อาร์ม-พิพัฒน์ วิทยาปัญญานนท์ โอกาส ความฝัน และการลงมือทำ

อาร์ม-พิพัฒน์ วิทยาปัญญานนท์ โอกาส ความฝัน และการลงมือทำ

อาร์ม-พิพัฒน์ วิทยาปัญญานนท์ โอกาส ความฝัน และการลงมือทำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

T : ณัฐพล ศรีเมือง
P : กิตตินันท์ จรรยางาม

คนส่วนใหญ่อาจรู้จัก อาร์ม-พิพัฒน์ วิทยาปัญญานนท์ ในฐานะพิธีกรรายการเด็ก สอนศิลปะเด็ก หรือประเภทตอบปัญหาเชิงความรู้ต่างๆ พิธีกรอาจเป็นภาพที่คนเห็นชัดที่สุด แต่อันที่จริงแล้วเขาเป็นหลายอย่างมากกว่านั้น เป็นดีเจ เคยทำโรงเรียนสอนศิลปะ มีบริษัทของตัวเองชื่อ Armadillo ผลิตรายการโทรทัศน์ งานโปรดักชั่น เขาเป็นครีเอทีฟรายการ เขียนสคริปต์ ออกแบบฉาก รวมทั้งไปขายงานลูกค้าเอง นอกจากนี้ในชีวิตก็ยังมีโอกาสได้ใช้ความรู้ทางสถาปัตย์ที่เรียนมาบ้างเป็นครั้งคราว ทั้งหมดนี้ทำให้เขาอยากเรียกตัวเองว่าเป็นดีไซเนอร์หรือนักออกแบบมากกว่าอย่างอื่น

คนส่วนใหญ่อาจรู้จัก อาร์ม-พิพัฒน์ วิทยาปัญญานนท์ ในฐานะพิธีกรรายการเด็ก สอนศิลปะเด็ก หรือประเภทตอบปัญหาเชิงความรู้ต่างๆ พิธีกรอาจเป็นภาพที่คนเห็นชัดที่สุด แต่อันที่จริงแล้วเขาเป็นหลายอย่างมากกว่านั้น เป็นดีเจ เคยทำโรงเรียนสอนศิลปะ มีบริษัทของตัวเองชื่อ Armadillo ผลิตรายการโทรทัศน์ งานโปรดักชั่น เขาเป็นครีเอทีฟรายการ เขียนสคริปต์ ออกแบบฉาก รวมทั้งไปขายงานลูกค้าเอง นอกจากนี้ในชีวิตก็ยังมีโอกาสได้ใช้ความรู้ทางสถาปัตย์ที่เรียนมาบ้างเป็นครั้งคราว ทั้งหมดนี้ทำให้เขาอยากเรียกตัวเองว่าเป็นดีไซเนอร์หรือนักออกแบบมากกว่าอย่างอื่น

“ผมนิยามตัวเองเป็นดีไซเนอร์ครับ เพราะไม่ว่าเราทำอะไรก็ต้องมีการออกแบบอยู่ตลอดเวลา สอนเด็กก็ต้องออกแบบวิธีการสอน ไปเป็นพิธีกรก็ต้องออกแบบว่าเราอยากให้ภาพของเราเป็นพิธีกรแบบไหน ออกแบบคำถาม ว่าคำถามที่เขาให้มา ตอนอยู่หน้างานเราจะพูดยังไง เช่นเวลาอยู่กับเด็กๆ จะให้พูดตามสคริปต์คงไม่ได้ ก็เลยมองว่าจริงๆ แล้วชีวิตอยู่กับการออกแบบทุกวัน เพียงแต่พิธีกรเป็นบทบาทที่ทุกคนเห็นบ่อยเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม อาร์มบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำนั้นล้วนคือความเป็นตัวเขาทั้งสิ้น

จะว่าไป เส้นทางของอาร์มก็คล้ายเดินตามรอยรุ่นพี่สถาปัตย์จุฬาฯ หลายๆ คน ที่เริ่มจากการเล่นละคอนถาปัด ถูกดึงไปเล่นละครทีวี แล้วได้ไปแคสต์พิธีกรรายการเด็ก ซึ่งบังเอิญโชคดีที่ตอนนั้นคนไปแคสต์ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ส่วนผู้ชายก็ไม่ค่อยแมน เขาเลยได้งาน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการทำพิธีกรรายการเด็ก และค่อยๆ ต่อยอดมาทีละอย่างจนถึงทุกวันนี้

ความรู้ด้านสถาปัตย์เขาไม่ค่อยได้ใช้นัก ทั้งๆ ที่ตอนเข้าปีหนึ่งอยากเป็นสถาปนิกชื่อดัง เรียนจบมาด้วยเกียรตินิยมอันดับสอง และสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพติดท็อปเท็น ได้อันดับที่ 8 ของประเทศ แต่ชีวิตก็ถูกเชิญชวนด้วยโอกาสในวงการบันเทิงที่มีคนหยิบยื่นให้มาเรื่อยๆ

“งานพิธีกรก็เหมือนกับงานออฟฟิศ ที่เรามีเวลาฟิกซ์ว่าต้องถ่ายวันไหน ความสนุกอยู่ตรงที่ว่า อย่างถ้าเราเป็นพิธีกรที่มีโอกาสได้คุยกับแขกรับเชิญ ก็จะรู้สึกว่าได้รู้จักเขามากขึ้น ได้รู้มุมมองชีวิตของเขา ก็เหมือนทุกๆ วันไม่ได้ไปทำงาน แต่เป็นการไปฟัง มีอะไรที่เราอยากรู้เราก็ถามเขา มันคือหลักง่ายๆ บางคนถามว่าเป็นพิธีกรต้องถามยังไง จริงๆ ต้องตอบตัวเองก่อนว่า เราฟังเขาหรือเปล่า ถ้าเราฟังเขา เราก็ถามต่อได้ พอพูดมาปุ๊บ เราก็จะสงสัยต่อ”

อีกหลักหนึ่งที่เขายึดถือในการทำงานพิธีกรคือ อย่าแค่ทำหน้าที่พิธีกร แต่ต้องค่อยๆ หมั่นสั่งสมความรู้ เมื่อเจอสคริปต์ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ ก็จะสามารถพูดออกมาได้อย่างมั่นใจ ไม่ใช่ว่าเจอสคริปต์แล้วค่อยไปหาความรู้ ซึ่งจะให้ผลไม่เหมือนกัน

รูทีนในแต่ละวัน เขาตื่นตีห้าทุกวัน ไปถึงช่องตอนหกโมงนิดๆ ทำรายการเสร็จสายๆ วิ่งไปทำวิทยุต่อตอนเที่ยง เสร็จบ่ายสามกลับเข้าออฟฟิศ หรือไม่ก็ไปถ่ายรายการ บางวันไปถ่ายรายการตั้งแต่สิบโมงเช้าถึงสี่ทุ่ม เข้านอน ตีห้าตื่นอีกแล้ว แน่นอนว่าเหนื่อย แต่นอกจากเขายินดีที่จะทำต่อไปด้วยใจแล้ว มันยังเป็นการสร้างโอกาสที่จะเข้ามาเกื้อหนุนการทำธุรกิจของบริษัทด้วย ซึ่งแม้ปีนี้จะเหลือรายการเดียวจาก 3 รายการ คือ ‘สอนศิลป์’ ทางไทยพีบีเอส แต่ก็พยายามหางานอื่นๆ เพิ่มเพื่อให้คนอยู่ได้ เขาอยากโตไปด้วยกันกับน้องๆ ในทีม

“บางคนมองว่าทำงานวงการบันเทิง อยากดังเป็นพลุแตก ไปไหนคนก็รู้จัก แต่ผมมีความสุขมากที่เรามีงานทำในแต่ละวัน งานส่วนตัวเรายังมีคนจ้าง ก็แปลว่าเรายังมีคุณค่ากับเขา มันก็คือการมีคุณค่าของตัวเองในสังคมหนึ่ง ในพาร์ทออฟฟิศที่ยังสามารถจะรันต่อไปได้ โดยทำรายการให้กับไทยพีบีเอสซึ่งช่องเขาไม่ได้เป็นการค้า เราก็มีความภูมิใจที่ได้ทำรายการนี้ บอกน้องๆ ว่าเรตติ้งรายการเด็กติดท็อปไฟว์ของช่อง มันน่าชื่นใจนะ เพียงแต่ว่าต่อจากนี้เราจะทำได้ดีแค่ไหน”

“โอกาส
อย่าไปปล่อย
คิดว่าคนที่เก่ง
คือคนที่
ไม่ปล่อยโอกาสผ่านไป
แต่พอถึงจุดหนึ่ง ตอนนี้คิดว่า
คนที่เก่งกว่าคือคนที่เลือก
โอกาสที่ดีที่สุด
กับตัวเอง”

ในอนาคตเขาฝันอยากทำหลายอย่าง อยากทำรายการ เด็กเพิ่ม รวมไปถึงโรงเรียนสนุกๆ เป็นพื้นที่ที่เด็กมาเรียนรู้ อาจจะไม่ใช่แค่โรงเรียนสอนศิลปะ เขากำลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่ ที่หยุดทำโรงเรียนสอนศิลปะไป หลักๆ ก็เพราะไม่มีเวลา ที่สำคัญคือแนวคิดของเขาก็เปลี่ยนไปด้วย

“ตอนนี้ฝันว่าอยากสร้างคนครับ แต่ผมมองว่าไม่อยากให้โรงเรียนสอนศิลปะเป็นแค่ที่รับฝากเลี้ยงเด็ก และเชื่อว่าพ่อแม่ก็สอนได้และดีกว่า เลยทำเพจสอนศิลปะชื่อ Artmonster Playbook รวบรวมแบบฝึกหัดสำหรับเด็ก ทำแจกฟรี บางคนบอกสอนไม่เป็น วาดไม่ได้ คุณไม่ต้องวาดรูปได้ แต่คุณวาด วงกลมได้มั้ยล่ะ ถามเด็กว่าคืออะไร เด็กอาจจะตอบ ส้ม ซาลาเปา เติมวงกลมอีกนิด อาจกลายเป็นโดนัท แล้วทำไมโดนัทต้องมีรู คำถามเหล่านี้เราไกด์พ่อแม่ พ่อแม่ไกด์เด็ก ให้เด็กเรียนรู้จากการวาด อยู่ที่พ่อแม่คนไหนฉุกคิดหรือยัง คุณจะสอนเองหรือปล่อยลูกไปเรียน รู้ว่าทำงานเหนื่อย ไม่เป็นไร เริ่มต้นผมจะทำโยนไว้ในอินเทอร์เน็ต ให้โหลดแค่แผ่นนี้ไปถามลูก”

ความคิดลักษณะนี้เริ่มต้นมาจากการทำรายการเด็ก ผสมกับความเป็นเด็กถาปัดในตัว ที่ชอบคิดต่อแบบมีดีเทล ใส่ใจในรายละเอียด เขาอยากเห็นเด็กโตขึ้นมาอย่างที่เด็กในยุคเขาไม่มีโอกาสแบบนี้

เหมือนที่เขาเองก็เดินทางมาจนถึงทุกวันนี้ จากโอกาสที่ได้รับการหยิบยื่นนั่นเอง

“แต่ก่อนเคยมีความคิดว่าต้องคว้าทุกโอกาส อย่าไปปล่อย คิดว่าคนที่เก่งคือคนที่ไม่ปล่อยโอกาสผ่านไป แต่พอถึงจุดหนึ่ง ตอนนี้คิดว่า คนที่เก่งกว่าคือคนที่เลือกโอกาสที่ดีที่สุดกับตัวเอง แต่ต้องถามตัวเองก่อนว่า ณ วันนี้คุณมีโอกาสที่จะเลือกหรือยัง ถ้ายังไม่มีโอกาสแม้จะเลือก อย่าเพิ่งเลือก เชื่อว่าเด็กๆ หลายคนทุกวันนี้จะเลือกที่จะทำ เลือกที่จะไม่เอางานหนัก เลือกที่จะตามความฝัน โดยลืมไปว่ามันทำตามฝันหรือมันเพ้อฝัน บางคนบอกฉันจะเป็นนักร้องดัง แต่คุณยังไม่ทำให้เกิดโอกาสกับตัวเองเลย คุณยังไม่ได้เริ่มซ้อมร้องเพลงเลย แต่ถ้าวันหนึ่งคุณมีความสามารถทั้งหมดแล้ว คุณค่อยมาเลือกว่า งานนี้เลือกที่จะรับ งานนี้เลือกที่จะไม่รับ เพื่อไม่ให้อีกงานหนึ่งเสีย แบบนี้มากกว่า”

เหนืออื่นใด เขาบอกว่า ถ้าอยากทำอะไร ทำเลย เพราะเราไม่รู้หรอกว่าชีวิตจะเป็นยังไงต่อไป เรื่องนี้เขายืนยันได้ดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook