กีฬาไม่สนว่าเราเป็นใคร ... เมื่อการวิ่งให้ความหมายใหม่กับชีวิต'เธอ'ยุทธพงศ์ กุลอึ้ง

กีฬาไม่สนว่าเราเป็นใคร ... เมื่อการวิ่งให้ความหมายใหม่กับชีวิต'เธอ'ยุทธพงศ์ กุลอึ้ง

กีฬาไม่สนว่าเราเป็นใคร ... เมื่อการวิ่งให้ความหมายใหม่กับชีวิต'เธอ'ยุทธพงศ์ กุลอึ้ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไอรอน'เทย กะเทยที่พิชิตไตรกีฬามาราธอนระดับไอรอนแมน และเธอยังคงออกวิ่งเพื่อความหมายของชีวิต

เหตุผลในการวิ่งของแต่ละคนอาจจะต่างกันไป คุณวิ่งเพื่อสุขภาพ เพื่อร่วมสังสรรค์กับผู้อื่น บางคนอาจเน้นเรื่องรูปร่าง

สำหรับ ยุทธพงศ์ กุลอึ้ง หรือที่คนส่วนมากรู้จักเธอในชื่อ ‘แจ็คกี้’ นักไตรกีฬาที่ผ่านทั้งการวิ่งมาราธอน และยังสามารถเข้าเส้นชัยในการแข่งขันไตรกีฬา Iron Man ที่โหดหินในระดับท็อปสุด หลักไมล์ที่เธอสาวเท้าผ่านไป นำเธอไปไกลกว่าจุดเริ่มต้นความตั้งใจแรก และนำเธอไปพบกับเหตุผลใหม่ เหตุผลที่ยิ่งใหญ่สำหรับชีวิต

เราไม่เคยออกกำลังกายเลย สมัยเด็กๆ พอมีกีฬาสี ก็เป็นแค่เชียร์ลีดเดอร์” เธอเริ่มต้นเล่าเรื่องราว และเราก็คิดไว้อยู่แล้ว สวยเฉี่ยวเปรี้ยวจี๊ดอย่างเธอ ต้องเป็นเชียร์ลีดเดอร์มาทุกสถาบันการศึกษา

เธอไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะมาเป็นนักไตรกีฬาหรือนักวิ่งมาราธอน จนกระทั่งเธอได้เจอกับลูกค้าคนหนึ่งซึ่งเธอแอบชอบ เขามาทำผมที่ร้านเป็นประจำ และทั้งสองก็พูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับชีวิต พวกเขาแลกหนังสือกันอ่าน จนมาถึงหนังสือเล่มนี้ที่เขาชวนให้เธออ่าน - เย็นวันเสาร์ เช้าวันอาทิตย์ ของ คามิน คมนีย์ หนังสือเล่มนี้เปลี่ยนเจ้าของร้านทำผมที่จังหวัดกาญจนบุรีไปตลอดกาล

“มาราธอนคล้ายบทเพลงเพลงหนึ่งที่ฟังแล้วไม่เข้าใจ อาจเพราะยังไม่เคยสัมผัสมัน แต่นั่นก็ทำให้เราอยากรู้ว่าทำไมคนบนโลกนี้ถึงหลงใหลและอยากวิ่ง การวิ่งมันจะสามารถเปลี่ยนชีวิตของคนคนหนึ่งได้จริงเหรอ”
เธออยากพบกับความเปลี่ยนแปลงนั้น

T : กตัญญู สว่างศรี , P : อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

28 เมษายน พ.ศ. 2556

วันแรกที่เธอออกวิ่ง เธอจำได้แม่นเพราะจดบันทึกเอาไว้ และเธอก็นำหลักฐานชิ้นเอกติดตัวมาจากกาญจนบุรี เพื่ออวดพวกเราด้วย รองเท้านิวบาลานซ์คู่แรก เธอตั้งชื่อให้มันว่า Beginning

สนามแรกในชีวิต เธอเลือกลงวิ่งในระยะทาง 10.5 กิโลเมตร เธอให้เหตุผลว่า เพราะการเริ่มต้นที่ไม่ต้องการแข่งขันกับใคร

“เราแค่อยากลองดูว่างานวิ่งเป็นยังไง บรรยากาศวันนั้นแต่ละคนก็เป็นนักวิ่ง ป้าๆ ลุงๆ ส่วนเราเป็นกะเทย ทุกคนก็หันมามอง เฮ้ย! อะไร ยังไง" แจ็คกี้หัวเราะ

วันนั้นเธอวิ่งไปเกือบๆ 2 ชั่วโมง ต่อมาไม่นานก็มีรุ่นน้องช่างภาพส่งรูปจากงานวิ่งมาให้ดู เธอเห็นตัวเองวิ่งกระหืดกระหอบ ถือพัดโบกไหวๆ

“จำได้ว่าเรานอนอยู่ในห้อง เช็กเฟซบุ๊ค ในใจมีความรู้สึกภูมิใจ ว่าได้ทำอะไรบางอย่างที่อยากจะทำมานานแล้ว มีความสุขลึกๆ เหมือนได้พิสูจน์ตัวเอง และรู้สึกมีบางอย่างที่ไม่เหมือนเดิม”

งานต่อมาเกิดขึ้นให้หลังจากนั้นเพียง 3 เดือน กรกฎาคมปีนั้น เธอตัดสินใจซื้อทัวร์เพื่อไปร่วมงานวิ่งที่เกาะพะงัน

เป็นทัวร์แบบป้าลุงนักวิ่งมาราธอน คนนั่งใกล้เราชื่อ พี่ตี๋เล็ก เราก็หันไปชวนคุยว่า พี่ครับๆ ผมอยากเป็นนักวิ่งมาราธอน พี่พอมีอะไรแนะนำมั้ย ลองนึกภาพ พี่ตี๋เล็กเป็นผู้ชายหัวล้านๆ ไว้หนวดเหมือนนายจันทร์หนวดเขี้ยว ออกแนวคาราบาวมาก แกหันมาพูดกับเราว่า

“เฮ้ย! น้อง มาราธอนไม่ใช่กีฬาของคนใจเสาะ แต่ถ้าน้องอยากจะวิ่ง น้องก็วิ่งไปเลย” ไอรอน ’เทย ไทยแลนด์ ตั้งแต่วันนั้นจนมาถึงวันนี้ จากการวิ่งมินิมาราธอน ไปสู่การวิ่งมาราธอนเต็มๆ แจ็คกี้จริงจังมากขึ้นเรื่อยๆ

“เราชอบ Alanis Morissette นักร้องยุค ’90s ช่วงหนึ่งที่เธอทำอัลบั้ม เธอก็ไปเล่นไตรกีฬา แล้วเมื่อก่อนเราจะชอบซื้อนิตยสารมิวสิค เอ็กซ์เพรส แล้วอ่านเจอว่า อุ้ย! อลานิส นางเล่นไตรกีฬาด้วย นางเท่มาก ตอนนั้นเรามองว่าไตรกีฬาเป็นกีฬาที่บ้ามาก ต้องว่ายน้ำ ต้องปั่นจักรยาน แล้วก็ต้องวิ่งมาราธอน กระทั่งมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นทอม ชวนเราไปลงไตรฯ”

ไตรกีฬาจะมีการแบ่งระยะคล้ายกับวิ่ง โดยจะมี Sprint, Standard, Half Triathlon และที่หนักหน่วงสุดคือ Full Triathlon หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าระยะ Iron Man ซึ่งนี่คือระยะที่แจ็คกี้ทำได้แล้ว

“เราเพิ่งจบไอรอนแมนไปเมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้ว ระยะว่ายน้ำ 3.8 กิโลเมตร ปั่นจักรยาน 180 กิโลเมตร และวิ่งมาราธอน 42 กิโลเมตร ใช้เวลา 7 ชั่วโมงครึ่ง ตอนที่ทำได้ ดีใจ ภูมิใจ”

เล่นกีฬาหนักหน่วงแบบนี้ ภายในใจของกะเทยคนหนึ่ง กำลังคิดอะไรอยู่ - GM ถามแจ็คกี้

“เมื่ออยู่ใน Race ไม่ว่าเพศใดๆ เราเท่ากันหมด” แจ็คกี้ตอบถึงการเป็นเพศที่แตกต่างของเธอ

“เหมือนอาชีพช่างทำผม เดี๋ยวนี้ก็มีทุกเพศ ไม่ว่าชายหรือหญิงหรือกะเทย เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เราลงแข่งขัน เราก็เป็นคนคนหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับเพศแล้ว ไม่ต้องการพรีเซนต์ตัวเองว่าฉันเป็นกะเทย การออกกำลังกายเป็นเรื่องของความไม่มีเปลือก เราถอดทุกอย่างออกไป เราวิ่งก็ไม่แต่งหน้า ใส่เสื้อผ้าธรรมดา ไปอยู่ท่ามกลางวิถีนักวิ่ง ได้อยู่กับการตกผลึกทางความคิดของตัวเอง เราชอบความรู้สึกแบบนี้มากกว่าจะโชว์พาวว่าฉันเป็นกะเทย”

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีสภาวะของความกระอักกระอ่วนใจอยู่บ้าง ในการเล่นกีฬาแบบนี้

ไตรกีฬา 3 ระยะ จะมีช่วงทรานซิชั่น ที่นักกีฬาจะต้องดร็อปกระเป๋าไว้ก่อน พอขึ้นจากน้ำ ก็ขึ้นไปหยิบกระเป๋าหมายเลขของตัวเอง เพื่อนำไปเปลี่ยนเสื้อผ้าและอุปกรณ์

“พอวิ่งเข้าไปในทรานซิชั่น เป็นเหมือนอีกดินแดนหนึ่งที่เราไม่เคยเจอ เขาจะมีให้เลือกเพศหญิงหรือชาย ซึ่งในนั้นทุกคนต้องแก้ผ้าหมดเพื่อเปลี่ยนชุด เราก็อึ้งไปนิดนึงนะ” แจ็คกี้เล่าวินาทีที่น่าอึดอัด เธอจะต้องเลือกว่าถ้าจะต้องไปแก้ผ้ากับคนอื่นจริงๆ เธอจะเลือกแก้ผ้ากับใคร

มันเหมือนวินาทีที่เราจะต้องยอมรับกรอบของสังคม และการหาหนทางประนีประนอมเพื่อการอยู่ร่วมกันให้ดีที่สุด

ในที่สุด วินาทีนั้นเธอเลือกเข้าห้องผู้ชาย

“การเลือกเป็นผู้ชายน่าจะถูกต้องที่สุด เพราะไปแก้ผ้ากับผู้ชาย เราเองคือคนที่จะต้องอดทนอาย แต่ถ้าเราไปแก้ผ้ากับผู้หญิง ผู้หญิงเขาอาจจะอาย รู้สึกไม่ดีกับเรา”

เธอเลือกที่จะเป็นฝ่ายอึดอัดอับอาย

“มันคือทรานซิชั่นของชีวิตที่เราจะต้องเลือก ซึ่งพอเอาเข้าจริงๆ ตอนเปลี่ยนชุด ณ จุดนั้น มันไวมาก ทุกคนก็ไม่ได้มองกันหรอก เราก็ไม่ได้มองใคร แต่ตอนนั้นรู้สึกตัวเองเป็นเอเลี่ยนมากๆ” เหตุผลของชีวิต แจ็คกี้บอกกับเราว่า เธออยากเป็นกะเทยธรรมดาๆ ไม่ได้ทำตัวโดดเด่น ไม่ได้อยากหลุดออกมาเป็น เลดี้ กาก้า หรือกรีดร้องวี้ดว้าย

“ชีวิตของคนแบบเรา มักจะอยู่กับคำถามที่ว่า ทำไมเราถึงต้องเกิดมาเป็นแบบนี้ ทำไมคนอื่นๆ รู้สึกกับเราไม่เหมือนเขา ทั้งๆ ที่เราก็เป็นคนเหมือนกัน”

เธอไม่ชอบการใช้คำศัพท์บางคำ เช่น คำว่า ใจตุ๊ด...คือตุ๊ดแล้วทำไมวะ ทำไมเหรอ...ตุ๊ดไม่มีหัวใจหรือไง

ภาพเหมารวมว่ากะเทยหรือตุ๊ด จะต้องเป็นคนใจเสาะ อ่อนแอ ลึกๆ แล้วก็มีส่วนผลักดันให้เธอออกวิ่ง วิ่งถึงระดับมาราธอน และไปจนถึงสุดขอบศักยภาพของร่างกาย คือการแข่งไอรอนแมน

“เวลาเราเข้าเส้นชัย อยากให้เขาประกาศ คุณเป็นไอรอน ’เทย ไทยแลนด์ ซึ่งจริงๆ เขาจะประกาศแสดงความยินดี คุณเป็นไอรอนแมน ไทยแลนด์ ซึ่งเราก็ไม่ต้องการอภิสิทธิ์อะไรตรงนั้นหรอก เพราะทุกคนก็ไอรอนแมน ทุกคนไม่แตกต่างกัน”

แจ็คกี้ตอบคำถามถึงเรื่องเป้าหมายสูงสุดในการวิ่ง เธอไม่เคยคิดแข่งขันกับใคร ตั้งแต่จุดเริ่มจนถึงปลายทาง เธอแข่งกับตัวเอง

ก่อนหน้านี้เธอมีอาการซึมเศร้า หลังจากที่แม่เสียชีวิต เธอหดหู่และรู้สึกปลงชีวิต แต่การว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน หรือการวิ่งระยะไกล มันปรับการมองชีวิตของเธอ ทำให้เธอมุ่งไปข้างหน้าเสมอ

“ลูกค้าคนนั้นไปวิ่งในงานกรุงเทพมาราธอน งานมีสโลแกนว่า Run for a Reason เขากลับมาถามเราว่า Run for a Reason ของเราคืออะไร”

คำถามนี้วนเวียนอยู่ในหัวแจ็คกี้ตลอดมา

“เราก็ไม่รู้เหมือนกัน บางคนคือรางวัล บางคนคือออกกำลังกาย บางคนคือความเจ็บปวด เราตอบเขาไปว่า อาจจะเป็นความสุขมั้ง เขาบอกว่าอาจจะไม่ใช่”

มันคือคำถามเชิงปรัชญา การวิ่งเปรียบได้กับชีวิต

“เรามุ่งหน้าไปเรื่อยๆ เหมือนการดำเนินชีวิตไปตามวันเวลา…เราทำได้แค่วิ่งไปข้างหน้า”

...แจ็คกี้นิ่งงันไป

ความเงียบล่องลอยในอากาศ แจ็คกี้เหมือนกับไม่ได้อยู่ตรงนี้แล้ว

เรารับรู้ได้ว่าแจ็คกี้วิ่งนำเราไปแล้วในจินตนาการ

“ทำไมถึงวิ่งน่ะหรือ...เราคงจะต้องวิ่งต่อไปจนกว่าจะได้คำตอบ” แจ็คกี้ห่างออกไปไกลลิบๆ เขาหันกลับมาตะโกนบอกเรา และกวักมือเรียกให้เราวิ่งตามไป

รอผมด้วยพี่ !! …เรากำลังวิ่งตามเขาไปให้ทันในจินตนาการ

อลานิส นาดีน มอริสเซตต์ (Alanis Nadine Morissette) นักร้อง-นักแต่งเพลง ชาวแคนาดา/อเมริกัน มอริสเซตต์เริ่มอาชีพที่แคนาดา ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น โดยมีผลงานอัลบั้มแนวแดนซ์-ป๊อป 2 ชุด ชื่อชุด Alanis และ Now Is the Time ภายใต้สังกัดเอ็มซีเอ จากนั้นออกผลงานในระดับนานาชาติในแนวร็อค ชุด Jagged Little Pill เธอได้รับรางวัลจูโนมา 12 ครั้ง และได้รับ 7 รางวัลแกรมมี่ มียอดขายอัลบั้มรวม 60 ล้านชุดทั่วโลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook