สำรวจ"ผลิตภัณฑ์ยาง"รองเท้ายางพารา ไทยทำ-ไทยใช้ (5) "Rompboy" แบรนด์โดน มีสไตล์-ขายกระฉูด

สำรวจ"ผลิตภัณฑ์ยาง"รองเท้ายางพารา ไทยทำ-ไทยใช้ (5) "Rompboy" แบรนด์โดน มีสไตล์-ขายกระฉูด

สำรวจ"ผลิตภัณฑ์ยาง"รองเท้ายางพารา ไทยทำ-ไทยใช้ (5) "Rompboy" แบรนด์โดน มีสไตล์-ขายกระฉูด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

วันนี้ชัดเจนว่าการแปรรูปยางพารา เพิ่มปริมาณการใช้ในประเทศ คือ ทางออกเดียวที่จะนำความยั่งยืนมาสู่ชาวสวนยาง เป็นหนทางแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่หมุนวนเป็นวัฏจักรไม่รู้จบ

ทว่าในความเป็นจริงการแปรรูปไม่อาจเกิดขึ้นง่ายดายแบบนั้น เพราะทั้งเงินทุนที่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ และเรื่องของตลาดที่ผู้ประกอบการต้องคิดให้รอบคอบ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ เพราะหากใครเห็นโอกาส และมีไอเดียก็สามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดได้ เช่น ตลาดรองเท้าผ้าใบที่ปัจจุบันได้รับความนิยมสูง

ไม่เพียงแค่แบรนด์นอกเท่านั้น แต่วันนี้รองเท้าผ้าใบไทยแบรนด์สุดอินดี้อย่าง "Rompboy" โดย "บู้" ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์ มือเบสจากวงสเลอ ก็ฮิตไม่น้อย ชนิดที่ออกมาลอตแรก 500 คู่ ก็ขายหมดเกลี้ยงภายใน 3 วัน

ธนันต์บอกกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แบรนด์ Rompboy (รอมพ์บอย) เริ่มต้นจากทำเสื้อผ้าที่เป็นสไตล์ของตนเองก่อน จากนั้นเริ่มคิดทำรองเท้าผ้าใบแฮนด์เมดบ้าง เพราะมองว่าปัจจุบันไม่เหลือรองเท้าแฮนด์เมดในตลาดแล้ว มีแต่รองเท้าที่เหมือนกันเป็นพันเป็นหมื่นคู่จากโรงงาน ที่ไม่มีจิตวิญญาณ และไม่มีความยูนีค ขณะที่รองเท้าผ้าใบเมดอินยูเอสเอ หรือ เมดอินเจแปน ก็มีราคาสูงตั้งแต่หลายพันไปจนถึง 4-5 หมื่นบาท ทั้งที่รองเท้าคือสิ่งที่เปื้อนง่าย และสึกหรอเร็วที่สุด มองว่าทำไมต้องลงทุนขนาดนั้น จึงอยากจะทำรองเท้าผ้าใบแฮนด์เมดขึ้นมาบ้างและมีส่วนผสมของยางพาราด้วย

"ลอตแรกผมทำเป็นรองเท้าเทนนิสวินเทจยุค60"S-70"S จ้างโรงงานทำ ผมเป็นดีไซเนอร์เลือกวัตถุดิบทุกอย่าง มีสัดส่วนการใช้ผ้าใบกับยางธรรมชาติครึ่งต่อครึ่ง ผลิตลอตแรก 500 คู่ ขายราคาคู่ละ 2,750 บาท ลอตแรกขายหมดภายใน 3 วัน ไม่คิดว่าจะตอบรับดีขนาดนี้ เราเพียงแต่ใช้ความรู้สึกตัวเองนำ"

"ผมบอกช่างไว้เลยว่าให้ทิ้งลายเซ็นไว้ทุกคู่ จะติดขอบกาวเบี้ยว หรือมีตำหนิบ้างก็ปล่อย ถือเป็นเสน่ห์ของแฮนด์เมด สังเกตพวกรองเท้าเทนนิส หรือ บาสเกตบอล ในยุค 60"S งานจะมีตำหนิหมด เบี้ยวบ้างอะไรบ้างมันคือเสน่ห์ ผมว่าตลาดยังมีช่องว่างตรงนี้ คือ รองเท้าแฮนด์เมดราคาจับต้องได้ซึ่งไม่มีใครทำ แต่เชื่อว่าอีกสักพักจะมีคนตามแน่นอน แต่ผมไม่แคร์ ผมก็ไม่ผลิตซ้ำ เปลี่ยนแบบไปเรื่อย ๆ ถ้าตามทันก็โอเค"

ธนันต์เล่าให้ฟังว่า หลังจากประสบความสำเร็จจากการขายครั้งแรก และมีฟีดแบ็กที่ดี จึงต้องผลิตออกมาอีกครั้งเรียกว่าเป็นรุ่นพลัส 1 คือ แบบเดียวกับลอตแรกผลิตเพิ่มเป็น 1,000 คู่ ในราคาคู่ละ 2,950 บาท แพงกว่าเดิม 200 บาท จะเปิดขายผ่านไลน์ rompboy เริ่มเวลาเที่ยงตรง วันที่ 6 กุมภาพันธ์ และวางขายใน 4 หน้าร้าน คือ ร้าน CARNIVAL สาขาสยามสแควร์ ซอย 1 สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว และ online ร้าน ONION เอกมัยซอย 12 ร้าน La Rocca Royal Gallery Project ตลาดนัดจตุจักร โครงการ 5 ซอย 2 ล็อก 155 และ PLAYHOUND สาขาสยามเซ็นเตอร์ และสาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว ซึ่งขณะนี้ ทุกคู่ขายหมดตั้งแต่เปิดขายไม่กี่นาที

สำหรับการนำยางพารามาแปรรูปทำผลิตภัณฑ์รองเท้าผ้าใบนั้นยังมีช่องทางให้ทำได้อีกมากเช่นหมวดหมู่รองเท้าผ้าใบวินเทจบาสเกตบอลหรือรองเท้าแตะ ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่เรียบง่าย คนไทยทุกคนต้องมีติดบ้าน ซึ่งถ้าเราสามารถครีเอต และสนใจจริง ๆ ก็จะนำมาทำอะไรได้หลากหลายมาก เพราะยางพาราของไทยต่อให้ซื้อจากแหล่งไหนก็มีคุณภาพ ราคาถูก และนำไปเพิ่มมูลค่าได้ อย่างรองเท้าผ้าใบของตนลูกค้าชมเปาะว่าใส่ไปเดินป่ามาแล้ว 3 ป่า สภาพก็ยังดีอยู่ นั่นแสดงให้เห็นว่างานช่างไทยไม่แพ้ที่ไหนเหมือนกัน

"ผมว่าถ้ามีคนอินกับอะไรบางอย่างจริงจัง มีการศึกษากับมันจริงจัง อย่างผมอินเสื้อผ้า รองเท้า แล้วเราก็ศึกษามัน เรามีเรื่องที่จะบอกกับลูกค้า คุณก็ขายได้ ถ้าคุณแตกฉานกับสิ่งนั้นจริง ๆ

คนจะสนใจและจะกล้าจ่าย จริง ๆ ไม่แค่ยางพารา ผมว่าวัตถุดิบของไทยหลายอย่างน่าทึ่ง อย่างผ้าย้อมไทยที่ทอจากภาคเหนือ หรือ ภาคต่างๆ มันสร้างมูลค่าได้มาก แต่ตอนนี้ผมยังไม่มีเวลาทำ"

ธนันต์ กล่าวถึงแผนต่อไปว่า กำลังคุยกับช่างว่าหลังจากลอตที่กำลังจะออกวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ ลอตต่อไปซึ่งเป็นรุ่นที่ 2 ตั้งใจว่าจะเปลี่ยนโฉมหมดเลย กำลังศึกษารองเท้าสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่ แต่จะยังคงเล่นรายละเอียดเกี่ยวกับยางพาราไทยแน่นอน

"ลูกค้าหลายคนภูมิใจในความเป็นไทยนะ ล่าสุดมีช็อปจากญี่ปุ่นติดต่อเข้ามาจะขอรองเท้าผ้าใบเราไปขาย แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ เพราะตอนนี้อยากทำแค่ในประเทศก่อน ถ้าคนญี่ปุ่น หรือฮ่องกงจะมาก็ให้มาต่อคิวกับคนไทย เพื่อความยุติธรรม"

แม้ว่า "rompboy" จะเป็นเพียงสเกลเล็ก ๆ ที่นำยางพารามาใช้ในระดับที่แทบจะไม่มีผลต่อปริมาณยางพาราที่ล้นตลาดอยู่ขณะนี้ แต่ไอเดียจากชายหนุ่มคนนี้ไม่แน่อาจเป็นประกายสำคัญที่นำไปสู่ผู้ประกอบการอื่น ๆ เป็นจุดเล็ก ๆ ที่รวมกันมากพอจนเป็นพลังที่อาจจะเปลี่ยนแปลงตลาดยางพาราไทยก็ได้

ภาพจากเฟซบุ๊ค Tanan Boonyatanapiwat , Rompboy

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook