เทคนิคสมองไบรท์ ร่างกายแข็งแรงสำหรับคนวัยทำงาน

เทคนิคสมองไบรท์ ร่างกายแข็งแรงสำหรับคนวัยทำงาน

เทคนิคสมองไบรท์ ร่างกายแข็งแรงสำหรับคนวัยทำงาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนในวัยทำงาน คือคนที่อยู่ในช่วงอายุ 15-64 ปี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 70 ของประชากรไทย โดยคนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกำลังสำคัญของประเทศ อย่างไรก็ตามจากข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ. 2540) พบว่าคนในกลุ่มนี้ซึ่งควรจะเป็นกลุ่มที่มีสุขภาพแข็งแรง กลับเป็นครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตด้วยโรคที่สำคัญต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดสมอง ดังนั้นการป้องกันโรคที่ดีและการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมจึงน่าจะช่วยลดอัตราการเสียชืวิตและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่คนในวัยนี้ได้

work-life balance หรือความสมดุลระหว่าง “งาน” กับ “การใช้ชีวิต” ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากในวัยทำงาน มักพบปัญหาจากการเสียสมดุลนี้ไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่มีปัจจัยจากหน้าที่การงาน ภาระหน้าที่ของการเป็นพ่อแม่ หรือความเครียดทางการเงิน จนทำให้มีผลกระทบอื่นๆ ตามมา เช่น ภาวะเครียด โรคซึมเศร้า หรือปัญหาทางสุขภาพ เช่น ภาวะนอนไม่หลับ โรคหัวใจ โรคทางระบบภูมิคุ้มกัน จนถึงปัญหาทางครอบครัวและสังคม

ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวสำหรับคนวัยทำงาน

นอนให้เพียงพอ : จากงานวิจัยของสมาคม National Sleep Foundation ซึ่งได้รวบรวมและวิเคราะห์งานวิจัยและบทความต่างๆ เกี่ยวกับการนอน กว่า 300 ผลงาน ได้ข้อสรุปว่า ที่ช่วงอายุต่างๆ มีความต้องการในการนอนไม่เท่ากัน เช่นในช่วงอายุ 26-64 ปี ควรนอนประมาณ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน บางคนอาจต้องการการนอนที่น้อยหรือมากกว่านั้น เช่น 6 ชั่วโมง หรือ 10 ชั่วโมงต่อวัน

หากต้องการทราบว่าเราต้องการการนอนเท่าไร ให้สังเกตจากประสิทธิภาพในการทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเอง เช่น การไม่ง่วงหลับระหว่างวัน ความคิดและการตอบสนองที่ฉับไว เป็นต้น

อาหารที่ดีกับร่างกาย : โดยทั่วไปหลักการของการทานอาหารที่ดี ควรจะทานให้ครบทั้งห้าหมู่ เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย นอกจากนี้ยังควรคำนึงถึงสมดุลระหว่างแคลอรี่ที่ได้รับและพลังงานที่ใช้ออกไปในแต่ละวัน ซึ่งหากทานมากกว่าที่ใช้ จะนำไปสู่โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคอื่นๆ อีกมาก

คนวัยทำงานมักมีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้มักเป็นผลจากการทานอาหารนอกบ้าน และมีเวลาในการออกกำลังกายลดลง การให้ความสำคัญในการเลือกรับประทานอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดี

อาหารสมอง : สมองเป็นอวัยวะที่ใช้พลังงานจากกลูโคส ซึ่งได้จากการย่อยคาร์โบไฮเดรต แต่ระดับกลูโคสควรสม่ำเสมอและไม่สูงมากจนเกินไป ควรเลือกทานคาร์โบไฮเดรตที่มีค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index) ต่ำ เช่น ข้าวไม่ขัดสี ธัญพืชต่างๆ ผลไม้ จะช่วยให้ระดับน้ำตาลคงที่และอยู่ได้นาน

โอเมกา-3 ดีกับสมอง เพราะเป็นกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ หลายคนคิดว่าพบแต่ในปลาที่มีราคาแพงอย่างปลาแซลมอน หรือปลาเทร้าส์ แต่ที่จริงแล้วปลาชนิดอื่น เช่น ปลาทู ปลากะพงขาว ปลาสำลี ปลานิล ปลาดุก ปลาสวาย หรือแม้กระทั่งธัญพืช เช่นเมล็ดฟักทอง เมล็ดเชีย ถั่ววอลนัท ต่างก็มีโอเมกา-3 สูงเช่นกัน

นอกจากนี้สมองยังต้องการสารอาหารอีกหลายชนิด เช่น อาหารที่มีวิตามินบี 1, 6, 12 และอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี วิตามินอี และเบตาแคโรทีน ซึ่งพบได้ในอาหารที่หาทานได้ง่าย เช่น ถั่ว งา ธัญพืช ข้าวไม่ขัดสี ไข่ สัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์จากนม ผักและผลไม้หลากสี เป็นต้น

การออกกำลังกาย : การออกกำลังกายที่ดี ควรเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิค อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ (อย่างน้อยครั้งละ 20-30 นาที) ร่วมกับการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (strengthening exercise) อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และต้องไม่ลืมที่จะทำการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (stretching exercise) ทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกาย เพื่อป้องกันการบาดเจ็บและเพิ่มสมรรถภาพของร่างกาย

Burn-Out Syndrome

อาการ Burn-Out Syndrome หรือ อาการ“หมดไฟ” มักพบเมื่อสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว (work-life balance) เสียไป เกิดความเหนื่อยหน่ายทางอารมณ์ ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน อ่อนเพลีย เสียสมาธิ ความสัมพันธ์กับผู้อื่นมีปัญหา รู้สึกว่ามีความสุขน้อยลง ซึ่งอาจนำไปสู่โรคทางจิตใจและร่างกายอื่นๆ อีกด้วย

การป้องกันภาวะ Burn-out นี้สามารถทำได้ด้วยการเริ่มที่ตนเอง ร่วมกับการสนับสนุนจากหัวหน้าและที่ทำงาน ในปัจจุบันมีองค์กรขนาดใหญ่มากมายที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะนอกจากจะเป็นผลดีกับพนักงานแล้ว  ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลรักษาพยาบาลขององค์กรอีกด้วย

เทคนิคง่ายๆ ที่เริ่มได้จากตัวเอง

·     ดูแลร่างกายและสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการนอน อาหาร การควบคุมน้ำหนัก และการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อค้นหาและป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้น

·     จัดระเบียบให้ชีวิต ทั้งด้านการทำงานและชีวิตส่วนตัว การจัดแบ่งและจัดตารางเวลาช่วยให้ชีวิตยุ่งยากน้อยลง นอกจากจะแบ่งเวลาให้ครอบครัวหรือเพื่อนแล้ว ต้องจัดเวลาให้ตัวเองอีกด้วย

·     การออกกำลังกาย นอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้วยังช่วยให้จิตใจปลอดโปร่ง การเปลี่ยนสถานที่ออกกำลังกาย หรือมีกลุ่มเพื่อนที่มีความสนใจร่วมกันยังช่วยคลายความเครียดจากการทำงานได้อีกด้วย

·     กิจกรรมอื่นๆ เช่น การทำงานการกุศล การปฏิบัติธรรม หรืองานอดิเรกต่างๆ ที่ชอบ ช่วยให้เกิดสมดุลระหว่างกายและใจ

โดยสรุปคือ “กายกับใจ สมองกับร่างกาย งานและชีวิตส่วนตัวต้องมีความสมดุล” จึงจะช่วยให้ทั้งคนวัยทำงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีร่างกายและจิตใจแข็งแรง ช่วยให้ประสบความสำเร็จทั้งหน้าที่การงาน ชีวิตส่วนตัว และมีความสุขอย่างยั่งยืน

ที่มา: บริษัท เจนเนอราลี่ ไทยแลนด์ และ พญ. มณฑินี แสงเทียน รพ. บำรุงราษฎร์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook