“เอก พงศ์พิพัฒน์” โยคะสอนให้รู้จักความหมายคำว่า “ครู”

“เอก พงศ์พิพัฒน์” โยคะสอนให้รู้จักความหมายคำว่า “ครู”

“เอก พงศ์พิพัฒน์” โยคะสอนให้รู้จักความหมายคำว่า “ครู”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในวงการโยคะเมืองไทยรู้จักชื่อเสียงของ “เอก พงศ์พิพัฒน์ เกียรติประพิณ” หรือ “ครูเอก” ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอ “โยคะ แอนด์ มี” และเวลากว่า 15 ปีที่ “ครูเอก” โลดแล่นอยู่ในวงการนี้นอกจากจะได้สุขภาพที่ดีเป็นรางวัลของการเอาชนะใจตนเองด้วยโยคะแล้ว โยคะยังทำให้ตัวเองรู้ซึ้งถึงความหมายของคำว่า “ครู”

 จุดเริ่มต้นที่ครูเอกหันมาสนใจการฝึกโยคะ

“มันมีจุดที่เราเริ่มรู้สึกว่าเราไม่สะดวกกับการออกกำลังกายทั้งที่เราเป็นคนชอบออกกำลังกายเช่น จะไปตีแบตต้องไปกับเพื่อนหลายๆ คน บางครั้งเพื่อนมาช้าบ้าง ติดงาน มันเลยเป็นจุดที่เราแอบเซ็ง เราก็เริ่มมองหาการออกกำลังกายที่ไม่ต้องรอใครและเราก็สามารถเล่นคนเดียวได้ บวกกับตอนนั้นโยคะกำลังเข้ามาแต่ยังไม่มีเป็นสตูดิโอ จะเห็นก็ตามสวนสาธารณะ สำหรับผมสิ่งที่ตอบโจทย์การออกกำลังกายของเราคือเราสามารถเล่นคนเดียวได้ ไม่ต้องรอใคร อุปกรณ์ก็ไม่ต้องเตรียมอะไรแค่เสื้อบางๆ หนึ่งตัว กางเกงหนึ่งตัว  และที่สำคัญคือใกล้ที่ทำงาน นี่คือเหตุผลที่คิดแค่ว่าจะลองกีฬานี้ และตอนนั้นคิดว่าโยคะเป็นเพียงกีฬาเราต้องลองกันสักตั้ง แต่เล่นแบบไม่ได้คิดถึงความลึกซึ้งของคำว่าโยคะอะไรเลย”

 โยคะไม่ใช่กีฬา แต่ความหมายของโยคะคืออะไร?

“โยคะไม่ใช่กีฬา แต่มันคือการรวมเป็นหนึ่งเดียวในเรื่องของร่างกาย ยกตัวอย่างเวลาทำท่าใดท่าหนึ่งมันต้องใช้ร่างกายหลายอย่างเพื่อที่จะทำท่าแค่หนึ่งท่า หรือเวลาใครที่มีปัญหาร่างกายจุดหนึ่งก็ต้องใช้ท่าโยคะหลายๆ ท่าเอามาช่วยกันในการทำเพื่อที่จะรักษา อันนี้ในมุมของร่างกาย แต่ถ้ามองละเอียดเข้าไปอีกคำว่าการรวมเป็นหนึ่งระหว่างที่ทำท่ามันต้องรู้ตัวก็คือในเรื่องสติที่ต้องมีสมาธิเพราะว่าการที่ทำท่าแล้วล้มนั้นบอกถึงเรื่องจิตใจ หรือเมื่อไหร่ที่อึดอัด กระวนกระวาย หงุดหงิด ท่าทางก็จะออกโดยคนเป็นครูจะรู้ โยคะจึงเป็นการรวมกันระหว่างร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และจิตวิญญาณเข้าไปด้วยกันมันจึงเป็นอะไรที่ค่อนข้างลึกซึ้งมากกว่ากีฬา”

 ความสุขของการเล่นโยคะในแบบของครูเอกเป็นอย่างไร?

“ผมคิดว่ามันคือการเอาชนะใจตัวเอง ซึ่งการเอาชนะใจตัวเองเราสามารถทำได้ตลอดไม่มีสิ้นสุดตลอดชีวิต แม้ตอนนี้เอกจะมาถึงจุดที่เป็นครูแต่ก็ยังไม่สามารถเอาชนะมันได้ทุกอย่าง โยคะไม่ใช่แค่การทำท่าได้หลากหลาย แต่สิ่งที่เราจะเอาชนะใจคือการทำท่าแล้วพบว่าการทำโยคะแล้วมีความสุขคืออะไร ซึ่งความสุขของการทำท่าโยคะได้นั้นคือความสุขสิ่งแรก แต่ท่าที่ทำมันต้องมั่นคงและอยู่ในท่าทางนั้นได้โดยที่มันต้องมีระยะเวลาของท่านั้น อยู่ในท่าได้อย่างมีความสุข หายใจสบาย ไม่ทุรนทุราย ไม่อึดอัดไม่รู้สึกถึงอาการเจ็บปวด”

 กว่าจะเป็นครูเอกสอนโยคะที่คนยอมรับต้องเจอกับอะไรบ้าง?

“เมื่อก่อนครูโยคะจะถูกมองในภาพที่ค่อนข้างดาวน์เพราะคนจะรู้สึกว่าครูโยคะไม่ใช่อาชีพหมอ พยาบาล ทหาร เป็นอาชีพที่คนไม่ได้เห็นความสำคัญ ในยุคแรกๆ สตูดิโอโยคะก็มักจะมีแต่ครูโยคะที่เป็นคนต่างชาติ และสมัยยุคแรกๆ ที่โยคะเข้ามาสตูดิโอที่มีคนเข้ามาเล่นโยคะจะเป็นกลุ่มคนทำงานระดับผู้บริหาร ฉะนั้นจะทำยังไงให้คนกลุ่มนี้ยอมรับในความเป็นครูคนไทยซึ่งมันไม่ง่าย เช่น การที่นักเรียนจะยอมรับได้นั้นบางคนจะมีข้อกังขาในใจครูคนนี้ฝึกมาด้วยกันในห้องแต่ทำไมเป็นครู ใจนักเรียนไม่เปิดไม่ยอมรับและการจะทำให้นักเรียนยอมรับไม่ง่าย ผมจึงจะบอกว่าการจะก้าวมาเป็นครูโยคะสิ่งพวกนี้คือสิ่งที่จะต้องยอมรับตัวเองให้ได้ว่าต้องไม่ท้อ เพราะถ้ามัวแต่ท้อมันจะไม่มีจุดเริ่มต้นของการเป็นครูเกิดขึ้นกับตัวเราได้เลย”

 15 ปีภาคภูมิใจแค่ไหนที่ใครๆ เรียกเราว่าครู

“คำว่าครูมันไม่ได้หมายความว่า 15 ปีผ่านมาแล้วมันเพิ่งจะมาเกิดขึ้น คนไทยให้ความเคารพกับคำว่าครูมากซึ่งเป็นสิ่งที่ผมก็ตกใจเพราะก่อนจะก้าวมาเป็นครูสอนโยคะและสายงานเก่าที่ผมเคยทำเป็นเพียง AE ตัวเล็กๆ ไปเจอลูกค้าก็ต้องยกมือไหว้เสมอแต่พอมาเป็นครูทุกอย่างมันเปลี่ยนกลับกันหมด และมันก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นถ้าเมื่อไหร่ที่เขาศรัทธาในตัวเราเขาจะให้ความสำคัญมาก ยิ่งเมื่อไหร่ที่เราทำหน้าที่ของคำว่าครูได้เต็มที่ ไม่ได้แค่สอนให้เขาเพื่อมีสุขภาพดี บางทีการดูแลเอาใจใส่กัน ครูเป็นอาชีพที่น่าภูมิใจมากแม้ผมจะไม่ใช่ครูที่สอนวิชาการ เป็นครูสอนโยคะก็ภูมิใจและดีใจที่อาชีพครูสอนโยคะถูกเปิดกว้างมากขึ้นและไม่ว่าการได้สอนโยคะใครก็ตามไม่ว่าจะเป็น นักกีฬาระดับโลก คนดังที่มีชื่อเสียง หรือคนทั่วไป สุดท้ายมันก็คือคำว่าครูกับนักเรียนเหมือนกัน”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook