วรอย ดังนั้นเมือกของหอยทากจึงทำให้สัตว์ชนิดนี้มีความมหัศจรรย์แม้มันเดินช้าและดูไม่ค่อยเป็นที่สนใจของมนุษย์

 

ปรัชญาแบบหอย หอย

เมื่อต้องมองมุมหอยอาจารย์สมศักดิ์จึงน่าจะเป็นผู้ที่เล่าให้เราฟังได้ชัดเจนที่สุดเพราะเวลากว่า 30 ปีที่รู้จักหอยทากมานั้นทำให้สรุปได้ว่าหอยทากเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ดี เพราะแท้จริงแล้วหอยทากเกิดมาก่อนมนุษย์ แต่เหตุใดจึงยังไม่สูญพันธุ์ไปเหมือนไดโนเสาร์

“มนุษย์เรามีอายุเพียงแค่แสนปี แต่เขาเกิดมาก่อนเรามีอายุเป็น 200 ล้านปี ผ่านร้อน หนาว ภูเขาไฟระเบิดแต่เขาก็สามารถปรับตัวมาได้ เราเรียนรู้เทียบกับความเป็นคนของเรา หอยทากมีวิถีของเขา บางคนอาจคิดว่าเขาต่ำกว่าเรา แต่เขาอยู่ในหน้าที่ของเขาๆ ก็รอดได้ ผิวแห้งมีเมือกออกมา มีอาหารเป็นซากเขาก็ช่วยกำจัด แต่มนุษย์เกิดมาทำระบบเสียหมด มนุษย์อยู่ได้ไม่เป็นล้านปีหรอกเพราะมนุษย์เห็นแก่ตัว ขนาดได้ชื่อว่าศิวิไลซ์ ผลประโยชน์ของสัตว์ไม่ได้มีอะไรมาก แค่ได้อยู่รอดชีวิต ถ้าเราจะเรียนรู้จากสัตว์ บางทีมันเกิดมาไม่นานมันก็ตาย มนุษย์มีความคิด มีวัฒนธรรม ศีลธรรมจรรยา แต่มนุษย์กำลังทำตัวเหมือนกลับไปหาสัญชาตญาณแบบสัตว์”

 

หอยทากไทยไม่แพ้หอยทากใดในโลก

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นพัฒนาอย่างรวดเร็วหลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นคือการใช้เรื่องงานวิจัยเป็นตัวขับเคลื่อน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่อาจารย์สมศักดิ์ได้เรียนรู้หลังการไปศึกษาต่อปริญญาเอกที่ญี่ปุ่นและนำมาปรับใช้กับการทำงานของตนเองเพื่อหวังพัฒนาประเทศไทย

“การจะเปลี่ยนจากนักวิทยาศาสตร์ที่สร้างความรู้ให้คนอื่นนำไปใช้มาเป็นนักธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ถือเป็นความกดดัน สร้างความเสี่ยง สร้างความกลัวให้กับผม แต่ถ้าผมยังคิดแบบเดิมประเทศมันก็ไม่ไปไหนเพราะประเทศอื่นๆ เขาคิดอีกแบบ ประเทศมันต้องมีการพัฒนางานวิจัยให้กลายเป็นนวัตกรรมประเทศมันถึงจะพัฒนาต่อไปได้”

“งานวิจัยหลายๆ ชิ้นในบ้านเราแม้จะถูกมองว่าดี แต่กว่าจะผ่านการบ่มเพาะเพื่อทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์สัก 1 ชิ้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ปัญหาคือความรู้พื้นฐานที่ได้มานั้นไม่ใช่ของจริง ไม่แน่น ไม่ลึกซึ้ง ความรู้ที่ลึกจริงมันจะทำให้เรามองเห็นทั้งวงจรอย่างทะลุปรุโปร่ง”

 

อ่านมาถึงตรงนี้จึงพอสรุปได้ว่าการจะทำอะไรนั้นเราควรรู้ให้จริง รู้ให้ลึก นอกจากความสำเร็จในเรื่องหอยทากของอาจารย์สมศักดิ์อย่างที่กล่าวมาแล้ว เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้อาจารย์สมศักดิ์ยังทำให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้วยการเป็นหนึ่งในตัวแทนทีมนักวิจัยที่ค้นพบ “ตะขาบน้ำตก” ตะขาบชนิดใหม่ของโลก จนได้รับการคัดเลือกให้เป็น 2017 TOP TEN NEW SPECIES AWARD หรือ 1 ใน 10 สุดยอดการค้นพบสปีชีส์ใหม่ประจำปี ค.ศ. 2017 จากสถาบันนานาชาติเพื่อการสำรวจสิ่งมีชีวิต(International Institute for Species Exploration) หรือ IISE

 

ใครจะคิดว่าเพียงเพราะการได้ใกล้ชิดกับกุ้ง หอย ปู ปลาของลูกชาวนาคนหนึ่ง จะทำให้อาจารย์สมศักดิ์เดินทางมาจนถึงจุดที่สามารถเป็นหน่วยเล็กๆ ในการพัฒนาประเทศ ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่จึงอาจมีจุดเริ่มต้นมาจากเพียงความสนุกสนานซึ่งเป็นจุดเล็กๆ ในอดีตของเราเองก็ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook