SHIFTING POINT OF VIEW IN LIFE ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม

SHIFTING POINT OF VIEW IN LIFE ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม

SHIFTING POINT OF VIEW IN LIFE ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนดูหนังสายแมสอาจรู้จักเขาในฐานะ ‘บุญทิ้ง’ แห่ง ‘ตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ’

ขณะที่คนดูหนังสายอินดี้ จะรู้ดีว่าเขาคือนักแสดงคู่หูของผู้กำกับ เป็นเอก รัตนเรือง กับผลงาน เช่น ‘นางไม้’ หรือ ‘ฝนตกขึ้นฟ้า’

แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นคอหนังสายไหน มองเข้ามาจากมุมมองไหน ที่แน่ๆ ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม น่าจะได้รับการยอมรับในฐานะนักแสดงคุณภาพคนหนึ่งหลังสุดจากบทของ สืบ นาคะเสถียร ในเรื่อง ‘ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง’

หนังสั้นในโครงการ ‘คีตราชนิพนธ์ บทเพลงในดวงใจราษฎร์’ เราก็ยังไม่ได้เห็นปีเตอร์ในบทบาทไหนอีก

นั่นเป็นเพราะเขากำลังมีความเปลี่ยนแปลงของมุมมองครั้งสำคัญ เขาไม่รับงานแสดงเลย เพื่อจะได้ไป
ทุ่มเวลาให้การทำงานเป็นผู้กำกับเต็มตัวครั้งแรกในชีวิต กับละครซีรีส์ทางช่อง MONO 29 เรื่อง ‘ตี๋ใหญ่ ดับ ดาว โจร’

แน่นอนว่า หนทางการพิสูจน์ตัวเองในฐานะผู้กำกับของปีเตอร์นั้นเพิ่งจะเริ่มต้น และต้องให้คนดูเป็นคนตัดสิน

แต่สิ่งที่ GM อยากรู้จากเขาก็คือ การเปลี่ยนบทบาทใหม่ไปเป็นผู้กำกับ เปลี่ยนมุมมองจากหน้ากล้อง ไปนั่งเก้าอี้ที่อยู่หน้าจอมอนิเตอร์แทน มันเปลี่ยนแปลงตัวเขาและชีวิตของเขาไปอย่างไรบ้าง

มุมมองจากเก้าอี้ตัวนี้ เขาเห็นและได้เรียนรู้อะไร ซึ่งเรื่องนี้เขาสามารถเล่าให้เราฟังได้ทันทีโดยไม่ต้องรอคนดู

T : ณัฐพล ศรีเมือง , P : กิตตินันท์ จรรยางาม

ผู้กำกับมือใหม่

ผลงานในฐานะผู้กำกับครั้งแรกของปีเตอร์ กับซีรีส์แอคชั่น ดราม่า ‘ตี๋ใหญ่ ดับ ดาว โจร’ นั้น มี ตั๊ก-นภัสรัญชน์, ป๊อก-ปิยธิดา, ผู้พันเบิร์ด-พ.ท.วันชนะ และปีเตอร์ เป็นผู้จัด ในนาม บริษัท กลมกล่อม โปรดักชั่น จำกัด

เริ่มจากตั๊กกับป๊อกรู้จักกับทางช่องโมโน 29 จึงมาชวนปีเตอร์ว่าสนใจทำโปรเจ็กต์นี้ด้วยกันมั้ย

แต่เดิมปีเตอร์ทำบริษัทโปรดักชั่นกับผู้พันเบิร์ดอยู่ก่อน ชื่อบริษัท กลมเกลียว เมื่อตกปากรับคำชวน ทั้งหมดจึงร่วมกันเปิดบริษัทขึ้นมาใหม่ดังกล่าวเพื่อผลิตซีรีส์โดยเฉพาะ

ถึงแม้ว่าปีเตอร์จะเคยทำงานด้านโปรดักชั่นมานาน ทั้งถ่ายทำ ตัดต่อ แต่เขาเคยกำกับมาไม่เยอะนักหรอก เป็นพวกสื่อโฆษณาหรือไวรัลขายของสั้นๆ 30 วินาทีบ้าง 3-5 นาทีบ้าง นี่ถือเป็นการกำกับละครแบบเล่าเรื่องยาวๆ งานใหญ่งานแรกของเขา

“จริงๆ ไม่ได้มั่นใจตัวเองขนาดนั้นว่าจะทำได้ เพราะไม่มีประสบการณ์ ก็พยายามหาคนที่มีประสบการณ์ในการทำละครมาช่วยก่อน ขณะเดียวกันก็ทำออกมาในแบบที่อยากทำ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่บุคลากรเหล่านั้นเคยทำมานัก ก็ต้องมีการปรับจูนกัน คุยกันเยอะ ผมก็เรียนรู้เพื่อให้ได้สิ่งที่อยากได้”

หากถามว่าเอาอยู่มั้ย?

ปีเตอร์บอกว่าก็เอาอยู่ประมาณหนึ่ง แต่คงไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะการทำงานแบบนี้ก็มีอุปสรรคของมันไปตลอดทาง การแก้ปัญหาเป็นเรื่องประจำวัน เจอสิ่งที่ทำให้ไม่ได้อย่างต้องการ ต้องแก้หลบไปทางโน้นทางนี้ ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เป็นเรื่องปกติ

“ผมก็เรียนรู้ไปทุกวัน วันนี้ไม่ได้เพราะอะไร ปรับปรุง ทำยังไงจะให้ได้อย่างนั้นในวันพรุ่งนี้ เรียนรู้วันต่อวันไปเรื่อยๆ ว่า ทำยังไงให้ได้ผลลัพธ์อย่างที่วางเป้าไว้ ในเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งจะมีมาทดสอบตัวเราทุกวัน แล้วก็ต้องหาวิธีแก้ไขเงื่อนไขต่างๆ นั้นไปด้วย”

เขายอมรับว่าสาเหตุหนึ่งที่ไม่ได้อย่างต้องการมาจากตัวเขาเอง ไม่เกี่ยวกับคนอื่น นั่นคือวิธีการสื่อสารที่เขายังทำได้ไม่ดีพอ บางทีอธิบายได้ไม่ชัดเจน มันคือความยากในการทำงานกำกับสำหรับเขา ที่ยังต้องการการพัฒนาต่อไป

“แต่ก่อนเวลาทำงานเป็นนักแสดง ผมไม่ต้องเป็นผู้สื่อสารไปกับคนอื่นในสิ่งที่ต้องการ คนที่สื่อสารลงมาหาผมคือผู้กำกับ ว่าเขาอยากได้อะไร ผมแค่เป็นฝ่ายรับฟัง และเสนอแนวคิด แต่ตอนนี้มันกลับกัน จากผู้รับสารแล้วไปทำการบ้าน กลายเป็นคนต้องอธิบายคนอีกตั้ง 70 คนในกองถ่ายให้เข้าใจสิ่งที่ตัวเราอยากได้ในหัว ซึ่งบางทีมันไม่ตรงกัน พอเล่าเรื่องหนึ่งทุกคนจะมีภาพคนละแบบเลย ความยากสำหรับผมเลยอยู่ตรงนั้นว่า ต้องหัดสื่อสารมากขึ้น สื่อสารในแต่ละแผนก ให้เขาเข้าใจภาพเดียวกับเรา นักแสดงคนนี้ต้องคุยกับเขาแบบนี้ ทีมนี้ต้องอธิบายแบบนี้ แต่ละคนก็มีวิธีการแตกต่าง เพราะแต่ละคนมีพื้นฐานไม่เหมือนกันเลย ซึ่งมันยากมาก เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำให้เขาเข้าใจให้ได้ ทั้งทีมงานทั้งนักแสดง”

ประสบการณ์การแสดงช่วยงานกำกับบ้างในเรื่องของเทคนิค แต่ก็ไม่มาก ที่เคยกำกับมาก่อนหน้านี้ เขาก็แค่อธิบายเป็นช็อตๆ อันนี้ยิ้มนิดหน่อย ทำหน้าฉงน ไม่ได้เป็นเรื่องราว มีดราม่า ชีวิตตัวละครที่ต้องดำเนินไป ซึ่งต้องลึกซึ้งกว่าเยอะ ตอนเป็นนักแสดงเขาทำการบ้านแบบนั้น แต่พอมากำกับ มีหลายอย่างที่ต้องคำนึงมาก เขารู้สึกกับตัวเองว่าบางทีอาจจะสื่อสารน้อยไป จบโปรเจ็กต์นี้มุมมองความคิดก็เลยเปลี่ยนไปเยอะ

“ได้ประสบการณ์เยอะครับ วิธีคิดเปลี่ยน จากเดิมที่เราหงุดหงิด ทำไมไม่ได้อย่างใจเสียที กลายเป็นว่าถ้าเราอยากจะได้อย่างนั้น คงต้องมีโซลูชั่นแบบนี้ๆ คนนี้ใช้วิธีไหน จะอธิบายตรงนี้ต้องทำยังไง หรือว่าต้องเตรียมตัวมากขึ้น ผ่านกระบวนการ 36 คิวมาแล้ว ได้แง่คิดกับตัวเองว่าจะต้องทำยังไงต่อไป พอจะทราบปัญหาแล้ว ถ่ายจบ ในหัวก็ไม่ได้หยุด คิดต่อว่าถ้าเรื่องต่อไปปัญหาเหล่านี้ต้องไม่เกิด หรือเกิดได้ แต่เราจะแก้ยังไงให้ดีกว่าสิ่งที่เราทำมา แต่จบตอนแรกเหนื่อยก่อนนะ เพราะช่วงท้ายๆ โหด ซีนแอคชั่นมากระจุกติดๆ กัน นี่ก็คิดแล้วว่าคราวหน้าอย่าทำอย่างนี้ เอาซีนคุยๆ มาสลับบ้าง” (หัวเราะ)

ทำโพสต์โปรดักชั่นอยู่สักสามเดือน เขาก็รู้สึกมีไฟอยากทำต่อ ตอนนี้เสนอค่ายไปอีกหนึ่งเรื่องแล้ว น่าจะได้ลงมือกลางปี

คุณทำตัวเป็นผู้กำกับในแบบที่ตัวเองอยากเจอตอนเป็นนักแสดงหรือเปล่า? GM ถาม

(หัวเราะ) “ก็น่าจะใช่นะ คือผมเป็นโรคกลัวผู้กำกับดุ ไม่ค่อยชอบผู้กำกับดุเท่าไหร่ ชอบบรรยากาศเรื่อยๆ เย็นๆ เงียบๆ มากกว่า แต่พอไปทำงานแล้วเข้าใจ บางทีทำอย่างนั้นไม่ได้ มันมีภาวะกดดันที่ทำให้โมโห ด้วยความเครียดของระบบการทำงานด้วย แต่ว่าส่วนใหญ่ของกองเรา นี่ผมประเมินตัวเองนะ น่าจะเป็นผู้กำกับที่ไม่ดุ (หัวเราะ) ค่อยๆ คุยกันไป เพราะผมเชื่อว่าบรรยากาศความเครียดในกองถ่ายไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น อาจจะใช้ได้กับบางสถานการณ์ที่เราต้องการสร้างความตึงเครียดให้เกิดในซีนนั้นๆ อันนี้แล้วแต่ มีจิตวิทยาบ้างนิดหน่อย แต่ส่วนใหญ่ผมเชื่อว่าดำเนินไปอย่างค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ไม่มีการโวยวาย ไม่เครียดใส่กัน น่าจะส่งผลดีกับนักแสดงมากกว่า ผมเป็นนักแสดงมาก่อน ก็รู้ว่าบางทีไม่เกี่ยวกับนักแสดงเลยนะ แต่มันมีความตึงเครียดรอบๆ ระหว่างทีมงาน ซึ่งสำหรับบางคนมันจะส่งผล แล้วผมว่าไม่ค่อยดีสำหรับนักแสดง”

ผมมองในแง่ความจริงเป็นหลักมากกว่า

หมายความว่า ถ้าตัวละครนี้เหมาะกับผม อ่านจากบทแล้วทำไมตรงจัง

รู้สึกเราเข้าใจตัวละครนี้ดี และเป็นช่วงเวลาที่ผมมีสติปัญญาความสามารถ

พอที่จะกำกับด้วยเล่นด้วยได้ ผมก็เล่น

แต่ถ้าตัวละครนี้ไม่เหมาะ ผมก็ไม่เล่น อยู่ที่ความเหมาะจริงๆ

การแสดงคืองานเต็มเวลา

ถ่ายตี๋ใหญ่ฯ 6-7 เดือน ปีเตอร์ไม่ได้รับงานแสดงเลย จนถ่ายเสร็จค่อยไปรับเล่นหนังของผู้กำกับ ก้องเกียรติ โขมศิริ เมื่อปลายปีที่แล้ว คือเรื่อง Take Me Home เล่นคลับฟรายเดย์อีกนิดหน่อย

เวลาทำอะไรเขาให้น้ำหนักไปที่อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งสองอย่าง ซึ่งอันที่จริงทั้งงานแสดงและกำกับ ใช้สมาธิเยอะเหมือนกัน เป็นงานเต็มเวลา ไม่มีโอกาสได้ทำอย่างอื่น

“เวลาเป็นนักแสดง เป็นลักษณะนิสัยของผมด้วยมั้ง อย่างจะทำบทคุณสืบ (สืบ นาคะเสถียร ในภาพยนตร์สั้นเรื่อง ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง) วันแรกที่รับปากว่าเล่น วันนั้นชีวิตผมก็จะเป็นของเขาไปเลย ถึงรับงานอย่างอื่นไม่ได้ คือผมก็ไม่คิดอย่างอื่นเลย หมายความว่า ผมอาจจะหาข้อมูลของผมไปเรื่อย เปิดคลิป อ่านหนังสือ แล้วแต่ แต่จะไม่เกี่ยวกับเรื่องอื่นเลย เกี่ยวกับเรื่องที่ผมกำลังจะทำ ตื่นมาก็นึกถึงแล้ว เป็นธรรมชาติ เหมือนเราต้องตอบคำถามทั้งหมดในบทให้ได้ก่อนจะไปถ่ายทำ แม้กระทั่งตอนถ่าย ก็ต้องไปหาคำตอบจากผู้กำกับ แต่ระหว่างการเดินทางไปถึงวันถ่าย มันก็เป็นกระบวนการอยู่ในสมอง วนเวียนกับตัวละครเสียส่วนใหญ่ ไม่มีเวลาคิดเรื่องอื่น ก็เหมือนเต็มเวลา เรียกว่าอยู่กับตัวละครก็ได้”

เรื่องขยับไปกำกับหนังนั้น เขายังไม่ได้คิดในระยะอันใกล้ ฝึกฝนตัวเองไปก่อน ส่วนถ้าต้องกำกับเองเล่นเอง ก็ยังไม่คิดว่าทำได้ตอนนี้เช่นกัน เล่นประกอบพอไหว แต่ตัวหลักไม่ได้แน่นอน อีกหลายปีด้วย เขารู้ทรงตัวเอง

“ผมมองในแง่ความจริงเป็นหลักมากกว่า หมายความว่า ถ้าตัวละครนี้เหมาะกับผม อ่านจากบทแล้วทำไมตรงจัง รู้สึกเราเข้าใจตัวละครนี้ดี และเป็นช่วงเวลาที่ผมมีสติปัญญาความสามารถพอที่จะกำกับด้วยเล่นด้วยได้ ผมก็เล่น แต่ถ้าตัวละครนี้ไม่เหมาะ ผมก็ไม่เล่น อยู่ที่ความเหมาะจริงๆ เหมือนกัน เวลาผมอ่านบทสำหรับงานแสดง พออ่านไปแล้วไม่เข้าใจ คือมันจะรู้สึกได้ว่าเราไม่เข้าใจคนแบบนี้ ผมก็จะบอกเขาตรงๆ บางทีหลายๆ คนไม่เข้าใจว่าเราไม่เล่น ปฏิเสธการเล่นกับเขา มันไม่ได้หมายความว่าเราไม่ชอบเขานะ หรือไม่ได้ชอบบทนั้นนะ บทอาจจะดีมากก็ได้ แต่เรารู้สึกได้ว่าเราทำไม่ได้”

ปีเตอร์บอกว่าความสนุกของการแสดงอยู่ตรงที่เราได้ทำความเข้าใจคนอีกคนหนึ่ง สนุกที่จะได้เรียนรู้คาแร็กเตอร์ตัวนี้ เขาคิดยังไง พูดยังไง ทำอะไร ฝึกฝนตัวเองให้เข้าใจเขา แล้วก็แสดงออกมาเป็นคนคนนั้น ค่อนข้างเป็นความสนุกส่วนตัวกว่า

ส่วนความสนุกของการกำกับ หลากหลายกว่าตรงที่ไม่ใช่ตัวละครตัวเดียว แต่จะทำยังไงให้จินตนาการในกระดาษ ภาพ แสง สี เสียง มุมกล้อง การแสดงของนักแสดง ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างที่ผู้กำกับอ่านแล้วเห็นภาพนั้น ถ้าทำได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่คิด จะรู้สึกดีอย่างประหลาด เหมือนเห็นภาพฝัน

“ตอนนี้ผมจริงจังมากกับทั้งสองอย่าง การแสดงก็ยังอยากทำตลอดเวลา ยังอยากแสดงบทดีๆ กับผู้กำกับคนนั้นคนนี้ ถ้าไม่มีการแสดงก็ไปกำกับการแสดง มันเป็นความอยากทำแบบที่เป็นแรงขับเคลื่อนในชีวิตทั้งสองอย่าง ถ้าไม่ใช่สองอย่างนี้ก็ไม่รู้สึกว่าอยากทำอย่างอื่น ไม่มีความสนุกในการทำสิ่งอื่น”

ปีเตอร์เล่าว่าเขาค่อนข้างมีนิสัยกดดันตัวเอง ในทุกๆ วันของการทำงาน ตอนท้ายของวัน ไม่ว่าจะตอนกลับบ้าน ตอนอาบน้ำ บางทีก่อนนอนด้วยซ้ำ เขาจะตั้งคำถามกับตัวเองโดยอัตโนมัติว่า แน่ใจเหรอว่าวันนี้ทำดีที่สุดแล้ว

“เป็นธรรมชาติเลย ไม่ว่าจะเป็นการกำกับหรือการแสดง เหมือนมีอีกตัวหนึ่งแวบมาถามตัวเรา แน่ใจเหรอ ในช่วงซีนนี้ทำดีที่สุดแล้วเหรอ หาคำตอบครบหรือยัง มีข้อมูลเพียงพอแล้วเหรอ และมักจะหาคำตอบได้ว่า ยัง ทำไมห้วงเวลานั้นไม่ทำให้ดีกว่านี้ เพราะผมรู้สึกว่ามันไม่มีความหมาย ถ้าเราตอบตัวเองไม่ได้ว่าเราทำดีที่สุด หรือคิดกับมันมาดีที่สุดแล้ว งานที่ออกมา ต่อให้คนอื่นบอกว่าดียังไง เราก็รู้อยู่แก่ใจว่ามันไม่ดีพอ”

ยิ่งเมื่อก่อน ในวัย 25-35 เขาเป็นหนัก อะไรก็เป็นเรื่องคอขาดบาดตายไปหมด พอทำอะไรไม่ดีถึงที่สุด เขาจะรู้สึกแย่ไปเลย ไม่มีตรงกลาง ทุกวันนี้นับว่าคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นมากแล้ว

“เหมือนเป็นโรคประสาทนิดๆ (หัวเราะ) แต่ก่อนพออะไรไม่ได้อย่างที่ต้องการปุ๊บ จะผิดหวังไปสุดทางเลย ว่าทำไมไม่ได้อย่างนั้น แล้วจะรู้สึกท้อแท้ สารพัด เครียดแบบบิดไปเบอร์สุด ส่วนปัจจุบันเราเข้าใจมากขึ้นว่า อ๋อ! มันก็มีเงื่อนไขแบบนั้นแบบนี้ให้เราต้องยอมรับ ทำความเข้าใจมากขึ้น ว่าโลกนี้ไม่ได้ทำอะไรสำเร็จได้โดยเราคนเดียว เข้าใจวิถีการทำงานกับคนอื่นมากขึ้น ยิ่งโดยเฉพาะพอผ่านการกำกับเรื่องนี้ เห็นได้ชัดเลยว่า เราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ขนาดนั้น ถึงแม้เราอยากจะให้มันดีแทบตายเท่าไหร่ เราก็ต้องทำความเข้าใจกับตัวเราด้วยว่า เราก็ประมาณนี้ มีความรู้แค่นี้ จะไปถึงดีที่สุดแบบนั้น มันต้องทำได้แหละ แต่ต้องใช้เวลา ผ่อนคลายตัวเองมากขึ้น ให้อภัยตัวเองมากขึ้น ด้วยอายุด้วย แก่ขึ้น จากหลายๆ คำพูดของพี่ๆ ที่เขาทำงานมาเยอะๆ ด้วย การจบงานของแต่ละวันรู้สึกสบายขึ้นกว่าแต่ก่อน ที่ต้องเข้าไปสู้รบกับความคิดตัวเองอีกรอบ”

ตอนแรกรู้สึกว่าชอบการแสดงอย่างเดียว

อันนี้ใช่แล้ว ชอบมากที่สุด

ไม่เคยมั่นใจตัวเองเลยว่าจะไปพูดสื่อสาร

บอกให้คนอื่นเขาทำสิ่งที่เราต้องการได้

รู้สึกว่ายาก ไกลตัวเกิน

แต่ตอนนี้เจอสิ่งที่ชอบอีกอย่างแล้ว

นอกจากการแสดง

แรงขับเคลื่อนในชีวิต

ปีเตอร์เป็นลูกครึ่งเยอรมัน พ่อเป็นคนไทย แม่เป็นคนเยอรมัน มีพี่สาวหนึ่งคน ครอบครัวใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองไทย เติบโตมาแบบเด็กไทยทั่วไป อยู่ในบ้านแม่ก็พูดภาษาไทย เรียนโรงเรียนไทยแถวบ้าน เป็นคนมีเพื่อนไม่เยอะ และชอบอยู่คนเดียวตั้งแต่เด็ก เป็นเด็กไม่ค่อยได้ไปไหน ส่วนใหญ่อยู่บ้าน ชีวิตไม่หวือหวา

ช่วงวัยรุ่น ตอนอายุ 15 ปีเตอร์ได้ไปเรียนที่เยอรมนีเป็นเวลา 2 ปี โดยมีญาติจากเยอรมนีมาเที่ยวเมืองไทย และชวนให้ปีเตอร์ลองไปอยู่ที่โน่น ด้วยความเด็กหรือความเบื่ออะไรสักอย่าง เขาเลยตัดสินใจไป ก่อนไปก็ไปเรียนภาษาเยอรมันที่สถาบันเกอเธ่อยู่ครึ่งปี เพราะพ่อกับแม่ไม่เคยสอนเลย จากนั้นจึงเดินทางไปอยู่ในย่านชนบทของเมือง Bonn ซึ่งรอบๆ บ้านเป็นทุ่งไกลๆ

ด้วยความที่เข้ากับคนยากอยู่แล้ว ไปปีแรกจึงไม่มีเพื่อนเลย อยู่คนเดียว ไปโรงเรียนเสร็จก็กลับบ้าน ปีที่สองถึงจะเริ่มมีเพื่อนบ้าง แต่ก็เป็นพวกประหลาดๆ เหมือนกัน อยู่โน่นไม่ค่อยมีอะไรโลดโผน แต่การไม่ใช่คนสังคม และมีเวลาอยู่คนเดียวมากขึ้น ก็ทำให้เขาได้รู้จักตัวเองมากขึ้นอย่างเช่นเรื่องหนึ่งก็คือค้นพบว่าตัวเองชอบถ่ายรูป

“สิ่งที่ชอบที่สุดคือในเมืองมีงานศิลปะให้ดูเยอะ แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ชอบวิถีชีวิตที่เมืองนอก คิดว่าไม่น่าจะเหมาะกับเรา ยังรู้สึกว่าชอบกินก๋วยเตี๋ยวที่เมืองไทยมากกว่า ก็เลยกลับ”

กลับมาเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยในบริษัทโฆษณาเล็กๆ ของเพื่อนแม่ โดยสอบเทียบ และเข้าเรียนด้านภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ที่บริษัท เขาเข้าไปเริ่มจากเป็นลูกมือทำโน่นทำนี่ หยิบจับช่วยงานหลายอย่าง จนสุดท้ายถูกดึงไปทำกราฟิกดีไซน์เพราะพี่ที่แผนกเห็นว่าพอทำได้ ระหว่างนั้นก็มีแมวมองมาชวนไปถ่ายโฆษณา ถ่ายโฆษณาอยู่หนึ่งตัว จากนั้นก็ได้มาเล่นละครค่ายกันตนา ตอนนั้นเขาอายุ 24 เล่นละครได้สัก 3 ปี เขาก็รู้สึกสนุก แต่ไม่มาก เหมือนไม่ค่อยถนัด และคิดว่าจะไม่เล่นแล้ว บังเอิญตอนไปเรียนการแสดงกับครูเล็ก ภัทราวดี ได้รู้จักกับพี่ที่ทำหนังเรื่ององคุลิมาล เขาไปแคสต์และได้รับบทนำ จากนั้นก็เล่นหนังต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้

“ตั้งแต่เด็กจนโต ไม่ค่อยรู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร ไม่รู้สึกว่า เดี๋ยวจะไปทำอันนี้เพราะอย่างนี้ เหมือนไปเจอแล้วไหลๆ ไปมากกว่า ที่ทำแล้วค่อยมาสนุกทีหลังก็คือกราฟิกนี่แหละ หลังจากนั้นก็มาการแสดงเลย เหมือนไม่มีเป้าหมายในชีวิต เป็นคนหัวว่างๆ หน่อย ไม่ค่อยมีความอยากในชีวิต ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีนะ (หัวเราะ) ผมเป็นคนไม่มีแผน ตัดสินใจเฉพาะๆ ไป ไม่มีภาพฝันว่าตัวเองจะทำอะไรในอนาคต”

ระหว่างเริ่มเป็นนักแสดง เขาก็เป็นฟรีแลนซ์รับงานกราฟิกดีไซน์ไปด้วย ก่อนจะค่อยๆ ขยับมาทำตัดต่อ จนมาถ่ายทำด้วยตัดต่อด้วย กระทั่งเปิดบริษัททำโปรดักชั่นจริงจังในปัจจุบัน

“วันนี้ พอได้เริ่มทำงานกำกับ รู้สึกอยากทำต่อ มีแรงบันดาลใจที่อยากจะทำงานชิ้นต่อไป ส่วนหนึ่งอยากจะทำให้มันดีขึ้นจากที่เราเคยทำด้วย แล้วก็รู้สึกสนุกมากกับการทำสิ่งนี้ อยู่ในจุดที่พยายามจะพัฒนาโปรเจ็กต์ต่อๆ ไปของเรา จากตอนแรกรู้สึกว่าชอบการแสดงอย่างเดียว กอดไว้อย่างเดียว อันนี้ใช่แล้ว ชอบมากที่สุด ไม่เคยมั่นใจตัวเองเลยว่าจะไปพูดสื่อสารบอกให้คนอื่นเขาทำสิ่งที่เราต้องการได้ รู้สึกว่ายาก ไกลตัวเกิน แต่ตอนนี้เจอสิ่งที่ชอบอีกอย่างแล้วนอกจากการแสดง”

แพสชั่น แรงผลักดันในชีวิตของเขา ขับเคลื่อนไปโดย ครอบครัว คนที่รัก งาน เรียงลำดับมาอย่างนี้

“ครอบครัวอยู่กับเราตลอดเวลา คนที่เรารักก็สนับสนุนเราตลอดเวลา จริง แต่ถ้าชีวิตไม่มีงานให้เรามุ่งมั่น มันไม่มีความหมายเลยนะ เพราะผมไม่ค่อยสนใจอย่างอื่น สมมุติพอช่วงนี้ไม่มีงานปุ๊บ จะน่าเบื่อทันที อยู่ซังกะตายไปวันๆ รู้สึกหวิวๆ ไม่มีค่า ไม่มีอะไรให้มองไปข้างหน้า ไปจับมัน แต่ถ้าเมื่อไหร่มีงานชิ้นนี้แล้ว จะรู้สึกข้างในไม่ว่างละ มีอะไรให้คิด เป้าหมายของผมก็คืองานแต่ละชิ้น ไม่ค่อยมีอย่างอื่นเป็นเป้าหรือเป็นแรงบันดาลใจนอกจากงาน แต่ผมว่าชีวิตคนก็มีงานแหละเป็นหลัก”

และคนเราก็เติบโตทางความคิดขึ้นได้ด้วยงาน เหมือนอย่างที่เขาเพิ่งผ่านประสบการณ์นั้นมา

นายแบบ : นพชัย ชัยนาม

เสื้อผ้า
: Calvin Klein Platinum มีจำหน่ายที่ ชั้น 1 เซ็นทรัลเวิลด์ , ชั้น 2 สยามดิสคัฟเวอรี่, ชั้น 1 เซ็นทรัล ชิดลม , ชั้น 1 สยามพารากอน, ชั้น 1 เซ็นทรัล ภูเก็ต
: Paul Smith มีจำหน่ายที่ ชั้น 1 เซ็นทรัล เอ็มบาสซี และ ชั้น 1 สยามพารากอน

แต่งหน้า-ทำผม : ภูษิต กิตติ์ธนจินดา
ช่างภาพ : กิตตินันท์ จรรยางาม
ผู้ช่วยช่างภาพ : ธีระวัฒน์ พวงศรี, อรรถพล สุรัตนานุรักษ์
บรรณาธิการแฟชั่น : กานต์ระพี ธนาชัยบุญญาพัชร์
ผู้ช่วยสไตลิสต์ : เมธัส ยกตรี, ฐาปนา ภูคา

When I Talk About My Characters

บุญทิ้ง : ตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ
บทนี้เป็นที่สุดของการทำลายกำแพงของตัวผมเอง หมายความว่าปกติผมจะเป็นคนกลัวการเล่นแอคชั่น กลัวการขี่ม้า เป็นเรื่องแรกๆ ด้วยที่ต้องเล่น ตลอดช่วงเวลาที่ถ่ายทำก็จะเกิดสิ่งนี้ขึ้นตลอดเวลา กลัวก่อนจะเล่น แต่ที่สุดก็ผ่านมันไปได้ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากท่านมุ้ยว่า มันอยู่ที่ใจ ถ้าเราคิดเสียอย่างว่าทำได้ มันจะทำได้เอง

นพ : นางไม้
ตัวละครตัวนี้คล้ายๆ ผมในแง่ของการชอบถ่ายรูป ชอบธรรมชาติ ชอบป่า ตอนถ่ายทำเวลาที่เราไปอยู่ในป่า จะรู้สึกว่าเป็นการทำงานที่สบาย ไม่เหมือนอยู่กรุงเทพฯ

ตุล : ฝนตกขึ้นฟ้า
บทนี้ถือว่ายากที่สุดในการทำความเข้าใจตัวละคร เหมือนตัวละครตัวนี้เขามีโลกเฉพาะของเขา โลกในนิยายซึ่งเราต้องเข้าไปค้นหา มันมีหลายมิติ มีความสับสน มีเรื่องทางกายภาพด้วยที่มองเห็นภาพกลับหัว เขาก็จะคิดอยู่ในโลกของเขา เราก็ต้องพยายามจินตนาการตามว่า เขาคิดยังไงในโลกของเขาขณะนั้น เขาถึงไปฆ่าคน ไปทำอะไรได้ ยากและน่าสนใจ เป็นคาแร็กเตอร์ที่ผมชอบมากตัวหนึ่ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook