ถ้าอายุไม่ถึง 75 ก็ยังไม่ถือว่าแก่ ! (ในญี่ปุ่น)

ถ้าอายุไม่ถึง 75 ก็ยังไม่ถือว่าแก่ ! (ในญี่ปุ่น)

ถ้าอายุไม่ถึง 75 ก็ยังไม่ถือว่าแก่ ! (ในญี่ปุ่น)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แก่แค่ไหนถึงจะเป็นคนแก่ อีกไม่นาน ที่ญี่ปุ่น ถ้าอายุไม่ถึง75ก็ยังไม่ถือว่าเป็นคนแก่

ในความรู้สึกของคนทั่วไป ผู้สูงอายุหรือคนแก่คือคนที่มีอายุประมาณ 60 ปีขึ้นไปหรือพูดง่าย ๆ ว่าพอถึงวัยเกษียณก็จะกลายเป็นคนแก่ แต่มุมมองนี้ใช้ไม่ได้กับที่ญี่ปุ่น ประเทศที่ตอนนี้มองไปทางไหนก็มีแต่คนแก่

สมาคมผู้สูงอายุกับสมาคมผู้ป่วยสูงอายุของญี่ปุ่นพร้อมใจกันเสนอให้แก้ไขคำจำกัดความคำว่า “คนชราหรือคนแก่” ใหม่ จากนิยามปัจจุบันคือคนที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ควรแก้ใหม่ให้เป็นคนที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไป !! นอกจากนี้ยังเสนอให้เรียกคนที่มีอายุ 90 ปีขึ้นไปว่า “สุดยอดคนชรา” ด้วย สำหรับคนที่มีอายุ 65 ถึง 74 ปีนั้น ทั้งสองสมาคมเสนอให้ใช้คำว่า “คนก่อนวัยชรา” พร้อมเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้จัดคนกลุ่มนี้ให้อยู่ในกลุ่มคนที่สามารถสนับสนุนสังคมได้ แทนที่จะอยู่ในกลุ่มคนที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ

ทางสมาคมอ้างเหตุผลที่เสนอแบบนี้ว่าเป็นเพราะเมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ถึง 20 ปีก่อน ผู้สูงวัยในปัจจุบันแลดูอ่อนเยาว์และแข็งแรงกว่าอายุจริง 5 ถึง 10 ปีทีเดียว ผลการศึกษาของหลายสถาบันก็ลงความเห็นตรงกันว่าคนที่มีอายุ 65 ถึง 74 ปียังแข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ และสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้

ข้อเสนอนี้ออกมาในช่วงที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังทบทวนระบบประกันสังคมซึ่งรวมถึงการยืดอายุเริ่มรับเงินสำรองเลี้ยงชีพจากปัจจุบันที่ 65 ปีไปเป็น 75 ปีซึ่งจะช่วยลดภาระทางการเงินของระบบประกันสังคมลงได้มาก คาดว่าภายในปี 2603 หรือภายใน 43 ปีข้างหน้า สัดส่วนของคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะมากถึงร้อยละ 40 ของประชากรทั้งประเทศ พูดง่าย ๆ ว่าในคนญี่ปุ่น 100 คน 40 คนเป็นคนสูงอายุตามนิยามปัจจุบัน หากปรับแก้นิยามคนชราว่าหมายถึงคนที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไป สัดส่วนก็จะลดลงได้กว่าครึ่งเลยทีดียว

แต่ผู้เชี่ยวชาญก็เตือนว่าไม่ควรเอาเรื่องสวัสดิการกับสุขภาพมาพิจารณารวมกัน Hiroko Kase ศาสตราจารย์ด้านสวัสดิการสังคมจาก Waseda University มองว่าแม้ผู้สูงอายุจะยังทำงานได้เพราะยังแข็งแรง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถมีรายได้เท่ากับตอนอายุก่อนเกษียณ อาจารย์มองว่าปัญหาทางการเงินของระบบประกันสังคมเป็นเรื่องที่รัฐบาลรู้มานานแล้วแต่ไม่ได้ลงมือจัดการอย่างจริงจัง การแก้ปัญหาด้วยวิธีง่าย ๆ ด้วยการขยายอายุคนชราที่จะเริ่มรับเงินสำรองเลี้ยงชีพไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook