ผลวิจัยชี้นักฟุตบอลอาจเสี่ยงต่อภาวะโรคสมองเสื่อม

ผลวิจัยชี้นักฟุตบอลอาจเสี่ยงต่อภาวะโรคสมองเสื่อม

ผลวิจัยชี้นักฟุตบอลอาจเสี่ยงต่อภาวะโรคสมองเสื่อม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักวิจัยด้านประสาทวิทยาพบว่าการเล่นกีฬาฟุตบอลอาจจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อสมองในระยะยาวได้มากกว่าที่คิด

John Hardy ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยา จากมหาวิทยาลัยคอลเลจ (University College London) ในกรุงลอนดอน บอกว่า สมองของมนุษย์เรานั้นมีลักษณะอ่อนนุ่มนิ่ม คล้ายกับขนมพุดดิ้งที่มีกะโหลกศีรษะครอบอยู่ โดยเฉพาะในส่วนเส้นเลือดในสมองที่มีความซับซ้อน และหากมีการหมุนเปลี่ยนท่าทางด้วยความเร็วเกินไป ก็อาจสร้างความเสียหายให้กับสมองได้

ที่ผ่านมา นักกีฬาในประเภทที่ต้องใช้การปะทะหนักๆ อยู่เป็นประจำ เช่น นักมวย นักอเมริกันฟุตบอล หรือนักฮอกกี้ มักพบอาการสมองได้รับการกระทบกระเทือนแบบสะสม ที่นำไปสู่โรคสมองเสื่อมอยู่เป็นประจำ

แม้หลายคนอาจจะคิดว่ากีฬาฟุตบอลน่าจะใช้เท้าเตะเป็นหลัก แต่ Helen Ling นักวิจัยด้านประสาทวิทยา ของมหาวิทยาลัยคอลเลจ กลับพบว่ามีนักฟุตบอลจำนวนมากที่มีอาการทางสมอง

ในงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ศึกษาการใช้ศีรษะโหม่งลูกฟุตบอลของนักฟุตบอลอาชีพคนหนึ่งนับหมื่นครั้งตลอดชีวิตการค้าแข้ง ซึ่งยังไม่รวมการโหม่งในระหว่างการฝึกซ้อม กลับไม่พบผลที่ชัดเจนว่าการใช้ศีรษะโหม่งลูกฟุตบอลจะทำให้เกิดความเสียหายหายรุนแรงต่อสมองหรือไม่

ขณะที่การศึกษาครั้งใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสารด้านประสาทวิทยาของคณะนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยคอลเลจ ในกรุงลอนดอน ที่ศึกษากลุ่มตัวอย่างสมองของนักกีฬาที่เล่นฟุตบอลเป็นเวลานาน และมีอาการโรคสมองเสื่อม พบว่ากลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีร่องรอยความเสียหายที่สมอง และบางคนมีลักษณะของโรค CTE (Chronic Traumatic Encephalopathy) หรือ สมองเสื่อมสภาพทางประสาท ซึ่งเป็นลักษณะของการได้รับบาดเจ็บซ้ำๆ จนเกิดผลกระทบต่อการสั่งการของสมอง

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ฮาร์ดีบอกว่า แม้จะเป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่ไม่ได้หมายความว่าคนเล่นกีฬาฟุตบอลทุกคนจะมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อม

ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยคอลเลจ บอกว่า กลุ่มตัวอย่างดังกล่าวเป็นนักกีฬาอาชีพที่ผ่านการแข่งขันและเล่นฟุตบอลอย่างหนักมากกว่า 25-30 ปี ดังนั้นผลการทดสอบจะต่างออกไปจากนักกีฬาสมัครเล่น ซึ่งระดับการเล่นและการปะทะจากแตกต่างออกไป

นอกจากนี้การศึกษาเกี่ยวกับความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมกับการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งยังจำเป็นต้องมีข้อมูลสนับสนุนเพิ่มขึ้นมากกว่านี้

Thor Stein ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางสมอง จากมหาวิทยาลัยบอสตัน บอกว่า ในเรื่องความเสี่ยงด้านความกระทบกระเทือนทางสมองแล้ว กีฬาฟุตบอลหรือซ็อคเกอร์ ยังถือว่าน้อยกว่ากีฬาที่ปะทะกันหนักๆ เช่น อเมริกันฟุตบอล และยังต้องศึกษาอีกมากที่จะยืนยันในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม Helen Ling หวังว่าผลการวิจัยของเธอจะเป็นจุดเริ่มต้นการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพื่อเป็นการศึกษาว่ามีความเกี่ยวเนื่องการเล่นกีฬาฟุตบอลและกับโรคสมองเสื่อมหรือไม่

และยืนยันว่ากีฬายอดนิยมของคนทั่วโลก อย่างกีฬาฟุตบอลนั้น มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และยังคงสนุกสนานกับกีฬาลูกหนังได้ต่อไปแน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook