มองชีวิตและตัวตนของ Alex Face ผ่านนิทรรศการเดี่ยวล่าสุดของเขา

มองชีวิตและตัวตนของ Alex Face ผ่านนิทรรศการเดี่ยวล่าสุดของเขา

มองชีวิตและตัวตนของ Alex Face ผ่านนิทรรศการเดี่ยวล่าสุดของเขา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่อง: Arinn / ภาพ: เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม

Alex Face หรือพัชรพล แตงรื่น ศิลปินกราฟฟิตี้เจ้าของคาแร็กเตอร์ ‘เด็กสามตาหน้าบึ้ง’ กำลังจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวของเขาในชื่อ ‘Alive’ ณ Bangkok Citycity Gallery สาทรซอย 1

มันเหมือนเป็นนิทรรศการที่ทำให้เรารู้จักตัวตนของเขามากขึ้น ตั้งแต่ถิ่นกำเนิด การใช้ชีวิตสมัยเด็กๆ จนถึงการเติบโตมาเป็นศิลปินกราฟิตี้อย่างทุกวันนี้ ซึ่งในนิทรรศการนี้เขาเลือกใช้บึงบัว ผลงานของโกลด โมเนต์ ศิลปินแนวอิมเพรสชั่นนิสต์ชื่อดัง ผสมกับตัวเด็กสามตาหน้าบึ้งของเขาได้อย่างกลมกลืน เพราะมากกว่าความงดงามทางศิลปะแล้ว มันยังแฝงความคิดและมุมมองต่อสังคมไทยในปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ

อยากให้คุณเล่าชีวิตในวัยเด็กให้ฟังหน่อยว่าเป็นอย่างไร อะไรทำให้คุณสนใจงานศิลปะ

พูดถึงชีวิตในวัยเด็กกับกราฟฟิตี้ดูคนละเรื่องเลย เพราะเราเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ฉะเชิงเทรา บ้านอยู่กลางทุ่งนาอยู่กับคลอง ไฟฟ้ายังไม่มีใช้เลย เราไม่มีของเล่น ไม่มีกิจกรรมอย่างอื่นให้ทำ ทำให้ศิลปะกลายเป็นของเล่นมาตั้งแต่เด็กๆ เราชอบวาดรูป เอาดินน้ำมันมาปั้น เอาไม้มาเขียนดินให้เป็นรูป ดูการ์ตูนก็อยากวาดให้เหมือน พอเริ่มวาดก็รู้สึกประทับใจ อยากเอาชนะ ตั้งใจวาดไม่ให้ออกนอกเส้น เป็นสิ่งที่เราควบคุมมันได้

แต่ตอนเด็กเราก็วาดงูๆ ปลาๆ มันไม่มีโรงเรียนสอนศิลปะเหมือนสมัยนี้ ตอนประถมเพื่อนเห็นว่าเราวาดได้ ก็เอาการ์ตูนมาให้เราวาดบ้าง หรือบางทีครูก็ให้เราวาดโปสเตอร์บ้าง จะมาจริงจังช่วงมัธยมได้ฝึกฝนเยอะ มีอาจารย์คอยสอน เรามาฝึกหนักในช่วงนี้ ทุกพักกลางวันกินข้าวเสร็จก็เข้าห้องศิลปะ ตอนเย็นก็วาดรูปต่ออีก เรียกว่าเป็นช่วงที่ซ้อมหนักมาก แล้วมีโอกาสได้ส่งผลงานเข้าประกวดจนได้รางวัลมาเต็มบ้าน ได้เงินจากการประกวดมาจ่ายค่าเทอมเอง

พอจบมัธยมต้น เราก็เลือกไปเรียนต่อที่อาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา เรียนด้านวิจิตรศิลป์ ก็เป็นอีกช่วงหนึ่งที่ได้วาดรูปจริงจังมากขึ้น คราวนี้พอจบ ปวช. เราก็ขอแหวกกระแสไปเอนทรานซ์ ก็ไปติดลาดกระบังภาควิชาวิจิตรศิลป์ (Fine Art ) ที่นี่ทำให้เราหลุดจากเรื่องเทคนิคมาฝึกฝนเรื่องแนวคิด ซึ่งถ้ามองกลับไป ช่วงนั้นถือว่าตัวเองเป็นเด็กน้อยมากๆ ต้องเอาแรงบันดาลใจมาจากคนอื่น พอจบมานั่นแหละถึงจะสร้างงานเป็นของตัวเอง

แล้วการที่คุณเลือกจะเป็นศิลปินกราฟฟิตี้ เป็นเพราะความชอบของตัวคุณเองหรือโชคชะตานำพามา

ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยปี 1-2 เป็นช่วงที่กระแสฮิพฮอพเข้ามาพอดี เรารู้สึกว่างานกราฟฟิตี้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของฮิพฮอพ เราก็ศึกษามันด้วยความชอบ เข้าอินเทอร์เน็ตหารูปศิลปินที่ชอบอย่าง Dave Kinsey, Barry Mcgee ก็เลยลองซื้อสีมาพ่นเล่น พบว่ามันสนุกและแก้เบื่อได้ คราวนี้ก็พ่นยาวเลย เสาร์อาทิตย์เรากับเพื่อนก็จะไปหากำแพงว่างๆ พ่นกัน กระแสช่วงนั้นคนเกลียดขี้หน้าเราพอสมควร

 

คุณหลงใหลอะไรในการพ่น

มันคนละอารมณ์กับการเรียนอย่างสิ้นเชิง คือเราเรียนภาพพิมพ์มามันมีกระบวนการทำงานที่ละเอียดและใช้เวลา แต่การพ่นเหมือนได้ปะทะและจบเสร็จไว้ แล้วมีคนมาเห็นสิ่งที่เราทำนนแน่นอน ชอบไม่ชอบก็อีกเรื่อง เป็นการประกาศความเป็นตัวเรา คนด่าก็เยอะ เวลาไปพ่นกับเพื่อน กลับมาไม่โดนตำรวจจับ หรือในที่ยากๆ อันตราย ก็รู้สึกสนุกและอยากไปทำต่อ มันเหมือนสารอดรีนาลีนหลั่ง

ตอนหลังเริ่มคิดได้ว่าถ้าเราพ่นแบบนี้ไปเรื่อยๆ มันเป็นการก่อความเดือดร้อนให้ตัวเอง เลยเปลี่ยนวิธีการทำงานเอาศิลปะที่เราเรียนมาใช้กับเทคนิคการพ่น เริ่มทำงานเป็นเรื่องเป็นราว มีเนื้อหามากขึ้น เพราะกราฟฟิตี้มันพัฒนาจากสิ่งที่เหมือนการทำลายล้าง พอเราเอาความเป็นศิลปะเข้ามาใส่ มันกลายเป็นสตรีทอาร์ท แล้วพื้นที่อย่างหอศิลป์ แกลเลอรี่ พวกนี้คนดูน้อย มีแต่คนในแวดวงศิลปะที่สนใจ แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร คือมันต้องเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้เห็น งานบนกำแพงจากที่เราแค่สนุกก็กลายเป็นพื้นที่ใช้ในการแสดงงาน แล้วหยิบเรื่องที่เราอยากจะพูดมาใช้ มันก็ปะทะกับสังคมได้ทันที

‘เด็กสามตาหน้าบึ้ง’ ที่เป็นคาแร็กเตอร์ของคุณ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร

จุดเปลี่ยนอยู่ที่ตอนผมอายุ 26 ปี แฟนท้อง มีลูก กลายเป็นว่าเราต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น ต้องมองอนาคตมากขึ้น ช่วงนั้นเราก็เบื่อกับสิ่งที่ทำ พยายามหาวิธีคิดและการทำงานแบบใหม่ พอเรามีลูกกลายเป็นว่าเรามีแรงบันดาลใจขึ้นมา เขาคืออนาคตของสังคม อนาคตของประเทศชาติ แต่ที่หน้าบึ้งเพราะตอนนั้นเราอุ้มเขาอยู่ แล้วเราสังเกตว่าเขาทำหน้าบึ้งๆ มันก็เหมือนเสนอความเป็นกังวลของเราได้ ผ่านคาแร็กเตอร์ของความเป็นเด็ก

เราจะได้เห็นเด็กหน้ายิ้มบ้างไหม

ด้วยคอนเซ็ปต์อยากให้คนครุ่นคิดถึงอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร เหมือนสมัยเราเด็กๆ จากวิถีชีวิตที่เราเคยอยู่ในทุ่งนาชนบท อยู่ห่างไกลความเจริญ แต่ทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปเยอะมาก มีมอเตอร์เวย์ตัดผ่าน เป็นโรงงานอุตสาหกรรมหมดเลย สมัยก่อนใช้น้ำคลอง ตอนนี้ใช้น้ำประปาแทน รู้สึกว่าโลกเปลี่ยนไปเร็วมาก เมืองขยายตัวขึ้นแล้วยังไงต่อ พื้นที่ปลูกข้าวกลายเป็นพื้นที่ของโรงงานอุตสาหกรรมหรือห้างสรรพสินค้า แน่นอนเศรษฐกิจต้องเติบโตต่อไป แต่ถ้าย้อนกลับไปที่ปัจจัยสำคัญของคน เราอาจต้องการแค่น้ำและอาหารก็เป็นได้ 

ดูเหมือนคุณจะสนใจความเป็นไปในสังคม หรือเรื่องของทุนนิยมอะไรแบบนี้

มันเหมือนกระทบกับชีวิตเราโดยตรง เราชอบไปนั่งอยู่หน้าบ้านมองทุ่งนา แต่ทุกวันนี้กลับบ้านไปแล้วทุ่งนาที่เราเคยนั่งมองหายไปแล้ว ตอนนี้กลายเป็นวิวที่ถูกบล็อกด้วยคอนกรีต เรียกกลับมาไม่ได้ แม้จะเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ก็ตาม เราเรียกพระอาทิตย์ตกดินกลับมาไม่ได้ แล้วน้ำท่าที่เคยสะอาดมันจะต้องถูกกระทบแน่นอน เลยอยากพูดสิ่งที่เรารู้สึก สิ่งที่เราเจอ

 

แล้วงานศิลปะของคุณจะช่วยเรื่องแบบนี้ในสังคมได้ไหม

อย่างหนึ่งมันแสดงความคิดเรา ให้คนดูงานได้คิดต่อ แต่เป็นเรื่องถามอ้อมมากกว่า งานศิลปะถ้าคนไม่สนใจก็มองว่าไม่จำเป็น กลายเป็นเรื่องของคนรวย ไม่ต้องมีรูปติดบ้านก็ได้ ยังทำมาหากินอยู่เลย แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่แค่ตัวชิ้นงาน ศิลปะน่าจะเป็นเรื่องของการเข้าใจตัวเอง เข้าใจวัฒนธรรม คุณมีศิลปะในชีวิตแค่ไหน มันทำให้ทุกอย่างพอดี ความรุนแรงลดน้อยลงได้

ถ้าเราเข้าใจศิลปะ ทุกอย่างจะถูกพัฒนาไปในทางที่พอดี เอาศิลปะมาใช้พัฒนาในด้านอื่น ไม่ใช่ทำโดยไม่มองถึงความสวยงาม เหมือนเวลาเราไปต่างประเทศ ที่บ้านเมืองเขาสวยงามเพราะเขาเอาศิลปะเข้ามาช่วย อย่างบ้านเรามีเสาไฟฟ้ามาตั้งขวางฟุตปาธหรือความสูงต่ำไม่เท่ากัน เรื่องแบบนี้มันสะท้อนว่าบ้านเราไม่ได้นำศิลปะมาใช้

กลับมาที่นิทรรศการเดี่ยวของคุณคอนเซ็ปต์เป็นอย่างไร

เราสนใจศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสต์ (Impressionism) มาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะโกลด โมเนต์ นิทรรศการนี้เลยเอาสตรีทอาร์ทกับอิมเพรสชั่นนิสต์ ารวมกัน เพราะที่ผ่านมาเราเห็นความคล้ายคลึงกันหลายอย่าง อย่างแรกเป็นเรื่องของความไม่ยอมรับ สมัยก่อนศิลปะเอาไว้แค่บูชาต่อศาสนาหรือสังคมชั้นสูง แต่อิมเพรสชั่นนิสต์กระโดดมาวาดรูปวิถีชีวิตคนทั่วไป หรือวิวทิวทัศน์ ทำให้ถูกมองว่าเป็นศิลปะที่หยาบ ไม่ละเอียด ก็เหมือนสตรีทอาร์ทที่คนมองก็ไม่เข้าใจ แล้วทำงานกลางแจ้ง ไม่ได้อยู่ในสตูดิโอเหมือนกัน เรื่องอุปกรณ์ที่ใหม่ในสมัยนั้น สีน้ำมันใส่หลอดตะกั่วทำให้ศิลปินพกพาไปทำงานกลางแจ้งได้ อย่างสตรีทอาร์ทก็มีสีกระป๋องที่ทำให้เราออกไปพ่นได้

ที่เราหยิบ ‘บึงบัว’ ของโกลด โมเนต์ มาใช้นั้น เพราะพูดถึงวิถีชีวิตเราในตอนเด็กได้ดี เราโตมากับแม่น้ำลำคลอง เราพายเรือไปโรงเรียน อีกนัยหนึ่งคือพูดถึงสถานการณ์ของประเทศเราในตอนนี้ อยู่ในภาวะที่พูดอะไรไม่ได้ แสดงความคิดเห็นไม่ได้ ปล่อยให้มันสวยงามเหมือนบึงบัว แต่ไม่รู้ว่าใต้น้ำมีอะไรบ้าง ส่วนวิธีการเซ็ตนิทรรศการก็จำลองมิวเซียมที่มีงานของโมเนต์มาไว้ในนิทรรศการนี้

นิทรรศการ ‘Alive’ จัดแสดงที่ Bangkok Citycity Gallery สาทรซอย 1 ตั้งแต่วันนี้ถึง 19 กุมภาพันธ์ 2560

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook