เปิดเทคนิคการถ่ายภาพ “ทางช้างเผือก”

เปิดเทคนิคการถ่ายภาพ “ทางช้างเผือก”

เปิดเทคนิคการถ่ายภาพ “ทางช้างเผือก”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ถือว่าเป็นฤดูกาลถ่ายภาพทางช้างเผือก ซึ่งทีมนิวมีเดียพีพีทีวี ลงพื้นที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 25-26 มี.ค.60 เก็บภาพความสวยงามของทางช้างเผือก บนยอดดอยอินทนนท์ มาให้ชมกัน

“ทางช้างเผือก” (The Milky Way Galaxy) เป็นกาแล็กซี (Galaxy) หรือ ดาราจักรที่เราอยู่ หมายถึง อาณาจักรของดาว กาแล็กซีหนึ่งๆ ประกอบด้วยแก๊ส ฝุ่น และดาวฤกษ์และดาวเคราะห์หลายแสนล้านดวง เป็นกาแล็กซีที่มีขนาดประมาณหมื่นล้านถึงแสนล้านปีแสง และที่มีชื่อว่า “ทางช้างเผือก” เพราะคนไทยถือว่ากษัตริย์เป็นเทวดาซึ่งอวตารมาจากสรวงสวรรค์​ ช้างเผือกเป็นสัตว์คู่บุญบารมีของกษัตริย์ ทางช้างเผือกจึงปรากฎอยู่บนท้องฟ้าซึ่งเป็นที่อยู่ของเทวดาและนางฟ้า 

การสังเกต “ทางช้างเผือก”  เมื่อมองบนท้องฟ้าจะปรากฏเป็นแถบขมุกขมัวคล้ายเมฆของแสงสว่างสีขาว ซึ่งเกิดจากดาวฤกษ์จำนวนมากภายในดาราจักรที่มีรูปร่างเป็นแผ่นจาน ส่วนที่สว่างที่สุดของทางช้างเผือกอยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู ซึ่งเป็นทิศทางไปสู่ในกลางดาราจักร แต่เดิมนักดาราศาสตร์คิดว่าดาราจักรทางช้างเผือกมีลักษณะเป็นดาราจักรชนิดก้นหอยธรรมดา แต่หลังจากผ่านการประเมินครั้งใหม่ในปีพ.ศ.2548 พบว่า ทางช้างเผือกน่าจะเป็นดาราจักรชนิดก้นหอยมีคานมากกว่า

สำหรับปี 2560 ตั้งแต่รุ่งเช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ “ใจกลางทางช้างเผือก” (Galactic Center) หรือ ส่วนที่สว่างที่สุดของทางช้างเผือก ประกอบด้วยวัตถุท้องฟ้ามากมาย เช่น ดาวฤกษ์ กระจุกดาว รวมทั้งเนบิวลา ทางช้างเผือกเป็นวัตถุท้องฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อมองจากโลก สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นแถบสว่างพาดเป็นแนวยาวกลางฟ้า ตั้งแต่ทิศเหนือจรดทิศใต้ สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 05.00 น. จนถึงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น และยังมีดาวเสาร์สว่างปรากฏบริเวณด้านซ้ายของใจกลางทางช้างเผือกอีกด้วย หลังจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ จะสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้เร็วขึ้นเรื่อยๆ  แนวใจกลางทางช้างเผือกจะปรากฏอยู่สูงจากขอบฟ้ามากขึ้น จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงปลายเมษายน แนวใจกลางทางช้างเผือกจะค่อยๆ เปลี่ยนทิศทางเป็นแนวพาดบริเวณกลางฟ้า สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป นับเป็นช่วงเวลาที่สามารถชื่นชมความสวยงามและบันทึกภาพทางช้างเผือกได้ยาวนานขึ้น

การถ่ายภาพ “ทางช้างเผือก” ใช้เทคนิคการถ่ายภาพอย่างไร มาดูกัน

1.การถ่ายภาพทางช้างเผือก


การถ่ายภาพทางช้างเผือกจริงๆ แล้วไม่ยาก วิธีการถ่ายก็เหมือนกับการถ่ายดาวทั่วๆ ไปซึ่งการถ่ายดาวทั่วๆ ไป จะมีสูตร ที่มีชื่ออยู่ว่า Rule of 400/600




-ในกรณีกล้องที่เป็นตัวคูณ
ให้นำ 400 หาร ระยะเลนส์ จะเท่ากับ เวลาในการเปิดรับแสงเข้ามาหรือสปีดชัตเตอร์ค้างไว้ เช่น
   400/16 = 25 วินาที



-ในกรณีกล้องที่เป็นฟูลเฟรม ให้นำ 600 หาร ระยะเลนส์ จะเท่ากับ เวลาในการเปิดรับแสงเข้ามาหรือสปีดชัตเตอร์ค้างไว้ เช่น
600/16 = 37.5 วินาที


สำหรับสูตร Rule of 400/600 นี้เป็นชื่อที่เอาไว้จำง่ายๆ โดยมีที่พื้นฐานจากการคำนวณหาขนาดของพิกเซลแต่ละพิกเซลบนเซนเซอร์รับแสงของกล้องถ่ายภาพ แล้วนำมาสร้างเป็นสูตรการคำนวณหาเวลาเมื่อใช้กับเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสต่างๆ กัน โดยในสูตรนี้เรานิยามว่า “หากแสงยังคงตกอยู่บนพื้นที่เซนเซอร์ไม่เกิน 6-7 พิกเซล ภาพดวงดาวก็จะยังมองดูเป็นจุดไม่ยืดมาก และยอมรับได้ในระดับหนึ่ง”



จากนั้นให้โฟกัสผ่าน Live view โดยแมนนวลโฟกัส ไปที่ดาวเลยก็ได้ถ้ามั่นใจว่าฟ้ามืดและดาวสว่างพอ (แนะนำให้โฟกัสกับดาวที่สว่างที่สุดที่เห็น) ถ้าเลนส์ wide มากจะโฟกัสยากหน่อย เพราะดาวจะเล็ก พอได้ระยะชัดสุดของดาวดวงที่โฟกัส ก็ใช้ค่านี้ในการถ่ายจากนั้นหาโลเคชั่น ฉากหน้า หรือจัดองค์ประกอบได้เลย

วิธีการตั้งค่ากล้อง
-ให้ปรับระบบทั้งหมดให้เป็น แมนวล
-เลือกไวท์บาลานซ์ ให้เป็น Kelvin (K)โหมด โดยให้อยู่ในค่าระหว่าง 3200K ถึง 4000K ใครอยากจะลอง โหมดหรือค่าอื่นก็ลองได้ครับแล้วแต่ความชอบ
-ปรับรูปรับแสงให้กว้างที่สุดเท่าที่เลนส์มี 
-ถ้ามีสายลั่นชัตเตอร์ควรใช้สายลั่น หากไม่มี ใช้โหมดตั้งเวลาถ่าย จะช่วยป้องกันการสั่นไหวระหว่างที่กดชัตเตอร์ เพียงเท่านี้ก็สามารถถ่ายดาวหรือทางช้างเผือกได้แล้ว ที่เหลือแค่ติดตามข้อมูลการเคลื่อนตัวหรือเริ่มต้นของทางช้างเผือกในแต่ละเดือนได้ที่ @NARITpage และข้อมูลสภาพอากาศ

ซึ่งหลักสำคัญของการชมและบันทึกภาพทางช้างเผือก ได้แก่ สภาพท้องฟ้าต้องปลอดโปร่ง ไม่มีเมฆ ไม่มีแสงรบกวนทั้งแสงจากดวงจันทร์และแสงไฟจากเมือง การเลือกสถานที่ควรเป็นสถานที่ที่ห่างจากตัวเมืองอย่างน้อยประมาณ 30 กิโลเมตร เพื่อหลีกหนีจากมลภาวะทางแสงและฝุ่นละอองต่างๆ

2.การถ่ายภาพดาวหมุน หรือ สตาร์เทล


การถ่ายดาวแบบนี้จะมีตั้งค่าและการใช้สปีดชัตเตอร์ต่างจากการถ่ายดาวรูปแบบอื่นนิดหน่อย เพราะการถ่ายต้องใช้สปีดที่นานกว่าในการถ่ายดาวรูปแบบอื่น และต้องใช้รูรับแสงที่แคบลง ISO น้อยๆ เพื่อให้แสงดาวที่มีแสงสว่างน้อยไม่มากวนดาวที่มีแสงสว่างเส้นดาวที่ต้องการ ซึ่งการถ่ายดาวชนิดนี้สิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ คือ ขาตั้งกล้องและสายลั่นชัตเตอร์


-ขั้นแรก ให้หาดาวเหนือ ตามชื่อเลยดาวเหนือจะอยู่ทางด้านทิศเหนือ แต่ดาวเหนือในช่วงนี้ต้องรอเวลาอาจจะขึ้นช้าหน่อย หรือถ้าใครมีเข็มทิศก็ใช้เข็มทิศ จากนั้นเราก็หาฉากหน้า จัดองค์ประกอบ


-ขั้นตอนการถ่าย ตามตัวอย่างภาพ ใช้การเปิดม่านชัตเตอร์ค้างที่ 5 นาทีต่อเฟรม ISO 400 รูรับแสงที่ F8 ใช้เวลาในการถ่ายประมาณ 1 ชม. จะได้มาประมาณ 17- 18 เฟรม 


-ต่อมาให้ถ่าย Dark Frame มา 4-5 ภาพ เพื่อเอามาใช้ในการทำ ซึ่ง Dark Frame นี้คือการปิดหน้ากล้องแล้วใช้ค่าเดียวกันกับตอนที่ถ่ายดาว


-หลังจากได้ภาพแล้วนำภาพทั้งหมด มาเข้ากระบวนการทำ Timelaps ในคอมพิวเตอร์ ตามโปรแกรมที่ถนัด เช่น StarStrax ,Star Tail

3.ภาพกลุ่มหมอกควัน มีชื่อว่าเนบิวลา


การถ่ายภาพดาวชนิดนี้ต้องอาศัยกล้องดูดาวที่มีกำลังขยายสูงๆ และสามารถเปลี่ยนเมาท์เพื่อรองรับกล้องจากค่ายต่างๆ ได้ 



-ขั้นแรกใช้ Application ในการช่วยหาเนบิวล่า หรือกลุ่มหมอกควัน จะง่ายสำหรับมือใหม่ เช่น star chart, Night Sky จากนั้นให้หาดาวดวงที่สว่างที่สุด เพื่อทำการตั้งค่าโฟกัส


-จากนั้นให้หันไปทางกลุ่มเนบิวล่า ที่ได้ใช้ Application หาไว้แล้ว 


-นำกล้อง DSLR ไปเชื่อมต่อกล้องดูดาวกับเมาท์ที่เราได้แปลงไว้ 


-ใช้ค่า รูรับแสง (F-Stop) ที่กว้างที่สุด ISO สูงๆ แต่ไม่ควรเกิน 6400 เพราะจะตามมาด้วยนอยส์ที่มากเกินไป


-ใช้สปีดชัตเตอร์นานๆ ไว้ก่อนเพื่อจะได้เปิดรับแสงให้ได้มากที่สุด


4.ภาพแสงเย็นคู่ดาว


ลักษณะการถ่ายคล้ายกับการถ่ายดาวทั่วไป เพียงแต่ต้องเลือกช่วงเวลา ซึ่งหลักการถ่ายใช้หลักการเดียวกับการถ่ายดาวและทางช้างเผือก

 

5.การถ่าย Timelaps

ส่วนการถ่ายภาพวีดิโอเพื่อทำไทม์แลปความสวยงามของกลุ่มบนท้องฟ้า  และภาพทางช้างเผือก ครั้งนี้ใช้เทคนิคถ่ายภาพนิ่ง ครั้งละ30 วินาที ต่อ 1 ภาพ จากนั้นนำภาพที่ถ่ายภาพทุกๆ 30 วินาทีมาเรียงต่อกัน จนปรากฏภาพธรรมชาติที่สวยงามอย่างที่เห็น ซึ่งต้องใช้เวลาเฝ้ารอนาน 2-3 ชั่วโมง

ขั้นตอนการถ่าย Timelaps

ขั้นตอนที่ 1 เตรียมอุปกรณ์

1.กล้อง DSLR หรือ mirrorless ก็ได้

2.เลนส์ที่มีความกว้าง Lens wide

3.ขาตั้งกล้อง

4.สายลั่นชัตเตอร์ (กล้องบางรุ่นอาจจะมีโหมดในการถ่าย Timelaps ก็ไม่จำเป็น) ถ้าไม่มีอาจใช้การตั้งเวลาถ่าย

5.เมมโมรี่การ์ดที่มีความจุเยอะๆ 16 กิกะไบต์ขึ้นไป

ขั้นตอนที่ 2 การเลือกวัตถุในการถ่าย

ขั้นตอนนี้จะพูดถึงการหาโฟกัส เทคนิคง่ายๆคือ ปรับโฟกัสเป็นแมนนวล เปิดโหมด Live view ให้ภาพแสดงที่จอ แล้วหาดวงดาวที่สว่างที่สุด ให้ใช้ดิจิตอลซูมให้มากที่สุด เช่น x10 แล้วค่อยๆ หมุนโฟกัสให้ดาวดวงนั้นกลม จะทำให้การถ่ายดาวนั้นชัดทั้งภาพ แล้วจัดคอมโพสตามต้องการ

ขั้นตอนที่ 3 ลงมือถ่ายทำ

ขั้นตอนนี้จะใช้เทคนิคการถ่ายแบบเปิดชัตเตอร์ยาวโดยใช้สายลั่นชัตเตอร์หรือถ้ากล้องมีโหมดถ่าย Timelaps ก็ใช้โหมดนั้นจะสะดวกกว่า ในกรณีไม่มีสายลั่นให้ใช้วิธีการถ่ายแบบตั้งเวลา เพื่อให้กล้องเก็บแสงให้ได้มากที่สุด

ควรถ่ายกี่รูป?

หลักของภาพเคลื่อนไหวคือ 25 เฟรมต่อ1วินาที เท่ากับว่า เราต้องการถ่ายภาพเคลื่อน 1 วินาทีนั้นเราต้องมีภาพนิ่ง 25 ภาพ ถ้าเราต้องการภาพเคลื่อนไหว 10 วินาที เท่ากับเราต้องมีภาพ 250 ภาพ

แต่ละรูปควรตั้งกล้องถ่ายนานขนาดไหน ?

วีดีโอ Timelaps ดวงดาว เราตั้งค่ากล้องไว้ที่ Fstop กว้างสุดที่เลนส์ทำได้ ไวท์บาลานอยู่ที่ 3200 ให้ท้องฟ้าออกสีฟ้าๆหน่อย isoไม่ต่ำกว่า 3200 ชัดเตอร์ 30 วินาทีต่อ 1 ภาพ ถ่ายทั้งหมด 250 ภาพ แต่ละภาพทิ้งระยะเวลาห่าง 10 วินาที = 250ภาพ x 40 วินาที / 60 นาที เท่ากับเราจะใช้เวลาถ่ายประมาณ 2.4 ชั่วโมง ต่อภาพเคลื่อนไหว 10 วินาที

ทำยังไงให้ได้ภาพหลายๆ มุม?

ลองถ่ายภาพก่อน เพื่อเช็คมุมภาพว่าได้แบบที่ต้องการหรือไม่ ถ้ายังไม่ได้ตามต้องการ ต้องเดินหามุมและทดลองถ่ายภาพจนกว่าจะได้มุมตามต้องการ

ขั้นตอนที่ 4. Processภาพ

หลังจากได้ภาพแล้วนำภาพทั้งหมด มาเข้ากระบวนการทำ Timelaps ในคอมพิวเตอร์ ตามโปรแกรมที่ถนัด 



***หมายเหตุทุกภาพทั้งหมดควรถ่ายด้วย Raw ไฟล์

PPTV PHOTO : สมศักดิ์ เนตรทอง

ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์, สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.)

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook