กิดสะหนา วงไซ เจ้าของ "เบียร์ลาว" เผยสูตรลับ ...ที่นี่ที่เดียว

กิดสะหนา วงไซ เจ้าของ "เบียร์ลาว" เผยสูตรลับ ...ที่นี่ที่เดียว

กิดสะหนา วงไซ เจ้าของ "เบียร์ลาว" เผยสูตรลับ ...ที่นี่ที่เดียว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"เบียร์ลาว" เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ครองใจชาวลาวมากว่า 40 ปี มีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 98 เปอร์เซ็นต์ และเป็นสินค้าที่จ่ายภาษีปีละ 5 พันล้านบาท สูงเป็นอันดับ 2 ของ สปป.ลาว รองจากเหมืองทองคำ

ภายใต้การดูแลของซีอีโอจากเวียงจันทน์ ผู้มีนามว่า "กิดสะหนา วงไซ" ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท เบียร์ลาว จำกัด คลุกคลีอยู่ในโรงเบียร์ลาวมากว่า 32 ปี จนชื่อของเขากลายเป็นแบรนด์อิมเมจไปแล้ว เพราะหากกล่าวถึงเบียร์ลาวต้องมี "กิดสะหนา วงไซ" พ่วงอยู่ด้วย

โรงงานเบียร์ลาวนั้น แต่เดิมเป็นของชาวฝรั่งเศสชื่อ "โรงงานเบียร์และน้ำก้อนลาว" หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากราชอาณาจักรมาเป็น สปป.ลาว ทางการลาวได้ซื้อหุ้นจากประเทศฝรั่งเศสและเข้าไปดำเนินกิจการเอง เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลลาว เอกชนและบริษัทต่างประเทศ มีคาร์ลสเบิร์กถือหุ้นใหญ่

กิดสะหนา แม้จะไม่ได้เข้ามาดูแลกิจการเบียร์ลาวตั้งแต่เริ่มต้น แต่เขาคือคนหนุ่มไฟแรง ดีกรีนักเรียนเศรษฐศาสตร์จบจากฝรั่งเศส ย้ายจากกระทรวงอุตสาหกรรมลาวเข้ามาทำงานในฐานะผู้จัดการโรงงานเบียร์ลาวทั้งที่ไม่ได้เรียนด้านนี้มา แต่เขาและเบียร์ลาวค่อย ๆ เติบโตมาพร้อม ๆ กัน

จากผู้จัดการขยับขึ้นไปนั่งเก้าอี้ซีอีโออย่างมั่นคง ด้วยหุ้นเพียงหยิบมือเดียวเมื่อเทียบกับผู้ร่วมทุนรายอื่น แต่เขาก็ยังได้รับความไว้วางใจให้ดูแลกิจการต่อไป เช่นเดียวกับเก้าอี้ประธานหอการค้าลาวที่เขานั่งมากว่า 12 ปี แม้จะสละเก้าอี้ไปแล้ว แต่ก็ยังมีตำแหน่งที่ปรึกษาพ่วงตามมาอีก

ทั้งหมดนี้ได้มาจากความสามารถและการทุ่มเทของซีอีโอวัย 58 ปี ที่มีความตั้งใจในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตก้าวหน้า จนสินค้าครองใจชาวลาวและชาวต่างประเทศ จากการส่งออกเบียร์ดำไปขายใน 25 ประเทศทั่วโลก แม้จะส่งออกได้เพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์จากกำลังการผลิตทั้งหมด 300 ล้านลิตรต่อปี เพราะกำลังการผลิตยังไม่เพียงพอกับตลาด

ซีอีโอเบียร์ลาวจึงเปิดเผยว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีการขยายโรงงานอีก 2 แห่ง ที่ปากเซและเวียงจันทน์ รวมกับที่เดิมเป็น 3 แห่ง เพื่อรองรับการเติบโตของตลาด และเตรียมตั้งรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะมีคู่แข่งขันหลั่งไหลเข้ามาในประเทศ โดยเขายอมรับว่า "กลัวช้างและสิงห์" มาชนมากที่สุด แต่จะไม่ทำอะไรเลยก็คงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ซีอีโออาวุโสผู้นี้ยังยืนยันถึงจุดแข็งอีกอย่างของโรงงานเบียร์ลาว คือ มีผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเป๊ปซี่และมีน้ำดื่มตราหัวเสือจำหน่ายด้วย ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เบียร์ลาวมีสูตรเบียร์ปรุงเอง รสชาติที่ใครหลายคนได้ชิมแล้วจะติดใจ และการสร้างความมั่นใจในแบรนด์ที่ทำมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง

"ผมเป็นคนสั่งเปลี่ยนชื่อเบียร์ลาวเอง เมื่อก่อนนั้นชื่อ เบียร์ Larue แปลว่า ถนน ผมก็มองว่า ชื่อยี่ห้อมันทำให้เบียร์เราเหมือนเป็นของข้างถนน คิดว่าจะทำอย่างไรให้เบียร์ของเราเป็นเบียร์ระดับชาติ จึงนำชื่อประเทศไปใส่แทน ผมไม่ใช่คนปรุงเบียร์ แต่ผมรู้จักว่าจะทำเงิน ทำการตลาดอย่างไร สูตรเบียร์เดิมเป็นของฝรั่งเศส แต่ตอนนี้เป็นสูตรผสมนำเอาหัวเชื้อจากเยอรมันมาใช้ แล้วปรับปรุงรสชาติให้เข้ากับคนลาว ไม่ขมมาก และฟองนิ่ม แต่ถ้าเป็นเบียร์ดำทำมาได้ 10 ปี เป้าหมายคือขายนักท่องเที่ยวตลาดบนที่นิยมดื่มเบียร์ดำ"

ซีอีโอยังเล่าว่า อดีตการปรุงเบียร์ น้ำมีส่วนสำคัญต่อรสชาติ เมื่อก่อนเบียร์ลาวใช้น้ำสร้าง (น้ำบ่อขุด) ทำให้คุณภาพน้ำเปลี่ยนไป แต่ตอนนี้ดึงน้ำแม่น้ำโขงมาใช้ โดยผ่านกระบวนการกลั่นที่ได้มาตรฐาน จึงหมดปัญหาเรื่องรสชาติผิดเพี้ยน

เมื่อ 50 ปีก่อน คนอาจจะบอกว่ารสชาติเบียร์ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของน้ำ ใครที่ได้แหล่งน้ำดีจะได้เปรียบ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้า ก็มีมาตรฐานเดียวกันหมด

แต่ใช่ว่าเบียร์ลาวจะไม่มีคู่แข่งในตลาด เพราะปัจจุบันก็มีโรงเบียร์หลายแห่ง หลายยี่ห้อที่เข้าไปเปิดกิจการ เพียงแต่ไม่สามารถเจาะกลุ่มตลาดได้ นั่นเพราะกลยุทธ์ที่เจ้าของโรงเบียร์ลาววางไว้นั้นแข็งแกร่ง ทานแรงต้านได้ดีเยี่ยม

"ผมปรับกลยุทธ์ใหม่ให้คนภูมิใจในความเป็นคนลาวและเบียร์ลาว จากนั้นเน้นย้ำเรื่องรสชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และ ย้ำซ้ำ ๆ อีกว่าเบียร์ลาวเป็นของคนลาว คนจริงใจ ใครดื่มเบียร์ลาวเป็นคนจริงใจ และต่อมาก็ภูมิใจในวัฒนธรรมที่เบียร์ลาวเข้าไปมีส่วนร่วม ในปีนี้ฉลอง 40 ปีก็มีแคมเปญ "เพื่อนแท้" 40 ปี ไม่มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเหมือนกับเบียร์ลาว ที่เป็นเพื่อนแท้กันตั้งแต่เด็ก ๆ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คนจะได้มีความรู้สึกดี ๆ ว่าไม่เคยเปลี่ยน" เจ้าของเบียร์ลาวย้ำถึงแผนการตลาดที่กำหนดเอง แต่บางอย่างก็ต้องพึ่งเอเยนซี่ในประเทศด้วยเช่นกัน

"ข้อสำคัญ แม้จะมีทุนต่างชาติหุ้นด้วย แต่ต้องทำให้คนภายในประเทศรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของ โดยเราคุยกับผู้ร่วมทุน ทำความเข้าใจว่าการเติบโตของเบียร์ลาวมาถึงจุดนี้คือ ผู้ร่วมทุนไม่ต้องไปออกสังคมเยอะ ไปอยู่ข้างหลัง ให้คนลาวคุยกันเอง ต่างชาติออกหน้าไม่ได้ คนลาวคนไทยเหมือนกัน เห็นฝรั่งไม่มีใครชอบหรอก ต้องทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นสินค้าของเขาแล้วประสบความสำเร็จ และอย่าลืมเรื่องซีเอสอาร์ด้วย"

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เบียร์ลาวครองใจคนในประเทศนั่นก็คือ การหยิบจับวัฒนธรรมมาใส่ในแบรนด์ โดยสาวเชียร์เบียร์เมืองลาวทุกคนจะต้องนุ่งซิ่นใส่เสื้อแขนสั้น ไม่มีการโชว์ร่องอกขาอ่อนแบบยี่ห้ออื่น ๆ สาว ๆ ที่มาสมัครทำงานเป็นพนักงานเชียร์เบียร์ต้องผ่านการอบรมอย่างเข้มงวด เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์

ดังนั้นพนักงานเชียร์เบียร์จึงได้รับการดูแลอย่างดี มีรถรับส่ง ทำงานเป็นเวลา เข้างาน 10 โมง เลิกงาน 4 ทุ่ม ข้อห้าม ไม่ร่วมดื่มหรือนั่งโต๊ะกับแขกเด็ดขาด ประจำเฉพาะร้านอาหาร ห้ามขายในผับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษา มีรายได้เฉลี่ยได้วันละ 300 บาท

ในอีกไม่เกิน 2 ปีข้างหน้าที่จะมีการเปิดประตูอาเซียน ยังปลุกนักธุรกิจลาวให้ตื่นตัวรับมือ ประชากรจากเดิม 6 ล้านคนจะกลายเป็น 600 ล้านคน เรื่องนี้เจ้าของเบียร์ลาวก็ยืนยันหนักแน่นว่า "รัฐบาลก็มีวิธีช่วยผู้ประกอบการลาวเหมือนกัน แต่ผมคิดว่าเราจะกลัวไม่ได้ เพราะทุกวันนี้โลกเชื่อมโยงกันหมด เราจะปกป้องธุรกิจภายในโดยไม่มีใครมาเชื่อมเป็นไปไม่ได้ ต้องเอาโอกาสที่มันเปิดนี้มาแข่งขันให้มันได้"

แน่นอนว่าธุรกิจกำไรงามเช่นนี้ ไม่จำเป็นต้องเรียกทุนเพิ่ม แต่ไม่แน่ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า เบียร์ลาวอาจจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ลาวก็เป็นไปได้ เพียงแต่ว่าถ้าซีอีโอที่ชื่อกิดสะหนายังอยู่ แนวคิดที่จะนำเบียร์เข้าตลาดหลักทรัพย์จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน

"เราจะไปแบ่งของเราให้คนอื่นทำไม เพราะเราไม่ได้ต้องการทุนเขา"

พอกระซิบถามตัวเลขกำไรเพียว ๆ เจ้าของเบียร์ลาวบอกเบา ๆ ว่า "มันเยอะนั่นแหละ บอกไม่ได้"

 

 

.....................................................................................................................

ติดตามทุกเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ชาย รวบรวมข้อมูลเรื่อง แฟชั่นผู้ชาย ทรงผมผู้ชาย น้ำหอมผู้ชาย
พร้อมด้วยหลากหลายบทความเกี่ยวกับ สุขภาพ สาวสวย และที่เที่ยวกลางคืนได้ที่นี่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook