หนุ่มฮาร์วาร์ด รอวันกลับบริหารรีสอร์ตหรูภูเก็ต

หนุ่มฮาร์วาร์ด รอวันกลับบริหารรีสอร์ตหรูภูเก็ต

หนุ่มฮาร์วาร์ด รอวันกลับบริหารรีสอร์ตหรูภูเก็ต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่น้ำเสียงเป็นมิตรจากปลายสาย จะชวนให้คนฟังปลายทางอดชื่นชมในถ้อยคำสุภาพไม่ได้
เป็นการนัดพบครั้งแรกและครั้งเดียวจากคำแนะนำของทีมงาน MBA Think Tank ก่อนที่ชายหนุ่มผู้มากด้วยรอยยิ้มจะเดินทางไปเรียน (อย่างหนัก) ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพียงหนึ่งสัปดาห์

สำนักงานเล็ก ๆ ของ Three Dolphins Resort Co., Ltd. บริษัทบริหารรีสอร์ตหรูในภูเก็ต "Trisara" และ "Boathouse" ในบรรยากาศบ้านเก่าอิงแมกไม้และธรรมชาติ ย่านราชวิถี ภายในแต่งเรียบง่าย เคร่งขรึม ตามบุคลิกเจ้าของบ้านผู้เป็นพ่อ "ณรงค์ ปัทมะเสวี"
เป็นที่ ๆ ทีมงานได้ทำความรู้จักกับ "ป่าน" กิตติศักดิ์ ปัทมะเสวี ในบทบาทนักบริหารและหนึ่งในคนไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปเรียนที่ "ฮาร์วาร์ด" ในปีการศึกษานี้

"ป่าน" ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศตั้งแต่เรียนไฮสคูล จบปริญญาตรี มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา (มหาวิทยาลัย Top10) สาขาวิศวกรรมการเงิน ปี 2008
ตอนเรียนจบยังไม่คิดจะกลับเมืองไทยทันที ด้วยความคิดตอนนั้น ตัวเขามองว่าอเมริกาเป็นประเทศที่รู้ know how ใหม่ ๆ ก่อนใคร จึงอยากหาประสบการณ์จากโลกภายนอก ก่อนนำความรู้และบทเรียนที่ได้มาปรับใช้กับธุรกิจของครอบครัว

"ป่าน" เริ่มงานแรกด้าน Investment Banker ที่ HSBC ประเทศสิงคโปร์ ทำอยู่ได้ประมาณครึ่งปี องค์กรประสบภาวะวิกฤต ตัดสินใจกลับมาหางานใหม่ที่เมืองไทยตอนต้นปี 2009 และเข้าทำงานฝ่าย Private Equity & Financial Advisory ที่ MFC Asset Management
ทำงานในบริษัทใหม่อยู่ปีครึ่ง ประกอบกับจังหวะที่ "Trisara" เปิดดำเนินการมา 5 ปี อยู่ในช่วงธุรกิจขยายตัว เป็นจุดเริ่มของความสนใจเมื่อได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสการทำงานในตำแหน่ง Assistant Manager, Office of CEO, Three Dolphins Resort Co., Ltd.

ในวัย 25 ปี ถามว่ากดดันไหม!
เขาตอบว่าเป็นความกดดันในมุมของความรับผิดชอบ แต่มั่นใจว่าความรู้จาก HSBC และ MFC Asset Management จะช่วยในการทำงานได้มาก
งานที่ได้รับมอบหมายเกี่ยวข้องโดยตรงทางด้าน Financial Analyst เป็นความท้าทายที่ไม่รู้สึกเบื่อ แม้ว่าที่ผ่านมาจะเรียนและเดินในเส้นทางสายนี้มาอย่างต่อเนื่อง

การนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ ให้กับ "Trisara" ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี มีลูกค้าน้อย แทนที่จะปรับลดราคาห้องพัก กลับหันมาใช้กลยุทธ์มอบแพคเกจที่ให้ความคุ้มค่ามากกว่าเดิม ควบคู่กับการนำพลังงานสะอาดเข้ามาใช้ และขายห้องพักผ่านช่องทางเฟซบุ๊ค
เป็นอีกความภูมิใจที่คุยแล้วยิ้มได้เมื่อพูดถึงเรื่องนี้

 


แน่นอนว่าความได้เปรียบของคนรุ่นใหม่กับการใช้สื่อสังคมออนไลน์เข้ามาช่วยกระตุ้นแผนการตลาด ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แนวทางนี้กลับช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจได้เร็วขึ้น
"Trisara" ถูกออกแบบให้แขกผู้มาเยือนรู้สึกถึงความหรูหรา เป็นส่วนตัว ท่ามกลางธรรมชาติที่รายล้อมด้วยต้นไม้

"การที่จะไปสร้างรีสอร์ตบนพื้นที่ ๆ เคยมีป่าอยู่ก่อน ต้องพยายามไม่ทำให้สภาพแวดล้อมตรงนั้นสูญเสียมากเกินไป ต้นไม้ที่ Trisara บางต้นจะ tag ไว้เลยว่าห้ามล้ม ต้องสงวนไว้แทนที่จะโค่นไป"

 

 

ด้าน "Boathouse" เปิดมานานกว่า 20 ปี เป็นหนึ่งในไม่กี่โรงแรมบนหาดกะตะที่มีหน้าหาด เสน่ห์ของรีสอร์ตแห่งนี้อบอุ่นอย่างมีชีวิตชีวา มีผู้คน มีกิจกรรม "บางคนกลับมาเที่ยวทุกปี บางคนมาตั้งแต่เป็นเด็ก พอโตแล้วกลับมาอีก หรือแต่งงานไปแล้วกลับมาก็มี เหมือนเป็นบ้านอีกหลังของผู้ที่มาพักผ่อน"
"Boathouse" อยู่ในช่วงปรับปรุงและพร้อมเปิดโฉมใหม่ในรูปแบบบีชคลับ ให้บริการทั้งลูกค้าในรีสอร์ตและลูกค้าภายนอก โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องจ่ายค่าห้องพักราคาแพง

เป็นคนหนุ่มที่ชอบทะเลมาตั้งแต่ไหนแต่ไร "ป่าน" บอกว่าถ้าชีวิตวุ่นมาก ๆ การได้ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง ปล่อยวางจากเทคโนโลยี หยุดพักสมอง พักใจจากงานที่ทำอยู่ทุกวัน การได้หนีมาทะเล อย่างน้อยเหมือนได้เติมพลังก่อนจะกลับไปทำงานด้วยความมุ่งมั่นต่อไป
คุณพ่อนับเป็นผู้ที่เป็นแบบอย่างการทำงานในฐานะผู้บริหารองค์กร ตัวของ "ป่าน" ได้ซึมซับการบริหารคนจากคุณพ่อด้วยเช่นกัน "การได้อยู่ออฟฟิศเดียวกัน เข้าประชุมด้วย ได้ทำหน้าที่เป็นเลขาฯ คุณพ่อ ทำงานทีมเดียวกับ Management ที่ Trisara ได้เสนอความคิดใหม่ ๆ ในการทำโปรโมชั่น"

เรื่องอายุไม่มีผลกับการทำงานในตำแหน่งที่ได้รับ "ป่าน" เชื่อว่าความรู้ที่ได้ร่ำเรียนและประสบการณ์ทางด้านการเงินที่ผ่านมา จะช่วยย้ำแนวทางที่นำเสนอว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด
"ถ้าไม่ใช่ลูกคุณพ่อ คงไม่สามารถทำให้คนฟังไอเดียได้เร็วขนาดนี้ เพราะเพิ่งเข้ามาในองค์กร แต่เหมือนเปิดประตู พอเปิดได้ เดินผ่านมาแล้ว เขาจะรับหรือไม่รับไอเดียเรา ขึ้นอยู่กับว่าผลงานของเรามีประโยขน์ กับองค์กรหรือไม่"

"คุณพ่อเป็นคนมีวิสัยทัศน์ มองเห็นโอกาสและสามารถสื่อสารวิสัยทัศน์ที่มีกับคนรอบตัว สามารถทำให้ทีมตกลงทำงานเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน คุณพ่อเป็นคนไม่ยอมแพ้ ไม่ว่ามีปัญหาหรือมีอะไรที่ทำให้ผิดพลาด ไม่ว่าปัจจัยนั้นควบคุมได้หรือไม่ จะไม่เคยท้อถอย"
"ก่อนหน้านี้คุณพ่อเคยทำงานด้านธนาคารมาก่อน ช่วงที่เกิดวิกฤต ผมอยู่ต่างประเทศ คุณแม่ไม่บอกให้รู้ ไม่อยากให้เป็นห่วง หลัง ๆ คุณแม่เริ่มเล่ามากขึ้น จึงได้รู้ว่าคุณพ่อผ่านปัญหามาได้ เพราะพ่อมีศักยภาพสูง"

ความชื่นชมในตัวคุณพ่อ ผู้เป็น role model ด้านการเป็นนักบริหาร อนาคตหลังสำเร็จการศึกษาจากฮาร์วาร์ด ย่อมเป็นที่แน่นอนว่า "ป่าน" จะกลับมาช่วยบริหารธุรกิจครอบครัวอีกแรง ขณะที่พี่ชายทำงานอยู่ที่อเมริกา ส่วนน้องชายทำงานที่ฮ่องกง

วันนี้ป่านอาจยังไม่ใช่นักธุรกิจเต็มตัว แต่เส้นทางที่ปูไว้ และการทำงานในช่วงสั้น ๆ ด้าน Financial Model พอจะทำให้ป่านได้เรียนรู้ว่ากว่าจะเป็นมืออาชีพ ต้องเพิ่มทักษะด้านการตลาด การบริหารคน และการประสานกับพาร์ตเนอร์ที่ร่วมงานมากขึ้น

ด้านงานเพื่อสังคม "ป่าน" นั่งในตำแหน่งกรรมการมูลนิธิ "นิยม ปัทมะเสวี" ที่มีคุณพ่อเป็นผู้ริเริ่มและเป็นประธานมูลนิธิ โดยตั้งชื่อมูลนิธิตามชื่อของคุณปู่ ก่อตั้งเมื่อปี 2542 เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่คุณนิยม ผู้อุทิศตนให้กับงานสาธารณกุศล มีวัตถุประสงค์สนับสนุนทุนการศึกษาเยาวชนที่จังหวัดลำปาง และเปิดเป็นศูนย์การเรียน ปัทมะเสวี ในปี 2550 เป็นที่รวมตัวของเหล่าเด็ก ๆ ที่รักการอ่านหนังสือ
อาศัยความเป็นคนรุ่นใหม่ มีความคิดใหม่ ๆ น่าจะทำอะไรได้มากกว่าการให้หนังสือ ฟาร์มกบจึงเกิดขึ้นที่นี่
"พอดีมีครูที่เป็นพี่ชายนักเรียนทุน มีความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง มีฟาร์มเลี้ยงวัว เอามูลมาทำปุ๋ย ทำก๊าซ เลี้ยงกบ แกมีแค่สบู่กับแปรงสีฟัน น่าจะมีการถ่ายทอดความรู้อะไรได้ เลยทำฟาร์มกบดู ให้ลูกอ๊อดพันตัว เลี้ยงในพื้นที่โรงเรียน"
เด็ก ๆ มีความสุข มีรอยยิ้ม ได้เรียนรู้ด้านระเบียบวินัยจากการแบ่งหน้าที่ดูแลฟาร์มกบ และทุกคนก็ชอบจับกบ กิจกรรมเช่นนี้พนักงานจากทีม Trisara ได้ลงพื้นที่ไปดูด้วยเช่นกัน
การทำงานเช่นนี้ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นความตั้งใจของคุณณรงค์ เฉกเช่นที่เคยได้รับจากสังคม
"พ่อเติบโตมากับครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะดี แต่ได้ทุนเรียนต่อมาตลอด จึงอยากส่งต่อสิ่งที่เคยได้รับ"

 

 

ป่านนี้ "ป่าน" คงคร่ำเคร่งกับการเรียนที่อเมริกา และคงแอบคิดถึงคนที่เมืองไทยบ้าง
อีกไม่นานทายาท "ปัทมะเสวี" จะกลับมาเป็นหนุ่มเนื้อหอมที่มากด้วยความสามารถ คอยเป็นเรี่ยวแรงให้องค์กร
ด้วยบทบาทอันเป็นที่พึ่งได้ของเพื่อนร่วมงาน เต็มร้อยกับความรับผิดชอบในหน้าที่ มีความเป็นมิตร และไม่กลัวที่จะเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ
เส้นทางสู่ "ฮาร์วาร์ด"
"ป่าน" เรียนไฮสคูลที่อเมริกา เพื่อเตรียมตัวเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย ขั้นตอนสำคัญในการเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ จำเป็นต้องเรียนรู้ตั้งแต่การเขียนใบสมัคร แสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะเรียน ตลอดจนทำกิจกรรมระหว่างเรียน
"ไปเรียนไฮสคูลที่นั่นช่วยด้านภาษา สไตล์การเรียน การใช้ชีวิต การปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมอเมริกา ไม่เช่นนั้นอาจประสบปัญหา culture shock ได้ ขณะที่เรียนปริญญาตรีก็ต้องปรับตัว"
การสมัครเรียนไฮสคูลที่นั่น ทำให้การเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้นไม่ใช่เรื่องยาก "ป่าน" สำเร็จการศึกษาด้วยผลการเรียน 3.76
"เอ็มบีเอ ฮาร์วาร์ด" เป็นเป้าหมายต่อไป เพราะอยู่ในความคิดของ "ป่าน" มาตลอดว่าอยากเรียน Business School เนื่องจากว่าตอนเรียนปริญญาตรีสายวิศวกรรม ไม่มีโอกาสเรียนทางด้าน Management ซึ่งฮาร์วาร์ดมีจุดเด่นด้านการจัดการ วิธีการสอนในรูปแบบที่เน้น case study เป็นสำคัญ เพื่อให้ความรู้กับผู้เรียน เมื่อทำงานในระดับผู้บริหารควรตัดสินใจอย่างไร
"ดูตามสถิติบนอินเทอร์เน็ต มีคนสมัครเรียนฮาร์วาร์ดปีละหมื่นคน สัมภาษณ์ปีละ 1,800 คน ผ่านข้อเขียน 900 คน หรือ 9% ของจำนวนผู้สมัคร"
คะแนน GMAT เป็นส่วนประกอบหนึ่งในการพิจารณา แม้จะไม่ได้กำหนดคะแนนขั้นต่ำไว้ แต่ถ้าสามารถแสดงทักษะด้านอื่นเสนอก็มีโอกาสผ่านการคัดเลือกได้
เคล็ดลับในการเขียนใบสมัคร "ป่าน" แนะนำว่าจำเป็นต้องค้นหาจุดขายตัวเองให้ได้ "ต้องทำให้มหาวิทยาลัยเห็นพื้นฐานที่เรามีจุดแข็ง แม้จะจบวิศวกรรม ทักษะด้าน Engineering ไม่ใช่ข้อด้อยในการทำงาน"
"ประวัติของเรามีอะไรที่สามารถนำเสนอข้อดีที่ตรงกับสิ่งที่จะช่วยเพิ่มประสบการณ์ของนักศึกษาคนอื่นที่ไปเรียนเอ็มบีเอ มีอิมแพ็คอะไรกับสิ่งที่เราเคยทำ เช่น ประสบการณ์ที่แสดง relationship และทักษะการทำงานของเรามีมากน้อยแค่ไหน"
ชั่วโมงการทำงานจากองค์กรข้ามชาติก็อาจส่งผลดีต่อการเขียนใบสมัคร โดยเฉพาะบริษัทที่เปิดดำเนินการมานาน หรือมีพื้นฐานในการเลือกคน
"ป่าน" ใช้เวลาประมาณ 8 เดือน สำหรับการเตรียมตัวเข้าฮาร์วาร์ด และผ่านฉลุยได้สมความตั้งใจ
งานหนักต่อไปคงต้องเหน็ดเหนื่อยกับการเป็นนักศึกษาฮาร์วาร์ดเต็มตัว!

 

 

ผู้เขียน : ป.วรัตม์ watta.ryo@gmail.com
คอลัมน์ :

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook