จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี

จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี

จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี
Text : พจน์ สุขเมือง

จำกัดผจญภัยในต่างแดน

"ผมใช้ชีวิตเรียนอยู่ในต่างประเทศถึง 12 ปี เริ่มจากเรียนจบชั้นประถมปีที่ 6 ที่โรงเรียน Seven Day Adventist ที่เมืองไทย จากนั้นไปต่อระดับมัธยมที่ Hotchkiss School ที่ Connecticut แล้วไปต่อระดับปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ที่ Boston University พอจบก็ออกมาทำงานที่ European American Bank ด้านเครดิต ที่นิวยอร์ก

"ผมต้องจากบ้านเกิดไปเรียนที่อเมริกาตั้งแต่อายุ 13 ขวบ ในช่วงปี ค.ศ.1970 หรือ พ.ศ.2513 เพราะคุณพ่อคุณแม่ได้เห็นตัวอย่างมาตั้งแต่สมัยคุณปู่แล้ว ท่านจึงให้ความสำคัญกับการเรียนภาษาอังกฤษมาก และในสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียนนานาชาติ หากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมันกับญี่ปุ่นเป็นฝ่ายชนะสงคราม ผมอาจจะต้องเรียนภาษาญี่ปุ่นหรือเยอรมันก็ได้

"ในช่วงเวลานั้นเด็กอายุ 13 ขวบจากบ้านเกิดไปคนเดียวอยู่โรงเรียนประจำ ไม่มีใครรู้จักเรา ไม่มีใครรู้จักตระกูล ภิรมย์ภักดี รู้จักแต่เบียร์สิงห์ เราต้องมีเป้าหมายชีวิต และความมุ่งมั่นอย่างมาก ผมโชคดีที่พอรู้เรื่องภาษาอังกฤษอยู่บ้าง จึงมีเพื่อนเร็วขึ้น ที่สำคัญที่สุด ผมใช้กีฬาเป็นฑูต ทั้งฟุตบอล เบสบอล สเกตน้ำแข็ง เทนนิส อเมริกันฟุตบอล คาราเต้-โด ยิงปืน ล้วนดึงผมเข้ากับสังคมของเด็กอเมริกัน เราได้รับการยอมรับจากพวกเขาง่ายขึ้น เขาจะเลิกมองเราว่าเป็นกะเหรี่ยง ชาวต่างชาติตาหยี มาจากไหนไม่รู้ แต่ตัวผมใหญ่ ผมเล่นกีฬาไม่ได้ด้อยกว่าพวกเขา เขาจึงไม่มองเราเป็นคนต่างชาติ แต่จะมองเป็นเพื่อนร่วมทีม ผมก็อาศัยเคล็ดลับอันนี้เอาตัวรอดเป็นทูตสันถวไมตรีด้วยกีฬา

"ต้องยอมรับว่าคนอเมริกามีวิสัยทัศน์ที่แคบทั้งในเรื่องของภูมิศาสตร์ระหว่างไทยแลนด์กับไต้หวัน ยังสับสนตลอด ผมต้องบอกว่าไทยแลนด์อยู่ใกล้เวียดนามเพราะอเมริกันทำสงครามในปี ค.ศ.1972 คนอเมริกาไม่ค่อยให้ความสำคัญกับประเทศอื่นๆ เขาจะรู้แต่ในประเทศของเขา สมัยนั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต เคเบิ้ลทีวีสัญญาณมันยังไปไม่ถึง

"ที่ Boston University เป็นเมืองมหาวิทยาลัย มีร่วมร้อยมหาวิทยาลัย โรงละคร ศิลปวัฒนธรรม มิวเซียม ใหญ่ๆ 4 ปีที่เรียนอยู่ ผมเรียนจากนอกห้องเรียนมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม การเมือง กีฬา ตั้งแต่อายุ 13-19 ปี ผมเป็นอเมริกันไปแล้ว ดูไม่ออกนึกว่าคนจีนเกิดในอเมริกา ผมรู้ว่าชีวิตผมต้องทำอะไร มันมีกฎเกณฑ์ฝังไว้ในชิป ต้องยกเครดิตให้คุณพ่อคุณแม่

"ผมเองตอนนี้เป็นพ่อคนแล้ว ลูกๆ ผมก็เรียนเมืองนอกตั้งแต่เด็ก คนโต ตั๊น จิตภัสร์ คนรองตุ้ย นันทญา  คนเล็ก ต่อย ณัยณพ อายุ 18 ปี"

"ในช่วงอายุ 18-19 ปีของผม มันมีความเป็นฝรั่งอยู่เต็มตัว คนอเมริกันเขาเน้นความอิสระอยู่ในตัว แต่ปรับใช้กับชีวิตของคนไทยไม่ค่อยได้ ตอนผมจบบอสตัน ผมมีความรู้สึกว่าไม่อยากกลับเมืองไทย หลังจากใช้ชีวิตที่นั่นกว่า 10 ปี รู้สึกอึดอัดกับสังคมไทย ผมเหมือนฟองน้ำไปซึมซับของของเขามากที่สุด ยิงอะไรเข้ามาเรารับสารพัดแล้วแปลงมาเป็นตัวเรา สังคมไทยมันมีกฎ มีกรอบ กฎเกณฑ์ค่อนข้างเยอะ ความคิดความอ่านอเมริกันเขาไม่ถือว่าคนที่อายุมากกว่าคุณจะถูกต้องเสมอไป เด็กสามารถเถียงผู้ใหญ่ได้ ถ้าเขาถูก ซึ่งมันตรงข้ามกับบ้านเราที่ให้เด็กเถียงผู้ใหญ่ไม่ได้ เพราะระบบการศึกษาของสังคมไทย เด็กไม่กล้าเถียงครู แต่สังคมที่โน่นนิยมให้เด็กเสนอข้อคิดเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนความคิด ไม่ใช่เถียงแบบดื้อๆ ด้านๆ แต่ต้องมีเหตุผลโดยเฉพาะเมื่อศึกษาขึ้นไประดับมหาวิทยาลัย ต้องกล้าชาร์จครูเลยว่าทฤษฏีของครูผิดอย่างไร เหตุผลเป็นอย่างนี้ แต่สำหรับเมืองไทย ทำไม่ได้ เพราะวัฒนธรรมไทยสอนไม่ให้เถียงผู้ใหญ่ แค่นั้นผมก็อึดอัดแล้ว"

เหินฟ้ามาสานฝัน

"ผมจบและทำงานธนาคารที่นิวยอร์กประมาณปีกว่า หลังจากก็ใช้ชีวิตที่นี่มา 12 ปี ไม่อยากกลับมาทำธุรกิจครอบครัว ระหว่างนั้น คุณพ่อเริ่มพูดแล้วว่าอยากให้กลับมาช่วยงานที่บริษัทบุญรอดฯ ซึ่งก่อนหน้านั้นผมไม่ได้คิด ความคิดมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาไม่รู้หรอกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร การทำงานธนาคารมันไม่ได้ออกมาอย่างที่เราคิดไว้ เมื่อเข้ามาทำมันน่าเบื่อ สุดท้าย คุณพ่อก็บอกว่าท่านทำงานมาเยอะแล้ว อยากจะเกษียณตัวเองอยากมีโอกาส Enjoy Life เป็นอะไรที่น่าเห็นใจท่าน ซึ่งท่านกึ่งเกษียณตัวเองโดยไม่มีผมก็ได้ แต่ท่านชอบธุรกิจครอบครัว จึงอยากให้มาสานงานต่อ เพราะผมเป็นลูกชายคนเดียว ถ้าผมมีน้องชาย มันก็ไม่แน่ แต่ด้วยสังคมโบราณจึงอยากให้ลูกชายมาดูแล

"สมัยก่อนบริษัทบุญรอดฯ ในตัวบริษัทจะให้ความสำคัญกับการผลิตมากกว่าการตลาด การขายมากกว่าการเงิน พระเอกคือโปรดักชั่นมาจากเยอรมัน ผมเองไม่มีพื้นฐานทางด้านวิศวกรและไม่ชอบ ถ้ามาเมืองไทยแล้วจะมีอะไรทำหรือเปล่า ตอนนั้นมองแล้วตัน ในปี พ.ศ. 2524 จึงตัดสินใจบินกลับมา ผมมองว่าการเน้นโปรดักชั่นอย่างเดียว มันไม่ดึงดูด เมื่อผมเข้ามาทำ ต้องใช้เวลาในการปรับตัวเยอะมาก โชคดีผมมีเพื่อนๆ ที่ถูกส่งตัวไปเรียนเมืองนอกรุ่นเดียวกันไปทำงานที่โน่นแล้วกลับมาไล่เลี่ยกัน จึงช่วยซึ่งกันและกันในการแปรสภาพ ตอนหลังผมมีภรรยาคือคุณต้น (ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี นางเอกภาพยนตร์เรื่องสุริโยไท) คบกันมาตั้งแต่เด็กๆ เขาเป็นเพื่อนน้องสาวผม เห็นเขาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ส่วนผมอายุ 15 (หัวเราะ) เขามาช่วยแปลว่าคนไทยรับอย่างนี้ได้มั้ย ทำอย่างนี้มันทำไม่ถูก จะเป็นการแลกเปลี่ยน เขาจะช่วยสอนซึ่งบางทีเราไม่รู้ก็ได้ภรรยาช่วยเยอะมาก เขาเรียนอยู่จุฬาฯ เพื่อนเขาเยอะ เราก็ได้เน็ตเวิร์คขึ้นมา

"จะด้วยเวรกรรมหรือโชคจังหวะช่วยก็ไม่ทราบ พอดีคุณปิยะ ภิรมย์ภักดี แกเป็น CEO อยู่ แกนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในบุญรอดฯ ตอนนั้น IBM 34 เครื่องใหญ่มาก ซึ่งเป็นระบบค่อนข้างเก่า ผมเริ่มเรียนรู้โปรแกรมมิ่ง แกให้ผมมาประสานงานดูแลระบบที่ทำด้วยมือ ที่ทำกันมาแล้ว 50 กว่าปี ให้มาทำระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมันพูดกันคนละภาษา (หัวเราะ) เราซื้อคอมพิวเตอร์ จ้างโปรแกรมเมอร์มาลงโปรแกรมไม่รู้กี่สิบล้าน กับเสมียนที่นั่งทำด้วยมือ มันพูดกันไม่รู้เรื่อง ผมเป็นตัวกลาง ทำให้ผมเรียนรู้ระบบต่างๆ ทำให้เรารู้ระบบการมัดจำขวด ระบบการจัดจำหน่าย การผลิต การเก็บของ การจัดส่ง ระบบบัญชี ระบบการเงิน เมื่อนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้แล้วลดภาระเวลาที่ทำด้วยมือมันเป็นของใหม่มาก ผมต้องฝึกเพื่อให้เกิดความเข้าใจในการทำงานของระบบ คนอบรมเป็นคนต่างชาติ มันจึงง่ายขึ้น ระหว่างนั้นจึงนำมาปรับระบบ ถึงแม้จะไม่ 100% ก็ตาม

"นั่นคืองานหลักงานแรกในบุญรอดฯ ที่ท้าทาย เพราะคนรุ่นเก่าเขาไม่ยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เรียกว่าคอมพิวเตอร์ เพราะเขาเคยทำระบบมือมา 40-50 ปี ในขณะที่นายใหญ่เขาบอกว่าต้องนำมาใช้ ผมจึงลงไปสัมผัสเพื่อให้เกิดความโปร่งใส มีระบบเข้ามารีพอร์ท มีการปรับปรุงพัฒนา เดี๋ยวนี้เราเรียนรู้บทเรียนแล้วว่าเราจะนิ่งไม่ได้ ผมทำด้านนี้อยู่ 3-4 ปี จากนั้นไปดูด้านเครดิตลูกค้าแล้วมาด้านการเงิน บัญชี เดี๋ยวนี้ผมดูสายนั้นอยู่ ต่อมาจึงมาดูด้านการส่งออกด้วย"

เปิดภาพ 3 พี่น้องลูกชาย ลูกสาว จุตินันท์

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook