แกะรอย "ซีอีโอดัง" ระดับโลก เขาอ่านหนังสืออะไรกัน?

แกะรอย "ซีอีโอดัง" ระดับโลก เขาอ่านหนังสืออะไรกัน?

แกะรอย "ซีอีโอดัง" ระดับโลก เขาอ่านหนังสืออะไรกัน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ที่มา : รวบรวมจาก 3 ตอน "หนังสือของซีอีโอ" ในคอลัมน์ แปดหมื่นหกพันก้าว โดย ทวิตตี้ นสพ.มติชนรายวัน

"ปีใหม่" บ้างตั้งปณิธานว่าจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วพอสรุปปีอาจมาพิจารณาดูว่าได้ทำตามสิ่งที่ตั้งหวังไว้ได้กี่มากน้อย

ฝรั่งเรียกการตั้งใจทำอะไรในปีใหม่ว่าNew Year"s resolutions

น่าสนใจว่า New Year"s resolutions ของผู้ก่อตั้งโซเชียลมีเดียเบอร์หนึ่งของโลกอย่าง "มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก" แห่งเฟซบุ๊ก มีความตั้งมั่นอะไรที่เขาบันทึกไว้บนเฟซบุ๊ก ซึ่งเขาได้บันทึกคำปณิธานช่วงรอยต่อจากปี 2014 เข้าสู่ปี 2015 ว่า จะอ่านหนังสือเล่มใหม่ๆ ให้ได้ ทุก 2 สัปดาห์

ผลคือ "มาร์ค" ทำได้สำเร็จ ทั้งยังนำหนังสือที่อ่านแล้วมาแลกเปลี่ยนในชุมชนเพื่อนในเฟซบุ๊ก ที่ชื่อว่า A Year of Books book club

มาลองพินิจดูบางเล่มว่าเขาอ่านอะไรบ้างก็น่าสนใจไม่น้อย ภาพรวมจะเห็นว่าเขามุ่งความสนใจถึง "วัฒนธรรมที่แตกต่าง" ไปจนถึง "ความเชื่อในหลายมุมมอง" และชัดเจนว่าสนใจอ่านหนังสือ "ประวัติศาสตร์" หลายเล่ม อาทิ The Muqaddimah หนังสือแปลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อิสลามคลาสิกของนักประวัติศาสตร์อาหรับ Khaldun ซึ่งเป็นชื่อที่โด่งดังในยุคศตวรรษที่ 14

เป็นหนังสือที่พูดถึงอิสลามสมัยใหม่ในยุคนั้น โดยศึกษาครอบคลุมถึงประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์ต่างๆ ให้ไกลไปกว่า ประวัติศาสตร์ดั้งเดิมที่ถูกบันทึกไว้ และการพูดถึงองค์ประกอบสากลของอิสลามที่เกี่ยวเนื่องกับมนุษยชาติ ซึ่งการค้นคว้าของนักประวัติศาสตร์มุสลิมรายนี้นำไปสู่หนึ่งในการก่อร่างของสังคมวิทยาและภูมิประวัติศาสตร์ยุคใหม่ในที่สุด

อีกเล่มเป็นหนังสือแนววิทยาศาสตร์ชาติพันธุ์ของมนุษย์ Sapiens โดยหนังสือเล่มนี้แกะรอยวิวัฒนาการของ โฮโม ซาเปี้ยนจากยุคนักล่า มาสู่ยุคแห่งการสร้างพลัง

นอกจากประวัติศาสตร์ เขาอ่านหนังสือเกี่ยวกับการปฏิรูประบบกระบวนการยุติธรรมอีกเล่มในชื่อ The New Jim Crow โดยเนื้อหาพูดถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม สิทธิมนุษยชน ไปจนถึงการรังสรรค์วัฒนธรรมการไม่ใช่ความรุนแรง และปัญหาการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับกลุ่มที่ถูกมองเป็นพลเมืองชั้นสอง

อีกเล่มที่ให้มุมมองแบบ "ทุน" คือ The End of Power ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และแกะรอยกระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจ จากอำนาจรัฐ ทหาร และบริษัททุนขนาดใหญ่ ไปสู่ปัจเจก

และมีอยู่หนึ่งเล่มที่เป็นเล่มเดียวกับที่มหาเศรษฐีไมโครซอฟท์อย่าง บิล เกสต์ เคยระบุว่าเป็นหนึ่งในหนังสือเล่มสำคัญที่อ่านเช่นกัน นั่นคือ "The Better Angels of Our Nature: Why Violence Has Declined"

เป็นหนังสือที่เขียนโดยนักจิตวิทยาจากฮาร์วาร์ด เนื้อหาอธิบายว่าทำไมและอย่างไรที่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของโลกเราเป็นต้นมาจะลดลงอย่างต่อเนื่องโดยได้เสนอแนวคิดกลไกการลดความรุนแรงไว้อย่างละเอียดในระดับโครงสร้างและอธิบายฟันเฟืองที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ

เป็นภาพรวมคร่าวๆหากจะแกะรอยจากหนังสือที่ซีอีโอเฟซบุ๊กอ่านในปีนี้...

จะเห็นความพยายามเชื่อมโยงความหลากหลายของนานาวัฒนธรรมในโลกใบนี้ที่พอให้เห็นการแกะรอยว่าเขาสนใจในเรื่องวัฒนธรรมที่หลากหลายและสนใจเรื่องราวทางประวัติศาสตร์รวมทั้งปัญหาใหญ่ๆ ในสังคม อาทิ กระบวนการยุติธรรม และการใช้ความรุนแรง

อย่างที่เรามักจะได้ยินว่าซีอีโอที่ประสบความสำเร็จไม่เคยหยุดเรียนรู้ บ้างเข้าร่วมการทำเวิร์กช็อป ประชุมสัมมนา หรือลงคอร์สเรียนต่างๆ แต่ก็อาจเป็นเรื่องยากของผู้ที่ไม่มีเวลา

แน่นอนว่าซีอีโอหลายคนเลือกที่จะใช้อีกวิธีที่ง่ายสะดวกกว่านั้น นั่นคือ การอ่านหนังสือ

บุคคลตัวอย่างในกรณีนี้ที่ชัดเจน คือนักลงทุน-นักธุรกิจคนดัง "วอร์เรน บัฟเฟตต์" ประธานและซีอีโอ เบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ วัย 85 ปี ที่มีสถิติเป็น "นักอ่าน" ตัวยง ตั้งแต่ยังหนุ่มแน่น เขาใช้เวลาในแต่ละวันอ่านหนังสือหรือเอกสารที่เป็นข้อมูลต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 600 หน้า

แต่ก่อนจะเล่าถึงหนังสือที่บัฟเฟตต์โปรดปราน

เราลองมาแกะรอยซีอีโอคนดังของโลกคนอื่นๆเช่นกันว่า หากให้แต่ละคนเลือกเล่มที่ชอบมาหนึ่งเล่มเพื่อแนะนำสังคม พวกเขาจะแนะนำเล่มไหน

เริ่มจากผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซขายหนังสือออนไลน์ชื่อดัง อะเมซอนดอทคอม Amazon.com "เจฟฟ์ เบโซส์" ที่ยกเล่ม The Remains of the Day ของ Kazuo Ishiguro ขึ้นมาเป็นเล่มโปรด โดยชื่นชอบที่หนังสือให้คำแนะนำแก่ผู้อ่านเกี่ยวกับเรื่องราวเชิงชีวิตและความเสียใจ

ขณะที่หนังสือโปรดของซีอีโอมอร์แกน สแตนลีย์ "เจมส์ กอร์แมน" คือ The Boys in the Boat: Nine Americans and Their Epic Quest for Gold at the 1936 Olympics เล่มนี้ชื่อเรื่องยาวมาก ซึ่งกอร์แมนบอกว่าเล่มนี้เขาอ่านในยามไว้หาแรงบันดาลใจ เพราะเป็นเรื่องราวของบุคคลที่เป็นมือสมัครเล่นแต่ต้องการค้นหาและสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่

สำหรับเล่มโปรดของอดีตผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิล"สตีฟ จ็อบส์" คือ The Innovator′s Dilemma ที่พูดถึงเรื่องราวช่วงการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี และเมื่อถามถึงเล่มโปรดที่ซีอีโอแอปเปิลคนปัจจุบัน "ทิม คุก" แนะนำคือ Competing Against Time ซึ่งเขามักจะแนะนำให้พนักงานแอปเปิลที่เพิ่งเข้ามาทำงานได้อ่านกัน

ฟากซีอีโอหญิงแห่งยาฮู เมลิสซ่า เมเยอร์ แนะนำหนังสือที่ชื่อ The Charisma Myth เล่มนี้เป็นหนังสือจิตวิทยา ที่พูดถึงหนทางการหาพลังแห่งความสนุกสนานรื่นเริงจากภายในของเรา

ขณะที่ผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์ "แจ็ค ดอร์ซีย์" มีเล่มโปรดที่ชอบแนะนำพนักงานเข้าใหม่ให้อ่าน และมักจะได้ยินเขาอ้างถึงเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้บ่อยๆ คือ The Checklist Manifesto: How to Get Things Right

เหล่านี้เป็นตัวอย่างไอเดีย "หนึ่งซีอีโอ หนึ่งเล่ม"

ทีนี้เราก็มาดู นักลงทุน-นักธุรกิจคนดัง "วอร์เรน บัฟเฟตต์" ประธานและซีอีโอ เบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ วัย 85 ปี ที่มีสถิติเป็น "หนอนหนังสือ" ตัวยงกัน

ตั้งแต่ยังหนุ่ม เขาใช้เวลาในแต่ละวันอ่านหนังสือหรือเอกสารที่เป็นข้อมูลต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 600-1,000 หน้าต่อวัน

ปัจจุบันเขายังใช้เวลากว่า 80% ในการอ่าน...และอ่าน

"อาชีพของผมต้องการสิ่งที่เป็นข้อมูล ข้อเท็จจริงให้มากที่สุด ซึ่งมันจะนำมาสู่การกระทำบางอย่าง" บัฟเฟตต์กล่าว

"เราจะไม่อ่านสิ่งที่เป็นความคิดเห็นของคนอื่น แต่เราต้องการอ่านข้อเท็จจริงและนำมาคิดต่อ" เขาพูดถึงหนังสือที่เลือกอ่าน

มีหนังสือบางเล่มที่ฉายภาพว่ามหาเศรษฐีนักลงทุนอย่างเขา ใช้หนังสืออะไรเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ ซึ่งเขาเองก็มักจะแนะนำหนังสือให้ผู้ถือหุ้นได้อ่าน มีเล่มที่เขาพูดถึงบ่อยๆ คือ The Intelligent Investor

หนังสือเล่มนี้ บัฟเฟตต์ได้อ่านครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 19 ปี เขียนโดยเซียนตลาดหุ้นวอลสตรีท เบนจามิน เกรแฮม ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า หนังสือเล่มนี้พูดถึงทัศนคติในการลงทุนที่ถูกต้อง กลยุทธ์การลงทุนสำหรับนักลงทุนแต่ละประเภท และการมีมุมมองที่เหมาะสมต่อความผันผวนของตลาดหุ้น

อีกเล่มคือ Security Analysis ที่บัฟเฟตต์บอกว่าเป็นหนังสือปักหมุดสร้างแผนที่การลงทุนให้เขามาตลอด ด้วยแนวคิดถ้าวิเคราะห์บริษัทโดยละเอียดจะสามารถหามูลค่าของบริษัทได้ ตามมาด้วย Where Are the Customers" Yachts? เล่มนี้เสียดสีสังคมสุดหรูฟู่ฟ่าของเหล่านักธุรกิจการเงินในวอลสตรีท

อีกหนึ่งเล่มโปรดคือ Business Adventures : Twelve Classic Tales from the World of Wall Street ซึ่งบัฟเฟตต์ใช้หนังสือเล่มนี้ตอบกับบิล เกตส์ จากไมโครซอฟท์ว่าเป็นหนังสือธุรกิจเล่มโปรดของเขา

มีแต่หนังสือธุรกิจหนักๆ ว่าแต่ซีอีโอดังๆ เขาอ่านอะไรที่เป็นนวนิยายกันหรือไม่

มีกรณี "บิล เกตส์" ที่เล่าถึงนิยายเล่มที่ชอบ The Rosie Project นิยายตลกร้าย เสียดสี มีตัวละครหลักที่มีมุมมองต่อความรักในแบบวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งมีอาการโรคแอสเพอร์เกอร์ซินโดรมด้วย ซึ่งวิธีหาแฟนของเขาจึงออกแนวเนิร์ดไม่เหมือนใคร

อีกเรื่องที่เป็นวรรณกรรมเยาวชนชื่อดังของอเมริกาและเป็นอีกเล่มโปรดของบิล เกตส์คือ นิยาย The Catcher in the Rye เขียนโดยเจ.ดี.ซาลินเจอร์ เป็นเรื่องของเด็กหนุ่มวัยว้าวุ่นที่สับสนและซับซ้อนกับชีวิตสุดสุด

บิล เกตส์ พูดถึงเล่มนี้ว่า เขาอ่านตั้งแต่อายุ 13 ปี และตอนนั้นก็บอกไว้เลยว่านี่คือหนังสือเล่มโปรด เพราะพูดถึงเรื่องของวัยเยาว์ที่สุดสับสนด้วยวิธีที่ฉลาดและเข้าถึงแก่นของวัยรุ่นแบบที่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ

ปัจจุบันแม้จะอายุอานามมาสู่วัยกลางคนแล้วแต่บิล เกตส์ก็ยังยกให้วรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้เป็นเล่มรักของเขา...

สรุปความว่า ซีอีโอดังๆเขาอ่านกันหลากหลายรูปแบบ ทั้งหนังสือหนัก เพื่อเสพข้อมูลในการสร้างผลึกวิเคราะห์ ขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งวรรณกรรมน้ำดีเพื่อตอบสนองเติมเต็มความรู้สึกในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเช่นกัน

ที่มา : รวบรวมจาก 3 ตอน "หนังสือของซีอีโอ" ในคอลัมน์ แปดหมื่นหกพันก้าวโดย ทวิตตี้ นสพ.มติชนรายวัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook