หนุ่มเล่นกล้ามอยากรู้ กินไก่เยอะๆ เป็นโรคเก๊าท์หรือไม่

หนุ่มเล่นกล้ามอยากรู้ กินไก่เยอะๆ เป็นโรคเก๊าท์หรือไม่

หนุ่มเล่นกล้ามอยากรู้ กินไก่เยอะๆ เป็นโรคเก๊าท์หรือไม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เชื่อว่าหนุ่มๆ โดยเฉพาะหนุ่มที่รักการออกกำลังกายและเพาะกาย คงอยากรู้ว่าการที่เรากินไก่เยอะๆ จะทำให้เป็นโรคเก๊าท์หรือไม่ ? เพราะจากที่หลายคนเคยได้ยิน มักมีคนพูดอยู่เสมอว่า กินไก่เยอะๆ จะเป็นโรคเก๊าท์ วันนี้ Sanook! Men มีข้อมูลที่น่าสนใจจากคุณฉีมาฝาก งานนี้จะเป็นหรือไม่ต้องตามไปพิสูจน์

ผมชื่อฉี อายุย่าง 29 ปี ผมเล่นกล้ามมาหลายปีแล้ว แต่พึ่งจะมากินอกไก่จริงจังเมื่อกลางปี 2015 นี้เอง ผมกินอกไก่เฉลี่ย 8 ขีด/วัน (น้ำหนักอกไก่ดิบลอกหนังแล้ว) อาจจะมีบางวันที่สลับไปกินโปรตีนจากปลา หมู เนื้อวัวแทนบ้าง ยกเว้น 1 เดือนสุดท้ายก่อนขึ้นแข่ง Mr.Thailand 2016 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 เมษายน ผมจะกินแต่อกไก่เท่านั้น วันละ 0.8-1.2 kg

ภาพด้านบน Day1 (ตรงกับวันที่ 1 ธันวาคม 2015)เป็นวันเริ่มต้นการไดเอท หรือรีดไขมันออก เนื่องจากเป้าหมายของผมคือการลงประกวด ดังนั้นผมจะกินอาหารที่มีโปรตีนสูงอย่างสม่ำเสมอทุกวัน

ภาพวันขึ้นแข่ง Mr.Thailand 2016

มาจนถึงตอนนี้ ร่างกายของผมก็ไม่ได้มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด แต่สิ่งที่กลับเป็นปัญหาสำหรับผมคือ คนในครอบครัวต่อต้านการที่ผมกินไก่เป็นจำนวนมากเป็นช่วงเวลายาวนาน ผมได้รับคำเตือนหลายครั้งว่า ไก่นั้นเป็นไก่เนื้อที่ถูกเร่งให้โตไวกว่าไก่บ้านปกติ เร่งด้วยการฉีดยาเข้าไปที่หน้าอกของไก่ ไก่พวกนี้เป็นพิษ กินไปนานๆจะทำให้ผมเป็นโรคร้ายในอนาคต หรือบางครั้งก็แนะนำให้ผมหันไปซื้อไก่บ้านทั้งตัวมากินแทน ถึงแม้ข้อมูลเหล่านี้พ่อแม่จะไม่ได้เห็นกับตาตัวเอง แต่มันก็เป็นจริงอย่างไม่ต้องพิสูจน์สำหรับพ่อแม่ไปแล้ว ส่วนตัวผมได้แต่นั่งเงียบ ผมไม่คิดว่าผู้ใหญ่จะเข้าใจคำอธิบายว่า เนื้อไก่ส่วนอื่นจะมีไขมันสูงกว่ามาก และผมเองก็ไม่มีหลักฐานยืนยันด้วยว่าอกไก่ที่ผมซื้อจาก Makro ซึ่งเป็นอกไก่จาก CP นั้นจะไม่ถูกฉีดสารกระตุ้นที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย หรือต่อให้มีเจ้าหน้าที่จากฟาร์มไก่ CP มายืนยันกับคนในครอบครัวผม ก็ไม่ได้แปลว่าคำพูดนั้นจะลบล้างความเชื่อของผู้ใหญ่ได้ แม้ผมจะมีเพื่อนเพาะกายที่รู้จักหลายคนกินไก่ในปริมาณที่มากกว่าผม และนานกว่าผม และร่ายการก็ยังไม่พบความผิดปกติ แต่นั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่จะใช้เป็นหลักฐานยืนยันได้โดยตรงว่า ลักษณะการกินแบบนี้ร่างกายจะยังอยู่ในความสมดุล

การสร้างกล้ามเพาะกายจำเป็นที่จะต้องกินโปรตีนปริมาณมาก โดยเฉพาะโปรตีนจากอกไก่ที่มีราคาถูกและยังเป็นแหล่งโปรตีนที่เกือบจะถือว่าดีที่สุด นอกจากอกไก่แล้ว ผมยังทานอาหารเสริมจาก whey protein วันละ 2 scoop ทานตอนตื่นนอนและหลังเล่นเวธ, Vitamin รวม, Fish oil, Creatine ซึ่งทานต่อเนื่องตั้งแต่ปีกลางปี 2015 และ ใน 2 เดือนก่อนแข่งจะทาน BCAA, Fat burn จากคาเฟอีนด้วย ดังนั้น ถ้าผมจะไปต่อในสิ่งที่ผมรัก อย่างน้อยผมก็ต้องมั่นใจว่าผมไม่ได้มีโรคร้าย ผมจึงตัดสินใจไปตรวจร่ายกายที่โรงพยาบาลศิริราช

ผลจากการตรวจร่ายกายพบว่า
1. ปริมาณน้ำตาล Glucose อยู่ในเกณฑ์ปกติ
อันที่จริงก็ควรจะเป็นปกติแหละครับ เนื่องจากช่วงไดเอทผมค่อยๆเลี่ยงของหวานให้น้อยลงจนไม่มีน้ำตาลเลยใน 2 เดือนสุดท้าย

2. Creatinine เป็นค่าที่บ่งบอกการทำงานของไต ซึ่งของผมอยู่ในเกณฑ์ปกติ

3. ค่ากรด Uric อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ค่ากรด Uric นี้ที่เป็นตัวแปลบ่งบอกว่าเป็นโรคเก๊าหรือไม่ ผลตรวจนี้ทำให้ผมได้คำตอบที่ค้างคามาหลายปีเลย ก็คือผมไม่ได้เป็นโรคเก๊าจากการกินอกไก่ในปริมาณมาก อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ผมไม่ได้สรุปทันทีว่าในอนาคตถ้าผมกินไก่มากกว่านี้ นานกว่านี้ ค่า Uric จะไม่สูงขึ้น

นอกจากนี้ ในความเข้าใจส่วนตัวที่ยังยืนยันไม่ได้อีกอย่างคือ คนที่ไม่ค่อยกินไก่ หรือสัตว์ปีกเลยบางคน ก็อาจจะมีค่ากรด Uric สูงได้ และคนที่กินไก่ หรือสัตว์ปีปริมาณมากๆบางคน ก็อาจจะมีค่ากรด Uric ในเกณฑ์ปกติได้ พูดภาษาง่ายๆก็คือ คนที่จะเป็นเก๊ากินไก่น้อยอย่างไงก็เป็นเก๊า คนที่ร่างกายจะไม่เป็นเก๊ากินไก่แค่ไหนก็จะไม่เป็นเก๊า และเพื่อให้กระทู้นี้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ผมขอนำคลิปคำพูดจากปากคุณหมอมายืนยันอีกทีว่า ผมไม่ได้เป็นโรคเก๊าท์จากการกินไก่จริงๆ

4. ค่า Cholesterol ไม่มากเกินปกติ
ทั้งโปรแกรมเพิ่มกล้าม และโปรแกรมไดเอทของผมจะกินไข่ไก่น้อยมาก คือประมาณ 1-2 ฟอง/วันเท่านั้น ไม่ใช่เพราะผมไม่ชอบไข่ไก่นะครับ แต่เพราะผมได้โปรตีนจากไก่ และเวย์เพียงพอแล้ว จึงไม่น่าแปลกที่ค่า cholesterol นี้ไม่สูง อย่างไรก็ตาม การทานไข่ทั้งใบวันละหลายฟอง ก็อาจจะไม่ได้ทำให้ปริมาณ cholesterol ในบางคนเพิ่มขึ้นก็ได้นะครับ จากที่ผมได้อ่านจากข้อมูลทาง internet เคยพบว่า การทานไข่ทั้งใบไม่ได้เพิ่มโอกาสการเกิดโรคหัวใจอุตตันจาก cholesterol แต่อย่างใดเลย (หากใครมีข้อมูลตรงนี้ก็ช่วยมายืนยันอีกแรงหน่อยนะครับ) ซึ่งหักล้างความเชื่อเดิมที่พูดกันมายาวนานทางสื่อทุกๆสื่อมาหลายสิบปีว่า ไม่ควรทานไข่เกินวันละ 2 ฟอง
นอกจากนี้ผมเคยดูคลิปใน youtube ที่ ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา เคยพูดไว้ว่า cholesterol ยิ่งมีมากยิ่งดีต่อร่างกาย ที่มันไม่ดีก็ต่อเมื่อไขมันเลว trans fat ไปเกาะติดแผลที่ผนังหลอดเลือดก่อน ส่งผลให้ไขมัน cholesterol มาเกาะติดทีหลังจนอุตตัน (ถ้าผมเจอคลิปนั้นแล้วจะมาแปะอีกทีนะครับ) ส่วนนี้เป็นจริงแท้แค่ไหนผมไม่ทราบนะครับ หมอคนไหนช่วยมาแบ่งปันข้อมูลหน่อยนะครับ
ผมวางแผนโปรแกรมอาหารต่อจากนี้ไปว่าจะเปลี่ยนมากินไข่วันละ 5 ฟอง โดยจะกินไข่แดงไปด้วย 4 ฟอง และทิ้งไข่แดงออก 1 ฟอง และแน่นอนว่าผมจะคอยตรวจหาปริมาณ Cholesterol ทุกๆ 3-6 เดือนด้วย (ไม่มีข้อมูลวิจัยไหนน่าเชื่อถือเท่ากับเราไปตรวจด้วยตัวเอง)

5. Triglyceride ซึ่งเป็นไขมันไม่ดี มีค่าเพียง 35

6. ไขมัน HDL ซึ่งเป็นไขมันดีของผมมีเยอะเพียงพอ
ตอนที่ผมไปตรวจ เจ้าหน้าที่ถามผมว่าจะตรวจไขมันดีไปด้วยไหม ผมถามกลับว่าตรวจค่าไขมันดีไปจะช่วยบอกอะไรได้หรือครับ เจ้าหน้าที่ก็อธิบายมาว่า เคยมีเพื่อนที่รักสุขภาพ ทำ Cardio ทุกวันเยอะมาก แต่ผลตรวจปรากฎว่ามีไขมันดี HDL ต่ำมากๆ ซึ่งคาดว่าเกิดจาการใช้งานร่างกายมากเกินไป ผมเลยเข้าใจว่าการออกกำลังกาย Cardio ก็มีข้อควรระวังเช่นกัน

7. ไขมัน LDL ซึ่งเป็นไขมันไม่ดี ของผมยังมีค่าน้อยอยู่ ก็คือ 96.5 ซึ่งค่า LDL นี้ไม่ควรเกิน 160

8. ค่า SGOT, SGPT ซึ่งเป็นค่าที่บ่งบอกเกี่ยวกับการทำงานของตับ มีค่ามากเกินไป
ในตรงนี้ถือเป็นปัญหาของผม หมอกล่าวว่าการทำงานผิดปกติตรงนี้อาจจะมาได้ 3 สาเหตุ
A. เกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ ภายหลังผมได้เจาะเลือดอีกครั้งและพบว่าไม่ได้เป็นไวรัสตับอักเสบเลย และยังพบว่ามีภูมิต้านทานอยู่ด้วย
B. อาจจะเกิดจากการอักเสบของตับเอง เช่นเนื้องอก หรือไขมันนพอกตับ ซึ่งต้องรอให้หมอเกี่ยวกับทางเดินอาหารตรวจสอบดูแลต่อไป
C. เกิดจากการทานยา สมุนไพร หรืออาหารเสริมที่ทำให้ตับต้องทำงานหนัก ที่ผ่านมาอาหารเสริมที่ผมทานก็มีเพียงที่ผมกล่าวไปข้างต้น เพื่อให้ทราบต้นเหตุของความผิดปกติ ผมจึงต้องงดอาหารเสริมทั้งหมดในช่วงนี้ เพื่อรอตรวจค่าตับอีกครั้งในเดือนถัดไป ถ้าหากค่าของตับกลับมาทำงานปกติ ก็ต้องทดลองต่อไปว่าการทานอาหารเสริมตัวไหนจะทำให้ค่า SGOT, SGPT กลับมาเพิ่มสูงขึ้น อย่างไงถ้าผมทราบแล้วจะมาอัพเดทแก้ไขในกระทู้นี้อีกทีนะครับ และจะอัพเดทบอกใน facebook ส่วนตัวของผมด้วย

ส่วนตัวแล้วใน 4 เดือนที่ผ่านมาผมไม่ได้ดื่มแอลกอฮอลใดๆเลย มีดื่มในวันเล่นน้ำสงกรานต์เพียง 1 กระป๋องเท่านั้น ดังนั้นผมจึงตัดสาเหตุเกี่ยวกับแอลกอฮอลไปได้เลย ช่วงนี้ผ่านการประกวดไปแล้ว จะทานอาหารทั่วๆไปที่มีโซเดียมปกติ ไม่ได้กินของเค็มมากมาย ผมเลยไม่สงสัยว่าโซเดียมทำให้ตับทำงานหนัก นึกแล้วก็รู้สึกโชคดีที่ผมไม่ได้ใช้สารกระตุ้นใดๆในการสร้างกล้าม ไม่งั้นต้นเหตุตัวน่าสงสัยจะเพิ่มขึ้นอีกเยอะมาก

อย่างไรก็ตาม ค่าตับ SGOT, SGPT เป็นค่าที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงมาก เท่าที่พูดคุยกับเพื่อนๆที่ไม่ได้เล่นเวธจริงจัง ก็เคยตรวจพบค่าตับสูงผิดปกติเช่นกัน ดังนั้นของผมยังต้องรอตรวจเลือดอีกครั้ง

9. มีค่าเม็ดเลือดขาว Neutrophil น้อยกว่าปกติเล็กน้อย และ Lymphocyteมากกว่าปกติเล็กน้อย
ในตรงนี้คุณหมอบอกว่าค่าเม็ดเลือดขาวมากน้อยแตกต่างไม่มากอาจจะถือว่าเป็นปกติในบางครั้ง

10. สำหรับค่าอื่นๆที่ไม่ได้กล่าวคืออยู่ในเกณฑ์ดี และปกติทั้งหมด หลายตัวผมไม่รู้จักเลยจะขอไม่พูดถึง แต่ก็เอามาแปะไว้ให้ดู เผื่อผู้รู้ผ่านมาเห็นจะช่วยแบ่งปันความรู้ได้

เสริมเพิ่มเติม
ใน 2 ปีที่ผ่านมาผมไม่เคยไปตรวจสุขภาพเลย เพราะเข้าใจว่าการตรวจสุขภาพจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากว่า 4000 บาทต่อครั้ง ซึ่งตรวจครั้งก่อนหน้านี้ที่ รพ พญาไท ผมเสียเงินไปหลายพันบาท แต่พอได้มาตรวจสุขภาพที่ รพ ศิริราช ก็ถึงกับตกใจในความถูกของค่าตรวจ ถูกจนคิดว่าตรวจทุก 3 เดือนยังสบายๆเลย ผมแลยอยากจะเชื้อเชิญเพื่อนๆเพาะกายที่ต้องกินหารไม่เหมือนคนปกติ หรือคนที่ชอบดื่มแอลกอฮอลเป็นประจำ หรือคนที่มีอายุเข้าเลข 3 แล้วให้ไปตรวจสุขภาพบ้าง ไว้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้ด้วย เวลาผิดปกติจะได้รู้ว่าเกิดขึ้นช่วงไหน จากอะไรได้บ้าง แล้วนี่คือราคาค่าตรวจของ รพ ศิริราช

ตรวจ Alkaline Phosphatase ราคา 50 บาท
ตรวจเม็ดเลือด CBC (+diff. +RBC morphology + plt count) by automation ราคา 90 บาท
ตรวจไต Creatinine ราคา 50 บาท
ตรวจน้ำตาล Glucose ราคา 40 บาท
ตรวจไขมันดี HDL-C ราคา 100 บาท
ตรวจค่าตับ SGOT ราคา 50 บาท
ตรวจค่าตับ SGPT ราคา 50 บาท
ตรวจ Cholesterol (บอกโอกาสเส้นเลือดอุดตัน) ราคา 60 บาท
ตรวจ triglyceride ราคา 60 บาท
ตรวจเก๊า ดูค่ากรด Uric ราคา 60 บาท
ตรวจปัสสวะ(เพื่อดูค่าน้ำตาล มีปนเลือดไหม ค่าความเป็นกรดด่าง ดูสี อื่นๆ) ราคา 50 บาท
รวมค่าตรวจทั้งหมดก็เพียงแค่ 660 บาทเท่านั้นเอง รวมค่าพบหมอแล้วนะ

สำหรับใครที่จะไปตรวจที่ศิริราช
1.จะต้องไปถึงตอนเวลา 7:00 AM นะครับ เพราะหลัง 8:00 AM จะไม่รับคนเพิ่มแล้ว
2.หากจะตรวจน้ำตาล ไขมันด้วย จะต้องงดอาหารหลัง 2 ทุ่มก่อนวันตรวจ หรือประมาณ 10 ชั่วโมงก่อนเจาะเลือดนั่นเอง
3.แนะนำว่าอย่าขับรถไปเองนะครับ เพราะวันแรกผมขับรถไปใช้เวลาหาที่จอด 30 นาที เสียค่าจอด 60 บาท เดินไกลไม่พอ ยังไปตรวจไม่ทันด้วย ทำให้ต้องเดินทางไปอีกรอบในวันถัดมาแทน
4.แนะนำว่าพกอาหารไปด้วย เวลาเจาะเลือดเสร็จจะได้กินแก้หิวได้ทันที
5.ต้องรอผลเลือดประมาณ 1 ชั่วโมง และเราต้องเป็นคนนำผลเลือดไปยื่นให้เจ้าหน้าที่ด้วยตัวเอง โรงพยาบาลรัฐจะต้องบริการตัวเองเยอะหน่อยนะครับ

บทสรุป
1.การกินอกไก่มากๆนานๆของผมไม่ได้ทำให้เป็นเก๊าเลย แต่ไม่ได้แปลว่าต่อไปจะไม่เป็นนะ
2.รอผม update อีกทีว่าอาหารเสริมมีผลต่อการทำงานของตับหรือไม่ ตอนนี้ยังสรุปไม่ได้
3.มีเพื่อนที่ผมได้พูดคุยเรื่องนี้ด้วยได้คาดเดาว่า ค่าตับสูงเกิดจากการทานโปรตีน เพื่อนๆคนอื่นมีความเห็นอย่างไรบ้างครับ
4.ค่าตรวจสุขภาพไม่แพงอย่างที่คิด ไปตรวจกันเถอะเรา

เนื้อหาที่ผมพิมมามีตรงไหนผิดพลาด หรือไม่เป็นจริง ผู้รู้ก็ช่วยมาแนะนำกันด้วยนะครับ หรือประเด็นไหนเสริมเพิ่มเติมจากของผมให้ชัดเจนยิ่งขึ้นได้ก็จะเป็นการขอบคุณมากเลยนะครับ

ข้อมูลในนี้ผมยังจะต้องมา update บอกผลอีกที เพื่อนๆจะติดตามผมจาก facebook page (ฉีลายตะขาบ) หรือช่องทางอื่น instagram, youtube ก็ได้นะครับ

นอกจากเรื่องการตรวจร่างกายแล้ว ผมคิดว่าข้อมูลเรื่องวางแผนการอาหารการกินก็น่าสนใจเช่นกัน ผมเคยพิมไว้เป็นไฟล์ excel และขอแบ่งปันให้เพื่อนๆที่สนใจลองไปปรับใช้ดู เผื่อจะใช้อ้างอิงได้ กด download link dropbox ด้านล่างได้เลยนะครับ https://dl.dropboxusercontent.com

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ แบบนี้จาก : ฉีลายตะขาบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook